ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน NASA-NOAA ชี้โลกร้อนขึ้นติดต่อกัน 5 ปี ระบุ 2018 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดติดอันดับที่ 4 ในรอบ 139 ปี

รายงาน NASA-NOAA ชี้โลกร้อนขึ้นติดต่อกัน 5 ปี ระบุ 2018 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดติดอันดับที่ 4 ในรอบ 139 ปี

11 กุมภาพันธ์ 2019


ที่มาภาพ:https:/
/svs.gsfc.nasa.gov/13142

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Ocenic and Atmospheric Administration: NOAA) เผยแพร่รายงานที่มีความเห็นตรงกัน คือ จัดให้ 2018 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับที่ 4 เมื่อวัดจากอุณหภูมิพื้นผิวดิน และยังสอดคล้องกับรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorogical Organization: WMO) องค์การอุตนิยมวิทยา สหราชอาณาจักร

โดยปกติของทุกปีแล้วรายงานสภาพภูมิอากาศจะเผยแพร่กลางเดือนมกราคมแต่ปีนี้ล่าช้าออกไปเพราะปิดทำการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลจากการที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณจำนวน 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ตามที่ฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอ

อุณหภูมิโลกทั้งบนดินและผิวน้ำในมหาสมุทรปี 2018 เพิ่มขึ้นทั่วโลกเฉลี่ย 1.42 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.79 องศาเซลเซียส จากศตวรรษที่ 20 จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยกอดดาร์ด (Goddard Institute for Space Studies: GISS) ของ NASA เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นถึง 11 เดือนจาก 12 เดือนของปี ส่งผลให้ปี 2018 เป็นปีที่ร้อนติดกันเป็นปีที่ 42 นับจากปี 1977 และเป็นปีที่ 4 ที่ร้อนที่สุดในรอบ 139 ปีตั้งแต่ช่วงปี 1880-2018

ที่มาภาพ:https:// www.noaa.gov/news/2018-was-4th-hottest-year-on-record-for-globe

โดยปีที่ร้อนที่สุด คือ ปี 2016 ปีที่ร้อนสุดเป็นอันดับ 2 คือปี 2015 ปีที่ร้อนสุดอันดับ 3 คือ ปี 2017 โดยอุณหภูมิปี 2015-2017 แต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในระดับที่มากกว่า 1.8 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1 องศาเซลเซียส จากช่วงปี 1880-1980

ปี 2016 ร้อนจากปรากฏการณ์เอลนีโญี แต่ปี 2018 ร้อนจากปรากฏการ์ณลานีญา และเกิดเอลนีโญอ่อนๆ ในช่วงปลายปี

ในบรรดาปีที่ร้อนที่สุด 10 อันดับแรกนั้น 9 ปีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งปี 2014-2018 เป็น 5 ปีที่ร้อนที่สุดที่สร้างสถิติใหม่ และเป็นปีที่ร้อนติด 5 อันดับแรกแห่งปีที่ร้อนที่สุด มีเพียงปี 1998 ในศตวรรรษที่ 20 ปีเดียวเท่านั้นที่ติดอยู่ใน 10 อันดับของปีที่ร้อนที่สุด

ในศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิโลกทั้งบนดินและผิวน้ำเพิ่มขึ้นไปที่ระดับสูงสุดใหม่ในปี 2005, 2010, 2014, 2015, 2016 ซึ่ง 3 ปีหลังนี้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นติดต่อกัน ขณะที่ในช่วงปี 1880-1980 กว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดใหม่ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 13 ปี แต่ช่วง 1981-2018 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ทุกๆ 3 ปี

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.13 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.07 องศาเซลเซียส ทุก 10 ปีตั้งแต่ 1880 อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 1981 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 2 เท่า คือ 0.31 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.17 องศาเซลเซียส

ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2018-09-18/climate-change-chronic-condition

โลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียสภัยพิบัติเกิดถี่

ดร.เกวิน ชมิดท์ ผู้อำนวยการ GISS กล่าว่า นับตั้งแต่ปี 1880 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้วราว 2 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 1 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นซึ่งเป็นประเด็นหลัก

อากาศยังร้อนที่สุดในแถบอาร์กติก ทะเลน้ำแข็งลดลง รวมทั้งแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกยังทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ฤดูการเกิดไฟป่านานขึ้นและเกิดสภาพอากาศที่เลวร้าย

ผลของโลกร้อนที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานและรวดเร็วเห็นได้ชัดเจนจากคลื่นความร้อนในออสเตรเลีย ภาวะแห้งแล้งในชายฝั่งที่น้ำทะเลหนุนสูงในสหรัฐฯ ทะเลน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่หายไป ธารน้ำแข็งที่กำลังหดตัว ฝนตกชุก และระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป

โลกมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้นต่อเนื่อง เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความร้อนที่สูงขึ้นได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติในระดับที่สร้างสถิติใหม่อีกด้วย เช่น ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่เผาผลาญเมืองและบ้านเรือนจำนวนมาก ทำให้คนไร้ที่อยู่นับพันคน พายุเฮอร์ริเคนไมเคิล และพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ในปีก่อน รวมไปถึงความหนาวเย็นในระดับติดลบ 40-50 องศาเซลเซียส ในแถบมิดเวสต์และนอร์ทเวสต์ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

NASA วิเคราะห์อุณหภูมิพื้นผิวดินที่วัดได้จากสถานีวัดอากาศ 6,300 แห่ง รวมทั้งอุณหภูมิผิวน้ำในทะเลและมหาสมุทร และสถานีวิจัยในแอนตาร์กติก

ทุกภูมิภาคร้อนขึ้นถึงขั้วโลกเหนือ

อุณหภูมิทั่วโลกปี 2018 อยู่ในระดับร้อนถึงร้อนมาก สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยอุณหภูมิพื้นผิวดินปี 2018 ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.02 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 1.12 องศาเซลเซียสจากศตวรรษที่ 20 เป็นปีที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดปีที่ 4 นับจากปี 1880 โดยอุณหภูมิสูงสุดวัดได้ทั่วทั้งยุโรป นิวซีแลนด์ และบางส่วนของตะวันออกกลางและรัสเซีย โดยที่ยุโรปอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3.20 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 1.78 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิผิวน้ำปี 2018 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.19 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.66 องศาเซลเซียสจากศตวรรษที่ 20 เป็นปีที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดปีที่ 4 นับจากปี 1880 เช่นกัน โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะมหาสมุทรที่ล้อมรอบนิวซีแลนด์ รวมทั้งบางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และไม่มีมหาสมทุรไหนที่มีความเย็นเลยในปี 2018

ในอเมริกาเหนืออุณหภูมิสูงขึ้นเป็นปีที่ 18 นับจากปี 1910 โดยเพิ่มขึ้น 1.31 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.73 องศาเซลเซียส ส่วนในสหรัฐฯ อุณหภูมิต่อปีเพิ่ม 1.51 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.84 องศาเซลเซียสจากศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้รัฐที่อยู่ติดกัน 48 รัฐเจอปีที่ร้อนที่สุดเป็นปีที่ 14 ในรอบ 124 ปีนับจากจากเก็บสถิติ ขณะที่รัฐอลาสกาอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4.4 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 2.4 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากที่ปี 2016 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 5.9 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 3.3 องศาเซลเซียส

ในเม็กซิโก อุณหภูมิช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนอยู่ที่ 40.9 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 22.7 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้น 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ย และเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปีเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งช่วงร้อนที่สุดของปีเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนเกิดขึ้นปี 2016 และ 2017 และอุณหภูมิในอ่าวเม็กซิโกและฮาวายสูงสุดเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2018

ที่อเมริกาใต้ ปี 2018 เป็นปีที่ร้อนสุดปีที่ 8 ต่อเนื่องจาก 2014-2017 ยกเว้นปี 2015 ที่อากาศอุ่น โดยอาร์เจนตินาอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.61 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.34 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ยส่งผลให้ปี 2018 เป็นปีร้อนสุดปีที่ 9 นับจากเก็บสถิติปี 1961

สภาพอากาศที่ร้อนมากกว่าระดับเฉลี่ยยังวัดได้ทั่วยุโรป โดย 8 ใน 10 เดือนของปี เป็นช่วงที่อากาศร้อนสูงสุด โดยอุณหภูมิปี 2018 ของยุโรปเพิ่มขึ้น 3.20 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 1.78 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ย และสูงกว่าระดับสถิติของปี 2014 ที่เพิ่มขึ้น 0.13 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.07 องศาเซลเซียส

ปี 2018 ยุโรปเผชิญอากาศร้อนสูงถึง 118 องศาฟาเรนไฮต์ ที่มาภาพ : https://www.tert.am/en/news/2018/08/04/hottest-day/2759017

