ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ‘กันยายน’ ฝนตกหนักน้ำท่วมทั่วโลก ‘climate change’ สภาพอากาศสุดขั้ว จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

‘กันยายน’ ฝนตกหนักน้ำท่วมทั่วโลก ‘climate change’ สภาพอากาศสุดขั้ว จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

6 ตุลาคม 2023


น้ำท่วมลิเบีย ที่มาภาพ : https://www.euronews.com/green/2023/09/13/libya-greece-brazil-climate-driven-storms-cause-catastrophic-flooding-around-the-world

ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมทั่วโลกในเดือนกันยายน แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (global warming) ที่ทวีความรุนแรงชัดเจนขึ้น และเกิดคำถามว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ต้องเจอในระยะต่อไปหรือไม่

ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนในเดือนกันยายน เริ่มด้วยพายุดาเนียลก่อตัวขึ้นเหนือกรีซเมื่อวันที่ 4 กันยายน ทำให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วม โดยในซาโกรา ประเทศกรีซ มีฝนตกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 30 นิ้วใน 24 ชั่วโมง เทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาหนึ่งปีครึ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และทำให้ประเทศใกล้เคียงอย่างตุรกีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้องลุยน้ำที่สูงระดับเข่าซึ่งล้อมรอบด้วยต้นไม้ล้ม ในขณะที่บางส่วนของอิสตันบูล เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ประสบน้ำท่วมฉับพลันที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองคน น้ำท่วมรุนแรงยังเกิดขึ้นที่บัลแกเรียทางตอนเหนือของกรีซ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย

ที่ตุรกีหลายเมืองประสบกับน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนัก รวมทั้งเมืองซัมซุน ชายฝั่งทะเลดำ ฝนที่ตกหนักทำให้ทางหลวงซัมซุน-อังการากลายเป็นทะเลสาบ การคมนาคมขนส่งติดขัดและหยุดชะงักครั้งใหญ่ ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่อพยพหนีน้ำท่วมออกจากที่ทำงานและบ้านเรือนในทุกวิถีทาง

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของตุรกีได้พยากรณ์อากาศและเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีฝนตกหนักตามแนวชายฝั่งทะเลดำ แนวชายฝั่งทะเลอีเจียน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก

สภาพลิเบียหลังน้ำท่วม ที่มาภาพ : https://www.ifrc.org/press-release/libya-floods-climate-change-made-catastrophe-far-more-likely

ที่ยุโรป พายุดานาทำให้ฝนตกหนักที่สเปน น้ำท่วมจนบ้านเรือนเสียหายและมีผู้เสียชวิตอย่างน้อยหนึ่งคน

ในวันที่ 7 กันยายนพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่านฮ่องกง ฝนที่หนักมากเป็นประวัติการณ์ทำให้ต้นไม้หักโค่นและน้ำท่วมเมือง

ในปลายเดือนฝนตกหนักจนท่วมพื้นที่นิวยอร์กซิตี ถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินจากน้ำท่วมฉับพลัน ระบบรถไฟใต้ดิน ถนน และทางหลวงหลายแห่งของเมืองเกิดน้ำท่วม ขณะที่อาคารผู้โดยสารอย่างน้อย 1 แห่งที่สนามบินลาการ์เดีย ปิดทำการในวันศุกร์ (29 ก.ย.) ก่อนที่จะเปิดอีกครั้งในภายหลัง และบางพื้นที่ของเมืองมีฝนตกหนักถึง 8 นิ้ว (20 ซม.)

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน กรีซเจอพายุลูกใหญ่พัดถล่มหลายพื้นที่ทางตอนกลางอีกรอบ ส่งผลให้ถนน สะพานพัง และน้ำท่วมบ้านเรือน หลังจากเจอฝนตกหนักไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน

พายุลูกใหม่ที่เรียกว่าเอเลียส ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมืองโวลอสทางตอนกลางเมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.ย.) และทำให้หลายร้อยคนติดอยู่ตามหมู่บ้านบนภูเขาใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ดำเนินการช่วยเหลือและอพยพหลายครั้ง

แต่ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดคือน้ำท่วมในลิเบียเพราะพายุเดเนียลจากกรีซ ที่พัดข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหอบเอาความร้อนจากน้ำทะเลที่ร้อนผิดปกติ ก่อนจะขึ้นฝั่งที่ลิเบียไม่กี่วันต่อมาด้วยฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินถล่มในเมืองต่างๆ ตามแนวชายฝั่งตะวันออก รวมถึงเบงกาซี เบย์ดา และเดอร์นา จากที่ฝนตกหนักจนเขื่อนแตกไป 2 เขื่อน มวลน้ำมหาศาล 39 ล้านลูกบาศก์หลาทะลักเข้าเมืองเดอร์นา คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 11,000 รายตามข้อมูลของสหประชาชาติ และทำให้สูญหายอีกหลายพันคน

