ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : กทม.ควรมีพื้นที่เรียนรู้ให้ครบทุกเขต…โอกาสและความฝันที่หายไป

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : กทม.ควรมีพื้นที่เรียนรู้ให้ครบทุกเขต…โอกาสและความฝันที่หายไป

15 พฤษภาคม 2022


พื้นที่เรียนรู้และความฝันที่หายไป

ทุกคนยอมรับเมื่อกติกาบังคับให้ต้องทุบทิ้ง แต่คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ทุกฝ่ายจะให้ความสำคัญกับพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ในชุมชน

8 ปี ที่ครูอ๋อมแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ และทีมคลองเตยดีจัง ใช้หัวใจทุ่มเทเปลี่ยนโรงหมู จากโรงฆ่าสัตว์รกร้างขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นลานกิจกรรมชุมชน พื้นที่เรียนรู้ ใจกลางชุมชนคลองเตย สร้างโอกาสผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ดนตรี ศิลปะ กีฬา ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา เปลี่ยนชีวิตเด็กและเยาวชนจำนวนมาก

วันนี้
วันวาน

‘ครูอ๋อมแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ เครือข่ายพลเมืองร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ย้อนความหลังว่า แต่เดิมนั้นเคยทำงานกับเด็ก ๆ ในช่วงประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้เห็นว่าการปลูกฝังเด็กได้จริงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชนกลับไม่มีบุคลากรที่มีความพร้อมมาทำงาน ครูอ๋อมแอ๋มเห็นว่าเด็กช่วงนี้ต้องเป็นสิ่งที่รัฐควรให้การสนับสนุนมากที่สุด

“เด็กอยากเป็นโจร เด็กทำบทบาทสมมติเล่นขายประเวณี มีแม่เล้าเป็นเด็ก 6 ขวบ เด็กไม่รู้ว่าคือการเล่นอะไร แต่เขารับรู้จากวิถีชุมชนจากการเล่าของครอบครัวที่เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว เรากำลังทำกิจกรรมวาดรูปกับเด็ก เขาเห็นพ่อถูกตำรวจจับขึ้นรถมอเตอร์ไซต์แต่เด็กกลับเฉย ๆ และระบายสีต่อ เพราะเป็นเรื่องเคยชินของพวกเขา”

‘ครูอ๋อมแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ เครือข่ายพลเมืองร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ความเดือดร้อนของเด็กและเยาวชนในชุมชนกทม. เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน

ครูอ๋อมแอ๋มเล่าว่าเด็กยากจนมักพบปัญหาตั้งแต่ในครอบครัว เช่น มียายติดเตียง แม่ติดยา ทำให้พออายุ 15 ปี ก็ต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจากการทำงานของตนกับเด็ก 100 กว่าคน พบว่ามีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้เด็กที่เรียนดีแค่ไหนหรืออยากเรียนต่อขนาดไหนก็ไม่สามารถทนต่อความยากจนนี้ได้ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาเองก็เป็นอุปสรรคเพราะมีสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ส่งเสริมทักษะที่พวกสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

“ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็ออกมาอีกเพราะเขาไม่มีความสุข เราเลยจดทะเบียนโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้นรัฐน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถจัดการศึกษาได้เองและสนับสนุนงบประมาณ แต่กลับพบว่าแม้กฎหมายเปิดให้มีศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่รัฐไม่มีเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาเหล่านี้”

ชุมชนคลองเตย

เพราะการสร้างพื้นที่เรียนรู้ คือการสร้างโอกาส

ข้อเสนอของครูอ๋อมแอ๋มคือรัฐต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก นี่คือการสร้างโอกาสในชีวิตให้พวกเขา รัฐเองควรดึงทุกภาคส่วนมาทำงานในพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับประชาชน ภาคเอกชน และสนับสนุนในด้านงบประมาณ

“แม้มีความพยายามของประชาชนในชุนชนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนของเขาเอง โดยการขอพื้นที่รกร้างใน กทม.มาใช้ แต่มักถูกปฏิเสธ แม้กระทั่งสนามบาสในชุมชนคลองเตยก็ถูกยุบไป 1 แห่งเพื่อเป็นที่ตั้งเสาโฆษณา เพราะฉะนั้นการที่เด็กไม่มีพื้นที่ เขาก็สร้างพื้นที่ตนเองอย่างร้านเกม หรือรวมตัวหลังชุมชนต้มน้ำกระท่อม ดังนั้นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กจึงควรถูกสนับสนุนและมีทุกชุมชน”

กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางหรือคนร่ำรวยเท่านั้น ชุมชนแออัดเป็นชุมชนที่มีจำนวนมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 641 ชุมชนคิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนชุมชนทั้งหมด จำนวนประชากร 579,630 คน มีเด็กและเยาวชนอยู่ราว 30 % จำนวนครัวเรือน 146,462 ครัวเรือน

ถึงเวลาที่กรุงเทพมหานคร และทุกฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมทุ่มเททรัพยากรเพื่อเด็กและเยาวชน พวกเขาและเธอคืออนาคตของเมือง ที่ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวถึงการทำงานในการสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space ในกรุงเทพมหานครพบว่าหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่กระจายครบทุกเขต บางแห่งอยู่ไกลจากชุมชน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ครอบครัวของเด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังพบว่าถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางกลุ่มบางวัย ที่สำคัญคือขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หรือช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลายของแต่ละชุมชนได้

“เราทำงานมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เราขอพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กแต่ไม่เป็นผล เด็กเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างความสุข สร้างโอกาส และพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายและเน้นกระตุ้นจินตนาการของเด็ก ดังนั้นกรุงเทพฯ 50 เขตจึงควรมี 50 พื้นที่การเรียนรู้ให้ครบทุกเขต”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า พื้นที่เล่น เรียนรู้ ทำกิจกรรมในทุกชุมชน เป็นเหมือนแหล่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกกว้างให้กับเด็ก ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่พัฒนาตนเองหรือออกแบบแนวทางสร้างอาชีพให้กับเด็กอีกหลายคนที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา และเป็นเกราะป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการเติบโตของพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคมในอนาคต

“พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชนที่สามารถรวมเด็ก ๆ ไว้ได้ เป็นเหมือนแหล่งน้ำแห่งความมีชีวิตชีวา ทำให้เด็กได้เติมเต็มความสดชื่นและไปต่อกับชีวิตได้ ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ เด็กจะเฉา ขาดพื้นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ไม่มีกิจกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และจะกระจัดกระจายออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง”

“กรุงเทพต้องมีพื้นที่ลักษณะนี้ให้เพียงพอต่อชุมชนต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งรวมการเรียนรู้ การเล่น การซึมซับบทบาทในเชิงสังคม และที่สำคัญคือเป็นสถานที่ปลอดภัยในการป้องกันปัญหายาเสพติด และความรุนแรงต่าง ๆ ได้ดี ขณะที่ในทางกลับกัน หากเราปล่อยให้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วสูญเสียไป กลายสภาพเป็นพื้นที่รกร้าง หรือถูกทำให้มีจำนวนน้อยลงด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากจะไม่เห็นประโยชน์ใดแล้ว ยังเหมือนเป็นการปิดกั้นการเติบโตพัฒนาของชีวิตเด็ก สกัดการเพิ่มขึ้นของประชากรคุณภาพ แล้วยังหมายถึงการผลักให้เด็กมีความเสี่ยงในชีวิตยิ่งขึ้น”