ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก : วิชันที่ยังจับต้องไม่ได้

ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก : วิชันที่ยังจับต้องไม่ได้

2 สิงหาคม 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ประกาศ วิสัยทัศน์หรือวิชัน Ignite Thailand หรือจุดประกาศประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยสไตล์คิดใหญ่ ยกระดับประเทศไทยขึ้นเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมของโลก ด้วยแผนจัดตั้ง 8 ศูนย์กลางระดับโลกเป็นตัวขับเคลื่อน ประกอบด้วย

หนึ่ง ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว สอง ศูนย์กลางด้านการแพทย์และ สุขภาพ สาม ศูนย์กลางอาหาร สี่ ศูนย์กลางการบิน ห้า ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค หก ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เจ็ด ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล และ แปด ศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก

หลังประกาศวิชันใหญ่แล้ว รัฐบาลไล่ประกาศวิชัน Ignite เริ่มจากศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ตามด้วยยกชั้นโคราชเป็นมหานครดิจิทัล และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม กระทรวงการคลังประกาศ แผนสู่ศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก Ignite Finance

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดูแลเรื่องนี้ ปาฐกถาในงานเปิดตัวถึงแนวทางขับเคลื่อนไปสู่ศูนย์กลางการเงินระดับโลก พอสรุปประเด็นได้ว่า กระทรวงการคลังจะใช้กุญแจ 3 ดอกในภารกิจนี้

หนี่ง ผลักดันร่างกฎหมายที่จะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทัดตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ

สอง สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการเงินเลือกที่จะตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ ด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ทั้งการจัดตั้งบริษัทและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว วีซ่า การจัดเก็บภาษีเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น ท้ายสุดคือเงินสนับสนุน หรือ grant ตรงนี้น่าจะมีคนอยากรู้เยอะว่าอุดหนุนเท่าไหร่ อย่างไร

และ สาม สร้างระบบนิเวศน์แห่งอนาคต ซึ่งประกอบด้วยการ พัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใส คล้ายกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกมาก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตและบุคลากร

พร้อมกันนั้น กระทรวงการคลังจะเปิดปฏิบัติการ ผลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงินด้วยการริเริ่มนโยบายระบบสถาบันการเงิน โดยร่วมกับแบงก์ชาติออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) และการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency หรือ NaCGA)

กระทรวงการคลังคาดหวังว่า นโยบายตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินของประชาชนและกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ มั่นคง และตอบโจทย์ของประชาชน

วิชันดังกล่าว ถ้ากลายเป็นจริง ส่วนนับจากนี้ไปจะเดินหน้าต่ออย่างต่อ เผ่าภูมิให้ข้อมูลเล็กๆ กับสื่อว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ คาดว่าปลายปีหรืออีกประมาณ 5 เดือนจะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ราวปลายปีนี้ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ช่วงนี้ได้แต่รอและลุ้นว่า วิชันดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินโลกจะขึ้นรูปได้ขนาดไหน

แต่ส่วนหนึ่งในแผนที่มีโอกาสให้เห็นแน่ คือ แบงก์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ เพราะแบงก์ชาติประกาศให้ผู้สนใจเข้ามายื่นขอใบอนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยจะปิดรับวันที่ 19 กันยายนนี้ และราวๆ กลางปีหน้าคนไทยจะได้สัมผัส เวอร์ชวลแบงก์

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาความเห็นถึงปัจจัยความเป็นไปได้และไม่ได้ต่อการบรรลุของวิชันดังกล่าวไว้หลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสูจุดนั้นได้ ต้องทำให้อันดับ Global Financial Centers Index หรือ GFCI ของกรุงเทพฯ มาอยู่ที่ 20 อันดับแรกเป็นอย่างน้อย และถ้า กรุงเทพฯ จะเข้าไปสู่ทอป 20 ก็ต้องผ่านเพื่อนบ้าน กัวลาลัมเปอร์ ที่อยู่อันดับ 77 ให้ได้เสียก่อน ล่าสุด กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 93

ดร.อนุสรณ์ยังแนะว่า (กระทรวงการคลัง) ควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จ และล้มเหลว ของนโยบายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค ด้วยการเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ให้ดีด้วยว่า ทำไมมาตรการ BIBF จึงสะดุด และยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินตัว และธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาดในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์

รายงานที่ศึกษาโดยคณะกรรมศึกษาและเสนอแนะมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงิน (ศปร.) ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้ไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง กล่าวถึงผลจากการตั้งศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาค ที่มีต่อผลสถานการณ์ในขณะนั้นไว้ตอนหนึ่ง พอสรุปพอเห็นภาพได้ว่า

เดือนกันยายน ปี 2536 กระทรวงการคลังอนุญาตให้มีการประกอบการวิเทศธนกิจ หรือ BIBF โดยการสนับสนุนของแบงก์ชาติเวลานั้น เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค (บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ปี 2530-2534) โดยพ่วงความคิดว่า ต้องสนับสนุนให้เงินบาทเป็นสกุลสากลหรือไม่ (ระงับไปภายหลัง)

ช่วงเวลานั้นภาคเอกชนมีการกู้เงินนอกเข้ามามหาศาล มากกว่าครึ่งถูกนำไปปั่นหุ้นหรือเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ จนแบงก์ชาติเริ่มในปี 2538 แบงก์ชาติพยายามชะลอการกู้เงินนอกของภาคเอกชนหลังสังเกตเห็นความเสี่ยงที่จะตามมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

ความล้มเหลวจากการเปิด ศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาค ในอดีตของไทย เป็นบทเรียนที่นายกฯ เศรษฐา กระทรวงการคลัง ควรศึกษาจริงจังก่อนเดินหน้าตั้ง ศูนย์กลางทางการเงิน… ระดับโลก

  • กรุงเทพฯ ติดอันดับเท่าไรในศูนย์กลางการเงินระดับโลก Global Financial Centres Index