ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์แก้ไขกฎหมายเปิดเสรีค้าปลีกดึงลงทุนจากต่างประเทศ

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์แก้ไขกฎหมายเปิดเสรีค้าปลีกดึงลงทุนจากต่างประเทศ

6 มิถุนายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2564

  • ฟิลิปปินส์แก้ไขกฎหมายเปิดเสรีค้าปลีกดึงลงทุนจากต่างประเทศ
  • ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์ร่างกฎขายกองทุนข้ามพรมแดนอาเซียน
  • ราคาข้าวเวียดนามลดลงผู้ซื้อหันหาดีลราคาถูก
  • เวียดนามคุมห้องชุดขนาด 25 ตรม. ไว้ที่ 1 ใน 4 จำนวนยูนิตในโครงการ
  • FDI กัมพูชาปี 2563 ลดลง
  • ร้าน 7-Eleven แห่งแรกในกัมพูชาเปิดกลาง มิ.ย. นี้
  • อาเซียน-สหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงขนส่งทางอากาศระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก
  • ฟิลิปปินส์แก้ไขกฎหมายเปิดเสรีค้าปลีกดึงลงทุนจากต่างประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.philretailers.com/metro-manila-mall-rents-growth-slowing/
    เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 วุฒิสภาของฟิลิปปินส์ได้อนุมัติร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการเปิดเสรีการค้าปลีก (Retail Trade Liberalization Act: RTLA) หรือกฎหมายวุฒิสภา (Senate Bill 1840:SB) โดยปรับลดเกณฑ์เงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำสำหรับธุรกิจค้าปลีกของต่างประเทศได้ลดลงจาก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    SB 1840 ได้กำหนดให้ผู้ค้าปลีกต่างชาติที่ต้องการจัดตั้งร้านค้ามากกว่า 1 แห่งในฟิลิปปินส์ต้องลงทุนอย่างน้อย 25 ล้านเปโซ (524,000 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับแต่ละร้าน เพื่อคุ้มครองกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 96% ของธุรกิจที่จดทะเบียนในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ร่างแก้ไขยังกำหนดให้ประเทศต้นทางของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยชาวฟิลิปปินส์เข้าไปทำธุรกิจได้

    มาตรการทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการค้าปลีกมากขึ้น ซึ่งก่อนเกิดการระบาดใหญ่ มีสัดส่วน 23% ของอุตสาหกรรมบริการทั้งหมด โดยมีมูลค่าเพิ่มรวม 1 ล้านล้านเปโซ ในปี 2561 (20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

    ภายใต้กฎหมาย RTLA ฉบับที่แล้ว กิจการที่มีทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอาจจัดตั้งแบบบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเต็ม และในกรณีที่ลงทุนไม่ต่ำกว่า 830,000 ดอลลาร์สหรัฐในการจัดตั้งร้านค้า หากนักลงทุนต่างชาติแสดงทุนชำระแล้วซึ่งต่ำกว่า 7.5 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ กิจการนั้นจะไม่สามารถเป็นกิจการที่ต่างชาติถือหุ้นได้เต็มในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินงาน

    ร่างแก้ไขกฎหมายนี้ยกเลิกข้อกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศที่ว่า ต้องทำธุรกิจในอุตสาหกรรมการค้าปลีกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือต้องมีสาขาอย่างน้อย 5 แห่งทั่วโลก

    SB 1840 ยังกำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศคงทุนชำระแล้วไว้ที่อย่างน้อย 50 ล้านเปโซ (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในฟิลิปปินส์ และต้องมีสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่น หากไม่ปฏิบัติตามจะส่งผลให้มีบทลงโทษและถูกจำกัดการประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์ในอนาคต

    นอกจาก SB 1840 แล้ว วุฒิสภากำลังพิจารณาอีกสองร่างแก้ไขเพื่อเปิดเสรีเศรษฐกิจสำหรับนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้นอีก
    ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นที่เสนอ ได้แก่ พระราชบัญญัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Act: FIA) และพระราชบัญญัติการบริการสาธารณะ (Public Service Act: PSA)

    ภายใต้กฎหมาย FIA ฉบับใหม่ กระทรวงกลาโหม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ สามารถทบทวนและให้คำแนะนำหรือจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศที่คุกคามความมั่นคงของชาติ หรือเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    ร่างแก้ไขกฎหมายยังรวมถึงการจัดตั้งสภาส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotions Council) เพื่อจัดทำแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ หน่วยงานธุรกิจที่ทำธุรกรรมทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ผ่านอีคอมเมิร์ซจะถือเป็นบริษัทในประเทศ ดังนั้นจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีในประเทศ

    ในขณะเดียวกัน ร่างแก้ไข PSA ที่เสนอ มีข้อห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจต่างประเทศเป็นเจ้าของเงินทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในฟิลิปปินส์ (เช่น การจำหน่ายไฟฟ้า น้ำ โทรคมนาคม) นอกจากนี้ ภาคโทรคมนาคมจะไม่ถูกจัดเป็นสาธารณูปโภคอีกต่อไป ซึ่งเป็นการยกเลิกข้อจำกัดการถือครองของต่างชาติในกิจการโทรคมนาคมอยู่ที่ 40% ในปัจจุบัน รัฐบาลหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในท้องถิ่น

    ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์ร่างกฎขายกองทุนข้ามพรมแดนอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.pna.gov.ph/articles/1142259

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังสรุปแนวทางที่จะอำนวยความสะดวกในการเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน ตามกรอบความร่วมมือ ASEAN Collective Investment Schemes (ASEAN CIS) ที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ACMF ได้ลงนามร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค

    ในแถลงการณ์ สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า แนวทางที่จัดทำเป็นการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจเพิ่มเติมที่ลงนามโดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์มาเลเซีย ธนาคารกลางสิงคโปร์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เพื่อรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS

    กรอบนี้จัดทำขึ้นในปี 2557 ซึ่งจะช่วยให้ผู้จัดการกองทุนที่ดำเนินธุรกิจในประเทศสมาชิกสามารถเสนอ หน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศสมาชิก ภายใต้ CIS ได้อย่างคล่องตัว

    แนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังพิจารณาจะใช้กับบริษัทจัดการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นในฟิลิปปินส์และตั้งใจจะเข้าร่วมในกรอบนี้ รวมทั้งกองทุนรวมต่างประเทศจากประเทศสมาชิกที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนในฟิลิปปินส์ หรือกองทุนรวมที่มีคุณสมบัติตามกรอบในอาเซียน

    กองทุนที่จะเสนอขายตามกรอบ CIS ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องในฟิลิปปินส์และได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมาย Republic Act No. 2629 หรือ กฎหมาย Investment Company Act (ICA) รวมทั้ง Republic Act No. 8799 หรือ Securities Regulation Code (SRC) ในด้านการเสนอขายหุ้นให้ประชาชน

    การอนุญาตให้ออกหุ้น จะอนุญาตให้เฉพาะบริษัทการลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากฟิลิปปินส์ ผู้ที่เสนอขายทั้งหุ้นและหน่วยลงทุนยังคงมีสิทธิ์เข้าร่วมในกรอบ CIS แต่สามารถเสนอขายระหว่างประเทศได้เฉพาะหุ้นเท่านั้น

    บริษัทจัดการลงทุนต้องได้รับการประเมินโดยคณะกรรมการ เพื่อให้สอดคล้องกับทั้งระเบียบข้อบังคับในประเทศและมาตรฐานของ CIS ในการประเมินคุณสมบัติตามที่กำหนด หรือตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับตามที่ตกลงกันไว้ และอาจมีการแก้ไขเป็นครั้งคราวในกลุ่มประเทศสมาชิก

    สำนักงาน ก.ล.ต. จะตรวจสอบและประเมินคำขออนุญาตของบริษัทจัดการลงทุนที่มีคุณสมบัติตาม CIS ภายใน 21 วันทำการนับจากวันที่ส่งเอกสารครบถ้วน

    ในกรณีของการเสนอขายข้ามพรมแดน บทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทที่ลงทุน หรือบริษัทที่มีคุณสมบัติตาม CIS กำหนด ผู้จัดการกองทุน ผู้ทำหน้าที่แทน ศูนย์รับฝาก หน่วยงานกำกับดูแลอิสระ และหน่วยงานหรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุน จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานคุณสมบัติของ CIS หรือตามการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ

    สำหรับบริษัทที่มีคุณสมบัติตาม CIS จากต่างประเทศจะเสนอขายในฟิลิปปินส์ภายใต้กรอบ CIS ของอาเซียนได้ หากจัดตั้งขึ้นในประเทศสมาชิก และได้รับอนุญาตให้เสนอต่อสาธารณชนทั่วไปในประเทศสมาชิกนั้น หรือได้รับการประเมินโดยหน่วยงานกำกับดูแลประเทศต้นทางว่ามีคุณสมบัติตาม CIS ที่กำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. และได้รับอนุญาตให้เสนอในฟิลิปปินส์ภายใต้ข้อกำหนด

