ThaiPublica > สู่อาเซียน > ปูตาโอ…เมือง “ปู่เฒ่า” ที่ไม่ได้มีเพียงหิมะ

ปูตาโอ…เมือง “ปู่เฒ่า” ที่ไม่ได้มีเพียงหิมะ

19 พฤศจิกายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หมู่บ้านเชงข่อง ชุมชนบนยอดเขา ชายแดนเมียนมา-จีน ในอำเภอข่องลานพู ทางฝั่งตะวันออกของจังหวัดปูตาโอ ฝั่งตรงข้ามเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติลีซู นู่เจียง มณฑลยูนนาน ที่มาภาพ : เพจข่าว MyanmaPlatform

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ตามหน้าสื่อต่างๆที่สนใจนำเสนอเรื่องราวในดินแดนสุวรรณภูมิ มักปรากฏข่าวหนึ่งออกมาเป็นประจำแทบทุกปี นั่นคือข่าวที่ว่า “หิมะตกแล้วในเมียนมา”

เป็นเวลานานนับศตวรรษแล้ว ที่หลายพื้นที่ในภาคเหนือของเมียนมามีหลายจุดที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ บางจุดมีตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตามเทือกเขาสูงชันในรัฐคะฉิ่น ที่ถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเมียนมา-จีน กับเมียนมา-อินเดีย แต่จุดที่คนไทยคุ้นหู มักเป็นยอดเขา “คากาโบราซี” และเมือง “ปูตาโอ”

ยอดเขาคากาโบราซี เมื่อมองจากเมืองปูตาโอ ที่มาภาพ : Myanmar Skylines

ยอดเขา“คากาโบราซี”อยู่บริเวณเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น ขึ้นกับจังหวัด“ปูตาโอ” ได้ชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,881 เมตร หรือ 19,295 ฟุต เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยทางด้านตะวันออก ฝั่งตรงข้ามทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของยอดเขาเป็นเขตปกครองตนเองทิเบต ของจีน และรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย

จังหวัด “ปูตาโอ” ประกอบด้วย 6 อำเภอ จากการทำสำมะโนประชากรของรัฐบาลเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ประชากรรวมในจังหวัดปูตาโอมี 91,257 คน

เมือง “ปูตาโอ” เป็นอำเภอหลักของจังหวัดปูตาโอ อยู่ลงมาทางทิศใต้ของยอดเขาคากาโบราซี(ดูแผนที่ประกอบ)

ปูตาโอ รายล้อมด้วยเทือกเขาสูงที่ปลายยอดขาวโพลนไปด้วยหิมะที่ปกคลุมอยู่

แม้เป็นชื่อหนึ่งที่คนมักนึกถึงเวลาพูดถึงหิมะในเมียนมา แต่ในตัวอำเภอปูตาโอเองไม่มีหิมะ ความโดดเด่นของเมืองปูตาโออยู่ตรงตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นหิมะบนยอดเขาคากาโบราซีได้ชัดเจนและสวยงามที่สุด

ปูตาโอเป็นเมืองของชาว “ไตคำตี่” ชนชาติพันธุ์ไตกลุ่มหนึ่งที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่กับคนไตกลุ่มอื่นๆในเมืองมาวโหลง ซึ่งทุกวันนี้ เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน ของจีน

ต่อมาชาวไตคำตี่ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งเป็นชุมชนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนกลางถึงตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น บางส่วนของรัฐฉาน และภาคสะกายของเมียนมาในปัจจุบัน

ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ชาวไตคำตี่บางส่วนได้โยกย้ายไปหาแหล่งทำกินใหม่ โดยเดินทางข้ามเทือกเขาปาดไก่ เพื่อไปตั้งรกรากอยู่ร่วมกับกลุ่มคนไตอาหมที่อพยพไปก่อนหน้าในแถบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐอัสสัมของอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งได้ไปตั้งเป็นชุมชนอยู่ตามหุบเขาในลุ่มแม่น้ำโลหิต ที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งเป็นรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียในปัจจุบัน

ชาวไตคำตี่นับถือศาสนาพุทธ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม และทำนา ไตคำตี่มีความสามารถพิเศษในการเลี้ยงช้าง จุดเด่นของชาวไตคำตี่สมัยก่อนคือการขี่ช้างไถนา และใช้ช้างกรุยทางเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินใหม่ๆในช่วงเริ่มสร้างชุมชน

สมัยที่ดินแดนแถบนี้ยังมีการให้สัมปทานทำป่าไม้แก่ชาวอังกฤษ ชาวไตคำตี่ได้เข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยเป็นผู้ฝึกฝนและควบคุมช้างในการทำหน้าที่ชักลากไม้

