ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup “นูซันตารา”เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียหนุนวิสัยทัศน์ 2045 ติด 5 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

ASEAN Roundup “นูซันตารา”เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียหนุนวิสัยทัศน์ 2045 ติด 5 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

23 มกราคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 มกราคม 2565

  • “นูซันตารา”เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียหนุนวิสัยทัศน์ 2045
  • เวียดนามเริ่มวิจัยเทคโนโลยี 6G ปีนี้
  • ลาวออกใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโท
  • สปป.ลาวห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ
  • เมียนมาอนุญาตโอนเงินผ่านธนาคารส่งออกทองคำมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลล์
  • สิงคโปร์ติดอันดับ 3 จุดหมายปลายทางลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก
  • “นูซันตารา”เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซียหนุนวิสัยทัศน์ 2045

    ภาพจำลองทำเนียบประธานาธิบดีในเมืองหลวง ใหม่ ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/indonesia/2022/01/18/house-passes-bill-to-relocate-indonesias-capital.html

    อินโดนีเซียได้ตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า นูซันตาราหลังจากฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติการย้ายจากจาการ์ตาไปยังกาลิมันตัน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ชื่อเมืองหลวงใหม่แปลว่า “หมู่เกาะ” ในภาษาชาวอินโดนีเซีย

    ความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของจาการ์ตา ศูนย์กลางทางการเมืองที่แออัดและกำลังทรุดตัว ทำให้ต้องสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ผ่านร่างกฎหมายการย้ายเมืองหลวงอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

    ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนการพัฒนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า การย้ายเมืองหลวงของประเทศไปยังกาลิมันตันตะวันออกเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะผลักดันวิสัยทัศน์ปี 2045 ของอินโดนีเซียให้เป็นจริง

    วิสัยทัศน์ 2045 คือ ความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 5 อันดับแรกของโลก

    ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนพัฒนากล่าวว่า “การย้ายเมืองหลวงไปยังกาลิมันตันขึ้นอยู่กับการพิจารณาหลายประการ ความได้เปรียบของภูมิภาค และสวัสดิการต่างๆ ด้วยวิสัยทัศน์ การสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ให้เกิดขึ้นใจกลางหมู่เกาะ

    “การย้ายเมืองหลวงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ 2045 ของอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านการเร่งพัฒนาในภูมิภาคตะวันออก”

    โมนาอาฟากล่าวว่า การเลือกเมืองกาลิมันตันตะวันออกเป็นเมืองหลวงใหม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาหลายประการ เช่น ความโดดเด่นของภูมิภาค และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ว่า ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่จะเกิดขึ้นใจกลางหมู่เกาะด้วย

    เมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางประเทศ ขนาบข้างด้วยเส้นทางเดินทะเลของหมู่เกาะในช่องแคบมากัสซาร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำหรับอุทยานแห่งชาติและภูมิภาค

    ที่ตั้งใหม่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น สนามบิน ท่าเรือ และถนนที่ดีกว่าตลอดจนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น เครือข่ายที่เพียงพอ พลังงาน และน้ำดื่ม

    เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ยังอยู่ใกล้กับเมืองสนับสนุนสองแห่งที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ บาลิกปาปัน และสมารินดา ในขณะเดียวกัน ยังมีที่ดินพร้อมใช้จากการควบคุมโดยรัฐบาลในภูมิภาคก็เพียงพออย่างมากสำหรับการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคก็มีน้อยมากเช่นกัน

    รัฐบาลจึงเชื่อว่า การก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะมุ่งเป้าไปที่ 4 เสาหลักของวิสัยทัศน์ปี 2045 ของอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการพัฒนามนุษย์และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    วิสัยทัศน์ต่อไปคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การพัฒนาอย่างเท่าเทียม และการเสริมสร้างความสามารถในการปรับของประเทศให้แข็งแกร่ง ตลอดจนธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งคาดหวังว่า เมืองหลวงแห่งใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกาลิมันตัน และกระตุ้นความเข้มแข็งของห่วงโซ่คุณค่าภายในประเทศทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออก ซึ่งในที่สุดจะกระจายไปทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

    การพัฒนาเมืองหลวงของประเทศจะทำให้อินโดนีเซียมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในแง่ของเส้นทางการค้าทั่วโลก กระแสการลงทุน และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

    Nagara Rimba Nusa
    แนวคิดเมืองหลวงใหม่ที่ชนะการประกวด ที่มาภาพ: http://www.urbanplus.co.id/project/nagara-rimba-nusa-ibu-kota-negara-indonesia/

    เมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะเป็นแบบจำลองสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ขณะเดียวกันก็รักษา รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยรอบ

    “วิสัยทัศน์ของเรา คือ สร้างเมืองของโลกสำหรับทุกคน ไม่เพียงแต่หมายถึงผู้คนที่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงในอนาคต แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมที่จะได้รับการฟื้นฟูและบำรุงรักษาด้วย”

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดได้ประกาศว่าจะมีการย้ายเมืองหลวงเป็นครั้งแรกในปี 2019 โดยให้เหตุผลถึงความวิตกต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของจาการ์ตา

    จาการ์ตาตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มใกล้ทะเล และมีแนวโน้มที่จะถูกน้ำท่วม และเป็นหนึ่งในเมืองที่ทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก ตามรายงานของ World Economic Forum เมืองหลวงเก่าได้ทรุดตัวลงสู่ทะเลชวาในอัตราที่น่าตกใจ เนื่องจากมีการขุดเจาะน้ำบาดาลมากเกินไป

    นอกจากนี้ยังเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากเกินไปที่สุดแห่งหนึ่งของโลก องค์การสหประชาชาติระบุว่า มีคนอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน โดยประมาณ 30 ล้านคนอยู่ในเขตรอบนอก

    ข้อมูลจากสำนักงานวางแผนและพัฒนาแห่งชาติชี้ว่า เมืองหลวงใหม่จะมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 256,143 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,561 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเกือบทั้งหมดแปลงมาจากพื้นที่ป่า

    อินโดนีเซียเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมาเลเซียและบรูไนต่างถือครองพื้นที่ทางตอนเหนือ

    ศรี มุลยานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารว่า การพัฒนาเมืองหลวงใหม่มี 5 ขั้นตอน ในระยะแรกน่าว่าจะเริ่มในปี 2565 จนถึงปี 2567 โดยคาดว่าพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปี 2588

    ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่า โครงการเมืองหลวงใหม่น่าจะมีมูลค่าประมาณ 466 ล้านล้านรูเปียห์ (32 พันล้านดอลลาร์)

    เวียดนามเริ่มวิจัยเทคโนโลยี 6G ปีนี้

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.ne
    t/news/business/industries/vietnam-to-begin-6g-technology-research-and-development-4417487.html

    เวียดนามจะเริ่ม วิจัยเครือข่ายไร้สาย 6Gในปี 2565 นี้ รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเหงียน มันห์ ฮุง กล่าว

    ในงานประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินงานโทรคมนาคมปี 2564 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฮุงกล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของเวียดนามควร “อยู่ในกลุ่มอันดับต้น ๆ ของโลในแง่ของการติดตั้งและใช้งาน 5G และการพัฒนาเครือข่าย 6G ”

    นายฮุงกล่าวว่า เวียดนามจะเริ่มทำการวิจัย 6G ในปีนี้ควบคู่ไปกับการติดตั้งเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ รวมทั้งวางเป้าหมายออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 6G ภายในปี 2571 ก่อนที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์

    โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการวิจัยการติดตั้ง 6G เรียบร้อยแล้ว และกลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล

    “เครือข่ายโทรคมนาคมต้องเปลี่ยนไปใช้สถาปัตยกรรมบนคลาวด์และสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์บนคลาวด์อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเครือข่ายอัจฉริยะและยืดหยุ่น และสามารถกำหนดค่าซอฟต์แวร์ให้เป็นเครือข่ายย่อยเฉพาะจำนวนมากได้ และ Open RAN จะถูกใช้เป็นเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนา 5G และ 6G ,”

    บริษัทเวียดนามควรตั้งเป้าหมายว่า จะวิจัยและผลิตอุปกรณ์ 5G และ 6G อุปกรณ์ส่งสัญญาณ และอุปกรณ์ปลายทางได้สำเร็จ

    เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกล่าวว่า เวียดนามจะใช้ 5G เชิงพาณิชย์ในปีนี้และตั้งเป้าว่า 25% ของประชากรประเทศใช้เทคโนโลยี 5G ภายในปี 2568 ขณะที่ปัจุบันบริการ 4G ครอบคลุม 99.8% ของประเทศ

    ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ VNPT, MobiFone และ Viettel ได้ทดลองใช้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วใน 16 จังหวัดและเมืองต่างๆ

