ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนหันสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS กระจายทางเลือกในเวทีเศรษฐกิจโลก

ASEAN Roundup อาเซียนหันสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS กระจายทางเลือกในเวทีเศรษฐกิจโลก

23 มิถุนายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 มิถุนายน 2567

  • อาเซียนหันสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS กระจายทางเลือกในเวทีเศรษฐกิจโลก
  • จีนกระชับสัมพันธ์มาเลเซียด้วยข้อตกลงทางเศรษฐกิจ
  • เวียดนาม-รัสเซียกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
  • สิงคโปร์-กัมพูชา ลงนามข้อตกลงความร่วมมือรัฐบาลดิจิทัล
  • อินโดนีเซียแซงหน้ามาเลเซียรั้งอันดับที่ 27 ของโลกด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน

    อาเซียนหันสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS กระจายทางเลือกในเวทีเศรษฐกิจโลก

    ที่มาภาพ: https://www.dailysabah.com/politics/diplomacy/foreign-minister-heads-to-russia-amid-turkish-interest-in-brics

    กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจมากขึ้นที่จะเข้าร่วมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้เพื่อกระจายทางเลือกของตนเองในเวทีเศรษฐกิจโลก และจากศักยภาพในการร่วมมือในแง่ของการลงทุน การค้า และการจัดหาเงินทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    ดร.โจเซฟ เหลียว คณบดีวิทยาลัยมนุษยศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ กล่าวกับสำนักข่าว CNA ว่าประเทศต่างๆ ที่แสดงความสนใจในการเข้าร่วม BRICS ถูกดึงดูดโดย ศักยภาพการรวมกลุ่ม

    “มันเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณผลประโยชน์ของประเทศของพวกเขาเอง และความต้องการที่จะกระจายทางเลือกของพวกเขาในเวทีเศรษฐกิจโลก” ดร.โจเซฟกล่าว

    รายงานของ The Business Times ในสิงคโปร์ ระบุว่า สำหรับประเทศต่างๆ ที่ต้องการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน การเข้าร่วม BRICS ถือเป็นความพยายามที่จะก้าวข้ามความตึงเครียดนั้น และยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นกับระเบียบระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ และสถาบันสำคัญๆ ที่ยังคงถูกควบคุมโดยมหาอำนาจตะวันตกอย่างมั่นคง เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

    “พวกเราบางคน รวมถึงคนอย่างผม คิดว่าเราจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาสำหรับสถาปัตยกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม” ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์ “BRICS น่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างสมดุลให้กับบางสิ่ง”

    BRICS เดิมก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ภายใต้ชื่อ BRIC โดยมีสมาชิกดั้งเดิมสี่ราย ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่เมืองเยคาเตรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ในปี 2552 และเปลี่ยนชื่อเป็น BRICS เมื่อแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2553

    ปัจจุบันกลุ่มนี้ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย

    เศรษฐกิจของสมาชิกเมื่อรวมกันมีมูลค่ามากกว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28% ของเศรษฐกิจโลก มีพื้นที่รวมกันคิดเป็นประมาณ 30% ของพื้นผิวโลกและมีประชากรรวมกัน 45% ของประชากรโลก

    กลุ่ม BRICS ซึ่งเดิมจัดตั้งขึ้นเพื่อเน้นโอกาสในการลงทุน ได้พัฒนาไปสู่กลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่สมาชิกจะพบกันทุกปีในการประชุมสุดยอดอย่างเป็นทางการ

    ในเดือนกรกฎาคม 2557 กลุ่ม BRICS ได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ที่มีมูลค่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (471 พันล้านหยวน) โดยมีเงินสมทบในสกุลเงินสมาชิกมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กลุ่มได้วางแผนระบบเคเบิลสื่อสารใต้น้ำใยแก้วนำแสง ที่เรียกว่าสายเคเบิล BRICS ในระหว่างการประชุมสุดยอดในปี 2566 สมาชิก BRICS มุ่งมั่นที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของสกุลเงินร่วม(common currency)

  • ไทยยื่นหนังสือประสงค์สมัครสมาชิกต่อรัสเซีย

  • ที่มาภาพ: https://www.mfa.go.th/th/content/bricsfmm2024?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b
    เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างกลุ่ม BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Dialogue with Developing Countries) ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS (BRICS Ministers of Foreign Affairs/International Relations Meeting) ตามคำเชิญของนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (H.E. Mr. Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ณ เมืองนิจนีนอฟโกรอด สหพันธรัฐรัสเซีย

    การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนารวม 22 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่กลุ่ม BRICS ในฐานะการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดใหม่ขนาดใหญ่ในการส่งเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นระดับโลก เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี การปฏิรูประบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้มีความเป็นธรรมและสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงของโลก

    การประชุมครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมการประชุมระดับสูงในกรอบ BRICS ครั้งที่ 5ของประเทศไทย ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว แสดงความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยไทยในฐานะเป็นสะพานเชื่อม (Bridge builder) กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในโลก จะสามารถส่งเสริมให้ BRICS เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และร่วมกับ BRICS ในการผลักดันผลประโยชน์ร่วมของประเทศกำลังพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เสนอแนะแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่าง BRICS กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน ความมั่นคงอาหาร การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกเดิมของกลุ่ม BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และประเทศสมาชิก BRICS รายใหม่ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิหร่าน รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย โดยได้หารือในประเด็นการขยายความร่วมมือทวิภาคี และย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ด้วย ทั้งนี้ ทุกประเทศได้ชื่นชมและยินดีต่อการสมัครของไทย และเห็นว่าไทยจะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของ BRICS ได้อย่างดี นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครสมาชิก BRICS ของไทยต่อนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ในฐานะรัสเซียเป็นประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2567

  • มาเลเซียเตรียมเข้าร่วม BRICS

  • ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.my/2024/01/photo-gallery-assembly-with-staff-of-the-finance-ministry/
    นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า มาเลเซียจะเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในเร็วๆ นี้

    “เราได้ตัดสินใจอย่างเหมาะสมแล้ว เราจะเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้”

    “ขณะนี้เรากำลังรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและการตอบรับจากรัฐบาลแอฟริกาใต้” นายกรัฐมนตรีกล่าว ในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว Guancha จากเซี่ยงไฮ้

    ในการให้สัมภาษณ์ นายอันวาร์กล่าวว่า มาเลเซียมีความมุ่งมั่นต่อกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) และการเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS จะมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งของช่องแคบมะละกาในฐานะช่องทางเดินเรือที่สำคัญที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

    นายอันวาร์กล่าวว่า เขารู้สึกโล่งใจที่โลกไม่มีขั้วเดียวอีกต่อไป โดย BRICS ทำให้มีความหวังว่ายังมีการตรวจสอบและถ่วงดุลในโลก

    “เราไม่สามารถยอมรับสถานการณ์ที่ชาติตะวันตกต้องการควบคุมกรอบความคิดได้อีกต่อไป เพราะความจริงก็คือ พวกเขาไม่ใช่มหาอำนาจอาณานิคมอีกต่อไป และประเทศเอกราชควรมีอิสระในการแสดงออก” นายอันวาร์กล่าว

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาได้แสดงเจตจำนงของมาเลเซียต่อประธานาธิบดีลุูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิล

    “เรา (มาเลเซีย) จะดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าร่วมกลุ่มได้ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ศึกษานโยบายของเราก่อนตัดสินใจเข้าร่วม BRICS

    “ผมได้พูดคุยกับประธานาธิบดีบราซิลเกี่ยวกับความประสงค์ของเรา” นายอันวาร์กล่าว

  • เวียดนามเกาะติดการขยายกลุ่ม BRICS

  • โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นางฝ่าม ทู หั่ง ที่มาภาพ:https://en.baoquocte.vn/vietnam-pays-attention-to-progress-of-discussions-on-expanding-brics-membership-spokesperson-270857.html
    เวียดนามยังคงให้ความสนใจและติดตามกระบวนการขยายของกลุ่ม BRICS ต่อไป โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางฝ่าม ทู หั่ง กล่าว

    ในการแถลงข่าวเป็นประจำวันที่ 9 พฤษภาคม ได้มีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเวียดนามในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในปี 2567 หลังจากมีข้อมูลที่โพสต์บนบัญชี BRIC News ซึ่งเป็นบัญชี Twitter ของกลุ่ม

    นางฝ่าม ทู หั่งกล่าวว่า ในฐานะสมาชิกที่แข็งขันและมีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ เวียดนามมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมและมีส่วนเชิงบวกต่อกลไกพหุภาคี องค์กร และเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายพหุภาคี ความหลากหลาย และการพึ่งพาตนเองในการต่างประเทศ

    “เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก เรากำลังติดตามกระบวนการขยายสมาชิก BRICS อย่างใกล้ชิด” นางฝ่าม ทู หั่งกล่าว

    ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กลุ่ม BRICS ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วยการต้อนรับสมาชิกใหม่ 5 ราย ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทำให้จำนวนประเทศทั้งหมดในกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ ซึ่งนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกของ BRICS นับตั้งแต่ปี 2553

  • อินโดนีเซียยังคงศึกษาประโยชน์การเข้าร่วม BRICS

  • นางเรตโน มาร์ซูดีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ(ขวา) ที่มาาภาพ:https://en.antaranews.com/news/302433/indonesia-still-considering-benefits-of-joining-brics
    ในการแถลงข่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นางเรตโน มาร์ซูดีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า อินโดนีเซียยังคงศึกษาความเป็นไปได้ ในการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรการค้า BRICS และกำลังชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการเป็นสมาชิก

    นางมาร์ซูดี กล่าวในงานแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567ว่า ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศแสดงความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วม BRICS แต่อินโดนีเซียจะไม่รีบร้อนในการตัดสินใจ

    “นโยบายต่างประเทศของเรามีการพิจารณาอย่างรอบคอบเสมอ ไม่มีการตัดสินใจ (โดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ) ดังนั้นในตอนนี้ อินโดนีเซียยังคงศึกษาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วม BRICS” นางมาร์ซูดีกล่าว

    นางมาร์ซูดียืนยันว่าโดยหลักการแล้ว อินโดนีเซียเปิดโอกาสที่จะมีความร่วมมือกับทุกฝ่ายตราบใดที่ความร่วมมือนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกัน

    นางมาร์ซูดีชี้ว่า อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศสมาชิกของ BRICS อินโดนีเซียยังมีมูลค่าการค้าที่ใหญ่ที่สุดกับหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ได้แก่ จีน

    จากข้อมูลของสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย(Statistics Indonesia) มูลค่าการค้าระหว่างอินโดนีเซียและจีนในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2566 มีมูลค่ารวม 104.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    “ดังนั้น แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าร่วม BRICS แต่ความสัมพันธ์ของเรากับแต่ละประเทศ (สมาชิก) ก็ยังคงอยู่อย่างดี”นางมาร์ซูดีกล่าว

    จีนกระชับสัมพันธ์มาเลเซียด้วยข้อตกลงทางเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202406/t20240619_11438565.html

    เมื่อวันพุธ(19 มิ.ย.)ระหว่างการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน จีนและมาเลเซียลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี

    เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของจีน เผยแพร่การเดินทางเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน

    โดยปีนี้เป็นปีแห่การครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตจีน-มาเลเซีย และปีแห่งมิตรภาพจีน-มาเลเซีย นายหลี่ เฉียงชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าภูมิทัศน์ระหว่างประเทศจะพัฒนาไปอย่างไรในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศก็ปฏิบัติต่อกันเสมอมา ด้วยความจริงใจ ดำเนินความร่วมมือแบบ win-win และมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ร่วมกัน บรรลุความก้าวหน้าอย่างมั่นคงในความสัมพันธ์ทวิภาคี และทำให้ความสัมพันธ์จีน-มาเลเซียเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างสำคัญในความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค 

    เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม บรรลุความเข้าใจร่วมกันที่สำคัญในการสร้างประชาคมจีน-มาเลเซียที่มีอนาคตร่วมกัน โดยร่างแผนสำหรับการเติบโตของความสัมพันธ์ทวิภาคีในยุคใหม่

    จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับมาเลเซียเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไป โดยถือเป็นลำดับความสำคัญของนโยบายต่างประเทศของทั้งสองประเทศ และใช้โอกาสครบรอบ 50 ปีในการเร่งสร้างประชาคมจีน-มาเลเซียที่มีอนาคตร่วมกัน โดยการรักษาความใกล้ชิดระดับสูง การติดต่อในระดับต่างๆ กระชับความร่วมมืออย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั่วทุกด้าน และเพิ่มคุณค่าของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของทั้งสองประเทศ