น้ำท่วมตุรกี ที่มาภาพ : https://www.voaturkce.com/a/adiyaman-ve-sanliurfada-sel-felaketi/7006622.html

สถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม ที่นอกจากสะท้อนภาพเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นใน 10 ประเทศและเขตปกครองภายในเวลาเพียง 12 วัน แล้ว ยังเป็นคำถามว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องเจอในระยะต่อไปหรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในลักษณะนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆเมื่อวิกฤติการณ์สภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกดดันให้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม

“ภาวะโลกร้อนเปลี่ยนรูปแบบของฝนในแง่ของความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลา” จุงอึนชู นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศและภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยซิตีแห่งฮ่องกง (City University of Hong Kong) กล่าว แม้ความเสียหายในฤดูร้อนนี้เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน รวมถึงความผันผวนของสภาพอากาศตามธรรมชาติ

แอนดรูว์ โฮเอลล์ นักวิจัยอุตุนิยมวิทยาวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์กายภาพ องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) กล่าวว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องผิดปกติ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและน้ำท่วม แต่การทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนว่า ความสัมพันธ์นั้นคืออะไรอาจจะยาก

โดยทั่วไป…

ผลการศึกษาพบว่าภาวะโลกร้อนทำให้วงจรน้ำของโลกรุนแรงขึ้น อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะทำให้การระเหยเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าบรรยากาศที่ร้อนขึ้นสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น เป็นผลให้พายุสามารถปล่อยฝนที่หนักมากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง

ตามข้อมูลของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 1901 ปริมาณน้ำฝนทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 0.04 นิ้วต่อทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมและความรุนแรงของเหตุการณ์ และการหาร่องรอยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อสิ่งเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์กันอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย

แต่ที่แน่ๆ สภาพอากาศสุดขั้วที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักทั้ง 8 เหตุการณ์ในเดือนนี้มีที่มาที่ต่างกัน

น้ำท่วมกรีซจากพายุแดเนียล ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2023/09/07/europe/greece-floods-storm-rescue-climate-intl/index.html

น้ำท่วมกรีซจากพายุเอเลียส ที่มาภาพ : https://www.aljazeera.com/news/2023/9/28/flooded-homes-as-storm-elias-hits-battered-volos-in-central-greece

ยุโรปเจอพายุที่รุนแรงที่สุด

ในเดือนกันยายน ยุโรปในพื้นที่บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนประสบกับพายุที่รุนแรงที่สุดลูกหนึ่งจากพายุแดเนียล ซึ่งเป็นผลมาจากระบบความกดอากาศต่ำที่มีกำลังแรงมากจนกลายมาเป็น “medicane” พายุประเภทที่ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพายุเฮอริเคนและไต้ฝุ่น ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม

ในกรีซซึ่งน้ำท่วมเกิดขึ้นหลังจากประเทศประสบกับไฟป่าครั้งใหญ่ ธีโอโดรอส สกายลากาคิส รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของกรีซ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า “มีร่องรอย ‘fingerprints’ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“เรามีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทะเลร้อนมาก ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ทางลมฟ้าอากาศที่ไม่เหมือนใคร”

ภัยพิบัติร้ายแรงสุดที่ลิเบีย

สำหรับเหตุการณ์ในลิบีย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขนาดของภัยพิบัติขยายใหญ่ขึ้นอย่างมากด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่เปราะบาง คำเตือนที่ไม่เพียงพอ และผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

“นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่สภาพภูมิอากาศและความสามารถไม่สอดคล้องกัน จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่น่าสยดสยองนี้” มาร์ติน กริฟฟิทส์ หัวหน้าหน่วยบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ กล่าว

ลิเบียได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ โดยประเทศมีความแตกแยกระหว่างรัฐบาลที่เป็นคู่แข่งกัน 2 ฝ่ายตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งหนึ่งในนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่ และเป็นผู้ควบคุมภูมิภาคซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเดอร์นา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รัฐที่กระจายเป็นสองส่วนของประเทศในแอฟริกาเหนือนี้ ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับน้ำท่วม และอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน

“สถานการณ์ในลิเบียย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพมานานหลายปี ประกอบกับได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เคียรัน ดอนเนลลี รองประธานอาวุโสฝ่ายตอบสนองวิกฤติ การฟื้นฟู และการพัฒนาของคณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee) กล่าว

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ชุมชนรับมือและสร้างใหม่ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง”

น้ำท่วมเสิ่นเจิ้น จีน ที่มาภาพ : http://english.news.cn/20230908/bd28df0f352d42af949e2f5b0163d577/c.html

เอเชียเจอพายุสองลูก

ส่วนในเอเชีย แม้ขนาดของการทำลายล้างและการสูญเสียชีวิตมนุษย์จะน้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แต่ก็ถือว่ามีพายุร้ายแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย

ไต้ฝุ่น 2 ลูก ได้แก่ เซาลาและไห่ขุย เคลื่อนผ่านภูมิภาคนี้ภายในไม่กี่วันในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในเกาะไต้หวัน ฮ่องกง และพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน รวมถึงเสิ่นเจิ้น

แม้ไต้ฝุ่นเซาลาส่งผลให้ปิดโรงเรียนและธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกงเป็นเวลา 2 วัน แต่ความเสียหายที่แท้จริงก็เกิดขึ้นในสัปดาห์ต่อมา เมื่อฮ่องกงถูกพายุพัดถล่มและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สถานีรถไฟใต้ดินจมอยู่ใต้น้ำ และถนนกลายเป็นแม่น้ำ

พายุลูกนี้ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2427 ตามข้อมูลของทางการฮ่องกง ส่วนในไต้หวัน ไต้ฝุ่นไห่ขุยทำให้บ้านเรือนหลายหมื่นหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ และประชาชนมากกว่า 7,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่

พายุไต้ฝุ่นทั้งสองลูกถือเป็น “กรณีพิเศษ” ที่ทำให้เกิดพายุรุนแรงผิดปกติในสัปดาห์ถัดมา จุงอึนชู กล่าว ไต้ฝุ่นสองลูกนี้ทำให้เกิดมวลอากาศที่เคลื่อนที่ช้าๆ 2 ก้อน ซึ่งทั้งสองลูกหนักด้วยความชื้นและเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต่างกัน จนปะทะกันพร้อมกับปล่อยน้ำฝนปกคลุมฮ่องกง

น้ำท่วม ฮ่องกง ที่มาภาพ : https://www.euronews.com/green/2023/09/13/libya-greece-brazil-climate-driven-storms-cause-catastrophic-flooding-around-the-world

“หากมีพายุไต้ฝุ่นลูกเดียว ก็คงไม่ทำให้เกิดฝนตกหนักขนาดนี้” จุงอึนชูกล่าวและว่า แม้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุไต้ฝุ่นที่มาบรรจบกันนั้นเกิดขึ้น “โดยบังเอิญ” แต่ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ยิ่งทำให้พายุรุนแรงขึ้น

“หากสภาพอากาศอุ่นขึ้น หากพื้นผิว (มหาสมุทร) อุ่นขึ้น บรรยากาศก็จะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น” จุงอึนชูกล่าว “หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหนึ่งองศา (เซลเซียส) บรรยากาศจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น 7%”

จุงอึนชูชี้ให้เห็นถึงข้อมูลย้อนหลังของปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงในฮ่องกง ในอดีต มีหลายทศวรรษระหว่างเหตุการณ์ฝนตกที่ทำลายสถิติ แต่ปริมาณที่ต่างกันมากก็แคบลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โลกของเราร้อนขึ้น สภาพอากาศสุดขั้วที่เคยเกิดขึ้นแบบนานๆ ครั้งก็กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น

ในเดือนกันยายน พื้นที่บางส่วนของภูมิภาคอเมริกาก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน บราซิลมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 รายหลังฝนตกหนักและน้ำท่วมในรัฐรีโอ กรันดี โดซุล ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี

นักอุตุนิยมวิทยาชาวบราซิล มาเรีย คลารา ซาสซากี บอกกับซีเอ็นเอ็นบราซิลว่า ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีปริมาณฝนในรัฐโดยเฉลี่ยเท่ากับปริมาณฝนที่คาดการณ์ไว้ตลอดทั้งเดือนกันยายน

น้ำท่วม บราซิล ที่มาภาพ : https://www.euronews.com/green/2023/09/13/libya-greece-brazil-climate-driven-storms-cause-catastrophic-flooding-around-the-world

ฝนตกหนักในภูมิภาคอเมริกา

ในขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกา เทศกาล Burning Man ประสบกับฝนตกหนักกระหน่ำในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมงานหลายหมื่นคนที่ได้รับคำสั่งให้เก็บอาหารและน้ำขณะติดอยู่ในทะเลทรายเนวาดา

พื้นที่ห่างไกลออกไปได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึง 0.8 นิ้ว หรือประมาณ 2 เท่าของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเดือนกันยายน ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

ล่าสุดวันที่ 29 ก.ย. ฝนตกหนักในนิวยอร์ก โดยมีรายงานฝนตกมากกว่า 2.5 นิ้วภายในหนึ่งชั่วโมงที่อู่ต่อเรือบรุกลิน โรหิต อัครวาลา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสภาพอากาศของนิวยอร์กกล่าวว่า ระบบระบายน้ำของเมืองได้รับการออกแบบให้รองรับได้เพียง 1.75 นิ้วต่อชั่วโมงเท่านั้น

“จึงไม่แปลกใจเลยที่บางส่วนของบรุกลินต้องรับผลกระทบหนักขนาดนี้”

ในเซาท์วิลเลียมสเบิร์ก ย่านบรุกลิน คนงานต้องลุยน้ำสูงระดับเข่าเพื่อดูแลไม่ให้ท่ออุดตัน เนื่องจากมีกระดาษแข็งและเศษขยะลอยไปทั่ว

นครนิวยอร์กมีฝนตกเกือบ 14 นิ้วในเดือนนี้ ทำให้เป็นเดือนกันยายนที่มีฝนตกชุกที่สุดนับตั้งแต่ปี 1882 ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ

น้ำท่วม นิวยอร์ก ที่มาภาพ : https://www.nydailynews.com/2023/09/29/nyc-roads-to-avoid-here-are-the-streets-and-highways-swamped-by-the-rain/

แอฟริกาใต้-กัวเตมาลาฝนกระหน่ำ

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ภูมิภาคแอฟริกาก็ประสบเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันเช่นกัน

ฝนที่ตกหนักหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมในวงกว้างขวางในเวสเทิร์นเคปที่แอฟริกาใต้ ซึ่งประชาชนหลายร้อยคนอพยพออกจากบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม และต้องปิดถนนหลายสิบสาย

กรมอุตุนิยมวิทยาของแอฟริกาใต้เตือนถึงน้ำท่วมในวงกว้างขวางและลมที่สร้างความเสียหายทั่วจังหวัดเคปตะวันออกและตะวันตกตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 26 กันยายน 2566

มีรายงานน้ำท่วมรุนแรงในเมือง Mfuleni ห่างจากเคปทาวน์ประมาณ 30 กิโลเมตร หลังจากที่น้ำเอ่อล้นแม่น้ำ Kuils จนชายฝั่งพังทลาย สำนักข่าว Ground Up รายงานว่า น้ำท่วมในบ้านเรือนส่งผลให้ประชาชนราว 2,000 ครอบครัวต้องอพยพออกจากพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังถูกไฟฟ้าดูดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีรายงานการอพยพใน Faure และ Sandvlei

ในช่วงเดียวกันฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเมืองหลวงของกัวเตมาลา พัดบ้านเรือนเล็กๆ หลายหลังจมลงไปในแม่น้ำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย และสูญหาย 12 ราย รวมถึงเด็ก 10 ราย

ผู้ประสานงานลดภัยพิบัติแห่งชาติของกัวเตมาลาระบุในแถลงการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 6 ราย รวมถึงเด็กสาว 1 คน พร้อมด้วยผู้สูญหาย 12 คน

เจ้าหน้าที่เมืองกัวเตมาลาอธิบายว่า ขยะและเศษซากอื่นๆ กีดขวางทางน้ำของแม่น้ำ Naranjo ส่งผลให้น้ำขังจากฝนที่ตกลงมาทั้งคืน เมื่อเขื่อนแตก กระแสน้ำพัดพาบ้านเรือนไป

นอกจากนี้ในวันที่ 25 กันยายน เกิดน้ำท่วมฉับพลันหลังจากมวลน้ำในธารน้ำ El Jalocote สูงขึ้นหลังฝนตกหนักกลายเป็นกระแสน้ำโคลนกวาดบ้านเรือนที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 200 คน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายและสูญหายอีก 2 รายในเม็กซิโก

น้ำท่วมแอฟริกาใต้ ที่มาภาพ: https://floodlist.com/africa/south-africa-floods-western-cape-september-2023

ไทยน้ำท่วม 28 จังหวัด

สำหรับประเทศไทย เพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 5 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ตราด กาญจนบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สตูล และยะลา รวมจำนวน 96 อำเภอ 347 ตำบล 1,600 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,140 ครัวเรือน

โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และตราด รวม 15 อำเภอ 66 ตำบล 379 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 13,209 ครัวเรือน รายละเอียด ดังนี้

    ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ สามเงา และบ้านตาก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,737 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
    กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 55 ตำบล 322 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,065 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
    อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,407 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
    ตราด เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ่อไร่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง

นอกจากนี้ วันที่ 3 ตุลาคม ได้มีฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมืองระยอง จนทำให้้ำท่วมถนนหลายสายถูกน้ำท่วมสูง โดยถนนสาย บขส.ใหม่-แยกหนองโพรง ต.ทับมา อ.เมืองระยอง น้ำท่วมหนักทั้ง 2 ฝั่งถนน เป็นระยะทาง 50 เมตร ระดับน้ำสูง 1.40 เมตร

ที่มาภาพ : เพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มาภาพ : เพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

น้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาระยะสั้น

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ได้กระตุ้นให้เกิดฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่าปกติ และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง

ภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ทั่วโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นในมหาสมุทร จากรายงานของสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ

ซึ่งหมายความว่าพายุสามารถก่อตัวได้มากกว่าที่ควรจะเป็น ในปีที่เกิดเอลนีโญ ฟิล คลอตซ์บัค นักวิทยาศาสตร์การวิจัยในภาควิชาวิทยาศาสตร์บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดกล่าวกับซีเอ็นเอ็น แม้แต่พายุที่อ่อนกำลังลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกำลังลม ก็สามารถกลับมาก่อตัวและแรงขึ้นได้อีกครั้งเมื่อมีสภาวะที่เอื้อ

การเสียชีวิตและความเสียหายต่อบ้านเรือนและเมือง ได้รับความสนใจอย่างมากหลังน้ำท่วม แต่น้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบระยะยาวต่อแหล่งน้ำในอ่างเก็บน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชนและการเกษตรในหลายภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาตะวันตก อ่างเก็บน้ำมักจะถูกเก็บไว้ให้ใกล้เต็มความจุมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงหิมะละลายในฤดูใบไม้ผลิเพื่อจัดหาน้ำสำหรับช่วงฤดูร้อนที่แห้งแล้ง ภูเขาทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ โดยกักเก็บหิมะในฤดูหนาวแล้วปล่อยหิมะที่ละลายออกมาอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่สภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกหนัก ไม่ใช่หิมะ ผู้จัดการทรัพยากรน้ำจะต้องเตรียมพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำมากขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำปริมาณมาก ในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมบริเวณท้ายน้ำ

เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ร้ายแรงมากขึ้น

ความพยายามทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้คนยังคงต้องเตรียมพร้อมสำหรับสภาพอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น พายุที่มีฤทธิ์ทำลายล้างภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนในปี 2566 ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัว จากปริมาณน้ำฝนที่หนักทำลายสถิติในหลายประเทศและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหายนะในลิเบีย คือเขื่อนเก่าแก่ที่ใช้จัดการน้ำที่ไหลลงมาจากพื้นที่ภูเขา พังทะลาย

สถานการณ์ที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในภูมิภาคทะเลดำของตุรกี เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมียุทธศาสตร์การจัดการภัยพิบัติและการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติ

ทั้งหมดนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับการออกแบบ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารให้รองรับฝนตกหนักและน้ำท่วมในอนาคต และการลงทุนในโซลูชันใหม่ทางวิศวกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการปรับตัวและปกป้องชุมชนจากสภาพอากาศที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังอาจหมายถึงการไม่สร้างในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมและดินถล่มในอนาคต

เรียบเรียงจาก

  • Mapping Libya’s catastrophic flood damage in Derna after Storm Daniel
  • As extreme downpours trigger flooding around the world, global warming’s intensifying impact becomes more clear
  • Ten countries and territories saw severe flooding in just 12 days. Is this the future of climate change?
  • New York City: State of emergency declared over flash flooding
  • Eight catastrophic floods in 11 days: What’s behind intense rainfall around the world?
  • South Africa – Evacuations, Rescues and Road Chaos After Storms and Floods in Western Cape
  • Homes flooded as Storm Elias hits battered Volos in central Greece