ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup : เวียดนามตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในทะเล 75% ปี 2030 กัมพูชาคาดปีนี้เศรษฐกิจโตกว่า 7%

ASEAN Roundup : เวียดนามตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในทะเล 75% ปี 2030 กัมพูชาคาดปีนี้เศรษฐกิจโตกว่า 7%

22 ธันวาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-21 ธันวาคม 2562

  • เวียดนามตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในทะเล 75%
  • เวียดนามเตรียมขึ้นแท่นประเทศรายได้ปานกลาง
  • เวียดนามติด 10 อันดับแรกของโลกแรงงานส่งเงินกลับบ้าน
  • กัมพูชาคาดปีนี้เศรษฐกิจโตกว่า 7%
  • เมียนมาดึง FDI กว่า 1 พันล้านดอลลาร์
  • ลาวตั้งเป้าภาคบริการโต 6.9% ปี 2563

เวียดนามตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในทะเลลง 75%

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/VNAEnglish/photos/pcb.3160454340691311/3160451357358276/?type=3&theater

นาย เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรี เวียดนาม ประกาศ แผนปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติกปี 2030 เพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลลง 75%ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

แผนปฏิบัติการนี้จะทำให้การดำเนินการกับขยะพลาสติกตามความริเริ่มและการให้คำมั่นกับประชาคมโลกของเวียดนามในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล และส่งผลให้ประเทศก้าววสู่ผู้นำในการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลอีกด้วย

นอกจากนี้ยังช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการจัดการแก้ไขขยะมูลฝอยแบบองค์รวมภายในสิ้นปี 2025 และมีวิสัยทัศน์ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปถึงปี 2050

สำหรับแผนปฏิบัติการแห่งชาตินี้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ประเทศจะลดขยะพลาติกในทะเลลง 75% รวมทั้งสามารถรวบรวมเครื่องมือจับปลาที่สูญหายไปกลับคืนมาได้ 100% และป้องกันการทำเครื่องมือจับปลาตกลงไปสู่มหาสมุทร

เวียดนามยังว่าภายใต้แผนปฏิบัติการฯนี้ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พักและผู้ให้บริการท่องเที่ยวชายทะเลจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ และสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลจะปลอดขยะพลาสติกภายในปี 2030

เวียดนามจะยกระดับการติดตามผลทุกปีและทุก 5 ปีเพื่อประเมินมลพิษขยะพลาสติกในปากแม่น้ำในแม่น้ำสายหลัก 11 สายและบนเกาะอีก 12 เกาะ

เวียดนามเตรียมขึ้นแท่นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง

เศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ เวียดนามเตรียมที่จะก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ภายในปี 2025

ศูนย์ข้อมูลและพยากรณ์เศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ สังกัดกระทรวงวางแผนและพัฒนาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปี 2021-2025 ไว้ 2 กรณี กรณีแรก จีดีพีขยายตจัวในอัตรา 7% ต่อปี อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5%-4.5% และอัตราส่วนทุนต่อผลผลิตอยู่ที่ 31% จาก 33.5% ในช่วงปี 2016-2020

ขณะเดียวกันประสิทธิภาพของการลงทุนดีขึ้น โดย อัตราส่วนการลงทุนต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศ(incremental capital-output ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6 ประสิทธิภาพของแรงงานดีขึ้นเพิ่มขึ้น 6.3% ต่อปี รายได้ประชากรต่อหัวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,688 ดอลลาร์ ส่งผลให้เวียดนามเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2025

เวียดนามติด 10 อันดับของโลกแรงงานส่งเงินกลับบ้าน

นครโฮ จิมินห์ ซิตี้ เวียดนาม

รายงานธนาคารโลกล่าสุดระบุว่า เวียดนามเป็น 1 ใน 10 อันดับของประเทศที่แรงงานส่งเงินกลับบ้านสูงสุดในโลกประจำปี 2019 โดยติดอันดับ 9 ของโลกและติดอันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่งเป็นคงอันดับติดต่อกันเป็นปีที่ 5

โฮ จิมินห์ ซิตี้เป็นหนึ่งในเมืองของเวียดนามที่ได้รับเงินจากแรงงานที่ส่งกลับบ้านสูงสุด มีสัดส่วนถึง 50% ของเงินโอนจากแรงงานทั้งหมดที่ส่งกลับประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ในปีนี้เงินโฮนจากแรงงานไปยังโฮ จิมินห์ซิตี้มีมูลค่าเกินกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าทั้งเงินโอนจากแรงงานส่งผลกับประเทศปีนี้ทั้งปีจะมีมูลค่า 16.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.4% ของจีดีพี

โดยปกติแล้วการส่งเงินกลับประเทศจะมีปริมาณมากในช่วงสิ้นปีทำให้ธนาคารในประเทศเตรียมพร้อมที่จะให้บริการเสริม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

เงินโอนกลับประเทศของแรงงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 26 ปีก่อนจาก 140 ล้านดอลลาร์ในปี 1993 เป็น 16 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018

กัมพูชาคาดปีนี้เศรษฐกิจโตกว่า 7%

กรุงพนมเปญ กัมพูชา

กัมพูชาคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวมากกว่า 7% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคและสูงที่สุดในโลก โดยนายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวอย่างน้อย 7.1% และมีรายได้ประชาชาติ(GDP) รวมมูลค่า 26.8 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนมาจาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งขยายตัว 10.7% และ 6.7% ตามลำดับ

นางเมย์ กัลยาน ที่ปรึกษาอาวุโสสภาเศรษฐกิจสูงสุดแห่งชาติ ( Supreme National Economic Council) ระบุว่า เศรษฐกิจของกัมพูชายังมีเสถียรภาพแม้การค้าโลกชะลอตัวและมีโอกาสที่สหภาพยุโรปจะเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าการส่งออกของกัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กัมพูชามีแนวโน้มที่จะก้าวประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2030 และเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2050

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียระบุว่า กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในภูมิภาคและในโลก ในปี 2018 จีดีพีของกัมพูชาขยายตัว 7.3% สูงสุด สูงสุดในรอบ 6 ปี

ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของกัมพูชาขยายตัว 6.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกหลักมาจากสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งรวมกันมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์ จากการเปิดเผยของนายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

การส่งออกสินค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 10.813 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 10.158 พันล้านดอลลาร์ในระยะเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกจากอุตสาหกรรมสิ่งทอรวม 6.4 พันล้านดอลลาร์ของมูลค่าการส่งออกรวม รองลงมาคือ การส่งออกรองเท้ามีมูลค่า 905 ล้านดอลลาร์ การส่งออกข้าวมีมูลค่า 286 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์อื่นมีมูลค่าการส่งออก 174 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดส่งออกหลักคือสหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่นและจีน

นายพัน สอระสักกล่าวว่า กัมพูชาพยายามที่จะขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้นด้วยการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

เมียนมาดึง FDI กว่า 1 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ: https://mjtd.com.mm/

การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ ในรอบ 2.5 เดือนแรกของปีงบประมาณหรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมถึง 14 ธันวาคม 2019 มีมูลค่า 1.148 พันล้านดอลลาร์ซึ่งรวมถึงการลงทุนมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา จากการเปิดเผยของคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (Myanmar Investment Commission:MIC)

คณะกรรมการ MIC เห็นชอบโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 2 ราย ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในย่างกุ้งพิจารณาเห็นชอบ 11 โครงการ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมืองพะโคหรือหงสาอนุมัติ 4 โครงการ

โครงการลงทุนนี้ประกอบด้วยโครงการพลังงานไฟฟ้า 1 โครงการ โครงการพัฒนาที่อยู่พัฒนา 1 โครงการและ 15 โครงการอุตสาหกรรม

ทั้งนี้มูลค่าการลงทุนของ 14 โครงการรวม 84.171 ล้านดอลลาร์ สามารถสร้างงานได้ 8,538 ตำแหน่งสำหรับแรงงานในประเทศ

การลงทุนของต่างชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงาน การผลิต การคมนาคมและการสื่อสาร โครงการที่อยู่อาศัย โรงแรมและการท่องเที่ยว เหมืองแร่ ปศุสัตว์และประมง เกษตร ก่อสร้าง และภาคบริการอื่นๆ

ลาวตั้งเป้าภาคบริการโต 6.9% ปี 2020

ด่านข้ามแดนไทยไปแขวงบ่อแก้วของสปป.ลาว

รัฐบาลสปป.ลาวตั้งเป้าการขยายตัวของภาคบริการไว้ที่ 6.9% หรือมีสัดส่วน 41.47% ของจีดีพี จากปีนี้ที่คาดว่าเติบโต 7%และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 0.4% ในจีดีพี

ภาคค้าส่งและค้าปลีกรวมทั้งการบริการซ่อมรถขยายตัว 9.9% และมีผลต่อการขยายตัวของภาคบริการ 1.4% ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 6.7% และมีส่วนในภาคบริการ 0.4% ภาคการเงินและตลาดทุนขยายตัว 7.7% มีส่วนในภาคบริการ 0.2% ขณะที่เกสท์เฮ้าท์ โรงแรมและร้านอาหารขยายตัว 5.3% มีสัดส่วน 0.1%

รัฐบาลได้ประกาศปี 2562 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวลาว-จีน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและเพิ่มรายในภาคบริการ โดยเฉพาะโรงแรม เกสม์เฮ้าท์ ร้านอาหาร การขนส่งและการค้าส่งค้าปลีก

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าลาว 3.45 ล้านคน คิดเป็น 76.59% ของเป้าหมาย 4.5 ล้านคนที่สภาแห่งชาติตั้งเป้าไว้

การท่องเที่ยวเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว เป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศและสร้างงานทั่วประเทศ และมีผลให้ลดความยากจนลง

นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศปีแห่งการท่องเที่ยวลาวในปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 8.2% เป็น 4.2 ล้านคน จาก 3.8 ล้านคน ในปี 2017 จากที่ลดลง 10% และ 8.7% ในปี 2016 และ 2017 ตามลำดับ

รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2018 มีจำนวนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่นักท่องเที่ยวทำสถิติสูงสุด 4.6 ล้านคน อย่างไรก็ตามรายได้จากการท่องเที่ยวยังอยู่ในอันดับที่ 3 ในการทำรายได้เข้าประเทศรองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้า 1.41 พันล้านดอลลาร์และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์

ภาคบริการของลาวยังมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไขเพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะยังมีการจัดสรรงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบกับความรับผิดชอบกระจายอยู่หลายหน่วยงาน และขาดการวางยุทธศาสตร์และการหารือร่วมกันระหว่างภาครับและภาคเอกชน

นอกจากนี้ผู้ประกอบการในภาคบริการยังมีภาระค่าใช้ไฟฟ้าที่มีอัตราสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมและการค้า