เมืองปูตาโอ มีชื่อเดิมว่าเมือง “คำตี่โหลง” หรือ “คำตี่หลวง” เพราะเคยเป็นเมืองที่พำนักของเจ้าฟ้าไตคำตี่ นอกจากนี้ยังมีชื่อภาษาบาลีว่าเมือง “เวสาลี” ตามคติการตั้งชื่อเมืองในสุวรรณภูมิ ล้อตามชื่อเมืองหรือดินแดนแว่นแคว้นในชมพูทวีป สมัยพุทธกาล

หมู่บ้านเชงข่อง ชุมชนบนยอดเขา ชายแดนเมียนมา-จีน ในอำเภอข่องลานพู ทางฝั่งตะวันออกของจังหวัดปูตาโอ ฝั่งตรงข้ามเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติลีซู นู่เจียง มณฑลยูนนาน ที่มาภาพ : เพจข่าว MyanmaPlatform

ชื่อ “ปูตาโอ” มาจากเสียงคำเรียกขานของชาวไตคำตี่สมัยก่อน ที่เรียกเมืองนี้ว่าเมือง “ปู่เฒ่า” ความหมายของชื่อนี้ตรงตามตัวอักษร

เดือนมกราคม 2563 สำนักข่าว Tai TV Online เคยรายงานไว้ว่า เดิมในเมืองปูตาโอเคยมีชาวไตคำตี่อาศัยอยู่มากกว่า 1 แสนคน มีหมู่บ้านของชาวไตคำตี่มากถึง 88 หมู่บ้าน

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความยากลำบากในการทำมาหากินในเมียนมา กดดันชาวไตคำตี่จำนวนมากให้ต้องอพยพโยกย้ายออกไปอยู่เมืองอื่น ส่วนหนึ่งอพยพข้ามมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตามข้อมูลของ Tai TV Online ณ เดือนมกราคม 2563 ในเมืองปูตาโอมีประชากรที่เป็นชาวไตคำตี่เหลืออยู่เพียง 4,000 กว่าคน มีหมู่บ้านชาวไตคำตี่เหลืออยู่เพียง 18 หมู่บ้าน

เมืองปูตาโอมีแม่น้ำ “มัลลิคะ” ไหลผ่าน แม่น้ำสายนี้มีจุดกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลงมาทางทิศใต้ สู่เมืองปูตาโอ จากนั้นแม่น้ำมัลลิคะไหลต่อลงไปรวมกับแม่น้ำอีกสายหนึ่งที่ชื่อ “เมคะ” ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “มิตโส่ง” อยู่เหนือขึ้นมาจากมิตจีน่า เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นประมาณ 28 ไมล์ จุดที่แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลมารวมกัน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอิรวดี และเป็นจุดที่มีบริษัทจากจีนวางแผนจะสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือเขื่อน “มิตโส่ง” เพื่อส่งไฟฟ้าป้อนเข้าไปใช้ในจีน

กองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ ริมแม่น้ำมัลลิคะ เจดีย์เก่าแก่ในเมืองปูตาโอ ที่ชาวไตคำตี่บันทึกไว้ว่ามีอายุมากกว่า 2,300 ปี ที่มาภาพ : Moe Min Thein Putao

ริมแม่น้ำมัลลิคะในเมืองปูตาโอ เป็นที่ตั้งของเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่ง ชาวไตคำตี่เรียกว่ากองมูโหลงหรือเจดีย์หลวง “พระเจ้าตึงคำ” จากข่าวของ Tai TV Online เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 อ้างข้อมูลที่ชาวไตคำตี่ในเมืองปูตาโอเคยบันทึกไว้ ระบุว่ากองมูโหลงพระเจ้าตึงคำมีอายุมากกว่า 2 พันปีแล้ว

ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีพิธีทำบุญกองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ และระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2563 ชาวไตคำตี่ในเมืองปูตาโอ ได้จัดงานใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีเฉลิมฉลองกองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ ซึ่งมีอายุครบ 2,320 ปี

ภายในงาน นอกจากพิธีกรรมทางศาสนา ยังมีการนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของของชาวไตทุกกลุ่มที่อยู่ในเมียนมา เช่น พระเกตุมมาลา จากวัดเวียงเสือ(ภาษาพม่าอ่านว่าวุนโต่) ภาคสะกาย เจ้าสุขะมินต๊ะ หรือเจ้าสุคำ เจ้าอาวาสวัดดอยตึงคำ เมืองหมู่เจ้ รัฐฉานเหนือ พระปัญญานันทะ จากเมืองดอยแหลม รัฐฉานใต้ ฯลฯ มาแสดงธรรมเทศนา

