ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชวลิต” ทีมกรุ๊ป ชี้ไทยพ้นวิกฤติเอลนีโญ “ร้อนมากแต่ไม่แล้ง” เข้าสู่ ลานีญา ฝนมากน้ำมาก

“ชวลิต” ทีมกรุ๊ป ชี้ไทยพ้นวิกฤติเอลนีโญ “ร้อนมากแต่ไม่แล้ง” เข้าสู่ ลานีญา ฝนมากน้ำมาก

8 มีนาคม 2024


“ชวลิต จันทรรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญน้ำจากทีมกรุ๊ป ประเมินไทยพ้นวิกฤติเอลนีโญในเดือนธันวาคม 2566 อากาศร้อน แต่ไม่แล้ง และเข้าสู่ภาวะฤดูฝนปกติในเดือนพฤษภาคม 2567 คลายกังวลปริมาณสำรองน้ำ เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่สัญญาณ “ลานีญา” เริ่มชัด เข้าสู่ภาวะฝนมากน้ำมากในเดือนมิถุนายน

นายชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีมกรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้อุณภูมิทั่วโลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยารายงานอุณหภูมิและค่าดัชนีความร้อนในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน อาจสูงจนเป็นอันตราย ตั้งแต่ 42.0-51.9 องศาเซลเซียสอุณหภูมิ

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นหมายถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ต้องรับมือด้วยหรือไม่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับนายชวลิต จันทรรัตน์  กรรมการ ทีมกรุ๊ป ซึ่งมองว่า แม้อุณหภูมิจะสูงจากเอลนีโญ แต่สถานการณ์ภัยแล้งปี 2567 น่าจะคลายกังวลเพราะสถานการณ์ดีขึ้น จากข้อมูลล่าสุดพบว่าภาวการณ์เอลนีโญหรือฝนน้อยน้ำน้อยได้คลี่คลายไปแล้ว โดยเราได้ผ่านช่วงที่เอลนีโญมีผลกระทบสูงสุดในเดือนธันวาคม 2566 ไปแล้ว ทำให้ภาวะเอลนีโญเริ่มลดระดับความรุนแรงลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในเดือนพฤษภาคม

“ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ภาวะฝนน้อยน้ำน้อยได้คลี่คลายไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่เราอาจจะไม่รู้สึกมากเพราะว่าการจัดการรับมือค่อนข้างดี และในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ภาวะเอลนีโญจะเข้าสู่ภาวะที่เป็นกลาง ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเข้าภาวะปกติ และในเดือนมิถุนายนมีสัญญาณว่าจะมีฝนมาก น้ำมาก”

นายชวลิตบอกว่าเป็นข่าวดี ที่ทำให้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลดความตึงเครียดในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำได้ สามารถปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรที่ต้องการทำนาปรังเพิ่มได้ในพื้นที่ที่มีความต้องการ

“เรียกว่าเขาสู่ภาวะปกติ ถือเป็นข่าวดี เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และ สทนช. ก็ค่อนข้างจะคลี่คลาย หมายถึงว่า ใครจะขอน้ำเพิ่มพร้อมที่จะให้ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าน้ำจะน้อยและลดพื้นที่การเพาะปลูกลงก็ผ่อนปรนมากขึ้น เพราะจากข้อมูลที่ประเมินว่าฝนน้อย น้ำน้อย หรือเอลนีโญ จะมีผลกระทบจะยาว แต่ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายืนยันว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ฝนตกปกติตามฤดูกาลในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม”

“เอลนีโญ” คลี่คลาย สัญญาณเข้าสู่ภาวะ “ลานีญา”

จากการคาดการณ์ เอลนีโญที่จะส่งผลให้ภาวะฝนน้อยน้ำน้อยมีระยะเวลายาว แต่หลังจากข้อมูลล่าสุดพบว่าเอลนีโญผ่านช่วงวิกฤติและเริ่มปรับระดับลดความรุนแรงลง จนเข้าสู่ฤดูฝนปกติและมีสัญญาณจะเกิดภาวะ “ลานีญา” ฝนมากน้ำมากในเดือนมิถุนายน 2567

“แม้ว่าตอนนี้การคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะลานีญาเพียง 55% ก็ตาม แต่จากข้อมูลที่เคยประเมินเดิมว่าเอลนีโญจะกินระเวลายาวก็คงไม่ใช่แล้ว เพราะมีข้อมูลที่เชื่อถือได้จากการคาดการณ์ใน 6 เดือนว่ามีโอกาสเอลนีโญเข้าสู่ความเป็นกลาง 79% นั่นแสดงว่าฤดูกาลเข้าสู่ภาวะปกติ”

นายชวลิตอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ให้มั่นใจว่าในเดือนพฤษภาคม 2567 จะเข้าสู่ฤดูฝนปกติ มาจากแบบจำลองสภาพอากาศ 22 แบบจำลอง แม้ว่าแนวโน้มการประเมินไม่ได้ไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด แต่ใช้ความสามารถและประสบการณ์วิเคราะห์อย่างละเอียดพบว่า แนวโน้มเข้าสู่ฤดูกาลปกติค่อยข้างมาก ทำให้ในเดือนเมษายนในช่วงสงกรานต์จะมีฝนบ้าง และเดือนพฤษภาคมประมาณสัปดาห์ที่ 4 ฝนจะเข้าสู่ในเกณฑ์ปกติ

ส่วนภาวะลานีญา จะเริ่มชัดเจนในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ในช่วงนั้นฝนตกต่อเนื่องจะเข้าสู่ช่วงฝนมากน้ำมาก จนฝนอาจจะทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคมตั้งแต่ 12 สิงหาคมหรือวันแม่ ฝนจะเริ่มตกหนักต่อเนื่องมาจนถึงวันพ่อ 5 ธันวาคม

นายชวลิตค่อนข้างมั่นใจว่า ปัญหาปริมาณน้ำสำรองได้หมดไปแล้ว จากเดิมที่กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติต้องบริหารจัดการน้ำให้เหลือจนถึงต้นฤดูฝนประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ควบคุมการปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 5.8 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันสามารถผ่อนคลายให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้เพิ่มมากขึ้น

จากเดิมที่หลายคนห่วงภาวะเอลนีโญ ทำให้ต้องเข้าไปควบคุมการปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศไม่ให้เกิน 5.8 ล้านไร่ เพื่อให้มีน้ำเหลือ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปจนถึงฤดูฝน จากข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณน้ำ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังได้มากถึง 8.4 ล้านไร่ และมีปริมาณเพียงพอในการอุปโภคบริโภค และการควบคุมระบบนิเวศฯ ไล่น้ำเค็ม

“ค่อนข้างสบายใจในการบริหารจัดการน้ำ ปล่อยน้ำเยอะได้ เกษตรกรอาจจะปลูกข้าวได้เพิ่มจาก 8.4 ล้านไร่ เป็น 8.8 ล้านไร่จนถึงสิ้นฤดู แต่การปลูกข้าวช่วงนี้คงเพิ่มได้ไม่มากนัก เพราะจะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ฝนจะมาก่อน ”

นายชวลิตเห็นว่ารัฐบาลควรจะเอาจริงเอาจังกับการส่งเสริมการปลูกข้าวตามช่วงเวลาของปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะการปลูกข้าวในวันแม่ และเกี่ยวในวันพ่อ เพราะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม ทำให้ได้ผลผลิตน้อย เมล็ดข้าวอาจจะฝ่อ แต่การปลูกข้าวในเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม ทำให้ผลผลิตดีกว่า

“ผมอยากเตือนชาวนา พอฝนมาไม่อยากให้รีบปลูกข้าว เพราะว่าจะเจอฝนทิ้งช่วง ผลผลิตเสียหาย ควรเริ่มปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ เพราะว่ามีงานวิจัยและมีข้อมูลชัดเจนว่าปลูกในช่วงนั้นผลผลิตดีกว่า และเรื่องนี้รัฐบาลต้องส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และให้คำแนะนำเกษตรกร ให้ความมั่นใจเกษตรกร”

