ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?

ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?

26 กุมภาพันธ์ 2023


เลขาธิการ กกพ.ถอดต้นทุนค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย ประชาชน – บ้านพักอาศัย จ่ายค่าอะไรบ้าง? เผยข่าวดี! ค่าไฟฟ้างวดถัดไปมีแนวโน้มลดลง หลังกระทรวงพลังงานรายงานกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าไฟฟ้าทีไร หลายคนคงเกิดคำถามในใจ ทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน หรือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องออกมาชี้แจงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพงอยู่หลายครั้ง หลายหน ว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากประเทศไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วน 53% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าหลักๆมาจาก 3 แหล่ง ราคาถูกที่สุด คือ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย รองลงมาเป็น ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตามลำดับ

ปรากฏว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียม เกิดปัญหากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ขาดหายไป ทำให้ต้องนำเข้า LNG , น้ำมันเตา และดีเซล มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทำแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปในช่วงจังหวะเวลาที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทเกิดความผันผวน ราคาแพงมาก โดยเฉพาะ Spot LNG เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟแพง

ขณะที่นักวิชาการด้านพลังงาน และภาคประชาชน มองว่า นอกเหนือจากค่าเชื้อเพลิงปรับราคาสูงขึ้นแล้ว ยังมีต้นทุนอื่น ๆ ที่ทางการยังไม่ได้พูดถึง แฝงอยู่ในบิลค่าไฟด้วย คือ การที่ประเทศไทยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป จนทำให้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 50% ของปริมาณความต้องการใช้ ส่งผลทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินเป็นค่าเตรียมความพร้อมในการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อ กฟผ.ต้องการใช้ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” (Availability Payment : AP) ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน นอกเหนือจากค่าพลังงานไฟฟ้าที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเมื่อมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พูดง่ายฯ โรงไฟฟ้าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องจ่ายค่า AP นอกจากนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ ยังมีภาระที่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของค่า “Adder” หรือ “Feed in Tariff : FiT” ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก บางรายจ่ายค่า Adder ในอัตรา 6-8 บาท/หน่วยก็มี ทั้งหมดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง นอกเหนือจากค่าเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงนำประเด็นนี้ไปสอบถาม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาพลังงาน โดยนายคมกฤช ได้นำภาพโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 (งวดปัจจุบัน) เปรียบเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคม- สิงหาคม 2558 ซึ่งช่วงที่มีการปรับค่าไฟฟ้าฐาน มาอธิบายเพื่อให้เห็นภาพรวมของราคาค่าไฟฟ้าทั้งหมด โดยโครงสร้างของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าหลัก ๆจะประกอบไปด้วย 1. ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงการซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ , นำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่า Adder หรือ FiT เป็นต้น 2. ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.และเอกชน ตรงนี้จะมีค่า AP หรือ CP รวมอยู่ด้วย 3. ต้นทุนระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. 4. ต้นทุนระบบจำหน่ายและขายปลีกไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ 5. ต้นทุนที่มาจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ

นายคมกฤช กล่าวต่อว่า ภาพที่ กกพ.จัดทำขึ้น เพื่อแยกแยะให้เห็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแต่ละหน่วยที่เรียกเก็บจากประชาชน มีค่าใช้จ่ายอะไรรวมอยู่บ้าง โดยเริ่มจากปีที่มีการปรับค่าไฟฟ้าฐาน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2558 เปรียบเทียบกับ งวดปัจจุบัน ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2566 จะเห็นว่าต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมีอยู่ 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนแรก ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งรวมค่า AP ที่ กฟผ.จ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะเป็น IPP หรือ SPP และต้องรวมค่า AP ที่ กฟผ.ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าตนเองด้วย ปี 2558 ในบิลค่าไฟฟ้าจะมีต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.67 บาท/หน่วย ส่วนงวดปัจจุบัน (ปี 2566) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.79 บาท/หน่วย เพิ่มจากปีฐานประมาณ 10 สตางค์/หน่วย ถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก ทั้งนี้ ค่า AP ที่ กฟผ.จ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนจะมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ยกตัวอย่าง โรงไฟฟ้าเก่าหมดสัญญา กฟผ.ก็ไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทน คือมีทั้งเข้าและออก และในส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 10 สตางค์นี้ หลังจาก กกพ.เข้าไปดูในรายละเอียด ปรากฎว่าต้องนำโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามารวมด้วย เนื่องจากในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กำหนดให้ กฟผ.สามารถสั่งให้โรงไฟฟ้าหงสาฯ จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ทันทีเมื่อต้องการเรียกใช้

ส่วนที่ 2 ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยบิลค่าไฟฟ้าในปี 2558 จะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.14 บาท/หน่วย ส่วนงวดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ 3.27 บาท/หน่วย เพิ่มจากปีฐาน 1.13 บาท/หน่วย สาเหตุก็มาจากการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขาด จึงต้องนำเข้า LNG และน้ำมันเตา ดีเซล ราคาแพงมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน ตามที่กล่าวข้างต้น

และส่วนที่ 3 คือ ต้นทุนจากดำเนินการตามนโยบายรัฐ ในบิลค่าไฟฟ้าปี 2558 มีต้นทุนส่วนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.16 บาท/หน่วย ส่วนงวดปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นมาแค่ 4 สตางค์/หน่วยเท่านั้น แม้ค่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจริง ๆค่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในงวดปัจจุบันควรจะต้องเพิ่มเป็น 30 สตางค์/หน่วย แต่สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขลดลงเหลือ 20 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการค่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนต้องคำนวณเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าขายส่ง เมื่อค่าไฟฟ้าขายส่งปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ต้นทุนจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐลดลง

“สำหรับต้นทุนของค่าไฟฟ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. และระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน.และกฟภ. เมื่อเทียบกับปีฐานแล้ว (2558) คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อนำต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดมารวมกันแล้วในงวดปัจจุบันจะได้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 5.24 บาท/หน่วย จากนั้น กกพ.ก็นำมาแตกออกเป็น 2 Tier ตามนโยบายของรัฐบาล โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัยก่อน ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในส่วนที่ขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ลดลงมาเหลือ 2.74 บาท/หน่วย เมื่อรวมกับต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอื่นๆแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย ส่วนก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เหลือ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้นำไปรวมกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ผลิตไฟฟ้าขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มเป็น 3.36 บาท/หน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมขึ้นไปอยู่ที่ 5.33 บาท/หน่วย ซึ่งตัวเลขทั้งหมดมาจากการคำนวณตามนโยบายของ กพช.ไม่ได้มีการบิดเบือน หรือ เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา แต่อย่างใด” นายคมกฤช กล่าว

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สรุปได้ว่าในบิลค่าไฟที่ กฟน.และกฟภ.เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทบ้านพักอาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย จะประกอบไปด้วย 1. ต้นทุนการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมค่าซื้อไฟฟ้าทั้งจากในระเทศและต่างประเทศจ่ายเข้าสู่ระบบ , ค่า Adder และค่า FiT เป็นต้นทุนหลัก โดยมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า 2.74 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 58.14% ของอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.72 บาท/หน่วย 2. ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบของค่าพร้อมจ่ายมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า 0.80 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 16.93% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.72 บาท/หน่วยเท่านั้น 3. ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก) มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.51 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 10.81% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4. ต้นทุนระบบสายส่งของ กฟผ. 0.24 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 5.09% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5. ต้นทุนในการทยอยชำระหนี้คืน กฟผ.ภายใน 3 ปี กรณีที่ กฟผ.เข้าไปรับภาระค่า Ft ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานแทนประชาชน มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.22 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 4.71% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย และ 6. ต้นทุนจากการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20 บาท/หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 4.32% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

จากนั้นก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่ทุกคนรอคอย ราคาค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปจะลดลงได้ หรือ ไม่? หลังจากที่ราคา LNG ในตลาดโลกปรับตัวลดลง และค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เลขาธิการ กกพ. ตอบว่า “ตอนนี้ กกพ.ได้รับรายงานจากกระทรวงพลังงานว่าปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยกำลังทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้ LNG จากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง และการบริหารค่าไฟฟ้าในงวดถัดไป ก็ทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ราคาค่าไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะลดลงมาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็น 4 บาทต้น ๆ ได้หรือไม่ คงจะต้องมาพิจารณากันอีกที แต่อย่าลืมว่าเรามีหนี้ที่ต้องชำระคืน กฟผ.อีก 0.22 บาท/หน่วยด้วยน่ะ”

  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา