ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 มีนาคม 2567
ฟิลิปปินส์ได้คำมั่นลงทุน 5 พันล้านดอลล์จากสหรัฐ-เยอรมนีในสัปดาห์เดียว

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งได้เยือนเยอรมนีเป็นเวลา 3 วัน ได้รับคำมั่นสัญญาด้าน การลงทุนมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์จากบริษัทเยอรมัน จากข้อมูลเว็บไซต์ President Communications Office ของฟิลิปปินส์
ในเยอรมนี ฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงการลงทุน 8 ฉบับ ระหว่างการประชุมธุรกิจฟิลิปปินส์-เยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งจัดโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (DTI) เมื่อวันอังคาร(12 มี.ค.) โดย 3 ฉบับเป็นหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) จากบริษัทเยอรมันต่างๆ บันทึกข้อตกลง 2 ฉบับ และบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฉบับ ครอบคลุมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ การดัดแปลงยานยนต์ และการผลิตรถหุ้มเกราะสำหรับทหาร การพัฒนาศักยภาพของศูนย์ฝึกอบรมของโรงพยาบาล ศูนย์กลางนวัตกรรมและความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพดิจิทัล และการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร
ประธานาธิบดีมาร์กอสเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนแรกที่พบปะหารือกับผู้นำธุรกิจชาวเยอรมันในรอบ 10 ปี ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ก็ได้เชิญผู้นำธุรกิจชาวเยอรมันให้ลงทุนในฟิลิปปินส์ โดยชี้ไปที่การปรับเปลี่ยนทางด้านระบบสถาบันและโครงสร้างที่ได้ดำเนินการเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ก่อนทำข้อตกลงกับเยอรมนี ฟิลิปปินส์ได้รับข้อตกลงมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์จากบริษัทอเมริกัน จากการเยือนด้วยภารกิจการค้าที่ใช้เวลา 2 วันในฟิลิปปินส์ของนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้บริหารจาก 22 บริษัท ที่ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ กูเกิลบริษัทลูกของอัลฟาเบ็ต วีซ่า และไมโครซอฟต์ร่วมด้วย
KKR & Co บริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) จะลงทุน 400 ล้านดอลลาร์ในการดำเนินงานและการขยายเสาโทรคมนาคมในฟิลิปปินส์ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธ
อัลลาย พาวเวอร์(Ally Power) สตาร์ทอัพได้ประกาศข้อตกลงมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์กับบริษัท Manila Electric Co เพื่อสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและไฟฟ้า
ไมโครซอฟต์ กำลังทำงานร่วมกับธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และกระทรวงงบประมาณและการค้า เพื่อประเมินว่าผลิตภัณฑ์ AI ของบริษัทสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างไร กระทรวงพาณิชย์กล่าว
การลงทุนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ด้านการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และนิวเคลียร์ และเส้นทางการบินใหม่ไปยังจังหวัดเซบู นางเรมอนโดกล่าวในการบรรยายสรุปร่วมโดยคณะผู้แทนสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567
ในวันเดียวประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวในการหารือการหารือกับคณะผู้แทนสหรัฐฯว่า คาดหวังว่าฟิลิปปินส์จะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐอาจสนับสนุน ภายใต้พระราชบัญญัติ CHIPS(CHIPS Act of 2022 กฎหมายฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ)

ฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีมาร์กอสได้ส่งเสริมความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ โดยการอนุญาตให้ใช้ฐานทัพเพิ่ม และจัดให้มีการลาดตระเวนร่วมในทะเลจีนใต้
“เราพร้อมที่จะสร้างกลุ่มวิศวกรและช่างเทคนิคเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่งจำนวน 128,000 คนภายในปี 2571 เพื่อเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง” ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าว
ฟิลิปปินส์พยายามอย่างมากในการดึงดูดเงินจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน จากการที่มีปัญหาต่างๆ เช่น กฎเกณฑ์ที่รัดกุม โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนของนโยบาย และแพ้กับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้การลดหย่อนภาษีที่ดีกว่าและต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า
ฟิลิปปินส์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ตามหลังเวียดนามที่มีมูลค่า 15,700 ล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซีย 21,100 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลเว็บไซต์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations)
เวียดนาม ลาว เตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจร่วมข้ามพรมแดน

ฝ่ายบริหารของจังหวัดกว๋างจิทางตอนเหนือของเวียดนามและเจ้าแขวงสะหวันนะเขต เมืองชายแดนลาว ร่วมกันระดมความเห็นสำหรับโครงการนำร่องการพัฒนา เขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนลาวบ๋าว-แดนสะหวัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในหลายแง่มุมระหว่างท้องถิ่นและทั้งสองประเทศโดยรวม
ทั้งสองจังหวัดร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในเมืองลาวบ๋าว จังหวัดกว๋างจิ เพื่อขอคำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์และแวดวงธุรกิจของทั้งสองประเทศเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจและการค้าร่วมในอีกไม่นานนี้ ซึ่งการประชุมมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 200 ราย ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศ
ภายใต้ร่างโครงการ เขตเศรษฐกิจดังกล่าวจะครอบคลุมเขตเศรษฐกิจและการค้าพิเศษลาวบ๋าวในเมืองกว๋างจิ ครอบคลุมพื้นที่ 15,854 เฮกตาร์ และเขตการค้าชายแดน แดนสะหวันในสะหวันนะเขต ซึ่งมีความยาว 19 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำเซปอน และกว้าง 1 กิโลเมตร
เขตเศรษฐกิจนี้จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจทั่วไปที่จะนำนโยบาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานเดียวมาใช้ และจะนำกลไกและนโยบายสิทธิพิเศษส่วนหนึ่งมาปรับใช้ในระดับที่สูงขึ้นไปในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุน นายฮา ซี ด่ง รองประธานถาวรฝ่ายบริหารของกว๋างจิ กล่าว
ภายใต้โครงการ เขตเศรษฐกิจจะดำเนินการโดยเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายระหว่างสองเมือง แต่แต่ละฝ่ายจะต้องรับผิดชอบในการสร้างและจัดการส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจและการค้าที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของตน
“ในการดำเนินโครงการ เวียดนามและลาวจำเป็นต้องประกาศใช้ ปรับเปลี่ยน หรือประสานนโยบายและกลไกที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการทีละขั้นตอน” นายด่งกล่าว
ผู้นำกว๋างจิและสะหวันนะเขตเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ให้เสนอแนะต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงนำร่องเขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนเพื่อสร้างรากฐานทางกฎหมายสำหรับทั้งสองจังหวัด เพื่อจัดตั้งกลไกร่วมกันในการประสานงานใน องค์กร การจัดการ และการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดน
ในการสัมมนาผู้เข้าร่วมประชุมได้มีข้อเสนอเกี่ยวสิทธิประโยชน์จูงใจพิเศษหลายด้านที่ควรมอบให้กับองค์กรที่จะดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนนี้ เช่น บริษัทดังกล่าวจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของทั้งสองประเทศตลอดระยะเวลาการดำเนินงานตามใบอนุญาตการลงทุนที่ออกให้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับกลไก นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเขตการค้าใหม่
ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเสนอว่า เขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนควรพัฒนาให้เป็น “เขตการค้าเสรีรูปแบบใหม่” ซึ่งรวมถึงศูนย์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศรุ่นใหม่ และสวนอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงพื้นที่เมืองอัจฉริยะและสร้างสรรค์
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในความสนใจร่วมกันของรัฐบาลเวียดนาม ลาว และจังหวัดชายแดนทั้งสองแห่งในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ รวมถึงการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์
เวียดนามยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ในปี 2565 ส่วนแบ่งการส่งออกของเวียดนามสูงถึง 12% ในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ในขณะที่อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งของเวียดนามในตลาดนี้ อยู่ในอันดับที่ 7 โดยมีส่วนแบ่งการส่งออกสูงกว่า 2.5% เล็กน้อย
จีนยังคงมีส่วนแบ่งสูงสุดด้วยการส่งออกสมาร์ทโฟนครึ่งหนึ่งของโลกในปี 2565 ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเช็ก สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐเกาหลี ล้วนเป็นผู้เล่นหลักอื่นๆ ในตลาดส่งออก
จากข้อมูลของกรมศุลกากร มูลค่าการส่งออกโทรศัพท์และส่วนประกอบทุกประเภทของเวียดนามในเดือนมกราคมมีมูลค่ามากกว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 50.4% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 และเพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี
สหรัฐอเมริกาและจีนกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของโทรศัพท์และส่วนประกอบของเวียดนาม
ในเดือนมกราคม การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 1.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25% ของการส่งออก จีนมาเป็นอันดับสองด้วยมูลค่าประมาณ 734 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13% และสาธารณรัฐเกาหลีอันดับที่สาม ด้วยมูลค่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐ
สถิติของกรมศุลกากรยังแสดงให้เห็นว่าในปี 2564 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบโทรศัพท์และส่วนประกอบคิดเป็น 3.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์กลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 34% ของมูลค่าการส่งออก ในช่วงปี 2554-2564
ในปี 2566 การจัดส่งโทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมไปต่างประเทศมีมูลค่ารวม 52.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.7% เมื่อเทียบกับปี 2565 โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับสอง รองจากคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ
ตามรายงานของ HSBC เวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกถึง 13% ในปี 2564 โดยเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก
ปัจจุบันเวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์และส่วนประกอบระดับโลก รวมถึงแอปเปิ้ล ด้วย ปัจจุบันซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ลประมาณ 25 รายตั้งโรงงานของตนในเวียดนาม
เวียดนามผงาดอันดับ 6 ผลิตเฟอร์นิเจอร์โลก

เวียดนามขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่อันดับ 6 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมศึกษา(Center for Industrial Studies)ในอิตาลี
อันดับของเวียดนามเติบโตโดเด่น โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 13 ในปี 2557 จากความเห็นของตัวแทนของ CSIL ที่งานส่งออกเฟอร์นิเจอร์นานาชาติ HawaExpo 2024 ที่จัดขึ้นที่นครโฮจิมินห์ ส่วน 5 ประเทศผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมนี และอินเดีย
จีนและสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในสองอันดับแรกมานานกว่าทศวรรษ
จิโอวานา คาสเทลลินา หุ้นส่วนอาวุโสของ CSIL กล่าวว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเวียดนามเติบโตเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
“ในตอนแรกเวียดนาม จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งเป็นหลัก แต่ตอนนี้การผลิตเฟอร์นิเจอร์ภายในก็มีการพัฒนาอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 25% ของผลิตภัณฑ์เป็นเฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะ และคิดเป็น 10% ของผลผลิตเฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
“การส่งออกเป็นแรงผลักดันต่อการเติบโตดังกล่าว ซึ่งคิดเป็น 93% ของการผลิตทั้งหมด”
ตามข้อมูลจากกรมป่าไม้ เฟอร์นิเจอร์คิดเป็น 82.9% หรือ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ของประเทศ
บริษัท Tran Duc Homes เพิ่งเริ่มส่งออกบ้านไม้สำเร็จรูปไปยังสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังลงทุนในสายการผลิตไม้ลามิเนตแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทางเลือกแทนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบดั้งเดิม
เหงียน ต๊วน ฮึง ผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ ประเมินว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ต่างประเทศมีมูลค่า 405,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 44% เมื่อเทียบเป็นรายปี
สมาคมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมไม้แห่งนครโฮจิมินห์ระบุว่า ยอดสั่งซื้อของภาคธุรกิจเต็มไปจนถึงอย่างน้อยในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม
แต่คาสเทลลินาคาดว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกจะซบเซาในปีนี้ก่อนที่จะขยายตัวอีกครั้งในปี 2568 โดยชี้ว่า เป็นการยากที่จะคาดการณ์ตลาดเนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ตามข้อมูลของ CSIL ในระยะยาว อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเวียดนามอาจเผชิญกับความท้าทายหลายประการอันเนื่องมาจากฐานลูกค้าที่แคบ ความสามารถในการออกแบบปานกลาง และการฉ้อโกงทางการค้า
เวียดนามควรขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่สหรัฐอเมริกาเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ซึ่งสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนมากกว่า 50% ของการส่งออก
คาสเทลลินากล่าวว่า “การบริโภคสหรัฐฯ อ่อนตัวลงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจำนองที่สูง ในปีนี้ประเทศกำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ดังนั้นประชาชนจึงระมัดระวัง
สิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรม ก็คือ การพัฒนาแบรนด์และการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้นและเข้าถึงลูกค้าระดับไฮเอนด์
ความท้าทายอีกประการหนึ่งจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ระบุก็คือ โลกมีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือCBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2570
เหงียน เลียม ประธานสมาคมเฟอร์นิเจอร์จงหวัดบิ่ญเซือง กล่าวว่า การฉ้อโกงทางการค้ายังคงเป็นปัญหาใหญ่
“เราได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ศุลกากร หน่วยงานภาษี และหน่วยงานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกง เช่น การติดฉลากแหล่งกำเนิดสินค้าปลอม”
บิ่ญเซือง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศ
กัมพูชาดึงดูดเงินทุน FDI ไหลเข้า 1.3 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ จากการเปิดเผยของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Council for the Development of Cambodia:CDC)
จีนเป็นผู้นำในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 39% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยการลงทุนของจีนในกัมพูชามุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และการเกษตร นายเจีย วุฑธี(Chea Vuthy) เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชา (Cambodia Investment Board:CIB) ในสังกัด CDC กล่าว
“ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2024 เราเห็นการไหลเข้า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566” นายวุฑธี กล่าวในการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้วในกรุงพนมเปญ
นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา มองว่า FDI ที่ไหลเข้ามาที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยนักลงทุนมองกัมพูชาว่ามีเสถียรภาพ ความสงบ และข้อตกลงการค้าเสรี และยังตระหนักถึงศักยภาพในการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชา
“กัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่มองหาตลาดที่กว้างขวาง นโยบายที่เป็นประโยชน์ และการเติบโตที่มีศักยภาพ” นายเฮง กล่าว
รัฐบาลยังได้ดำเนินการเชิงรุกในการขจัดอุปสรรคและความท้าทายของภาคเอกชน สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นายเฮงกล่าว
รัฐบาลกัมพูชาจะยังคงส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเป้าไปที่การสร้างงานและยกระดับรุงความเป็นอยู่ นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต กล่าวไว้เมื่อต้นเดือนมีนาคม
รายงานของ CDC ในเดือนมกราคมว่า กัมพูชาดึงดูดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมูลค่า 4.92 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 22% จาก 4.03 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
การลงทุนจากประเทศจีนคิดเป็นประมาณสองในสามของเงินลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยนักลงทุนจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ การลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมคิดเป็น 92% หรือ 248 โครงการจากโครงการทั้งหมด