การแข่งขันขี่ช้างและการแสดงช้าง ในพิธีทำบุญกองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ ที่มาภาพ : Moe Min Thein Putao

มีการจัดนิทรรศการแสดงประวัติ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวไตคำตี่ มีการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น การทอจีวรถวายพระแบบจุลกฐิน การก่อเจดีย์ทราย มีการเชิญตัวแทนชาวไตคำตี่จากรัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐอัสสัม ของอินเดีย และจากรัฐฉาน มาโชว์การฟ้อนไตคำตี่ดั้งเดิม มีการไหลเรือไฟ รวมถึงสันทนาการ เช่น การแข่งขันขี่ช้าง ขี่ม้า พายเรือ ปืนเสาน้ำมัน

จุดเด่นของงาน คือการแสดงขี่ช้างไถนา อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไตคำตี่

……

การร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ อาชีพเสริมของชาวปูตาโอหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ที่มาภาพ :สำนักข่าว Eternally Peace News Network

“ปูตาโอ” ไม่ได้มีความโดดเด่นในเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจ พื้นที่แห่งนี้ ล้วนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายชนิดที่มีมูลค่า หายาก และมีตลาดขนาดใหญ่ที่รองรับชัดเจน

เดือนธันวาคม 2563 สำนักข่าว Eternally Peace News Network : EPN เคยนำเสนอภาพชุด การร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ ที่ชาวปูตาโอมักทำหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวพืชผล ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับชาวปูตาโอต่อเนื่องมาหลายปี

นอกจากการร่อนทองแล้ว ตามแนวลำน้ำมัลลิคะ ยังเป็นแหล่งหากินของแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาษาพม่าเรียกว่า “เจ้าก์จาโป”

แปลตามคำศัพท์ “เจ้าก์จาโป” หมายถึง “ด้วงหิน” แต่ผู้ที่เห็นภาพเจ้าก์จาโปแล้ว บอกว่าเป็นแมลงชนิดเดียวกับ “แมงแคง” ในภาคอิสานของไทย หรือที่ภาคกลางเรียก “มวนลำไย”

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี ชาวปูตาโอจะออกมาไล่จับแมลงเจ้าก์จาโปตามแนวลำน้ำมัลลิคะในตอนเย็นๆ เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้าชาวจีนที่ให้ราคาดี เพราะเป็นแมลงที่นิยมกินกันในจีน ที่มาภาพ : Eleven Media Group

ในปูตาโอจะเริ่มพบเจ้าก์จาโปออกมาหากินเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี และเมื่อเข้าสู่เดือนมกราคมของปีถัดไป เจ้าก์จาโปก็จะหายไปจากท้องฟ้า และกลับมาให้เห็นอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนั้น

แต่ละปี เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ช่วงท้องฟ้าโพล้เพล้ในตอนเย็นของแต่ละวัน ต้องได้เห็นชาวปูตาโอจำนวนมาก พากันถือสวิงขนาดใหญ่ ด้ามยาว 2-2.5 เมตร ออกเดินไปตามริมแม่น้ำมัลลิคะ คอยดักจับเจ้าก์จาโปที่บินออกมาหากิน

สำหรับเด็กๆแล้ว การไล่จับเจ้าก์จาโปอาจเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่สำหรับผู้ใหญ่ เจ้าก์จาโปเป็นแหล่งรายได้ชั้นเลิศ เพราะมีตลาดขนาดใหญ่รองรับอยู่ในประเทศจีน

คนจีนนิยมนำเจ้าก์จาโปไปทำเป็นอาหารรับประทาน แบบเดียวกับที่คนไทยนิยมกินแมงแคง

ปี 2562 เริ่มมีพ่อค้าจีนเริ่มเข้ามาหาซื้อเจ้าก์จาโปในเมืองปูตาโอ โดยเสนอราคาช่วงแรกๆ เจ้าก์จาโปขนาด 1กระป๋องนมข้น รับซื้อในราคา 500 จัต แต่ต่อมาเมื่อมีพ่อค้าเข้ามาหาซื้อเจ้าก์จาโปมากขึ้น ราคาเจ้าก์จาโปก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 Eleven Media Group มีรายงานว่า ราคาเจ้าก์จาโปปีนี้ดีกว่าทุกปี พ่อค้าจีนที่เข้ามารับซื้อให้ราคาถึง 10,000-15,000 จัต ต่อ 1 กระป๋องนมข้น หรือประมาณ 150-180 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เทียบกับราคาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่กระป๋องนมข้นละ 5,000-7,000 จัต หรือประมาณ 70-100 บาท ราคาเจ้าก์จาโปปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า…

ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2565 สื่อเมียนมา โดยเฉพาะสื่อของรัฐคะฉิ่น มีรายงานเรื่องราวของสมุนไพรหายากชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกพบอยู่บนดอยสูงที่ปกคลุมไปด้วยหิมะในพื้นที่จังหวัดปูตาโอ

เบชี สมุนไพรหายากที่พบบนดอยสูงกว่า 8,000 ฟุต ในปูตาโอ พ่อค้าจีนเข้ามารับซื้อโดยให้ราคาสูงมาก ดึงดูดให้คนจำนวนมากยอมเสี่ยงตายปีนเขาสูงชันเพื่อเสาะหาสมุนไพรชนิดนี้มาขาย ที่มาภาพ : สำนักข่าว Kachin Waves

สมุนไพรชนิดนี้ มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “เบชี” เป็นไม้หัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะคล้ายหัวหอมแดง จะพบได้บนพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 8,000 ฟุตขึ้นไป

ตั้งแต่ปี 2564 เบชีได้กลายเป็นสมุนไพรซึ่งเป็นที่ต้องการในจีน มีพ่อค้าจีนเข้าหาซื้อโดยให้ราคาที่สูงมาก

ก่อนหน้าปี 2564 ราคาเบชีอยู่ที่ 40,000 จัตต่อ 1 viss(ประมาณ 1.6 กิโลกรัม) แต่ในปี 2564 มีพ่อค้าจีนได้เข้ามาหาซื้อโดยให้ราคาสูงถึง viss ละ 200,000 จัต และเพิ่มราคาขึ้นอีกเรื่อยๆ ล่าสุด ราคาเบชีในปี 2565 ขึ้นไปถึง 1 ล้านจัต หรือประมาณ 15,000 บาท ต่อ 1 viss

ราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ดึงดูดให้ชาวปูตาโอ ยอมเสี่ยงตายปีนเขาสูงขึ้นไปเสาะหาเบชี

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 Eleven Media Group มีรายงานว่า 2 ปีมานี้ มีชาวปูตาโอประมาณ 30 คน ที่ต้องเสียชีวิตเพราะตกเขาขณะปีนขึ้นไปเสาะหาเบชี ในนี้มีผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องรวมอยู่ด้วย 1 คน…

การหาถั่งเช่าบนยอดดอยสูงในปูตาโอ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Kachin Waves

บนดอยสูงที่อากาศหนาวเย็นเพราะเต็มไปด้วยหิมะในปูตาโอ ไม่ได้มีเพียงสมุนไพรหายากอย่างเบชีเท่านั้น ยอดเขาสูงหลายแห่งยังเป็นแหล่ง “ถั่งเช่า” ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งแพทย์แผนจีนนิยมนำไปเข้าตำรับยา จึงมีพ่อค้าจากจีนเข้ามาหาซื้อโดยให้ราคาสูง

ภาษาพม่าเรียกถั่งเช่าว่า “ชีปะดี” เป็นสมุนไพรที่เกิดจากเชื้อราซึ่งเติบโตจากหนอนผีเสื้อกลางคืนแถบที่ราบสูงทิเบต และตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ที่จำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว เมื่อเชื้อราเติบโตเต็มที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือดิน มีลักษณะเป็นแท่ง แพทย์จีนใช้ถั่งเช่าเป็นยาสำหรับบำรุงไตและปอด รวมถึงใช้ห้ามเลือดและแก้เสมหะ

สำนักข่าว Kachin Waves มีรายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ว่า ราคาถั่งเช่าปีนี้ สูงขึ้นจากปี 2564 ถึงเกือบ 3 เท่า โดยในปี 2564 พ่อค้าจีนรับซื้อถั่งเช่าในราคาตัวละ 2,000 จัต แต่ปีนี้ ราคาขึ้นไปถึง 4,000-6,000 จัต หรือเกือบ 80 บาท ต่อถั่งเช่า 1 ตัว

……

ปูตาโอนับเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันหลากหลาย น่าสนใจ

แต่น่าเสียดายที่สถานการณ์ของเมียนมาในปัจจุบัน การจะเดินทางขึ้นไปยังเมือง“ปู่เฒ่า”ทุกวันนี้ น่าจะทำได้ลำบาก