คลื่นความร้อนมีผลกระทบต่อยุโรปช่วงวันที่ 18-22 เมษายน ในฝรั่งเศสวันที่ร้อนที่สุดคือ 21 เมษายน อุณหภูมิอยู่ที่ 66.6 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 19.2 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นจาก 66 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 18.9 องศาเซลเซียส วันที่ 30 เมษายน 2005

ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียหลายพื้นที่ในวงกลมอาร์กติกหรือพื้นที่ในเขตขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 30 องศาเซลเซียส บางพื้นที่สูงกว่านี้ ที่นอร์เวย์ อุณหภูมิอยู่ที่ 92.3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 33.5 องศาเซลเซียสในวันที่ 17 กรกฎาคม

ที่อังกฤษ อุณหภูมิปี 2018 อยู่ที่ 49.1 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 9.5 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้น 1.1 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.6 องศาเซลเซียสจากเฉลี่ยช่วงปี 1981-2010 เป็นอุณหภูมิที่สูงสุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลปี 1910 และปีที่ร้อนที่สุด 10 อันดับแรกเริ่มขึ้นปี 2001

เยอรมนี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 50.6 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 10.4 องศาเซลเซียส สูงสุดนับจากปี 1881 และยังสูงขึ้น 4 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 2.2 องศาเซลเซียสจากปี 1961-1990 ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ปี 2018 เป็นปีที่ร้อนที่สุด โดยอุณหภูมิอยูที่ 44.4 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 6.9 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้น 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.5 องศาเซลเซียสจากเฉลี่ยปี 1961-1990

เอเชียร้อนสุดรอบ 109 ปี

เอเชียอุณหภูมิปี 2018 เพิ่มขึ้น 2.27 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.26 องศาเซลเซียสจากเฉลี่ย และเป็นปีที่ร้อนที่สุดปีที่ 7 ในรอบ 109 ปี โดยปี 1910-2018 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.25 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.15 องศาเซลเซียสทุก 10 ปี แต่ปี 1981-2018 เพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 เท่าเล็กน้อย โดยสูงขึ้น 0.59 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.33 องศาเซลเซียส

เดือนเมษายน 2018 เป็นช่วงที่อุ่นเป็นพิเศษสำหรับปากีสถานตอนกลางและภาคตะวันออก วันที่ 30 เมษายน อุณหภูมิสูงสุดที่ 122.4 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 50.2 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับเฉลี่ยเดือนเมษายนทั่วไปที่ 104.4 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 40.2 องศาเซลเซียส และยังสูงกว่าเดือนเมษายนปี 2017 ที่ 120.6 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 49.2 องศาเซลเซียส

หลายพื้นที่ของเอเชียกลางและเอเชียใต้ประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าระดับเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2018 โดย 7 ประเทศ คือ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ เติร์กเมนิสถาน ปากีสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน อุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 16.2-21.6 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 9-12 องศาเซลเซียส

ฮ่องกงและจีนมีอากาศอุ่นขึ้นมากกว่าปกติในช่วงเดือนมีนาคม เพราะอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 31.4 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.7 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ย และเป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดปีที่ 4 แล้ว อุณหภูมิทั้งปีของฮ่องกงอยู่ที่ 75 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 23.9 องศาเซลเซียส เป็นปีที่ร้อนสุดปีที่ 3 นับจากปี 1884

ชาวอินเดียสำรองน้ำรับอากาศร้อน อุณหภูมิสูงถึง 48.5 องศาเซลเซียส เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่มาภาพ :https://indianexpress.com/article/india/india-news-india/india-weather-churu-rajasthan-kerela-monsoon-summer-2838168/

เดือนสิงหาคมปี 2018 เป็นเดือนที่อุ่นที่สุดของเกาหลีใต้โดยอุณหภูมิอยู่ที่ 81.1 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 27.3 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้น 4 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 2.2 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ย หลายพื้นที่ในเกาหลีใต้อุณหภูมิสูงสุดที่ระดับใหม่ โดยกรุงโซลอุณหภูมิสูงสุดทำสถิติใหม่รอบ 111 ปีที่ 103.3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 39.6 องศาเซลเซียส

