ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
“อนาคตการศึกษาของเยาวชนลาว” กำลังเป็นประเด็นที่สังคมส่วนหนึ่งในลาวกำลังตั้งคำถามและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องผ่านชุมชนออนไลน์ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา
จุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์เกิดจากคลิปชิ้นหนึ่งในแอพพลิเคชั่น TikTok ที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์ลาวช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ในคลิปเป็นภาพอาคารหอพักนักศึกษาหลังหนึ่งภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว(มช.) วิทยาเขตดงโดก นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งดูคล้ายกับอาคารร้างเพราะไม่มีนักศึกษาพักอาศัยจนมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด
คำบรรยายในคลิประบุว่า หอพักที่เคยคึกคักเพราะเต็มไปด้วยนักศึกษาในสมัยก่อน ปัจจุบันหลายอาคารเงียบเหงาจนกลายเป็นเรือนผีสิง เพราะไม่มีนักศึกษาอยู่
ถัดมา เวลา 08.09 น. วันที่ 27 พฤษภาคม เพจ”ครูภาษาลาว-วรรณคดี คณะศึกษาศาสตร์ มช” โพสต์ภาพการเข้าแถวเคารพธงชาติของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในตอนเช้าของวันเดียวกัน(27 พ.ค.) สร้างความตกใจแก่ผู้ที่ได้เข้ามาดูโพสต์นี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะในภาพ คณะศึกษาศาสตร์ทั้งคณะมีนักศึกษาที่มายืนเข้าแถวเคารพธงชาติอยู่เพียง 17 คน!

แถวยืนเคารพธงชาติของคณะศึกษาศาสตร์แบ่งเป็น 6 แถว เรียงตามรายภาควิชา แถวซ้ายสุดเป็นภาควิชาครูวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มีนักศึกษายืนเข้าแถว 4 คน ถัดมาทางขวาเป็นภาควิชาครูจิตวิทยาการศึกษา มีนักศึกษายืนเขาแถว 3 คน ภาควิชาครูภาษาต่างประเทศ มีนักศึกษายืนเข้าแถว 2 คน ภาควิชาครูวิทยาศาสตร์สังคม มีนักศึกษายืนเข้าแถว 2 คน ภาควิชาครูภาษาลาว-วรรณคดี มีนักศึกษายืนเข้าแถว 3 คน และขวาสุด ภาควิชาบริหารการศึกษา มีนักศึกษายืนเข้าแถว 3 คน
วันที่ 29 พฤษภาคม “โทละโข่ง”เพจข่าวออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของลาว มีผู้ติดตามมากกว่า 1.4 ล้านคน ได้นำภาพชุดเดียวกันไปเผยแพร่ต่อ พร้อมเขียนคำบรรยายสั้นๆเชิงตั้งคำถามว่า
“เห็นมีการแชร์ภาพนี้กันทางเฟซบุ๊กและ TikTok คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ปีนี้มีนักศึกษาอยู่แค่นี้จริงหรือไม่ ขอให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติชี้แจงด้วย”
วันที่ 30 พฤษภาคม เว็บไซต์วิทยุเอเซียเสรีภาคภาษาลาว รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ สรุปเนื้อหาได้ว่า…
“ปีการศึกษา 2566-2567 นี้ จำนวนนักศึกษาในหลายสาขาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลดลงมาก บางสาขาลดลงไปมากกว่าครึ่ง หอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งชาติหลังหนึ่งถูกปล่อยร้าง ไม่มีนักศึกษาเข้าไปพัก สาเหตุสำคัญ มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เมื่อเรียนจบแล้ว ไม่เห็นโอกาสที่จะหางานทำได้”
นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติผู้หนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อและคณะที่เรียน ให้สัมภาษณ์กับวิทยุเอเซียเสรีว่า จำนวนนักศึกษาในสาขาวิชาที่ตนเรียนอยู่ในปีนี้ ลดลงอย่างมาก โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาไม่ยอมเรียนต่อให้จบ เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจว่าเมื่อเรียนจบออกไปแล้ว จะสามารถหางานทำที่ได้รับผลตอบแทนที่ดี หรือมีความมั่นคงได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเรียนเพื่อไปหางานทำเลย เพราะจะมีรายได้ที่อาจไม่แตกต่างจากคนที่เรียนจบแล้ว
นักศึกษาผู้นี้บอกว่า นักศึกษาใหม่ที่เข้ามาในภาควิชาที่เขาเรียนอยู่ปีนี้มีไม่ถึง 10 คน จากปกติที่แต่ละปีจะมีนักศึกษาใหม่ ปีละ 20-30 คน
แรงงานชาวลาวที่ข้ามมาทำงานในประเทศไทยผู้หนึ่งบอกกับวิทยุเอเซียเสรีว่า ครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน และไม่มั่นใจว่าหากเรียนจนจบปริญญาตรีแล้ว จะสามารถหางานซึ่งมีรายได้มั่นคงทำได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 7 แล้ว จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ และข้ามมาหางานทำในไทยทันที
วิทยุเอเซียเสรีได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติผู้หนึ่ง ยืนยันว่าจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติในปีการศึกษา 2566-2567 ลดลงจากปีก่อนหน้านั้นอย่างมาก โดยเฉพาะในคณะศึกษาศาสตร์ ที่ปัจจุบัน มีนักศึกษารวมทุกชั้นปีอยู่ประมาณ 300 คน เท่านั้น”…