    เทคโนโลยี 6G เป็นก้าวต่อไปจาก 5G ที่มีการวิจัยในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกาและจีน ตามทฤษฎีแล้ว 6G จะมีความเร็วถึง 1 เทระบิตต่อวินาที

    เครือข่าย 6G คาดว่าจะวางรากฐานสำหรับ “ยุคอัจฉริยะ” ที่ AI และหุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตกลงมาตรฐานทางเทคนิคหรือความถี่สำหรับ 6G

    ลาวออกใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโท

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2022/01/17/laos-authorizes-two-crypto-exchange-platforms/
    ทางการสปป.ลาวได้อนุมัติอย่างเป็นทางการให้ แพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล 2 ราย เปิดให้บริการในประเทศ

    ธนาคารแห่งประเทศลาว (BOL) ได้อนุมัติในหลักการออกใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลให้กับ LDX (Lao Digital Assets Exchange Co.) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง AIF Group และ กลุ่มพงซับทวี กับ Bitqik ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กลุ่มสีเมือง

    ทั้งสองแพลตฟอร์มเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตและกำกับดูแลเพียงสองแห่งในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์และซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบ โดยเพื่อให้บริการทั้งลูกค้าลาวและภูมิภาค

    ทั้งแพลตฟอร์ม LDX และ Bitqik คาดว่าจะให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนเมษายนปีนี้ และจะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองการลงทุน เพื่อให้การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในลาวราบรื่นและปลอดภัย

    ชาวลาวจำนวนมากเริ่มขุดเงินสกุลดิจิทัลและลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีการทำรายการผ่านแพลตฟอร์มนอกประเทศว และต้องเผชิญกับข้อจำกัด ความเสี่ยง และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบในประเทศลาว

    การออกใบอนุญาตให้สองแพลตฟอร์มนี้ ช่วยให้นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโทที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ สามารถใช้บัญชีธนาคารในประเทศแทน การจะพึ่งพาธนาคารต่างประเทศหรือบัตรเครดิตเมื่อซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม

    สปป.ลาวห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt13.php

    รัฐบาลลาวได้สั่งห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ ทั้งสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงในฟาร์ม และปลา เพื่อผลักดันให้มีการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อที่ระกระตุ้นเศรษฐกิและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

    สำหรับพืชเกษตรที่ห้ามนำเข้าและควรเร่งการปลูกให้มากขึ้น ได้แก่ กะหล่ำปลี กระเทียม หอม พริกไทย ผักกาดหอม และผักกาดขาว รวมทั้งกระตุ้นให้เลี้ยงวัวควาย สุกร แพะ ไก่ เป็ด และห่าน ซึ่งได้ห้ามการนำเข้า

    นอกจากนี้ยังห้ามนำเข้าปลานิลและปลาน้ำจืดทุกชนิด

    สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกรเกษตรและยังคงนำเข้าได้ คือ น้ำเชื้อพันธ์ุเพื่อการเพาะพันธ์ุ เม็ดพันธ์ุข้าว วัคซีนสำหรับสัตว์ และเครื่องมืออุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในสัตว์ และอาหารสัตว์

    ธุรกิจยังคงนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเป็นอาหารสัตว์และนำเข้าวัคซีนที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ รวมทั้งอุปกรณ์การเกษตรและเครื่องจักรที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์

    นอกจากยังสามารถนำเข้าสินค้าบางรายได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยต้องเพื่อใช้งานเฉพาะและไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศ และรวมถึงเนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อนกกระจอกเทศ ระดับพรีเมียมที่เสิร์ฟในร้านอาหารและโรงแรมขนาดใหญ่ รวมทั้งยังอนุญาตให้นำเข้า น้ำมันหมู หนังหมู และเนื้อชิ้นใหญ่ที่ใช้ในการแปรรูปโดยบริษัทหรือโครงการเฉพาะ

    สำหรับอาหารทะเลยังคงนำเข้าได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยแต่ละจังหวัดอาจจะจัดสรรโควตาเฉพาะเป็นระยะๆ ตามตวามต้องการจริง

    ดร.สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนกล่าวว่า เพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ รัฐบาลได้ตัดสินใจที่กำหนดการนำเข้าสินค้าเป็นบางรายการ ทั้งข้าว พืช สัตว์ ไม้ ปลา กบ เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตเพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์ในประเทศ

    เมียนมาอนุญาตโอนเงินผ่านธนาคารส่งออกทองคำมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลล์

    ที่มาภาพ:https://www.gnlm.com.mm/telegraphic-transfer-system-permitted-for-gold-transaction-below-us50000/#article-title

    อู เมียว มินท์ประธานสมาคมผู้ประกอบการทองคำเขตย่างกุ้ง เปิดเผยว่า การโอนเงินระหว่างประเทศสำหรับธุรกรรมทองคำมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นได้รับอนุญาตให้ใช้ ระบบการโอนเงินผ่านธนาคาร หรือ Telegraph Transfer (TT) ซึ่งจะช่วยฟื้นตลาดส่งออกทองคำ

    “ผู้ค้าไม่ต้องเผชิญอุปสรรคในการส่งออกทองคำอีกต่อไป และกำลังเตรียมส่งออก ธุรกิจช่างทองก็กลับมาเปิดดำเนินการเช่นกัน ตัวแทนด้านการขนส่งก็เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการส่งออก”

    อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ดอลลาร์ ยังต้องโอนเงินผ่าน เลตเตอร์ออฟเครดิต (LC) เท่านั้น ผู้ที่ต้องการส่งออกทองคำสามารถสอบถามขั้นตอนได้ที่ศูนย์บริการครบวงจร หรือสอบถามสมาคม ได้ในบางประเด็น

    กระทรวงพาณิชย์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ว่าธุรกรรมการส่งออกและนำเข้าทองคำสามารถทำได้ผ่านระบบ LC เท่านั้น

    เมียนมาถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสีเทาโดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่กำหนดมาตรฐานการต่อต้านการฟอกเงิน ดังนั้นเมียนมาต้องติดตามการส่งออกและนำเข้าทองคำและเครื่องประดับเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรายได้ที่ผิดกฎหมาย กรมการค้าได้ออกประกาศเปลี่ยน วิธีการชำระเงินเป็น LC

    การชำระเงินโดยใช้ LC อาจใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ผู้ใช้บริการทั้งสองฝ่ายจึงมีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการธนาคาร และค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยในการขนส่งสูงขึ้น ส่งผลให้ การซื้อขายทองคำในตลาดต่างประเทศหยุดชะงัก เนื่องจากราคาที่ผันผวน ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ได้มีการอนุญาตให้ใช้ระบบ TT สำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์ในการส่งออกทองคำ ธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่านั้นอนุญาตให้ใช้ LC เท่านั้น

    ทองและเครื่องประดับอื่นๆ ส่วนใหญ่ซื้อโดยญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี และมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆบ้าง

    สิงคโปร์ติดอันดับ 3 จุดหมายปลายทางลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก

    ที่มา:https://www.businesstimes.com.sg/real-estate/singapore-is-third-most-preferred-destination-in-apac-for-cross-border-real-estate

    สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น จุดหมายปลายทางที่ต้องการมากที่สุดเป็นอันดับ 3สำหรับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ข้ามพรมแดนในเอเชียแปซิฟิกในปี 2565 จากการสำรวจนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งล่าสุดของ CBRE

    โตเกียวครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันโดยเซี่ยงไฮ้มาเป็นอันดับสอง

    การสำรวจซึ่งครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท พบว่า 60% ของนักลงทุนตั้งใจที่จะเข้าซื้อกิจการในปีนี้มากกว่าในปี 2564 นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียแสดงออกถึงความต้องการซื้อมากที่สุด

    “ด้วยความต้องการโดยรวมของนักลงทุนที่คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง เราคาดการณ์ว่าปี 2565 จะเป็นปีแห่งการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ทั่วทั้งภูมิภาค”เกร็ก ไฮแลนด์ ผู้บริหารฝ่ายตลาดทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ CBRE กล่าว

    CBRE คาดการณ์ว่า มูลค่าการซื้อขายของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้น 5 -10% เป็นประมาณ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565

    ข้อมูลของ CBRE ยังชี้ว่า ค่าเช่าสำนักงานเติบโตแข็งแกร่ง เพราะสิงคโปร์ยังคงดึงดูดนักลงทุนจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และนอกเอเชียแปซิฟิก

    สิงคโปร์มีการเข้าซื้อกิจการหลายระลอก โดยผู้จัดการกองทุนระหว่างประเทศ เพราะคาดว่าจะมี “ค่าเช่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อุปทานใหม่จำกัด และความต้องการเช่าซื้อที่แข็งแกร่งจากบริษัทเทคโนโลยี” รายงานระบุ