ในตะวันออกกลาง บาห์เรนประสบกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างมากเดือนมีนาคม โดยเพิ่มขึ้น 6.5 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 3.6 องศาเซลเซียส มาที่ 76.3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 24.6 องศาเซลเซียส ในวันที่ 30 มีนาคมอุณหภูมิที่สนามบินนานาชาติบาห์เรนอยูที่ 99.7 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 37.6 องศาเซลเซียส เป็นวันที่ร้อนสุดครั้งที่ 3 นับจากมีนาคม 1946 จากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 100.6 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 38.1 องศาเซลเซียส วันที่ 29 มีนาคม 1998 และ 100.4 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 38 องศาเซลเซียสวันที่ 19 มีนาคม 1966

ที่โอมานอุณหภูมิช่วงกลางคืนสูงสุดที่ 108.7 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 42.6 องศาเซลเซียส วันที่ 26 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่อุณหภูมิลดลงแล้วก็ตาม จึงจัดว่าเป็นสถิติใหม่ของเอเชีย

พื้นที่หิมะและน้ำแข็งปกคลุมปี 2018

ขอบเขตหิมะปกคลุมซีกโลกด้านเหนือในปี 2018 เฉลี่ย 9.90 ล้านตารางไมล์ เพิ่มขึ้น 300,000 ตารางไมล์จากระดับเฉลี่ยปี 1981-2010 และมีขนาดใหญ่อันดับ 12 ในรอบปี1968-2018

ขอบเขตทะเลน้ำแข็งในอาร์กติกลดลงต่อเนื่องในปี 2018 โดยมีขนาด 4 ล้านตารางไมล์ จาก 4.01 ล้านตารางไมล์ในปี 2017 ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กอันดับ 2 ในช่วง 1979-2018 แต่ใหญ่กว่าขนาดเล็กสุดของปี 2016 ถึง 9,000 ตารางไมล์

พื้นที่ทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกมีขนาด 4.20 ล้านตารางไมล์ เป็นขนาดเล็กสุดอันดับ 2 แต่ใหญ่กว่าขนาดของปี 2017 ถึง 77,000 ตารางไมล์

เอลนีโญทำปี 2019 ยังร้อนต่อ

แม้ NASA และ NOAA จะจัดปีที่ร้อนสุดไม่ตรงกัน โดย NASA จัดปี 2017 ว่าเป็นปีที่ร้อนสุดอันดับ 2 แต่ NOAA จัดให้เป็นปีที่ร้อนสุดอันดับ 3 รองจากปี 2015 และ 2016 เนื่องจากใช้วิธีการคำนวณการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสององค์กรจัดให้ปี 2018 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปี

ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 2018 ยังคงต่อเนื่องในปี 2019 และปี 2019 ก็จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปีหนึ่ง จากความเห็นของ เซเก เฮาส์ฟาเทอร์ นักวิเคราะห์จากเบิร์กเลย์ เอิร์ท (Berkeley Earth) สถาบันวิจัยอิสระ

งานวิจัยสองชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ชี้ว่า ชั้นนำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกที่กำลังละลายอาจจะทำให้สภาพอากาศเลวร้ายมาก โดยงานวิชัยชิ้นหนึ่งที่เน้นศึกษาผลกระทบจากชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกถล่ม ซึ่งมีแทมซิน เอ็ดเวิร์ด นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของคิงส์ คอลเลจในลอนดอน เป็นหัวหน้าทีม ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นถึง 10 นิ้วจากการละลายของน้ำแข็งในแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ต่ำกว่างานวิจัยปี 2016 ที่คาดว่าน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 5-6 ฟุตภายในปี 2100

แม้ประเมินระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเดิม แต่การเพิ่มขึ้นในระดับนี้ก็มากพอที่จะทำให้เกิดภาวะอากาศเลวร้ายอย่างมาก จากงานวิจัยที่นำโดย ดร.นิโคลัส กอลเลจ ศาสตราจารย์ของศูนย์วิจัยแอนตาร์กติกแห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ในนิวซีแลนด์

ดร.กอลเลจยกตัวอย่างว่า การไหลเข้าของกระแสน้ำจืดในกรีนแลนด์อาจจะผลให้การหมุนเวียนในมหาสมุทรแอตแลนติกชะลอลง และอาจจะทำให้กระแสน้ำในอ่าวเม็กซิโกอุ่นขึ้นและตามมาด้วยการเกิดพายุเฮอร์ริเคน

ที่มาภาพ: https:// www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201813

เรียบเรียงจาก
NASA,neci,NOAA,NCDC,climatecentral,nytimes,vox,