ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เริ่มต้นปี 2567 Copernicus บันทึกสถิติ มกราคมร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก

เริ่มต้นปี 2567 Copernicus บันทึกสถิติ มกราคมร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก

12 กุมภาพันธ์ 2024


ที่มาภาพ: https://climate.copernicus.eu/copernicus-2024-world-experienced-warmest-january-record

Copernicus Climate Change Service (C3S) หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป รายงานว่า เดือนมกราคม 2567 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยมีอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวตามชุดข้อมูล ERA5 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.14 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนมกราคมในปี 1991-2020 ถึง 0.70 องศาเซลเซียส และสูงกว่าอุณหภูมิของเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดก่อนหน้าในปี 2563 ที่ 0.12 องศาเซลเซียส

นับเป็นเดือนที่ 8 ของปีแล้วที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ความผิดปกติของอุณหภูมิโลกในเดือนมกราคม 2567 ต่ำกว่าช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2566 แต่สูงกว่าช่วงอื่นๆ ก่อนเดือนกรกฎาคม 2566

เดือนนี้อุณหภูมิร้อนขึ้น 1.66 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเดือนมกราคมในช่วงปี 1850-1900 ที่จัดว่าเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม(pre-industrial)

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ. 2566 – ม.ค. 2567) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 ที่ 0.64 องศาเซลเซียสและสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 ที่ 1.52 องศาเซลเซียส

  • ตุลาคมเดือด อุณหภูมิสูงขึ้น 1.7 องศา ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ส่งผลปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปี
  • อุณหภูมิของยุโรปแตกต่างกันไปในเดือนมกราคม 2567 มีตั้งแต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1991-2020มาก ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก จนถึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากในทางตอนใต้ของทวีป

    นอกยุโรป อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากในแคนาดาตะวันออก แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วแคนาดาตะวันตก อเมริกากลาง และไซบีเรียตะวันออกส่วนใหญ่

    เอลนีโญเริ่มอ่อนกำลังลงในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่อุณหภูมิอากาศทางทะเลโดยทั่วไปยังคงอยู่ในระดับสูงผิดปกติ

    อุณหภูมิผิวน้ำในทะเลเฉลี่ยทั่วโลก (sea surface temperature) ในเดือนมกราคมที่เหนือละติจูด 60 องศาใต้–60 องศาเหนือ อยู่ที่ 20.97 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์สำหรับเดือนมกราคม โดยอุ่นขึ้น 0.26 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดครั้งก่อนในปี 2559 และมีค่าสูงสุดเป็นอันดับสองไม่ว่าเทียบกับเดือนไหน ในชุดข้อมูล ERA5 โดยต่ำกว่าระดับที่วัดได้ 20.98 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ราว 0.01 องศาเซลเซียส

    ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ค่าอุณหภูมิผิวน้ำในทะเลรายวันที่ละติจูด60 องศาใต้–60 องศาเหนือ ได้ทำลายสถิติใหม่อย่างสิ้นเชิง ซึ่งแซงหน้าค่าสูงสุดก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2023

    ที่มาภาพ: https://climate.copernicus.eu/copernicus-2024-world-experienced-warmest-january-record

    ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการของ (C3S) กล่าวว่า “ปี 2567 เริ่มต้นด้วยเดือนที่ทำลายสถิติอีกเดือนหนึ่ง ไม่เพียงแต่เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เรายังเผชิญกับช่วง 12 เดือนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอีกด้วย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น”

    ขนาดของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย และสูงที่สุดในเดือนมกราคมนับตั้งแต่ปี 2552

    ความหนาแน่นของน้ำแข็งในทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยในทะเลกรีนแลนด์ (ลักษณะต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม) และทะเลโอค็อตสค์ ในขณะที่ในทะเลลาบราดอร์ความหนาแน่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

    ขนาดน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกต่ำสุดเป็นอันดับหกในเดือนมกราคม โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 18% ซึ่งสูงกว่าค่าต่ำสุดในเดือนมกราคมที่วัดได้ในปี 2566 (-31%)

    ความหนาแน่นของน้ำแข็งในทะเลที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่พบในทะเลรอสส์และอามุนด์เซน ทะเลเวดเดลล์ทางตอนเหนือ และตามแนวชายฝั่งของแอนตาร์กติกาตะวันออก

    ในเดือนมกราคม 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปมีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีพายุที่ส่งผลกระทบต่อยุโรปเหนือและตะวันตกเฉียงใต้

    สภาพอากาศที่แห้งกว่าค่าเฉลี่ยพบได้ทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของสเปน และทางตะวันตกของแอฟริกาเหนือ ตอนใต้ของสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ทางตะวันออกของไอซ์แลนด์ สแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งของด้านตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย และคาบสมุทรบอลข่านฝั่งตะวันออก

    นอกเหนือจากยุโรปแล้ว ยังมีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในหลายภูมิภาค รวมถึงตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเรเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ แอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ และตอนเหนือและตะวันออกของออสเตรเลีย

    สภาพที่แห้งกว่าค่าเฉลี่ยพบเห็นได้ทั่วพื้นที่ทางตะวันตกและตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ แคนาดา พื้นที่แถบจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) คาบสมุทรอาหรับ และเอเชียกลางตอนใต้ ออสเตรเลีย และ ชิลีที่สภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้เกิดไฟป่า