    นายหลี่ เฉียง กล่าวว่า “จีนจะทำงานร่วมกับมาเลเซียเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันของยุทธศาสตร์การพัฒนา ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งอย่างเต็มที่ ส่งเสริมความก้าวหน้าที่มั่นคงในโครงการสำคัญ ๆ เช่น East Coast Rail Link และ “Two countries, Twin Parks” ขยายการค้าและการลงทุน ขยายความร่วมมือในด้านโลจิสติกส์ พลังงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ เศรษฐกิจดิจิทัล อุปกรณ์รถไฟ และสาขาอื่นๆ และยกระดับความร่วมมือในการลดความยากจน เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังจำเป็นต้องกระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว การศึกษา เยาวชน ระดับท้องถิ่น ระดับประชาชน และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมในการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสองฝ่าย จีนพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีกับมาเลเซียเพื่อร่วมกันดำเนินการตามหลักหลักอยู่ร่วมกันโดยสันติ 5 ประการ(Five Principles of Peaceful Coexistence ) และคุณค่าแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ การไม่แบ่งแยก และการบูรณาการของเอเชีย ส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค ส่งเสริมการดำเนินการคุณภาพสูงของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) และสรุปผลการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนฉบับที่ 3.0 (China-ASEAN Free Trade

    นายอันวาร์กล่าวว่า มาเลเซียชื่นชมมิตรภาพที่มีกับจีน และมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างทั้งสองประเทศ มาเลเซียยึดมั่นนโยบายจีนเดียวอย่างมั่นคง สนับสนุนจีนในการบรรลุการรวมชาติ และไม่สนับสนุนคำพูดและการกระทำใดๆ ที่สนับสนุน “เอกราชของไต้หวัน” 

    นายอันวาร์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและจีนกำลังอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่ มาเลเซียพร้อมที่จะใช้โอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยจิตวิญญาณของการเคารพซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนในทุกระดับ กระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เกษตรกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา การลดความยากจน และสาขาอื่น ๆ พัฒนาโครงการสำคัญๆ อย่างแข็งขัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของอารยธรรม และส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน

    มาเลเซียสนับสนุนความคิดริเริ่มที่สำคัญที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เช่น ข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative) ยินดีกับการที่จีนได้ให้ภาคยานุวัติในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมมาเลเซีย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกัน

    ทั้งสองฝ่ายยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

    นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือทวิภาคีอย่างแน่วแน่ และยกระดับการสร้างประชาคมจีน-มาเลเซียที่มีอนาคตร่วมกันให้สูงขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะยังคงส่งเสริมการดำเนินการ RCEP ให้มีคุณภาพสูงต่อไป และมุ่งมั่นที่จะสรุปผลการเจรจาสำหรับ CAFTA ฉบับที่ 3.0 ต่อไป เพื่อสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและมีอนาคตร่วมกัน

    นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่าจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เกี่ยวข้องควรจัดการปัญหาทะเลจีนใต้ และจัดการความขัดแย้งและความแตกต่างอย่างเป็นอิสระ และในลักษณะที่เหมาะสม ส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือ และมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาผ่านความพยายามทวิภาคี

    หลังการเจรจา นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ เช่น การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การท่องเที่ยว บริการไปรษณีย์ การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว การก่อสร้างเมือง และการศึกษาระดับอุดมศึกษา

    เวียดนาม-รัสเซียกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnam-russia-to-deepen-economic-cooperation-327177.html
    เศรษฐกิจยังคงเป็นเสาหลักของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเวียดนามและรัสเซีย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเริ่มการเจรจาเพื่อขยายข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย (EAEU) ในเร็วๆนี้

    ประธานาธิบดีโต เลิมแห่งเวียดนามได้แบ่งปันมุมมองระหว่างการแถลงข่าวที่จัดขึ้นภายหลังการประชุมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียในวันที่ 20 มิถุนายน โดยประกาศว่า ทั้งสองฝ่ายได้รับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของทั้งสองฝ่ายให้ลึกยิ่งขึ้น

    ประธานาธิบดีโต เลิม เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเยือนของนายปูติน โดยเฉพาะในช่วงที่ทั้งสองประเทศเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของสนธิสัญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานของมิตรภาพเวียดนาม-รัสเซีย(Treaty on the Basic Principles of Vietnam-Russia Friendship) และจะครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตในปี 2568

    นายโต เลิม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจะพยายามก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวย เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

    ทั้งสองประเทศสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการสำคัญในภาคพลังงานและปิโตรเลียม และจะอำนวยความสะดวกในการขยายกิจกรรมของธุรกิจจากทั้งสองฝ่ายในเขตแดนของกันและกัน ตามกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติ พ.ศ. 2525 ว่าด้วยเรื่องกฎหมายทะเล(United Nations Convention on the Law of the Sea)

    เวียดนามและรัสเซียยังได้ตกลงที่จะสำรวจและขยายความร่วมมือในภาคพลังงานใหม่และพลังงานสะอาด ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านงสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังตั้งเป้าที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคง และจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ไม่เหมือนเดิม

    นายโต เลิม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในด้านการขนส่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษาและการฝึกอบรม และการฝึกอบรมสายอาชีพ ซึ่งจะสร้างแรงผลักดันใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ศิลปะ และการท่องเที่ยว เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับพลเมืองของทั้งสองประเทศเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพซึ่งกันและกัน

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะะยังคงสนับสนุนพลเมืองเวียดนามในรัสเซียและพลเมืองรัสเซียในเวียดนาม ในการพำนัก การศึกษา และทำงานอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในมิตรภาพอันเก่าแก่ระหว่างทั้งสองประเทศ

    ประธานาธิบดีโต เลิมย้ำว่า เวียดนามยกย่องการสนับสนุนอย่างจริงใจของชาวรัสเซียในการต่อสู้เพื่อเอกราชและการรวมประเทศในอดีต ตลอดจนความพยายามในการสร้างชาติและการพัฒนาในปัจจุบัน

    “เวียดนามถือว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดมาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะพัฒนามิตรภาพแบบดั้งเดิมที่มีมายาวนานซึ่งได้รับการปลูกฝังโดยผู้นำและประชาชนรุ่นต่อรุ่นของทั้งสองประเทศ” นายโต เลิมกล่าว

    ประธานโต เลิม ยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในทิศทางและมาตรการหลักเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบุคคลที่สามที่จะเป็นอันตรายต่อเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์หลักของกันและกัน และจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลก

    ทั้งสองฝ่ายยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความไว้วางใจทางการเมืองผ่านการติดต่อและการแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับสูงสุด และการส่งเสริมกลไกทางกฎหมายของพรรค รัฐ รัฐบาล รัฐสภา กระทรวง และช่องทางท้องถิ่น

    ในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม และโปร่งใส ตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงหลักการไม่ใช้กำลังและการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ และการส่งเสริม ระบบการค้าพหุภาคีใหม่ ขยาย ครอบคลุม และไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักการขององค์การการค้าโลก

    เวียดนามและรัสเซียสนับสนุนโครงสร้างภูมิภาคที่เท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยก และโปร่งใสในเอเชียแปซิฟิก โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจภายในกรอบเช่น APEC, G-20, อาเซียน และสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย เวียดนามยังยินดีที่รัสเซียเพิ่มความร่วมมือกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคและโลก นายโต เลิม กล่าว

    ในด้านทะเลตะวันออก ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนและดูแลความมั่นคง ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือ ต่อต้านการใช้หรือการขู่ว่าจะใช้กำลัง และแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติ พ.ศ. 2525 ว่าด้วยเรื่องกฎหมายทะเล รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ( Conduct of Parties in the South China Sea:DOC) และการเจรจาเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea:COC) ที่มีสาระสำคัญและมีผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ

    ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อผู้นำและประชาชนเวียดนามสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จริงใจ และเอาใจใส่ โดยกล่าวถึงขนบประเพณีมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเน้นย้ำว่าการเยือนของคณะผู้แทนรัสเซียระดับสูงครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะกระชับและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมกับเวียดนาม

    ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าการเจรจาของเขากับประธานาธิบดีโต เลิมเป็นไปในบรรยากาศเชิงบวกและมีสาระสำคัญ ส่งผลให้เกิดปฏิญญาร่วมที่สนับสนุนหลักการของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเวียดนาม-รัสเซีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนามิตรภาพแบบดั้งเดิมในอนาคต และหารือถึงประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน

    ประธานาธิบดีปูตินตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าซึ่งเป็นเสาหลักของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม โดยเน้นว่า EAEU ซึ่งมีผลมาตั้งแต่ปี 2559 ได้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดร่วมกันและการขยายการลงทุน

    นายปูตินแสดงความหวังว่าการเยือนเวียดนามอยางเป็นทางการครั้งนี้จะสร้างแรงผลักดันสำคัญในการขยายความร่วมมือในทุกสาขา และช่วยให้ทั้งสองฝ่ายชี้ชัดและตกลงในทิศทางและมาตรการเพื่อกระชับมิตรภาพดั้งเดิมของทั้งสองฝ่าย

    ประธานาธิบดีโต เลิม และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเวียดนามและรัสเซีย 11 ฉบับ

    สิงคโปร์-กัมพูชา ลงนามข้อตกลงความร่วมมือรัฐบาลดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.sg/Newsroom
    เมื่อวันอังคาร (18 มิ.ย.)สิงคโปร์และกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงเพื่อสานต่อความร่วมมือด้านรัฐบาลดิจิทัล

    บันทึกความเข้าใจดังกล่าวลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของกัมพูชา นายเจีย วันเดธ และนายจานิล ปุทูเชียรี รัฐมนตรีอาวุโสด้านการสื่อสารและข้อมูลของสิงคโปร์ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีลอเรนซ์ หว่องของสิงคโปร์ และดร.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นสักขีพยาน

    กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวในแถลงการณ์ว่า ดร.ฮุน มาเน็ต เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีพิธีต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์และเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี ธาร์มาน ชานมูการัตนัม

    นายธาร์มานและดร. ฮุน มาเนต “ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นและยาวนานระหว่างสิงคโปร์และกัมพูชา” ในขณะที่ทั้งสองประเทศตั้งตารอการครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตในปีหน้า

    “ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การค้าและการลงทุน ความโปร่งใสทางการเงิน และความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ” แถลงการณ์ระบุ

    ดร.ฮุน มาเนตยังได้พบปะกับนายหว่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความยินดีกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสิงคโปร์และกัมพูชา

    “ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงแนวทางในการกระชับความร่วมมือในด้านใหม่ๆ และที่กำลังเกิดใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต” กระทรวงการต่างประเทศกล่าว

    นอกจากนี้ยังได้ยินดีกับการจัดตั้งคณะทำงานลาว-กัมพูชา-สิงคโปร์ด้านการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาโครงการเพื่อขับเคลื่อนโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน

    สิงคโปร์อนุมัติการนำเข้าไฟฟ้าจากกัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนามแบบมีเงื่อนไข

    นายหว่องยังแสดงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างขีดความสามารถของกัมพูชา

    ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เน้นความสำคัญของการรักษาความเป็นแกนกลางและความสามัคคีของอาเซียน บูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้ลึกยิ่งขึ้น และการสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุม

    “ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราเติบโตอย่างมาก โดดเด่นด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน แรงบันดาลใจที่มีร่วมกัน และความมุ่งมั่นต่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค” นายหว่องกล่าว

    “การค้าและการลงทุนเป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ของเรา สิงคโปร์เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของกัมพูชา

    “วันนี้ เราเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของกัมพูชา การลงทุนของเราครอบคลุมภาคส่วนสำคัญๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ ธุรกิจการเกษตร และการเงิน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเราได้ขยายไปสู่ด้านใหม่ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต”

    ในระหว่างการเยือนของดร. ฮุน มาเนต ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ได้ประกาศถึงการเริ่มโครงการริเริ่ม Financial Transparency Corridor (FTC) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อใหมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและบริการทางการเงินข้ามพรมแดนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในสิงคโปร์และกัมพูชา

    MAS และธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่าระยะต่อๆไปจะเพิ่มกระแสข้อตกลง จำนวนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง และสำรวจการเงินสีเขียวและการเงินเพื่อการค้า เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถทางการค้าของทั้งสองประเทศ

    นาย เจีย เต๋อ จวิน กรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า การเริ่มต้น FTC พร้อมด้วยสถาบันการเงินชุดแรกจากกัมพูชาและสิงคโปร์ จะสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับ SMEs มากขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินของ SME บนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของ FTC

