ThaiPublica > เกาะกระแส > “อีอีซี” แจง 3 ปี อนุมัติโครงการ 1.6 ล้านล้าน เล็งเพิ่มเป้าฯเป็น 2.2 ล้านล้านบาท

“อีอีซี” แจง 3 ปี อนุมัติโครงการ 1.6 ล้านล้าน เล็งเพิ่มเป้าฯเป็น 2.2 ล้านล้านบาท

4 สิงหาคม 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“อีอีซี” แจง 3 ปี อนุมัติโครงการเกือบ 1.6 ล้านล้าน เล็งปรับแผน 5 ปี เพิ่มเป้าการลงทุนเป็น 2.2 ล้านล้านบาท เตรียมเจรจา “ซีพี” แก้สัญญาร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-ลงทุนออกแบบ-สร้างรางเพิ่ม แก้ปัญหาเส้นทางทับซ้อนรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ล่าสุดประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีก 7 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมไฮเทค

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รายงาน ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำต่อที่ประชุมว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ โครงการ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลทำงานเพื่อวันนี้ และอนาคต รองรับโลกยุคใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ”

พลเอก ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศว่า หลายประเทศมีความสนใจที่จะมาร่วมลงทุนในประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือในการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงขอให้ทุกหน่วยติดตาม และทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลงานและความก้าวหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศจะได้รับจากโครงการ EEC สำหรับแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในประเทศ ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการดึงคนรุ่นใหม่ หรือ “Start Up” ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านมาร่วมทำงานด้วย เพิ่มการจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ GDP และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภค การเกษตร การผลิต และอุตสาหกรรม สำหรับรองรับ EEC ในอนาคต ขณะที่การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องของอุตสาหกรรมต้องไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันจะทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐเกิดผลได้เร็วขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

หลังจากประชุม กพอ. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ ZOOM ถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีประเด็นสำคัญ ๆดังนี้

1.อีอีซี ปีนี้ น้ำมีใช้เพียงพอ พร้อมแก้ปัญหาระยะสั้น วางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ อีอีซี ที่มีระบบบริหารน้ำในภาพรวมครบถ้วน จากข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี ให้กรมชลประทาน เร่งเสนอโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกลับคลองสะพาน-ประแสร์ เส้นที่ 2 และเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 สร้างความมั่นคงการจัดการน้ำในระยะยาว นิคมอุต ฯ จัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ดำเนินการให้คุ้มค่าสูงสุด เป็นต้น แนวทางจัดหาแหล่งน้ำรองรับในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นจุดการพัฒนาที่สำคัญ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยทำแผนที่น้ำใต้ดิน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารน้ำผิวดิน ร่วมกับน้ำใต้ดิน

2.ก้าวหน้า อีอีซี อนุมัติไปแล้ว 1.59 ล้านบาท

ที่ประชุม กพอ.รับทราบ ความก้าวหน้าการลงทุนในอีอีซีช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ณ 30 มิ.ย. 2564) สกพอ.ได้อนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (PPP) ในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งรวมกับงบบูรณาการของอีอีซี และการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ รวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 1,594,282 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 94% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใน 5 ปีจะต้องมีการลงทุนในอีอีซีรวม 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีการลงทุนที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน (โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท เกิดการลงทุนในปี 2564 มูลค่า 26,588 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาที่เหลือของโครงการสูงถึง 606,205 ล้านบาท

“ภายหลังจากที่ สกพอ.ได้ดำเนินลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานเสร็จ จากนั้น สกพอ.ได้ร่วมกับค่ายมือถือต่าง ๆลงทุนวางระบบ 5G ครอบคลุมพื้นที่อีอีซีจนครบ 100% และได้ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เดินหน้าจัดคอร์สฝึกอบรมโรงานอุตสาหกรรมกว่า 10,000 แห่งในพื้นที่ให้นำระบบ 5G มาใช้ในการยกระดับการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบเกิดปัญหด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ตอนนี้จึงมีนักลงทุนจากต่างประเทศ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน , ธุรกิจการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) , ธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (EV) ที่เข้ามาตั้งโรงงานในอีอีซีแล้ว และยังมีธุรกิจ ทางด้าน BCG ทั้งชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และธุรกิจสีเขียว เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทาง สกพอ.จึงต้องรีวิวหรือปรับแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ เพื่อเสนอที่ประชุม กพอ. โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากแผนเดิม ปีละ 1 แสนล้านบาท รวม 5 ปี เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท” ดร.คณิศ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญามีความคืบหน้า 86% แล้ว และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53% งานสาธารณูปโภค สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเจรจาสัญญาแล้วเสร็จได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

3.ท่าเรือแหลมฉบัง ฯ ตกลงสัญญาเอกชนเรียบร้อย สัญญาอยู่กับอัยการ เร่งนำเสนอ ครม.โดยเร็ว

ที่ประชุม กพอ. พิจารณา ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาด 20 ฟุต) โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับ ตามที่ มติ ครม. ได้อนุมัติไว้ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม อาทิ เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหาย ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะทำงานเจรจาร่างสัญญา ฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง โดยยึดหลักเจรจาตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด จนได้ข้อยุติในเบื้องต้น จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง จนได้ข้อยุติในทุกประเด็น และในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติว่าได้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว จึงเสนอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ สกพอ. พิจารณาดำเนินการต่อไป โดย กทท. ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ทั้งนี้ได้ข้อตกลงในร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอ ครม. พิจารณา คาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในสิ้นเดือนนี้

4. แก้ไขเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับ รถไฟไทย-จีน เดินหน้าได้เร็วขึ้น โดยภาครัฐไม่ต้องจัดงบประมาณเพิ่มเติม

ที่ประชุม กพอ. พิจารณา แก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบิน กับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมืองประมาณ 12.83 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องกัน

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการซ้อนทับทั้ง 2 โครงการ ฯ ดังกล่าว ทาง สกพอ. ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเจรจากับเอกชนคู่สัญญา จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง ช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟฯ ไทย-จีน สามารถใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2569 รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของ รถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้

ทั้งนี้ จะได้หาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เกิดงบประมาณเพิ่มเติม และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด

5.เพิ่มเติมเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ให้เพียงพอและจูงใจเอกชน ลงทุนต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

ที่ประชุม กพอ. พิจารณา จัดตั้ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 4 แห่ง และ จังหวัดระยอง 3 แห่ง พื้นที่โครงการรวมประมาณ 8,000 ไร่ มีพื้นที่รองรับประกอบกิจการรวมประมาณ 6,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายเงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (2564 – 2573) ได้แก่ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ นิคมโรจนะแหลมฉบัง นิคมโรจนะหนองใหญ่ และ นิคมเอเชียคลีน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และในจังหวัดระยอง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมเอ็กโก และนิคมดับบลิวเอชเออินดัสเตรียลเอสเตทระยอง รองรับยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ โดยมีจำนวนพื้นที่โครงการ 6,884.42 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับประกอบกิจการ 5,098.56 ไร่ เงินลงทุนสูงถึง 280,772.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่โครงการ 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบกิจการ 360 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมทั้ง ได้เห็นชอบ เปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd โดยขยายพื้นที่เพิ่ม 18.68 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่ เป็นพื้นที่รวมประมาณ 585 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท