ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : เปิด 8 บริษัทรับบริหารจัดการขยะ กทม. วงเงินกว่าหมื่นล้าน

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : เปิด 8 บริษัทรับบริหารจัดการขยะ กทม. วงเงินกว่าหมื่นล้าน

26 กรกฎาคม 2022


นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร ปรับแผนบริหารจัดการขยะ เน้นคัดแยก ลดปริมาณขยะ ตั้งเป้าหมายปี 2570 ลดฝั่งกลบเหลือร้อยละ 30 โดยมี 8 บริษัทเอกชนรับกำจัดขยะ ทั้งสร้างโรงเผาขยะ ฝังกลบ และโรงปุ๋ย วงเงินกว่าหมื่นล้านบาท

ปัญหาการจัดการขยะที่เรื้อรังมานาน วันนี้ก็ยังเป็นปมให้สะสาง หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ ตรวจสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยสายไหม เขตสายไหม เพื่อติดตามระบบกำจัดขยะของ กทม. เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านทั้งเรื่องกลิ่นขยะและเสียงดัง

นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดการขยะของ กทม. โดยส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช รวมไปถึง สายไหม และมีบางสัญญาทำสัญญาการจัดการขยะระยะยาว 20 ปี โดย กทม. มีสัญญาผูกพันกำหนดค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้นจากนี้ไปต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม แผนการจัดการแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพฯ มีแนวทางอย่างไรเพื่อให้การแก้ปัญหาขยะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า แนวทางการบริหารจัดการขยะของกรุงเทพมหานครเน้นการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ขีดจำกัดของทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่ โดยจะเน้นการจัดการจัดเก็บขยะทุกพื้นที่ไม่ให้มีขยะมูลฝอยตกค้าง รวมไปถึงการคัดแยกขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่

ศูนย์ขยะหนองแขม

ปริมาณขยะลดลงเหลือเพียงวันละ 9,000 ตัน

สถานการณ์ปัญหาขยะของกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ปริมาณขยะเฉลี่ย 10,705 ตันต่อวัน แต่พอในช่วงโควิด-19 ปริมาณขยะลดลงในปี 2563 เฉลี่ยวันละ 9,520 ตันต่อวัน และในปี 2564 เฉลี่ยวันละ 8,675 ตันต่อวัน และปริมาณขยะในปี 2565 เฉลี่ยวันละ 9,000 ตันต่อวัน

“ปัจจุบันช่วงโควิดปริมาณขยะลดลง เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการเดินทางระหว่างเมือง แต่หลังจากเราเปิดเมืองมาในช่วงปี 2565 ปริมาณขยะปรับตัวเพิ่มขึ้น 9,000 ต่อวัน แต่ยังถือว่าปริมาณขยะเพิ่มไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว”

ส่วนแนวทางในการจัดการขยะกรุงเทพมหานคร เน้นแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste Management ) และนำกลับมาใช้ใหม่ โดยทำให้เหลือขยะเหลือน้อยที่สุด ซึ่งการจัดการขยะของ กทม. แบ่งออกเป็นการจัดการขยะต้นทาง คือ ขยะจากบ้านเรือน ที่เน้นการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ ให้เหลือน้อยที่สุดก่อนทิ้ง แต่ที่ผ่านการคัดแยกขยะตามบ้านเรือนยังได้ผลน้อย คือมีการคัดแยกเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะมากขึ้น

“มีความเข้าใจผิดมากเรื่องการคัดแยกขยะตามบ้านเรือน เพราะมักจะคิดว่าแยกขยะแล้ว กทม. เอามารวมกัน แต่ความจริงเจ้าหน้าที่เขาแยกขยะอยู่แล้วเพราะการคัดแยกคือรายได้ ในรถขยะเขาจะแยกขวด แยกกระดาษ เพื่อเอาไปขายนำรายได้มาจัดสวัสดิการของเจ้าหน้าที่เก็บขยะเอง แต่ถ้าหากตามบ้านเรือนช่วยแยกขยะ ก็จะช่วยให้จัดการได้มากขึ้น”

นายวิรัตน์กล่าวว่า การจัดการขยะต้นทางจะเน้นในเรื่องของการคัดแยกจากต้นทางมากขึ้น โดยจะมีการณรงค์เพื่อให้ประชาชนเริ่มคัดแยก ซึ่งที่ผ่านมา กทม. มีโครงการแยกขยะช่วยหมอ และโครงการแยกขยะช่วยพี่ไม้กวาด เพื่อนำผลิตภัณฑ์พลาสติกไปผลิตเป็นเสื้อสะท้อนแสงให้กับเจ้าหน้าเก็บกวาด และผู้ว่ากรุงเทพมหานครกำลังจะมีเขตนำร่องในการคัดแยกขยะในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นความร่วมมือกับการรณรงค์เรื่องคัดแยกขยะจากต้นทางจากประชาชนยังมีไม่มากนัก แต่ได้รับความร่วมมือจากห้างสรรสินค้าขนาดใหญ่ที่มีการคัดแยกขยะและเริ่มมีขายเศษอาหารซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

รถขนถ่ายขยะจากศูนย์หนองแขมไปกำจัด

เตรียมเปิดทางเอกชนเก็บรวบรวมขยะ

การจัดการขยะกลางทาง หรือการจัดเก็บรวบรวมขยะ ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครทั้งหมดมีเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะทั้งหมด 10,000 คน และมีรถเก็บขนมูลฝอยจำนวน 2,140 คัน เป็นรถของ กทม. 495 คัน และรถเช่าอีก 1,571 คัน

“การเก็บขนขยะทั้งหมด กทม. ดำเนินการเองโดยมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะประมาณหมื่นคน แต่ในอนาคตคิดว่าจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในการเก็บขยะ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการจัดเก็บขยะ เจ้าหน้าที่อายุมาก ประกาศรับสมัครก็มีคนมาสมัครน้อยลงมาก แต่การให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจะไม่กระทบกับเจ้าหน้าที่เก็บขยะเดิมของ กทม.”

นายวิรัตน์ระบุว่า เสนอแผนให้เอกชนเข้ามาจัดเก็บและรวบรวมขยะมา 2-3 ปีแล้ว แต่เนื่องจากใช้งบประมาณค่อนข้างมากโดยกำหนดสัญญา 5 ปี ใช้งบประมาณ 1,000 ล้าน ทำให้ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภา กทม.

อย่างไรก็ตาม การให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการจัดเก็บรวบรวมขยะทำให้การคัดแยกขยะทำได้ดีขึ้นโดยจะกำหนดให้แยกเก็บขยะตามวันและแยกประเภทการจัดเก็บ และนัดหมายกับประชาชนให้ทิ้งขยะตามวันและตามประเภทเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะได้มากขึ้น

ส่วนการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บขยะ นายวิรัตน์กล่าวว่า “มีความเข้าใจผิดว่า กทม. เก็บค่าธรรมเนียมขยะห้างสรรพสินค้าถูกกว่าบ้านเรือน แต่ความจริงแล้วค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะคิดตามปริมาณและน้ำหนักขยะอยู่แล้ว”

ทว่า ราคาค่าธรรมเนียมจัดเก็บบ้านเรือนจะคิดค่าจัดเก็บเฉลี่ยไม่เกิน 20 บาท แต่สำหรับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าคิดตามน้ำหนักและปริมาณขยะ ทำให้อัตราการเก็บค่าธรรมเนียมขยะของห้างสรรพสินค้ามีราคาที่สูงกว่าบ้านเรือนปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะ หลังจากที่กฎกระทรวงออกมาให้มีค่ากำจัดขยะเพิ่มเข้ามาด้วยจากเดิมที่มีเพียงค่าเก็บขนอย่างเดียว โดย กทม. ได้ออกข้อบัญญัติเพิ่มให้มีค่าเก็บค่าขยะและค่ากำจัดเฉลี่ยบ้านละ 80 บาท

“ตอนนี้ค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ 80 บาท ยังไม่ได้บังคับใช้ เนื่องจากท่านผู้ว่า กทม. เห็นว่าปีนี้ประชาชนยังมีปัญหาเศรษฐกิจ จึงเห็นว่าให้ขยายออกไปอีก 1 ปี แต่ในปีหน้าอาจจะบังคับใช้ให้เก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะรวมเข้าไปด้วย”

สำหรับรายงานจาการจัดเก็บขยะที่ผ่านมา ในปี 2562 เก็บค่าธรรมเนียมได้ 535 ล้านบาท ปี 2563 จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 527 ล้านบาท และในปี 2564 จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 512 ล้านบาท

ขยะที่เจ้าหน้าที่รวบรวมเก็บจากคลองของกรุงเทพมหานคร

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : “ชัชชาติ” รื้อ “กรุงเทพธนาคม” จาก “หลุมดำ” สู่ธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : เมืองที่ “ขาดแผนฯ-ขาดคนลงมือทำ-ตั้งโจทย์ผิด”
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : กทม.ควรมีพื้นที่เรียนรู้ให้ครบทุกเขต…โอกาสและความฝันที่หายไป
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?
  • เปิดบริษัทเอกชนรับกำจัดขยะ กทม.

    ส่วนจัดการขยะปลายทางหรือการกำจัดขยะ กรุงเทพมหานครให้เอกชนดำเนินการทั้งหมด 7 บริษัท โดยขยะทั้งหมดจะถูกรวบรวมนำไปกำจัดในศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 2. ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 3. ศูนย์กำจัดขยะสายไหม

    ส่วนวิธีการกำจัดขยะแบ่งออกเป็น การฝังกลบร้อยละ 68 การทำปุ๋ยหมักร้อยละ 18 วิธีแบบผสมผสาน เช่น recycle, RDF, ไฟฟ้า อีกร้อยละ 9 และเตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้าขยะร้อยละ 5 โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็นรายละเอียดดังนี้

    1. ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช

    – ฝั่งกลบเฉลี่ย 1,200 ตันต่อวัน ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยผู้รับจ้างในการดำเนินการคือ บริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด โดยบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พานิชย์ทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2563 ระยะเวลา 4 ปี ด้วยราคาตันละ 717 บาท
    – การหมักทำปุ๋ยเฉลี่ย 1,600 ตันต่อวัน โดยผู้รับจ้างคือ บจ.ยูโรเวสท์ เอ็นจิเนียริ่ง ทำสัญญาปี 2558 ระยะเวลา 10 ปี งบประมาณ 1,493 ล้านบาท กำจัดขยะไม่น้อยกว่า 600 ตันต่อวัน
    – วิธีแบบผสมผสาน เช่น recycle, RDF, ไฟฟ้า เฉลี่ย 800 ตันต่อวัน ผู้รับจ้าง บจ.กรุงเทพธนาคม ระยะเวลา ตั้งแต่ปี 2563-2583 งบประมาณ 2,090 ล้านบาท

    2. ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม

    -ฝั่งกลบ เฉลี่ย 3,000 ตันต่อวัน ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ผู้รับจ้างคือ บจ.กลุ่ม 79 โดย บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ราคา 693 บาทต่อตัน ทำสัญญาตั้งแต่พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา
    – เทคโนโลยีเตาเผา เฉลี่ย 500 ตันต่อวัน กำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ผู้รับจ้างคือ บจ.ลำเลียงชัย

    3. ศูนย์กำจัดขยะสายไหม

    – ฝังกลบเฉลี่ย 1,900 ตันต่อวัน ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ผู้รับจ้างคือ บจ.วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ ซึ่งรับขนถ่ายขยะมูลฝอยจากสถานีสายไหมไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน ตามสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ระยะเวลา 10 ปี ด้วยราคา 800 บาทต่อตัน

    เร่งสร้างเตาเผาขยะ 2 แห่งลดฝั่งกลบเหลือ 30%

    แนวทางการจัดการขยะของ กทม. ของ กทม. นอกจากจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเก็บรวบรวมขยะแล้ว ยังจะเพิ่มเตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้าขยะอีก 2 แห่ง

    นายวิรัตน์ระบุว่า แผนการจัดการขยะในอนาคตจะเพิ่มเทคโนโลยีการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลดการฝั่งกลบลงเหลือ ร้อยละ 29-30 ในปี 2570 จากเดิมที่วางแผนลดการฝังกลบลงให้ได้ในปี 2567 เนื่องจากติดปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    นอกจากนี้ จะเพิ่มการหมักปุ๋ยเป็นร้อยละ 35 โดยจะเพิ่มการทำปุ๋ยหมักที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยที่หนองแขมและอ่อนนุชแห่งละ 1,000 ตัน เพิ่มวิธีการจัดการขยะแบบผสมผสาน (recycle, RDF, ไฟฟ้า) เป็นร้อยละ11 และเพิ่มเทคโนโลยีเตาเผาขยะเป็นร้อยละ 25

    ทั้งนี้ โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

    1. โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (C&G) เป็นผู้ชนะการประมูล งบประมาณ 6,570 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2567

    2. โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช โดยบริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล

    อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยที่หนองแขมและอ่อนนุชยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังนายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในประเด็นที่ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน

    บริษัท ซีแอนด์จีเอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูลระบบเตาเผามูลฝอยที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม มีบริษัท นิวสกายฯ (ประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด และมี นาย เหอ หนิง, พล.อ. อุทัย ชินวัตร, นางสาว หรง หยวน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562

    ขณะที่ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูล ระบบเตาเผามูลฝอยที่อ่อนนุช ถือหุ้นโดย บริษัทนิวสกายฯ 79%, บริษัท ซีแอนด์จีฯ 20%, นายเหอ หนิง ถือ 1 หุ้น นอกจากนี้ ปรากฏชื่อนาย เหอ หนิง และนายนพดล พฤกษะวัน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

    นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทยังมีที่อยู่เดียวกัน คือ ที่อาคารปัญจธานี ชั้น 12 ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

    อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าว นายวิรัตน์กล่าวว่า การตรวจสอบทั้งหมดเป็นเรื่องการพิจารณาของ ป.ป.ช แต่การดำเนินการตามสัญญาคงต้องดำเนินต่อไป เพราะขั้นตอนการประมูลถูกทำขึ้นตามกรอบกฎหมาย

    การแก้ปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครยังคงเป็นวาระที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพนคร ต้องบริหารจัดการโดยเฉพาะการลดปริมาณขยะและลดการฝั่งกลบลงให้เหลือร้อยละ 30 ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการจัดการ ความโปร่งใสในการจัดการขยะ และการแก้ไขปัญหาโครงการเผาขยะที่ยังคงค้างการพิจารณาของ ป.ป.ช.