    “สิ่งนี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นสำหรับ SMEs ของเราและสถาบันการเงินที่เข้าร่วม”

    ดร. เจีย เสร็ย ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา กล่าวว่า FTC เป็นตัวอย่างวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และ MAS เพื่อสนับสนุนการไหลเวียนของข้อมูลสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ผ่านการยกระดับข้อมูลความน่าเชื่อถือทางการเงินสำหรับบริการทางการเงินระหว่างสิงคโปร์และกัมพูชา ซึ่งจะส่งเสริมความสามารถของ SMEs ในการเข้าถึงที่ดีขึ้นสำหรับ SMEs ในด้านการเงินนอกพรมแดน”

    อินโดนีเซียแซงหน้ามาเลเซียรั้งอันดับที่ 27 ของโลกด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน

    ที่มาภาพ :https://www.thejakartapost.com/academia/2019/09/03/jakarta-will-become-the-capital-of-southeast-asia.html
    อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ( World Competitiveness Ranking:WCR) โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 34 ในปี 2566 ส่งผลให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และไทย โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำระดับโลก

    “ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี มีการเติบโตและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการค้า การลงทุน นวัตกรรม และภูมิรัฐศาสตร์” จากการอธิบายของอาร์ตุโร บริส ผู้อำนวยการ IMD

    ในการจัดอันดับปีนี้ อินโดนีเซียแซงหน้ามาเลเซีย ซึ่งตกลงไปอยู่อันดับที่ 34 จากอันดับที่ 27 ในปี 2566 เนื่องจากค่าเงินอ่อนค่าและความไม่แน่นอนทางการเมือง อันดับที่ขยับขึ้นของอินโดนีเซียตอกย้ำถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพที่ดีขึ้น

    บริสเน้นย้ำถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ยกเว้นมาเลเซียที่ลดลง ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของอินโดนีเซียสะท้อนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การดึงดูดเงินทุน และการเติบโตของ GDP

    อันดับของอินโดนีเซียเข้าใกล้สหราชอาณาจักร (28) แซงหน้าญี่ปุ่น (38) และอินเดีย (39) ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นที่ลดลงนั้นเชื่อมโยงกับการนำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาใช้ช้าลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกเทคโนโลยี อินเดียมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก็ยังตามหลังอินโดนีเซียเนื่องจากปัจจัยและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ

    IMD World Competitiveness Centerใช้ตัวชี้วัด 4 ตัวในการประเมินเพื่อจัดอันดับ WCR ประจำปี ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพทางธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน อันดับความสามารถในการแข่งขันของอินโดนีเซียได้รับแรงหนุนจากคะแนนที่สูงในด้านประสิทธิภาพทางธุรกิจ (14) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (23) และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (24) อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังคงล่าช้า โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (61) การศึกษา (57) วิทยาศาสตร์ (45) และเทคโนโลยี (32)

    ในด้านประสิทธิภาพทางธุรกิจ อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการทำคะแนนเพิ่มเนื่องจากมีแรงงานจำนวนมาก(2) การจัดการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ (10) และพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่สนับสนุนประสิทธิภาพทางธุรกิจ (12) อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงในด้านการเงิน (25) และประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท (30)

    ในแง่ของประสิทธิภาพของรัฐบาล คะแนนต่ำสุดของอินโดนีเซียเกี่ยวข้องกับกฎหมายธุรกิจ (42) ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น การค้า การแข่งขัน และกฎระเบียบด้านแรงงาน คะแนนต่ำสุดเป็นอันดับสองอยู่ในกรอบทางสังคม ซึ่งวัดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย รายได้ และความเท่าเทียมทางเพศ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียได้รับการจัดอันดับที่ดีในด้านนโยบายภาษี (12) และนโยบายการเงินสาธารณะ (18) ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของรัฐและธนาคารกลาง

    WCR ประเมินความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวของประเทศนอกเหนือจาก GDP ใน 67 ประเทศ โดยพิจารณาแง่มุมทางสังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน ผ่านการสำรวจทั่วโลกและการวิเคราะห์ทางสถิติ

    สำหรับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุด 5 อันดับแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ1 ของโลกด้วย ประเทศไทยติดอันดับที่ 25 อินโดนีเซียที่ 27 มาเลเซียอันดับ 34 ฟิลิปปินส์ อันดับ52