ไม่มีการอธิบายหรือชี้แจงใดๆกับคำถามทิ้งท้ายโพสต์ของเพจ “โทละโข่ง”เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม
วันที่ 3 มิถุนายน เพจ”ครูภาษาลาว-วรรณคดี คณะศึกษาศาสตร์ มช” เผยแพร่ภาพการเข้าแถวเคารพธงชาติของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์อีกชุดหนึ่งออกมา คราวนี้จำนวนนักศึกษาทุกชั้นปีที่มายืนเข้าแถวเคารพธงชาติของทั้ง 6 ภาควิชา รวมแล้วเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50 คน จากคราวที่แล้วที่มีเพียง 17 คน
มีการเขียนคำบรรยายสั้นๆว่า”กลับมาคึกคักอีกครั้ง บรรยากาศการเคารพธงชาติที่คณะศึกษาศาสตร์ มช. ภายหลังนักศึกษาครูที่ออกไปฝึกสอนกลับมา”
วันเดียวกัน(3 มิ.ย.)เพจสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว เขียนคำบรรยายเพียงสั้นๆว่า”พิธีเคารพธงชาติ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ วันที่ 3 มิถุนายน 2567″ ซึ่งเป็นสื่อทางการของรัฐบาล นำภาพชุดนี้ไปเผยแพร่ต่อ
อย่างไรก็ตาม ในชุมชนออนไลน์ของลาวยังมีคำถามออกมาเช่นเดิมว่า จำนวนบุคลากรเพื่อเตรียมพร้อมจะเป็นครูสำหรับสร้างอนาคตให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ของลาว ปัจจุบันมีอยู่เพียงเท่านี้หรือ?

ปรากฏการณ์ที่เยาวชนลาวตัดสินใจไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่เบนเข็มออกไปหางานทำทันทีที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(มัธยมปีที่ 7) เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสังคมลาวมาไม่ต่ำกว่า 1 ปีแล้ว
เมื่อปีการศึกษา 2565-2566 ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ระบุว่า ทั่วประเทศลาวมีผู้ที่ผ่านการสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสิ้น 49,926 คน เป็นเพศหญิง 23,297 คน เพศชาย 26,629 คน
ในลาว มีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา 4 แห่ง ได้แก่
-มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว(มช.) ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์
-มหาวิทยาลัยสุพานุวง(มส.) ตั้งอยู่ที่นครหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง
-มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต(มข.) ตั้งอยู่ที่นครไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต
-มหาวิทยาลัยจำปาสัก(มจ.) ตั้งอยู่ที่นครปากเซ แขวงจำปาสัก
ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2566-2567 รวม 11,175 คน หรือ 22.38% ของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ 49,926 คน แบ่งเป็น
-มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 6,688 คน
-มหาวิทยาลัยสุพานุวง ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,566 คน
-มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,516 คน
-มหาวิทยาลัยจำปาสัก ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ 1,405 คน
แต่ปรากฏว่าในเดือนสิงหาคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนสมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง เพียง 8,339 คนเท่านั้น คิดเป็น 16.7% ของผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ และน้อยกว่าเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยตั้งใจจะรับเข้าเรียนถึง 2,836 คนหรือในอีกทางหนึ่งคือ นักเรียนที่สมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย 4 แห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาในปีการศึกษา 2566-2567 มีเพียง 74.5% หรือ 3 ใน 4 ของเป้าหมายนักศึกษาใหม่ที่ทั้ง 4 แห่งต้องการรับ
รุ่งเพ็ด จันทะวง รองอธิการบดีด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสอบเอ็นทรานซ์ของลาวในปีนั้น ถึงเหตุผลที่ผู้ลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีแนวโน้มลดลงว่า ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ลาวต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมานานนับปี ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของผู้ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ส่งลูกเรียนหนังสือยังคงเท่าเดิม ทำให้เด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เรียนต่อ แต่ออกไปทำงานหาเงิน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของครอบครัว โดยเฉพาะการออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งมีรายได้ที่ดีกว่าอยู่ในลาวหลายเท่า