นาข้าวเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

เตือนอุณหภูมิสูง-นอกเขตชลประทานยังแห้งแล้ง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ยังต้องเผชิญกับภาวะฝนแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิทั่วประเทศสูงและมีอัตราการระเหยของน้ำเร็วกว่าปกติ ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามหมู่บ้าน อัตราการระเหยของน้ำสูง

“แม้ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีอัตราการระเหยเท่ากันกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่ยังสามารถประคองตัวได้ เพราะขนาดที่ใหญ่กว่าแตกต่างจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และสระน้ำประจำหมู่บ้านที่จะระเหยเร็ว ทำให้กระทรวงมหาดไทยยังต้องมีรถขนน้ำไปให้ชาวบ้านในพื้นที่นอกเขตชลประทานเหมือนเดิม”

ส่วนเกษรตกรที่ทำนา แม้จะอยู่ในพื้นที่ชลประทานอาจต้องใช้งบประมาณในการทำนาเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น และต้องสูบน้ำเข้าพื้นที่นามากขึ้นเพราะน้ำระเหยเร็วกว่าปกติ

“คนทำนาต้องเตรียมเงินให้มากขึ้นเพราะว่าความร้อนสูงขึ้น บางพื้นที่สูงถึง 45 องศา ทำให้ปีนี้ต้องรับมือกับอากาศร้อน และเตรียมสูบน้ำเข้าแปลงนา ต้นทุนทำนาเพิ่มขึ้น ในเดือนมีนาคม ข้าวเริ่มตั้งท้องออกรวง ถ้าน้ำไม่ถึงเมล็ดฝ่อ ต้องดูแลให้ดี ส่วนคนที่อยู่นอกเขตชลประทาน จะมีปัญหาภัยแล้งเพราะว่าน้ำอุปโภค บริโภค น้ำที่อยู่ในสระประจำหมู่บ้าน ระเหย คาดว่ากระทรวงมหาดไทยต้องขนน้ำจากพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำ ไปให้พื้นที่นอกเขตชลประทานก่อนฝนจะตกในปลายเดือน พ.ค.”

ปรับวิธีทำนา “เปียกสลับแห้ง” ประหยัดน้ำ

แม้สถานการณ์เอลนีโญจะเข้าสู่ภาวะปกติ และปริมาณน้ำสำรองจะไม่น่าเป็นห่วง แต่นายชวลิตบอกว่ายังคงต้องประหยัดน้ำ และการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากนาหว่าน มาทำนาประณีต แบบเปียกสลับแห้ง เพราะจากงานวิจัยสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20% และเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้น 7%

“รัฐต้องส่งเสริมเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวเป็นเปียกสลับแห้ง ตอนนี้ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง จากผลวิจัยแปลงนาเกษตรกรที่เข้ามาร่วมทดลองว่าลดการใช้น้ำ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรยังไม้ได้เปลี่ยนและยังมีแนวคิดว่าขังน้ำไว้ในนา ทำให้ไม่มีวัชพืช หญ้าไม่เกิด และวัชพืชบางอย่างเก็บง่ายกว่า ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพราะว่าขังน้ำในนาทำให้มีก๊าซมีเทนส่งผลต่อชั้นบรรยากาศโลก”

นายชวลิตยังบอกอีกว่า สหภาพยุโรปเริ่มมีกฎเรื่องของการควบคุมการปล่อยคาร์บอนและมีเทน โดยขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเริ่มถูกควบคุมการปล่อยมีเทนจากการเลี้ยง โดยจะต้องนำมีเทนไปกำจัด หรือนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มเพื่อไม่ให้เหลือในชั้นบรรยากาศ

ทำให้เกษตกรที่เลี้ยงหมูเริ่มหามาตรการเพื่อควบคุมก๊าซมีเทน ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานเกษตรกรชาวนาจะถูกควบคุมเรื่องนี้ จึงต้องตื่นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าว หันมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

“ชาวนาของเราต้องเปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบประณีตได้แล้ว ไม่ใช่ปลูกเสร็จแล้วปล่อยทิ้ง แต่ต้องหันมาใส่ใจมากขึ้นเพื่อวัดระดับความสูงของต้นข้าว ปรับระดับน้ำในแต่ละสัปดาห์ ในการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐต้องส่งเสริมอย่างจริงจังอาจจะตั้งเป้าหมายในพื้นที่ชลประทาน เช่น ลุ่มเจ้าพระยาที่มีพื้นที่นา 9 ล้านไร่ ให้หันมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง”

อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจกับเกษตรกร ต้องใช้ความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน คือกรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งรัฐบาลต้องสั่งการให้ทำงานร่วมกันและตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวอย่างจริงจัง

“กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเข้ามาช่วยด้วย เพราะให้กรมชลประทานอย่างเดียวไม่ไหว และในการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องมีงบประมาณในการดูแล น้ำมัน เบี้ยเลี้ยง ต้องพร้อม เพราะเราไม่สามารถใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟื่อยและปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกแล้ว

นายชวลิตกล่าวอีกว่า การขังน้ำในนาข้าวทำให้มีก๊าซมีเทนและมีเทนทำให้โลกร้อน เนื่องจากก๊าซมีเทนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 50-100 ปี ถ้าคาร์บอนอยู่ในชั้นบรรยากาศ 200-450 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าเรายังทำนาแบบขังน้ำ เราจะปล่อยก๊าซมีเทนให้อยู่ในชั้นบรรยากาศ 200 ปี จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยน้ำเข้าแปลงนาน้อยลง เพื่อประหยัดน้ำและลดมีเทนจากชั้นบรรยากาศโลก

นอกจากนี้ ยังต้องปรับการการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นดิน โดยในพื้นที่นาดอนอาจจะปรับปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลืองหรือพืชที่ขาดแคลนอื่นๆ โดยรัฐต้องมีแผนในการส่งเสริมอย่างชัดเจนเช่นกัน

สร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการลุ่มน้ำ

สำหรับปัญหาโครงสร้างบริหารจัดการน้ำของประเทศ ถือว่ามีความพร้อมทั้งในเรื่องของกฎหมายน้ำที่บังคับใช้แล้ว และองค์กรน้ำที่มีหน่วยงานระดับนโยบาย อย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และมีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ดูแลในแต่ละลุ่มน้ำลงไปถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำระดับตำบล

สิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มขึ้นคือการสร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อวางแผนรับมือน้ำในแต่ละปี เช่น การดูแลเรื่องการระบายน้ำในช่วงหน้าฝน หรือบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง

“ขณะนี้ สทนช. เรามีความเข้มแข็งขึ้น คณะกรรมการลุ่มน้ำยังต้องปรับตัวให้เข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้ เรียกว่าลงไปในระดับอำเภอ ตำบล ต้องพยายามสร้างเครือข่ายที่ยังไม่เข้มแข็ง เพราะคณะกรรมการลุ่มน้ำจะรู้ปัญหาและความต้องการในพื้นที่มากที่สุด”

นายชวลิตกล่าวว่า ตอนนี้ สนทช. ลงไปไม่ถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการลุ่มน้ำต้องแข็งแรงเพราะว่ามีกฎหมายรองรับหมดแล้ว วางแผนการใช้น้ำและเสนอมายัง สทนช. เพื่อให้เข้าไปบริหารจัดการ รวมทั้งการวางแผนการใช้งบประมาณในการรับมือทั้งน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้ง

“สทนช. ศึกษาครบทุกลุ่มน้ำ และมีการจัดทำแผนพัฒนาฯ ลุ่มน้ำ สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย มีผังน้ำทุกพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ประกอบพิจารณาในการขออนุญาต การก่อสร้าง ใครจะสร้าง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ใครจะมาถมทางน้ำ นำมาพิจารณาประกอบการใช้ผังเมืองและผังสิ่งแวดล้อม ทำให้บริหารจัดการพื้นที่ได้ครบทุกมิติ”

นายชวลิตย้ำว่า เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำมีหมดแล้ว ทั้งกฎหมายน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผังน้ำ ผังสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ขาดคือ การบังคับใช้ การส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ กับการปรับตัวของเกษตรกรและผู้ใช้น้ำเท่านั้น