    นอกจากนี้ CIS ต่างประเทศจะต้องเสนอขายพร้อมกันทั้งในฟิลิปปินส์และในประเทศของตน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานคุณสมบัติ CIS ร่วมกับผู้ดูแลผลประโยชน์/ผู้ดูแลกองทุน และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลของ ก.ล.ต. เป็นต้น

    ผู้ที่จะเสนอขายจากต่างประเทศจะต้องแต่งตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนและมีใบอนุญาตจัดจำหน่ายกองทุนรวมเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายในฟิลิปปินส์ สำหรับ CIS ต่างประเทศแต่ละรายการที่จะนำเสนอ ทำการตลาด และจัดจำหน่ายในประเทศ

    ผู้จัดจำหน่าย CIS ต่างประเทศในฟิลิปปินส์ จะต้องรับผิดชอบในการเสนอ ทำการตลาด หรือจำหน่ายกองทุนรวม ต่างประเทศในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังจะต้องจัดทำทะเบียนนักลงทุนให้พร้อมเพื่อรายงานคณะกรรมการ

    ก.ล.ต. อาจไม่อนุญาตให้กองทุนรวมต่างประเทศเสนอขายในฟิลิปปินส์ หากพบว่าได้ส่งข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้คณะกรรมการเข้าใจผิด หรือหากพบว่ามีการบิดเบือนข้อมูลหรือหลอกลวงนักลงทุน รวมไปถึงหากผู้จัดการกองทุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ ไม่ปฏิบัติตามกฎ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ มาตรฐานการรับรอง CIS หรือข้อกำหนดด้านการบริหารของฟิลิปปินส์

    ราคาข้าวเวียดนามลดผู้ซื้อหันหาดีลราคาถูก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-rates-fall-as-buyers-hunt-cheaper-deals-4288929.html
    ราคาส่งออกข้าวในเวียดนามลดลงในสัปดาห์นี้ เนื่องจากผู้ซื้อหันไปหาข้อเสนอที่ถูกกว่าจากศูนย์ค้าข้าวอื่นๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังเผชิญกับการติดเชื้อโควิด-19

    ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามลดลงมาอยู่ที่ 485-490 ดอลลาร์ต่อตัน หลังจากทรงตัวในระดับ 490-495 ดอลลาร์ต่อตันในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

    “ผู้ซื้อยังเปลี่ยนไปหาซัพพลายเออร์ในประเทศไทยและอินเดีย ซึ่งราคาค่อนข้างถูกกว่าของเวียดนาม” ผู้ค้ารายหนึ่งในโฮจิมินห์ซิตีกล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้ส่งออกยังเจอปัญหาค่าขนส่งที่สูง

    หลังจากประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสมาเกือบปีแล้ว การติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นในเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้

    “ยอดขายในประเทศชะลอตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ขยายวง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจังหวัดปลูกข้าวบางแห่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” ผู้ค้ารายนี้กล่าว

    การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มีแนวโน้มลดลง 11.3% จากปีก่อนหน้า

    ราคาข้าวนึ่ง 5% ของอินเดีย ผู้ส่งออกรายใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกันที่ 382-388 ดอลลาร์ต่อตัน

    ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าวว่า เกษตรกรกำลังเตรียมต้นกล้าในนา ขณะที่ลมมรสุมเริ่มพัดมาในรัฐเกรละ ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูฝน 4 เดือนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการเกษตร

    บังกลาเทศซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน นำเข้าข้าวจากอินเดียประมาณ 700,000 ตันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จากแผนที่วางไว้ 1.5 ล้านตัน

    “หากมีการนำเข้าในปริมาณมาก ก็อาจทำให้ล้นตลาดในประเทศและกระทบเกษตรกร” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงอาหารกล่าว

    ในประเทศไทย ราคาข้าวหัก 5% ตกลงมาอยู่ที่ 457-468 ดอลลาร์ต่อตัน จาก 457-485 ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว

    ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้ค่าขนส่งมีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจัดหาเรือบรรทุกสินค้าเพื่อขนสินค้าได้

    ความต้องการในต่างประเทศยังคงต่ำเนื่องจากราคายังสูง ในขณะที่คาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อาจทำให้ราคาขณะนี้ลดลงได้ ผู้ค้าระบุ

    เวียดนามคุมห้องชุดขนาด 25 ตรม. ไว้ที่ 1 ใน 4 ของจำนวนยูนิตในโครงการ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/vietnam-25-square-meter-apartments/tag-1277162.html
    กระทรวงการก่อสร้างยังคงอนุญาตให้ก่อสร้างห้องชุดขนาดเล็กที่มีพื้นที่ 25 ตารางเมตร แม้กังวลว่าจะเป็นการเร่งให้เมืองขยายตัวมากขึ้น และทำให้โครงสร้างพื้นฐานในเมืองรองรับไม่ทัน

    หนังสือเวียนที่ออกโดยกระทรวงซึ่งจะมีผลในวันที่ 5 กรกฎาคม กำหนดให้ห้องชุดขนาดเล็กมีห้องนอนและห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้อง นอกจากนี้ยังกำหนดว่า จำนวนห้องชุดที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25-45 ตารางเมตร จะต้องไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนยูนิตทั้งหมดในโครงการ

    หนังสือเวียนดังกล่าวกำหนดให้อาคารชุดพาณิชยกรรม (officetel) มีพื้นที่ทำงานขั้นต่ำ 9 ตารางเมตร และห้ามมิให้มีห้องครัว ซึ่งข้อกำหนดนี้เหมือนกับที่ระบุไว้ในหนังสือเวียนที่กระทรวงฯ ออกในปี 2562

    ข้อกำหนดพื้นที่ขั้นต่ำยังไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยแสดงให้เห็นว่ากระทรวงฯ ได้เลือกไม่รับความคิดเห็นโต้แย้ง

    ทางการโฮจิมินห์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้เมืองขยายตัวของอย่างรวดเร็ว เพิ่มจำนวนประชากร และเพิ่มแรงกดดันให้กับโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นจากที่รับภาระหนักอยู่แล้ว

    แต่สมาคมอสังหาริมทรัพย์โฮจิมินห์ซิตีได้สนับสนุนกฎระเบียบใหม่นี้ โดยระบุว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนห้องชุดราคาไม่แพงในเมือง

    ก่อนที่จะมีการออกหนังสือเวียนในปี 2562 ขนาดห้องชุดขั้นต่ำที่อนุญาตคือ 45 ตารางเมตร

    FDI กัมพูชาปี 2563 ลดลง

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/fdi-inflows-drop-1-35b

    มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชาลดลงเล็กน้อยในปี 2563 จากการหดตัวที่รุนแรงขึ้นมากในกลุ่มนอกภาคธนาคาร และความไม่แน่นอนของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่การไหลเข้าในภาคการเงินยังคงแข็งแกร่ง

    เงิน FDI ที่ไหลเข้าทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเงิน การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิต มีมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ลดลง 1% ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ระบุในรายงาน Financial Stability Review 2020

    “ภาคการเงินซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของ FDI ทั้งหมด มีอัตราการเติบโตเป็นบวกอย่างต่อเนื่องที่ 12.8% ในปี 2562 เทียบกับ 15.8% ในปี 2562 เนื่องจากมีการนำกำไรกลับมาลงทุน การเพิ่มทุนของธนาคาร มีการเปิดธนาคารใหม่ และการเปลี่ยนสถานะจากสถาบันไมโครไฟแนนซ์เป็นธนาคารพาณิชย์” ธนาคารกลางระบุ

    ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไปยังภาคที่ไม่ใช่ธนาคารลดลง 9.4% การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตมีสัดส่วน 17% และ 16.2% ตามลำดับ และพบว่า FDI ไหลเข้าลดลง 10.6% และ 7.4%

    แอนโทนี กัลลิอาโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการจัดการการลงทุนของกัมพูชา กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลงไม่น่ากังวลหรือเป็นสัญญาณเตือน เพราะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกลดลง 42% ในปี 2563 แต่ลดลงเพียง 4% ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย

    กัลลิอาโนกล่าวว่า “โอกาสการลงทุนสำหรับประเทศที่จัดว่าเป็นเสืออุตสาหกรรมในเอเชียยังคงมีความน่าสนใจและไม่หายไป ขณะที่มีการคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์จากโควิด-19 จะคงอยู่ตลอดปี 2564 แต่ขณะนี้มีแนวโน้มเชิงบวกที่ชัดเจน เช่น การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือสหรัฐฯ รวมถึงความสำเร็จของโครงการฉีดวัคซีน และสถิติจีนที่เหลือเชื่อถึง 18.3% ในไตรมาสแรกของปี 2564

    “โครงการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จของกัมพูชาและการควบคุมการติดเชื้อทำให้เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะกลับมาอย่างแข็งแกร่งในปลายไตรมาสที่ 4 สำหรับภาคการเงิน NBC ได้ให้ความสำคัญกับการอนุญาตให้ธนาคารจัดการพอร์ตสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวของโควิด

    “การกลับมาของ FDI โดยเฉพาะจากจีน คาดว่าภาคการธนาคารจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ทำให้คลายความกังวลได้” กัลลิอาโนกล่าว

    ในขณะเดียวกัน ภาคการเงินซึ่งคิดมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของ FDI ทั้งหมด ยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นบวกที่ 12.8% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 15.8% ในปี 2562 ภาคสถาบันการเงินยังคงมีแนวโน้มที่ดีอย่างมาก ซึ่งไม่เฉพาะภาคการธนาคารเท่านั้น แต่ภาคนอกภาคธนาคารก็ด้วย จากการพัฒนาตลาดทุนของประเทศและการออมทางเลือกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์การลงทุน

    ตามรายงานของ NBC จีนเป็นแหล่ง FDI ชั้นนำ โดยคิดเป็น 51% รองลงมาคือสิงคโปร์ (8.2%) เกาหลีใต้ (7.9%), ญี่ปุ่น (5.8%), สหราชอาณาจักร (4.4%), มาเลเซีย (4.2%) และไทย (3.3%)

    นักลงทุนชาวจีนใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ในเสื้อผ้าและรองเท้า ไฟฟ้าพลังน้ำ อสังหาริมทรัพย์ การเงิน และที่พัก

    ร้าน 7-Eleven แห่งแรกในกัมพูชาเปิดกลาง มิ.ย. นี้

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/first-7-eleven-store-open-mid-june-ambassador-says
    บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แห่งแรกของกัมพูชาในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน

    ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ 7-Eleven จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยฯ และเป็นกลุ่มค้าปลีกของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป จำกัด ให้สิทธิ์แก่แฟรนไชส์ซีพี ออลล์ (กัมพูชา) จำกัด เป็นเวลา 30 ปี ในการจัดตั้งและดำเนินการเปิดสาขา 7-Eleven

    และซีพี ออลล์ กัมพูชา มีแผนจะเปิดร้านอย่างน้อย 6 แห่งในปีนี้ เอกอัครราชทูตกล่าว โดยอ้างเจ้าหน้าที่ซีพี ออลล์ ในประเทศไทย

    นายซอร์พวนกล่าวว่า สาขาแรกจะอยู่ที่ปั๊มน้ำมันปตท. ในอำเภอ Prek Pnov ของกรุงพนมเปญและอีกแห่งมีกำหนดในเดือนสิงหาคมที่มุมถนนสาย 6A ในเขต Prek Leap ของอำเภอ Chroy Changvar ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง

    สินค้าในร้าน 7-Eleven อย่างน้อย 50% จะประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ (SME) และจะเป็นโอกาสการจ้างงานที่จำเป็นมากสำหรับชาวกัมพูชาที่ตกงานจากโรคโควิด-19

    บริษัทจะพิจารณานำผลิตภัณฑ์กัมพูชาซึ่งได้รับการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพแล้วเข้าจำหน่ายในสาขา 7-Eleven ในประเทศไทยที่มีมากกว่า 12,000 แห่ง

    “นี่เป็นโอกาสสำหรับ SMEs ของกัมพูชาในการเป็นพันธมิตรกับซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เขากล่าว

    เอกอัครราชทูตฯ ชี้ว่า การลงทุนของซีพี ออลล์ ในกัมพูชา “สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทูตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ริเริ่มและดำเนินการโดยนายปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซน”

    เอกอัครราชทูตฯ ยังระบุว่า สภาธุรกิจกัมพูชาในประเทศไทย (CBC) ที่เพิ่งเปิดตัวในกรุงเทพฯ เป็นเวทีส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทย

    CBC จะเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดระหว่างนักธุรกิจ ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการโดยรวม ส่งเสริมการผลิตและอุปทานสำหรับตลาดไทยและกัมพูชา ตลอดจนประสานงานและเจรจากับหน่วยงานของรัฐทั้งสองประเทศ เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ภาคเอกชนเผชิญอยู่

    อาเซียน-สหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงขนส่งทางอากาศระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก

    ที่มาภาพ: https://asean.org/asean-eu-conclude-worlds-first-bloc-bloc-air-transport-agreement/

    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งประเทศสมาชิกได้สรุปการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการขนส่งทางอากาศแบบครบวงจรของอาเซียน-สหภาพยุโรป (AE CATA) ในการประชุมเจ้าหน้าที่ขนส่งอาวุโสของอาเซียน-สหภาพยุโรปวันที่ 2 มิถุนายน 2564

    AE CATA เป็นข้อตกลงด้านการขนส่งทางอากาศแบบภูมิภาคกับภูมิภาค (bloc-to-bloc) ฉบับแรกของโลก และจะส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่าง 37 ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป ภายใต้ข้อตกลงนี้ สายการบินของอาเซียนและสหภาพยุโรปจะมีโอกาสมากขึ้นในการให้บริการผู้โดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างสองภูมิภาคและนอกสองภูมิภาคนี้ สายการบินของอาเซียนและสหภาพยุโรปจะสามารถให้บริการเที่ยวบินระหว่างทั้งสองภูมิภาคได้ไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ สายการบินต่างๆ จะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้สูงสุด 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ และบริการขนส่งสินค้าไม่จำกัดจำนวนผ่านและออกนอกประเทศไปยังประเทศที่สาม

    ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยสร้างการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างอาเซียนและยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมการบินในทั้งสองภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตจำนงที่จะหารือกันอย่างใกล้ชิดและการประสานงานเพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของบริการทางอากาศที่เกิดจากการระบาดใหญ่

    ข้อตกลงที่ตกลงกันได้อยางรวดเร็ว สะท้อนถึงการคิดเชิงนโยบายล่าสุดในข้อบังคับการขนส่งทางอากาศ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดการแข่งขันที่ยุติธรรมอย่างเข้มงวดและประเด็นการทำธุรกิจ ที่สำคัญกว่านั้น AE CATA เป็นรากฐานสำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยในการบิน การจัดการจราจรทางอากาศ การคุ้มครองผู้บริโภค และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

    ความร่วมมือที่ลึกขึ้นนี้ต่อยอดจากความคิดริเริ่มที่มีอยู่ เช่น โครงการ Enhanced ASEAN Regional Integration Support จากโครงการ EU (ARISE Plus) ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพ EU-South East Asia on Cooperation on Mitigating Climate Change impact from Civil Aviation: Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (EU-SEA CCCA CORSIA) ซึ่งสนับสนุนการนำ CORSIA ไปปฏิบัติ และโครงการความร่วมมือด้านการบินของสหภาพยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (EU- SEA APP)

    ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า “ด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและการค้าสินค้ามูลค่า 226.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 สหภาพยุโรปเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน AE CATA จะเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างอาเซียนและยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ทั้งสองภูมิภาคใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น นี่จะช่วยให้ทั้งสองภูมิภาคได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจมากขึ้น”

    ในขณะเดียวกัน Adina Valean กรรมาธิการด้านคมนาคมแห่งยุโรป กล่าวว่า “การสรุปข้อตกลงการขนส่งทางอากาศแบบ ‘bloc-to-bloc’ ครั้งแรกที่มีขึ้นนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของนโยบายการบินภายนอกของสหภาพยุโรป โดยให้การรับรองที่สำคัญในการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับสายการบินและอุตสาหกรรมของเราในยุโรป ขณะที่เสริมสร้างโอกาสซึ่งกันและกันสำหรับการค้าและการลงทุนในบางตลาดที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก ที่สำคัญ ข้อตกลงใหม่นี้ยังทำให้เรามีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งเพื่อส่งเสริมมาตรฐานระดับสูงด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การจัดการจราจรทางอากาศ สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่อไปในอนาคต ขอขอบคุณสำหรับแนวทางที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นได้”

    นายซุน จันทล ประธานการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนและรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า “อาเซียนขอชื่นชมความสำเร็จที่สำคัญนี้ ความตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้อาเซียนและสหภาพยุโรปมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชากร 1.1 พันล้านคน และทำให้ธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลระหว่างทั้งสองภูมิภาคมีมากขึ้น”