ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 หลายเมืองในเมียนมาต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวริมแม่น้ำอิระวดีและลำน้ำสาขา ตั้งแต่รัฐคะฉิ่น ภาคสะกาย ภาคมัณฑะเลย์ ภาคมะกวย ภาคพะโค
ล่าสุด จนถึงวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำท่วมในหลายเมืองยังคงหนักหน่วง!
ก่อนหน้านี้ ชั่วเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน บนที่ราบกว้างใหญ่ตามแนวลำน้ำอิระวดี บริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างภาคมัณฑะเลย์ ภาคสะกาย และภาคมะกวย เพิ่งเผชิญกับสภาพที่แห้งแล้งอย่างแสนสาหัส ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศร้อนจัด หลายเมืองที่อยู่บนที่ราบผืนนี้มีชื่อติดในลิสต์ 15 อันดับเมืองที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในโลกติดต่อกันนานนับสัปดาห์
ระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่สภาพภูมิอากาศของเมียนมากลับเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่า”สุดโต่ง”เช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญ
…..
ฝนที่ตกอย่างหนักต่อเนื่องในรัฐคะฉิ่น ภาคเหนือของเมียนมา ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ทำให้ระดับน้ำของสายน้ำที่เป็นต้นทางของแม่น้ำอิระวดีและลำน้ำสาขา เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม่น้ำ”มะลิคะ”หรือแม่น้ำ”เมลิ” 1 ในแม่น้ำ 2 สายที่เป็นต้นน้ำอิระวดี ไหลเชี่ยวกรากจากปริมาณน้ำฝนสะสม ความแรงของสายน้ำมะลิคะเซาะทลายตลิ่งริมน้ำ ดึงบ้านเรือนประชาชน สิ่งปลูกสร้างตามริมแม่น้ำ รวมถึงถนนที่วิ่งคู่ขนานไปกับสายน้ำ พังถล่มเป็นระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร
แม่น้ำมะลิคะมีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาตอนเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น ในจังหวัดปูตาโอ จากนั้นไหลงมาทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร ก่อนจะมาบรรจบกับแม่น้ำเมคะที่เขตมิตโส่ง รวมกันเป็นแม่น้ำอิระวดี
เขตมิตโส่งขึ้นกับจังหวัดมิตจีนา อยู่ห่างจากตัวเมืองมิตจีน่า เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 28 ไมล์ หรือ 45 กิโลเมตร

