ThaiPublica > เกาะกระแส > ปี 2567 น้ำน้อย แต่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศทะลุ 122 % เกินแผน

ปี 2567 น้ำน้อย แต่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศทะลุ 122 % เกินแผน

16 กุมภาพันธ์ 2024


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ประเมินสถานการณ์น้ำ ทั่วประเทศปี 2567 พบปริมาณน้ำใช้งานได้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ต้องมีมาตรการควบคุมการใช้น้ำ ขณะที่คุมไม่อยู่ พื้นที่การปลูกข้าวนาปังทั่วประเทศทะลุแผน 122% ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาปลูกเกินแผน 168 % สั่งให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งรุนแรงหรือแล้งซ้ำซากเพื่อหามาตรการป้องกัน

)

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนชจัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคประชาชน เพื่อประเมินการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566  และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนถัดไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดร. สุรสีห์  กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำทั่วประเทศ พบว่าปีนี้ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2566 ทำให้ต้องมีการควบคุมการใช้น้ำ โดยสรุปจากข้อมูลน้ำเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ 55,539 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 67% ของความจุกักเก็บ และน้อยกว่าปี 2566 ปริมาณ 4,107  ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การได้  31,178 ล้านลบ.ม. หรือ 54% ของความจุกักเก็บ

เมื่อแยกพิจารณาปริมาณน้ำรายภาคพบว่า ภาคเหนือมีปริมาณน้ำ 16,867 ล้านลบ.ม.หรือ 61%ของความจุกักเก็บ  ภาคอีสาน 7,949 ล้านลบ.ม.คิดเป็น  61% ของความจุกักเก็บ ภาคกลาง 962 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47%ของความจุกักเก็บ ภาคตะวันออก 1,689 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 54% ของความจุกักเก็บ ภาคตะวันตก 21,814 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 77%ของความจุกักเก็บ ภาคใต้ 6,108 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 78%ของความจุกักเก็บ

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมีทั้งหมด 4 แห่งคือ  เขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือ   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เขื่อนจุฬาภรณ์  ภาคตะวันออกที่เขื่อนคลองสียัด และภาคกลางที่เขื่อนกระเสียว

คุมไม่อยู่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกิน 122%

ดร. สุรสีห์  ยังเปิดเผยถึง แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/2567  แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ  ทั้งนอกและในเขตชลประทาน 10.66 ล้านไร่  แต่เพาะปลูกแล้ว 11.79 ล้านไร่ หรือ 111% ซึ่งเกินกว่าแผนการเพาะปลูก โดยแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศ 8.13  ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 10.41 ล้านไร่  หรือ 122% เกินกว่าแผนการเพาะปลูก ส่วนแผนเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 2.53 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.38 ล้านไร่ 55% ของแผนการเพาะปลูก

ในนลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 4.90 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 7.37 ล้านไร่ หรือ 150 %  ซึ่งเกินกว่าแผน โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 4.20 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 7.04 ล้านไร่ หรือ 168% เกินกว่าแผน   ส่วนแผนเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก 0.70ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.33 ล้านไร่ หรือ 47%ของแผน

ลุ่มน้ำแม่กลอง แผนการเพาะปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 1.13 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.26 % หรือ  30% ของแผน  แบ่งเป็น แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 0.86ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.26 ล้านไร่ คิดเป็น 30% ของแผน แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก 0.27ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 01.4 ล้านไร่ หรือ 52% ของแผน

ถอดบทเรียน 12มาตรการรับมือฝนปี2566

ในเวที ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี2566 โดย นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ  และนายทรงเกียรติ ขำทอง ผุ้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ ได้นำเสนอผลการประเมิน 12 มาตรการในการรับมือน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 ประกอบด้วย

    มาตรการที่ 1 การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง
    มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก
    มาตรการที่ 3 ทบทวนปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ /เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ
    มาตรการที่ 4 เตรียมความพร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งานและปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อม /วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง
    มาตรการที่ 6 ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ
    มาตรการที่ 7 ขุดลอกคู คลอง และกำจัดผักตบชวา
    มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้า ก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
    มาตรการที่ 9 เร่งเก็บกักน้ำแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
    มาตรการที่ 10 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
    มาตรการที่ 11 การสร้างการรับรู้/ประชาสัมพันธ์ และ
    มาตรการที่12 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย และได้เห็นชอบ แผนป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำท่วม

จากการประเมินพบว่าทั้ง 12 มาตรการ สามารถดำเนินการและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการเตือนภัยได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีจุดอ่อนของ มาตรการพยากรณ์ และการคาดการณ์ และติดตามปริมาณฝน รวมไปถึงการปรับแผนในพื้นที่เสี่ยงและการคาดการณ์ความถี่มากขึ้น  โดยยังพบจุดอ่อน แบบจำลองยังคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ระดับตำบล และในการคาดการณ์ระยะยาวยังแปรปรวนซึ่งต้องการพัฒนาเครื่องมือในการคาดการณ์ให้แม่นยำมากขึ้น

“ ยังมีจุดอ่อนในการคาดการณ์ พยากรณ์ ที่ขาดเครื่องมือ ขณะที่บุคลากรยังไม่เพียงพอในการการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการเตือนภัยยังมีบางพื้นที่เข้าไปไม่ถึงในการแจ้งเตือนภัย ขณะที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนในเรื่องเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยเยียวยาที่อยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จในปี 2566 ที่ผ่าน”

ส่วนการรับมือภัยแล้งปี 2567  สทนช.ได้สั่งให้แต่ละจังหวัดสำรวจพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งรุนแรงหรือแล้งซ้ำซาก เพื่อลงพื้นที่ป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน ตาม 9 มาตรการรับมือหน้าแล้งปีนี้

สำหรับ 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ประกอบด้วย  

    มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)   
    มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)    
    มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)    
    มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
    มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
    มาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)