ThaiPublica > คอลัมน์ > ฉากต่อไป ..เศรษฐา กับ เศรษฐพุฒิ

ฉากต่อไป ..เศรษฐา กับ เศรษฐพุฒิ

29 เมษายน 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) กับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ มีความเห็นต่าง แบบคนละขั้วชนิดขาวกับดำอยู่ 2 เรื่อง คือดอกเบี้ย และนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน นโยบายเรือธงของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

เรื่องดอกเบี้ย นายกฯเศรษฐา แสดงความเห็นต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่าอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยลดลดสัก 0.25 % ก็ยังดี โดยอ้างถึงความเดือดร้อนของเอสเอ็มอี และประชาชนรากหญ้า

ขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสียงข้างมากมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แบงก์ใช้ชี้นำอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ 2.50 % นั้นเหมาะสมดีแล้ว สำหรับเศรษฐกิจระยะปานกลาง และการลดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำว่า การลดดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรจะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นับจากต้นปีที่ผ่านมา นายกฯเศรษฐา ใช้การแทรกแซงด้วยวาจา ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้นำหรือผู้บริหารเศรษฐกิจใช้ในการแทรกแซงเพื่อแสดงความกังวลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยหรือค่าเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่มีโอกาส นายกฯเศรษฐาจะสื่อสาร กดดันให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอด และดีกรีเข้มข้นขึ้นเมื่อการประชุม กนง.ครั้งแรกของปี (7 ก.พ.2567) ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50 % เหมือนไม่ได้ยินเสียงนายกฯเศรษฐาสื่อสารออกมาเป็นระยะๆแต่อย่างใด

ครั้งหนึ่งนายกฯเศรษฐากล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นักธุรกิจรุ่นใหม่กับโอกาสในการสร้างธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ” หลักสูตร Next Real ตอนหนึ่งว่า “ดอกเบี้ยแพงโคตร ถึงเวลายังไม่ลดอีก ผมว่ามันตลก เงินเฟ้อ-0.8% ถึงแม้เอามาตรการรัฐสนับสนุนที่ลดค่าใช้จ่ายออกไปแล้ว อย่างมากเงินเฟ้อก็อยู่ที่ 0.2% แต่กรอบที่วางไว้ 1-3% วันนี้ก็ยังไม่ลดดอกเบี้ย พวกเราเองก็เดือดร้อน ผมก็เป็นคนอสังหาริมทรัพย์มาก่อน จะไปเรียกร้องให้มันหนักกว่านี้” (สำนักข่าวอินโฟเคสท์ 29 มี.ค.2567 )

แต่แบงก์ชาติโดย กนง.ตอบกลับสาร “ดอกเบี้ยโคตรแพง” ที่ลอยมาตามสื่อในการประชุม กนง.ครั้งที่ 2 ของปี (10 เม.ษ.2567) ด้วยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50 % อีกครั้ง

หลังชัดเจนว่า กนง.ยังไม่พร้อมลดดอกเบี้ยนโยบาย นายกฯเศรษฐาเปลี่ยนวิธีแทรกอัตราดอกเบี้ย ด้วยการเชิญ 4 นาย-นางแบงก์ใหญ่ กรุงไทย กรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ไปหารือ ที่สื่อรายงานใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวัน ที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนที่สมาคมธนาคารไทย จะออกแถลงการณ์ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR 0.25 % นาน 6 เดือน ให้กับกลุ่มเปราะบาง และสมาคมแบงก์รัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยตามในเวลาต่อมา

นายกฯเศรษฐาตอบคำถามสื่อหลังรวมประชุมกับ นาย-นางแบงก์วันนั้นตอนหนึ่ง …ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้บริหารทั้ง 4 ธนาคาร ได้ให้กรอบเวลาที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้เมื่อใด นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการให้เกียรติกัน เรารู้จักกันมา 20 ปี มองตาก็รู้ใจว่า เราต้องการอะไรจากกันและกัน ทำได้แค่ไหนคงแค่นั้น คงไม่ไปกดดันอะไร (มติชนออนไลน์ 23 เม.ษ.2567 )

การแทรกแซงด้วยวิธี มองตาก็รู้ใจ ของนายกฯน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของไทยหรืออาจของโลกด้วยซ้ำ ซึ่งผลที่ตามมาคงมี 2 ทาง ทางแรก ผลหลังจากลดอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์พาณิชย์ (จำนวนหนึ่ง) และแบงก์เฉพาะกิจอีก 6 แห่งร่วมด้วย( ออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งอออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอสเอ็มอีแบงก์ ) จะมีมรรคผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมเหมือนที่นายกฯเศรษฐาคาดหวังไว้หรือไม่

และทางที่สอง ตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศคงตีความ การเชิญนาย-นางแบงก์ใหญ่มา “มองตา “ ตามมาด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย ของนายกฯเศรษฐาคือ แทรกแซงกลไกดอกเบี้ยจากฝ่ายการเมือง ซึ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อภาคการเงินไทยในระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องเห็นต่างที่สองระหว่างนายกฯเศรษฐากับผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน วันที่นายกฯแถลงข่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบโครงการดังกล่าวพร้อมถ่ายภาพเป็นหลักฐาน วันเดียวกันนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติได้ส่งจดหมายแจกแจง หายนะที่จะเกิดจากโครงการดังกล่าวพร้อมข้อเสนอแนะการแจกเงินอย่างเหมาะสม ถึงเลขาครม.เพื่อส่งต่อไปยัง นายกฯและรัฐมนตรี

โดยผลเสียที่ผู้ว่าแบงก์ชาติอ้างถึงในจดหมายดังกล่าวมีทั้งผลเสียที่ยากคาดเดาต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ ความพร้อมของระบบที่จะชำระเงินผ่านตัวกลางอย่าง เหรียญโทเคน ความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของ ธกส.ที่มีหน้าที่ดูแลเกษตรกรรวมทั้งข้อกังวลอื่น สื่อทุกแขนงทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่นำเสนอกันอย่างครบถ้วน

เวลานี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ถูกส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยเฉพาะประเด็น ขอยืมเงินจาก ธกส.มาใข้ก่อน 172,300 ล้านบาท แล้วจะจัดงบประมาณผ่อนคืนในภายหลังโดยไม่กำหนดระยะเวลา ทำได้หรือไม่ ?

ประเมินจากสถานการณ์ ณ ตรงนี้ อนาคตของ อภิมหาโครงการแจกเงินของรัฐบาลเศรษฐา ก้ำกึ่งระหว่างได้ไปต่อ หรือจบแค่นี้ ด้วยเงื่อนไขทางได้กฎหมายโดยเฉพาะประเด็นขอยืมสภาพคล่องจาก ธกส. หากจบเพียงแค่นี้เครดิตการเมืองของนายกฯเศรษฐาคงเสื่อมถอยลงอีกในฐานะผู้นำรัฐบาลและเจ้าของนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต และจะมีผลต่ออนาคตการเมืองตามมา

แต่ถ้าหากว่า ได้ไปต่อ ทั้งที่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกแรงท้วงติงอย่างสุดตัว กรณีที่สถานการณ์ไปถึงขั้นนั้น ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ คงเหลือทางเลือกเดียวที่จะประท้วงขั้นเด็ดขาด เพื่อยืนหยัดอิสรภาพแบงก์ชาติ และปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากนโยบายที่มีความเสี่ยงคือ ……ทางเลือกที่ว่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นในวังบางขุนพรหมมานานแล้ว