ข้อมูลข้างต้นเป็นภาพโดยรวม แต่สำหรับบุคลากรด้านการศึกษา หรือผู้ที่จะเข้ามาในสายวิชาชีพครู แนวโน้มยิ่งเห็นได้ชัดเจนกว่า
วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เพจมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวได้เผยแพร่รายชื่อ 9 สาขาวิชาที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุดของนักเรียน จากการสำรวจความเห็นของผู้สมัครสอบเอ็นทรานซ์ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ในปีการศึกษา 2566-2567
คณะวิชากลุ่ม A หรือสายวิทย์ สาขาที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุด คือ
1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 994 คน
2 สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 554 คน
3 สาขาการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 554 คน
4 สาขาเทคโนโลยี่ข้อมูลข่าวสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ 507 คน
5 สาขาออกแบบตกแต่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 360 คน
6 สาขาการพัฒนาเว็บไซต์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 354 คน
7 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ 304 คน
8 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ 265 คน
9 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 264 คน
คณะวิชากลุ่ม B หรือสายศิลป์ สาขาที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุด คือ
1 สาขาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ 2,133 คน
2 สาขาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ 1,714 คน
3 สาขาบริหารธุรกิจทั่วไป คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,541 คน
4 สาขาการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,426 คน
5 สาขาการตลาด คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,339 คน
6 สาขาการเงินและการธนาคาร คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ 1,066 คน
7 สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 649 คน
8 สาขาการท่องเที่ยว คณะวิทยาศาสตร์สังคม 598 คน
9 สาขาการโรงแรม คณะวิทยาศาสตร์สังคม 537 คน
ไม่มีรายชื่อสาขาวิชาเกี่ยวกับการศึกษา หรือคณะศึกษาศาสตร์อยู่ในลิสต์รายชื่อจากการสำรวจครั้งนั้น

ความมั่นคงในวิชาชีพครูในลาว เป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว สาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนเม็ดเงินในระบบงบประมาณของรัฐบาลลาว ทำให้ไม่สามารถเพิ่มอัตราจ้างบุคลากรเพื่อเข้ามาเป็นรัฐกรครูได้อย่างเต็มที่หรือเหมาะสม
2 ปีมาแล้ว ที่มักมีข่าวประเภทหนึ่งปรากฏขึ้นบนหน้าสื่อของลาวอยู่บ่อยครั้งต่อเนื่องถึงปัจจุบัน คือข่าวของครูอัตราจ้าง หรือครูอาสาที่สอนเด็กอยู่ตามโรงเรียนชนบทในพื้นที่ต่างๆ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูเพื่อไปหางานอื่นทำ
เหตุผลหลักในการลาออกของครูอาสาเหล่านี้คือ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะทุกคนไม่ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นรัฐกร ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่า ทั้งที่ทำหน้าที่ครูอาสาต่อเนื่องมานานหลายปี จนหลายคนมีความผูกพันธ์กับเด็กที่เป็นลูกศิษย์และครอบครัว เพราะสอนกันมานาน
แม้ไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ แต่จากข่าวที่ปรากฏ ทั่วประเทศลาวมีครูอาสาหลายร้อยคนที่ได้ลาออกไปแล้ว และหลังจากนี้ หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนเม็ดเงินในระบบงบประมาณได้ เชื่อว่าจะมีครูอาสาที่จำใจลาออกเพิ่มขึ้นอีก!
……
วันที่ 19-21 มิถุนายนที่จะถึงนี้ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา จะจัดการสอบไล่เพื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 หรือชั้นมัธยมปลาย ประจำปีการศึกษา 2566-2567 โดยปีนี้มีนักเรียนเข้าสอบทั้งสิ้น 46,744 คน เทียบกับปีการศึกษาที่แล้ว(2565-2566) ลดลง 3,532 คน และจะประกาศผลสอบลงเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม จากนั้นในเดือนสิงหาคม จะมีการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ สำหรับปีการศึกษา 2567-2568
ยังไม่รู้ว่าเด็กนักเรียนที่จบมัธยมปลายของลาวในปีนี้ จะเลือกเข้าเรียนสายการศึกษาหรือคิดจะประกอบวิชาชีพครูสักกี่คน?