Eleven Media Group รายงานว่าบ้านเรือนประชาชนประมาณ 50 หลัง ในหมู่บ้านติยานซุต ที่อยู่เหนือจากเขตมิตโส่งขึ้นไปประมาณ 19 ไมล์ หรือ 32 กิโลเมตร ถูกกระแสน้ำมะลิคะเซาะจนพังทลายลงไปในแม่น้ำ ส่วน Greenness เพจทางการขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมียนมา รายงานว่าบ้านเรือนประชาชนมากกว่า 200 หลัง ตามแนวลำน้ำมะลิคะ ตั้งแต่อำเภออำเภออินจานยาน จังหวัดมิตจีนา ผ่านเขตมิตโส่ง ขึ้นไปถึงเมืองซูมบะราบูม ที่อยู่ใต้จากเมืองปูตาโอลงมาประมาณ 55 ไมล์ หรือ 90 กิโลเมตร ได้รับความเสียหายจากกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำสายนี้
ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม การคมนาคมระหว่างเมืองมิตจีนาขึ้นไปยังเมืองปูตาโอ ได้ถูกปิดลงอย่างสิ้นเชิง เพราะความรุนแรงของกระแสน้ำมะลิคะได้เซาะถนนที่วิ่งเลียบคู่ขนานไปกับลำน้ำขาดถล่มลงไปในแม่น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 35 ไมล์ หรือ 56 กิโลเมตร และคาดว่าจะต้องใช้เวลานานนับเดือน กว่าจะซ่อมถนนช่วงนี้ให้กลับมาเปิดการสัญจรได้อีกครั้ง
มวลน้ำของแม่น้ำมะลิคะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำอิระวดีที่อยู่ใต้ลงมาเพิ่มสูงจนเอ่อล้นท่วมตัวเมืองมิตจีนาในอีกไม่กี่วันถัดมา จากนั้นมวลน้ำก้อนใหญ่ของแม่น้ำอิระวดีก็ค่อยๆเคลื่อนตัวต่อลงไปทางใต้ มีอีกหลายเมืองต้องจมอยู่ใต้น้ำ…
ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่กระแสน้ำมะลิคะกำลังไหลเชี่ยวกรากพังทลายบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างริมตลิ่ง
ห่างออกไปทางทิศตะวันตก ระดับน้ำของแม่น้ำชินวิน ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ชินวิน”เป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำอิระวดี มีความยาว 1,207 กิโลเมตร ต้นกำเนิดแม่น้ำชินวินอยู่บนเทือกเขาฮูกอง บริเวณแนวสามเหลี่ยมที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐคะฉิ่นกับภาคสะกาย และชายแดนเมียนมา-อินเดีย จากนั้นไหลเข้าสู่ภาคสะกายลงมาทางทิศใต้ ขนานกับแนวชายแดนเมียนมา-อินเดีย ผ่านเมืองคำตี่ เมืองโห่มะลิน เมืองกะเลวะ เมืองโหม่นหยั่ว จนไปบรรจบกับแม่น้ำอิระวดีที่เมืองเหย่ซะโจ จังหวัดบะโคะกู่ ภาคมะกวย ตรงข้ามกับจังหวัดมยินจาน ของภาคมัณฑะเลย์
วันที่ 2 กรกฎาคม มีรายงานระดับน้ำชินวินได้เพิ่มสูงจนเอ่อล้นออกมาท่วมพื้นที่โดยรอบเมืองโห่มะลิน ภาคสะกาย ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ มวลน้ำขนาดใหญ่ของแม่น้ำชินวินได้ไหลลงมาเอ่อท่วมตัวเมืองกะเลวะ ที่อยู่ห่างจากเมืองโห่มะลินลงมาทางทิศใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร และไหลต่อไปยังเมืองโหม่นหยั่ว อีกไม่กี่วันถัดจากนั้น มวลน้ำในแม่น้ำชินวินได้ไหลมารวมกับแม่น้ำอิระวดี ที่เมืองเหย่ซะโจ
วันที่ 9 กรกฎาคม กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา เมียนมา มีประกาศเตือนเรื่องระดับแม่น้ำอิระวดีที่เมืองบะโคะกู่กำลังเพิ่มสูงขึ้นจนใกล้ถึงจุดอันตราย เมืองบะโคะกู่อยู่ห่างจากจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชินวินกับอิระวดีมาทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร หลังมีประกาศเตือน ชาวเมืองปะโคะกู่ส่วนใหญ่เริ่มขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งของสำคัญและมีค่าขึ้นไปไว้บนที่สูง ขณะที่บางคนเริ่มพาครอบครัวอพยพออกจากพื้นที่ไปอาศัยอยู่ในเขตที่คาดว่าน้ำจะท่วมไม่ถึง

รุ่งขึ้น วันที่ 10 กรกฎาคม แม่น้ำอิระวดีเอ่อล้นจนท่วมตัวเมืองบะโคะกู่ จากนั้นไหลต่อลงไปท่วมเมืองหญ่องอู เขตเมืองโบราณพุกาม ซึ่งอยู่ใต้ลงมาประมาณ 25 กิโลเมตร ต่อด้วยเมืองเช่าก์ เมืองเยนันชอง เมืองมินบู และเมืองมะกวย เมืองเหล่านี้ถูกน้ำท่วมหมดในเวลาเพียง 1 สัปดาห์
เวลา 16.05 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม Popular News Journal รายงานว่า มีเมืองอย่างน้อย 22 เมือง ตามแนวริมแม่น้ำชินวินและแม่น้ำอิระวดี ที่ยังคงถูกน้ำท่วมหนัก และมีโรงเรียนอีกมากกว่า 100 แห่ง ที่ต้องปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว
……

ภัยธรรมชาติอันเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศในเมืองริมแม่น้ำอิระวดี โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่มัณฑะเลย์ ลงมาถึงมะกวย ใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2567 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน เมื่อ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
เดือนเมษายน 2567 เป็นช่วงที่หลายเมืองซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิระวดี ช่วงตอนกลางของประเทศเมียนมา ต้องเผชิญกับสภาพที่แห้งแล้งอย่างแสนสาหัส ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่กับอากาศร้อนที่จัด หลายหมู่บ้านต้องขุดน้ำจากใต้ผืนดินขึ้นมากิน มาใช้
เว็บไซต์ El dorado weather ซึ่งมีรายงาน 15 เมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลกเป็นประจำทุกวัน และตามปกติเมืองส่วนใหญ่ที่มีชื่อติดอยู่ในลิสต์นี้ มักเป็นเมืองในทวีปอาฟริกาหรือตะวันออกกลาง
แต่ปรากฏว่าในลิสต์รายชื่อของ El dorado weather ประจำวันที่ 12 เมษายน 2567 มีชื่อเมือง “เช่าก์”ปรากฏขึ้นมาเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลกลำดับที่ 3 ด้วยอุณหภูมิที่วัดได้ 44.5 องศาเซลเซียส ณ เวลา 07.00 น. ตามเวลามาตรฐานโลก(Coordinated Universal Time : UTC) ที่เหลือในลิสต์อีก 13 เมือง เป็นเมืองในทวีปอาฟริกา และอีก 1 เมืองอยู่ในประเทศโอมานในตะวันออกกลาง
เมืองเช่าก์ เป็นเมืองในเมียนมา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ตอนกลางของภาคมะกวย ห่างลงมาทางทิศใต้จากเขตอาณาจักรโบราณพุกามประมาณ 30 กิโลเมตร จุดเด่นทางเศรษฐกิจของเมืองเช่าก์เป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกของเมียนมา มีการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาขายเชิงพาณิชย์มานับสิบปีแล้ว
นับจากวันที่ 12 เมษายนเป็นต้นมา เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนเต็มที่ในลิสต์ 15 เมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลกของ El dorado weather ต้องมีชื่อเมืองเช่าก์ติดอยู่ด้วยทุกวัน และยิ่งใกล้ถึงช่วงปลายเดือนเมษายน นอกจากเมืองเช่าก์แล้ว ยังปรากฏชื่อเมืองอื่นๆของเมียนมาเข้ามาในลิสต์ของ El dorado weather อีกด้วย โดยเมืองที่มีชื่อปรากฏใหม่เหล่านี้ ล้วนอยู่ตามแนวริมแม่น้ำอิระวดี ตอนกลางของประเทศ เช่นเดียวกับเมืองเช่าก์

วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นวันที่เมียนมาต้องเจอกับอากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งสูงติดอันดับโลก จนกลายเป็นข่าวแพร่หลายออกไปทั่ว ปรากฏกว่าในลิสต์ 15 เมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลกของ El dorado weather ในวันนั้น มีเมืองริมแม่น้ำอิระวดีของเมียนมาติดอยู่ถึง 7 เมือง โดยเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก คือเมืองเช่าก์
7 เมืองของเมียนมาที่มีชื่อติดอันดับ 15 เมืองที่อุณหภูมิสูงที่สุดในโลกประจำวันที่ 29 เมษายน 2567 ประกอบด้วย
-อันดับ 1 เมืองเช่าก์ ภาคมะกวย อุณหภูมิ 48.2 องศาเซลเซียส
-อันดับ 3 เมืองมะกวย ภาคมะกวย อุณหภูมิ 46.1 องศาเซลเซียส
-อันดับ 4 เมืองหญ่องอู ภาคมัณฑะเลย์ อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส
-อันดับที่ 7 เมืองมินบู ภาคมะกวย อุณหภูมิ 45.5 องศาเซลเซียส
-อันดับ 8 เมืองสะกาย ภาคสะกาย อุณหภูมิ 45.5 องศาเซลเซียส
-อันดับ 11 เมืองมัณฑะเลย์ ภาคมัณฑะเลย์ อุณหภูมิ 44.8 องศาเซลเซียส
-อันดับ 13 เมืองโหม่นหยั่ว ภาคสะกาย อุณหภูมิ 44.8 องศาเซลเซียส
ที่เหลืออีก 8 เมือง เป็นเมืองในทวีปอาฟริกาและประเทศอินเดีย(ดูรายละเอียดในภาพประกอบ)

วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เจ้าอาวาสวัดซะนิดติ๊ด ปะโทไต้ก์ ในเมืองบะโคะกู่ ได้เปิดพื้นที่ร่มใต้เงาดงต้นตาลภายในวัด สร้างเพิงพักชั่วคราวขึ้นเพื่อใช้เป็นค่าย”ผู้ลี้ภัยอากาศร้อนจัด” สำหรับให้การดูแลรักษาคนชราและผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศที่ร้อนอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนั้น โดยมีแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลบะโคะกู่ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครของมูลนิธิการกุศลในเมืองบะโคะกู รวมถึงมีผู้มีจิตศรัทธา นำอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็น มาบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้โดยเฉพาะ
แต่ละวัน มีผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายประมาณ 50-70 คน มาอาศัยร่มเงาใต้เพิงเพื่อหลบร้อนที่นี่ เจ้าหน้าที่ได้จัดสถานที่ให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้พักผ่อน คอยตรวจดูแลอาการเบื้องต้นของแต่ละคน พร้อมจัดหาน้ำ อาหาร ไว้ให้เหล่าผู้สูงอายุได้ดื่มกิน
……
ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน พื้นที่ตอนกลางของประเทศเมียนมาต้องเจอการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดโต่ง จากพื้นที่ซึ่งร้อนและแล้งจัด กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง รองรับมวลน้ำปริมาณมหาศาลที่ไหลลงมาจากทางทิศเหนือ
เมืองบะโคะกู่ เมืองเช่าก์ และทุกเมืองของเมียนมา ซึ่งมีชื่อติดอยู่ในลิสต์ 15 เมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในโลกบนเว็บไซต์ El dorado weather ล้วนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบอันแห้งแล้ง(Dry Zone) ผืนกว้างใหญ่ตามแนวแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่ใน Google Map แล้ว มองเห็นความแตกต่างของสภาพพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
ที่ราบผืนนี้เป็นเขตเงาฝน(Rain Shadow) หรือพื้นที่ซึ่งถูกแนวเทือกเขาสูงทอดตัวขวางทางลมเอาไว้ ทำให้อีกด้านหนึ่งของเทือกเขามีสภาพแห้งแล้งเพราะลมไม่สามารถพัดนำพาเมฆฝนให้มาตกลงในบริเวณนี้ได้
ทุกปี ในเขตเงาฝนตอนกลางของประเทศเมียนมาเป็นดินแดนที่มีฝนตกน้อยมาก เพราะถูกเทือกเขาอาระกัน หรือเทือกเขายะไข่(ရခိုင်ရိုးမ) เป็นแนวกำแพงยักษ์ กั้นไม่ให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย พัดพาฝนเข้ามายังพื้นที่แถบนี้

พื้นที่เงาฝนของเมียนมา กินบริเวณที่ครอบคลุมดินแดนบางส่วนของภาคมะกวย ภาคมัณฑะเลย์ ภาคสะกาย และภาคพะโค ถือเป็นพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งที่สุดของเมียนมา
รัฐบาลทหารเมียนมาเอง ก็ตระหนักถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ราบแห้งแล้งตอนกลางของประเทศ มีโครงการปลูกต้นไม้ และพยายามกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปลูกต้นไม้ปริมาณหลายแสนต้นในบริเวณนี้ แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ ต้องอาศัยเวลานานนับปีจึงจะเห็นผล…
ปีนี้ หลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะอากาศแปรปรวนรุนแรงทั้งจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ-ลานีญา” ตลอดจนคลื่นความร้อนขนาดใหญ่ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วทวีปเอเซีย

ปรากฏการณ์ที่เกิดในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมาช่วง 3 เดือนมานี้ คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ตอกย้ำให้เห็นว่าภัยคุกคามจากวิกฤติสภาพอากาศ เป็นเรื่องทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ต้องเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวัง