ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียดึง“Digital Nomad”ให้วีซ่า 5 ปี ไม่เสียภาษี

ASEAN Roundup อินโดนีเซียดึง“Digital Nomad”ให้วีซ่า 5 ปี ไม่เสียภาษี

12 มิถุนายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 มิถุนายน 2565

  • อินโดนีเซียดึง“Digital Nomad”ให้วีซ่า 5 ปี ไม่เสียภาษี
  • สหรัฐฯยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ 4 ประเทศ
  • ไทย-เวียดนามยังติดบัญชี Monitoring List สหรัฐฯจับตาแทรกแซงค่าเงิน
  • เงินเฟ้อลาวเดือนก.ค.สูงสุดรอบ 18 ปี
  • ฟิลิปปินส์ยกเลิกซื้อขายหุ้นแบบเคาะกระดานถาวร
  • เทเลนอร์เมียนมาเปลี่ยนชื่อเป็น Atom Myanmar
  • อินโดนีเซียดึง“Digital Nomad”ให้วีซ่า 5 ปี ไม่เสียภาษี


    อินโดนีเซียกำลังมองข้ามการท่องเที่ยวแบบเดิมที่ขายชายหาดในบาหลี ไปยังการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาวและมีการใช้จ่ายสูงให้กลับมายังเกาะต่างๆ รวมทั้งบาหลีเอง

    โดยมีแผนให้วีซ่า 5 ปีและไม่เสียภาษีสำหรับกลุ่ม digital nomads หรือกลุ่มคนที่ทำงานแบบระยะไกล

    วีซ่า digital nomad 5 ปี ประกาศโดยนายซานดิอากา อูโน รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียในสัปดาห์ที่ผ่านมา

    นายอูโนกล่าวว่า อินโดนีเซียคาดหวังว่าจะดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวน 3.6 ล้านคนกลับเข้ามาในปีหน้า ด้วยวีซ่าทำงานระยะไกลรูปแบบใหม่ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพักผ่อนแบบเงียบสงบและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น

    “ในอดีต ‘สามเอส 3S’ การท่องเที่ยวเราคือแสงแดด ทะเล และทราย เรากำลังมุ่งไปสู่ความเงียบสงบ การปลีกตัว และความยั่งยืน ด้วยแนวทางนี้เราจะได้มีคุณภาพที่ดีขึ้นและผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น” นายอูโน กล่าว

    นายอูโน กล่าวว่า วีซ่าทำงานระยะไกลระยะเวลา 5 ปีจะอนุญาตให้ คนทำงานอิสระที่เป็นฟรีแลนซ์พำนักตามเกาะต่างๆ เช่น บาหลี โดยไม่ต้องเสียภาษี หากรายได้ของพวกเขามาจากบริษัทนอกอินโดนีเซีย

    นายอูโนกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวมาจากการวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบาหลี “อยู่ในใจ” ของ 95% ของผู้ตอบแบบสอบถาม จากการสำรวจกลุ่มผู้ที่ทำงานระยะไกล

    ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียมีแผนให้วีซ่า digital nomad ในปี 2564 แต่ได้ระงับไปเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก

    “ขณะนี้ มีการจัดการโรคระบาดและกระทรวงทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้องและให้ความร่วมมือตั้งแต่ด้านสาธารณสุขไปจนถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เราเชื่อว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดตัวแนวคิดนี้อีกครั้ง” นายอูโนกล่าวกับผู้สื่อข่าว

    รัฐบาลอินโดนีเซียได้ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางส่วนใหญ่และทดลองใช้การไม่กักตัวเมื่อเดินทางมาถึงรวมทั้งโครงการ Visa On Arrival (VOA) ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 สำหรับ 72 ประเทศ นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ได้ยกเลิกข้อกำหนดการตรวจโควิดด้วย RT-PCR

    จากการที่หลายบริษัททั่วโลกที่ปล่อยให้พนักงาน ‘ทำงานได้จากทุกที่’ มากขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับกลุ่ม digital nomad

    ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวได้สูงสุด 60 วัน หรือดำเนินการตามขั้นตอนที่มากมายตามกฎหมายเพื่อขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 6 เดือน แต่ผู้ที่พำนักในอินโดนีเซียเป็นเวลานานกว่า 183 วันตลอดทั้งปีจะถูกจัดว่าเป็นผู้เสียภาษีในประเทศโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่ารายได้ในต่างประเทศต้องเสียภาษีตามกฎหมายอินโดนีเซีย

    อัตรา ภาษีเงินได้สูงสุดของอินโดนีเซียคือ 35%สำหรับรายได้ที่เกินกว่า 350,000 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าฮับ digital nomadแห่งอื่นเช่น ดูไบ ที่มีวีซ่า digital nomad แบบต่ออายุได้หลังครบหนึ่งปี ไม่มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้ ไม่ว่าวีซ่าประเภทใด

    ส่วนวีซ่าชั่วคราวในปัจจุบันสำหรับผู้ทำงานระยะไกลที่มาเที่ยวอินโดนีเซีย มีทั้งไม่ต้องมีวีซ่า(Free visa) มาขอวีซ่าเมื่อมาถึง (Visa on Arrival:VoA) หรือ วีซ่าด้านสังคม นักท่องเที่ยว หรือวัฒนธรรม แต่จะมีอายุระหว่าง 30 ถึง 180 วัน ขณะที่วีซ่า 5 ปีจะเป็นระบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับผู้มาทำงานระยะยาว

    วีซ่า ” digital nomad ” ของอินโดนีเซียจะทำให้คนทำงานระยะไกลที่พำนักในบาหลีอยู่แล้วไม่ต้องต่ออายุวีซ่าทุกสองสามเดือน และลดความเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศออกนอกประเทศอย่างรวดเร็วจากการฝ่าฝืนกฎ ส่วนการยกเว้นภาษีสำหรับรายได้จากต่างประเทศจะช่วยลดภาระภาษีให้กับผู้ที่ทำงานระยะไกลในอินโดนีเซีย และลดความเสี่ยงของการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

    วีซ่า ” digital nomad ” ของอินโดนีเซียจะนานกว่าวีซ่า ” digital nomad ” ปัจจุบัน ใน 33 ประเทศ รวมถึงเยอรมนี เม็กซิโก บาร์เบโดส และเอสโตเนีย ข้อมูลที่รวบรวมโดยศาสตราจารย์ ราช เชาดูรี จาก Harvard Business School พบว่า วีซ่า ” digital nomad ” ส่วนใหญ่เสนอให้พำนักได้ตั้งแต่ 1-2 ปี และนานที่สุด 4 ปี และวีซ่า ” digital nomad ” ส่วนใหญ่มีการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากผู้ที่มีวีซ่าประเภทนี้

    สำหรับการทำงานในอินโดนีเซียปัจจุบันต้องมีใบอนุญาตทำงาน(Expatriate Work Permit).ที่เรียกว่า IMTA (Ijin Mempekerjakan Tenaga Kerja Asing) หรือ IKTA โดยที่บริษัทผู้ว่าจ้างต้องรับรองและหากเปลี่ยนงานใหม่ก็ต้องขอ IMTA ใหม่ นอกจากต้องขอใบอนุญาตทำงานแล้ว ยังต้องขอ ใบอนุญาตพำนักชั่วคราวKartu Izin Tinggal Terbatas (KITAS) ในอินโดนีเซียด้วย โดยนายจ้างจะต้องรับรองและสนับสนุน

    สหรัฐฯยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ 4 ประเทศ


    ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ ยกเว้นภาษีสำหรับแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 2 ปีและใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เพื่อกระตุ้นการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ภายในประเทศ ทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันจันทร์( 6 มิ.ย.)

    ทำเนียบขาวระบุว่า การยกเว้นภาษีมีผลบังคับใช้กับแผงโซลาร์จากประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม และจะทำหน้าที่เป็นเสมือน “สะพาน” ให้ก้าวข้ามความจำเป็นเฉพาะหน้าในขณะที่การผลิตของสหรัฐฯ ค่อยๆเพิ่มขึ้น

    การยกเว้นภาษีเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความกังวลเกี่ยวกับการแช่แข็งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ เป็นผลจากการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม เพื่อพิจารณาว่า การนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรของสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนหรือไม่

    รวมทั้งช่วยบรรเทาความกังวลของบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการต้องสำรองเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายภาษีที่อาจถูกเรียกเก็บย้อนหลัง
    ผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม และนักสิ่งแวดล้อม แสดงความกังวลเกี่ยวกับการสอบสวน ซึ่งอาจนำไปสู่การเก็บภาษีย้อนหลังได้ถึง 250%

    การสอบสวนได้ส่งผลให้กลุ่มการค้าพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดลดการคาดการณ์การติดตั้งสำหรับปีนี้และปีหน้าลง 46% ขณะที่ผู้พัฒนาโครงการรวมถึง NextEra Energy Inc บริษัท Southern Co เตือนว่าโครงการหลักจะล่าช้า

    ทำเนียบขาวกล่าวว่า จะมีการใช้กฎหมาย Defense Production Act เพื่อขยายการผลิตฉนวนในอาคาร ปั๊มความร้อน หม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์สำหรับ “เชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าที่สะอาด” เช่น อิเล็กโทรไลเซอร์ และเซลล์เชื้อเพลิง

    การใช้อำนาจในการบริหารและการบังคับใช้กฎหมาย DPA ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีคุมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่มีโดยไม่ต้องก้าวล่วงการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์

    ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไบเดนซึ่งอาศัยอำนาจจากกฎหมายการค้าปี 2473 จะใช้บังคับกับ 4 ประเทศเท่านั้นและดำเนินการควบคู่ไปกับการสอบสวน หลังจากพ้นสองปีไปแล้ว จะมีการเรียกเก็บภาษีแผงโซลาร์ ไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไร แต่ความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายภาษีย้อนหลังก็ไม่มีอีกแล้ว

    การสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์มีผลต่อแผงโซลาร์ที่มีสัดส่วน 80% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ

    ไทย-เวียดนามยังติดบัญชี Monitoring List สหรัฐฯจับตาแทรกแซงค่าเงิน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/us-adds-taiwan-vietnam-to-currency-monitoring-list-4474834.html
    กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุในรายงาน การประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ ฉบับรอบครึ่งปี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ว่า โดยรวมแล้วไม่มีคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯรายใดที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในดูแลดุลการชำระเงิน หรือการได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ

    รายงานระบุว่ายังคงกังวลเกี่ยวกับบางประเทศที่ยังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเพื่อตอบสนองการแข็งค่าของค่าเงินที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจะยังคงกดดันประเทศที่เกินดุลให้ดำเนินการเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ

    กระทรวงการคลังได้ปรับไต้หวันและเวียดนามให้ไปอยู่ใน “Monitoring List”ในกลุ่มคู่ค้ารายใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสกุลเงินของตนอย่างใกล้ชิด

    เวียดนามและไต้หวันยังคงดำเนินการที่มากกว่าเกณฑ์ประเมินการบิดเบือนค่าเงินบางข้อ ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของทั้งสองประเทศต่อไป

    กระทรวงการคลังกล่าวว่า ได้มีการเจรจากับไต้หวันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งช่วยยกระดับความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับข้อกังวลของสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไต้หวันได้สะท้อนความเห็นในทิศทางเดียวกันหลังการเผยแพร่รายงาน

    กระทรวงการคลังกล่าวว่า พอใจกับความคืบหน้าของเวียดนามภายใต้ข้อตกลงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจัดการกับข้อกังวลของสหรัฐฯ
    ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อีก 10 ประเทศที่ยังคงอยู่ในรายการ Monitoring List ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก

    รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯเผยแพร่ออกมาภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นคำเตือนที่แข็งกร้าวที่สุด ว่าญี่ปุ่นอาจจะแทรกแซงเพื่อสนับสนุนค่าเงิน

    รายงานกระทรวงการคลังรับรู้ถึงการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินเยนญี่ปุ่นในปี 2565 โดยระบุว่าส่วนใหญ่เกิดจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากจุดยืนของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น

    รายงานยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวของจีนในการเผยแพร่ข้อมูลการแทรกแซงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับกลไกอัตราแลกเปลี่ยน โดยกล่าวว่ากระทรวงการคลังจะติดตามการดำเนินการด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางของจีนอย่างใกล้ชิด

    เงินเฟ้อลาวเดือนก.ค.สูงสุดรอบ 18 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.golaos.tours/top-3-vibrant-markets-laos/
    อัตราเงินเฟ้อในประเทศลาวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีในเดือนที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้น 12.8% จากปีที่แล้ว จากการรายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติลาว

    วิกฤติเชื้อเพลิง โดยมีสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศไม่มีน้ำมันจำหน่าย และการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินกีบ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

    ดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายปีมา นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่เพิ่มขึ้น12.9%

    ขณะนี้ ลาวเป็นประเทศมีเงินเฟ้อสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากกำลังมีปัญหาในการซื้อของใช้และของบริโภคอุปโภคพื้นฐานและสิ่งจำเป็นอื่นๆ

    ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งเร็วกว่าที่คาดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา โดยที่ราคาเชื้อเพลิง อาหาร และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ที่สูงมากขึ้น เพิ่มภาระให้กับคนทั่วไปอย่างมหาศาล สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลให้ตลาดเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวน ท่ามกลางความกังวลว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและเกิดวิกฤติด้านอาหาร

    ในเดือนพฤษภาคม ทางการลาวได้ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 2 ครั้ง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นสำหรับภาคการขนส่ง และมีผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดท้องถิ่นให้สูงขึ้น ในเดือนพฤษภาคม ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 92.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ

    ขณะที่ ราคาก๊าซ ทองคำ และเหล็กกล้าพุ่งขึ้น 39.7%, 48.5% และ 68% เมื่อเทียบเป็นรายปีตามลำดับ นอกจากนี้ ต้นทุน ชีส นม และไข่ยังเพิ่มขึ้น 27.79% เมื่อเทียบรายปี ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ขนมปังและแป้ง (เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบรายปี) และซีเมนต์

    เงินกีบร่วงลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานไม่ไปด้วยกัน ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งราคาสินค้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ขาดทุน

    เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารการค้าต่างประเทศลาวBCEL (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public) 1 เหรียญสหรัฐ ซื้อในราคา 14,333 กีบขาย 14,364 กีบ ขณะที่เงินบาท 1 ซื้อที่ 495.26 กีบ ขายที่ 498.99 กีบ

    ในเดือนมกราคมปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบปีต่อปี 6.25% เพิ่มขึ้นเป็น 7.31% ในเดือนกุมภาพันธ์ 8.54% ในเดือนมีนาคม และ 9.86% ในเดือนเมษายน

    ข้อมูลของสำนักสถิติลาวชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในหมวดการสื่อสารและการขนส่งเพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 34.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนพฤษภาคม เป็นผลจากราคาน้ำมัน รถยนต์ และอะไหล่ที่สูงขึ้น ราคายยานพาหนะเพิ่มขึ้น 34.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ส่วนราคาในหมวดสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 20.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ค่ารักษาพยาบาลและค่ายาเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 3.2%เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 8.2% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่ราคาเสื้อผ้าและรองเท้าเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 11.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ฟิลิปปินส์ยกเลิกซื้อขายหุ้นแบบแบบเคาะกระดานถาวร

    ที่มาภาพ :
    https://business.inquirer.net/228054/pse-pds-union-triggers-rethinking-securities-trading-platform/smq-trading
    ตลาดหลักทรัพย์แห่งฟิลิปปินส์ได้ให้ความเห็นชอบยกเลิกการซื้อขายหุ้นแบบเคาะกระดาน( trading floor)อย่างถารวร ในเดือนหน้า เนื่องจากนักลงทุนหันไปลงทุนซื้อขายหุ้นผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และจะส่งผลให้การซื้อขายทั้งหมดอยู่บนระบบออนไลน์

    พฤติกรรมการซื้อขายบนระบบออนไลน์ของนักลงทุนมีมากขึ้นหลังกการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการล็อกดาวน์

    ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์จัดเป็นตลาดหุ้นเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียที่มีประวัติย้อนกลับไปในปี 2470 ที่ก่อตั้งในนาม Manila Stock Exchange ก่อนที่จะควบรวมกับ Makati Stock Exchange ซึ่งก่อตั้งในปี 2506 และกลายเป็น Philippine Stock Exchangeในเดือนธันวาคม 2535

    ในปี 2564 บัญชีซื้อขายหุ้นออนไลน์เติบโตขึ้น 23.8% เป็น 1.16 ล้านบัญชีและคิดเป็น 71.5% ของบัญชีทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเพียง 4.3% ในปี 2551

    มูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 44% เป็น 744.49 พันล้านเปโซ (19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) จาก 518.27 พันล้านเปโซในปีก่อนหน้า ส่วนการซื้อขายแบบเดิมเพิ่มขึ้น 11% จากปี 2563 เป็น 2.92 ล้านล้านเปโซ

    นายรามอน มอนโซ ผู้จัดการตลาดกล่าวว่า การระบาดใหญ่ช่วยขับเคลื่อนระบบดิจิทัลและการซื้อขายอัตโนมัติ กระตุ้นให้นายหน้าซื้อขายนอกสถานที่ และห้องค้าแบบเคาะกระดานจะปิดตัวอย่างถาวรหลังโบรกเกอร์ถอนบูธซื้อขายออก

    เทเลนอร์เมียนมาเปลี่ยนชื่อเป็นAtom Myanmar

    ที่มาภาพ: https://scandasia.com/many-wanted-telenor-to-stay-in-myanmar-but-the-employees-safety-was-the-overall-thing/
    บริษัทเทเลนอร์ เมียนมา จำกัด(Telenor Myanmar Limited) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อตอม เมียนมา( Atom Myanmar Limited) แล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาตามประกาศของบริษัท

    “การเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นการสะท้อนสถานการณ์หลังการเปลี่ยนมือ” บริษัทระบุ “จากการเปลี่ยนแปลงนี้ tom Myanmar Limited จะคงรักษาจุดแข็งของความสามารถของเราในตลาดและให้บริการด้านการสื่อสารที่ดีขึ้นและโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น สำหรับนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป นอกจากการเปลี่ยนชื่อแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อการบริการและผลิตภัณฑ์”

    ในเดือนกรกฎาคม 2564 เทเลนอร์ กรุ๊ป(Telenor Group)ได้ขายกิจการมือถือที่ถือหุ้น 100%ในเมียนมาให้กับ M1 Group ซึ่งมีฐานธุรกิจในเลบานอน ในมูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการชำระเงินในช่วงห้าปี การขายกิจการดังกล่าวสอดคล้องกับมูลค่าองค์กรโดยนัยประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

    สำหรับตลาดเมียนมา กลุ่ม M1 กำลังร่วมมือกับกลุ่ม Shwe Byain Phyu (SBP) ผ่าน Investcom PTE ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่จะเข้าเป็นเจ้าของ

    ปัจจุบัน ภาคโทรคมนาคมในเมียนมาซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์2564 กำลังประสบปัญหาการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากอัตราข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในบรรดาบริษัทโทรคมนาคมสี่แห่งในเมียนมา MyTel เจอความท้าทายอย่างมากเนื่องจากกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธได้ทำลายเสาโทรคมนาคมหลายแห่งที่ MyTel เป็นเจ้าของ