ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 สิงหาคม-5 กันยายน 2563
เวียดนามเตรียมเปิดบินในเอเชีย 6 ประเทศ 15 ก.ย.

สำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งเวียดนาม(Civil Aviation Administration of Vietnam:CAAV) ของเวียดนามได้จัดทำแผนรายละเอียดสำหรับการกลับมาเปิดบินเชิงพาณิชย์ไปยังจุดหมายปลายทางบางแห่งใน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนนี้
ดิ่นห์ เวียด ทัง หัวหน้าสำนักงาน CAAV กล่าวว่าก ระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะส่งแผนไปยังคณะกรรมการกำกับดูแลการป้องกันและควบคุมโควิด -19 แห่งชาติเพื่อขอให้มีการเปิดเส้นทางเที่ยวบินอีกครั้ง ไปกวางโจว โซล โตเกียว ไทเป กัมพูชา และลาว
เมื่อเริ่มให้บริการในวันที่ 15 กันยายนผู้โดยสารต่างชาติทั้งหมดจะถูกกักกันเมื่อเดินทางมาถึง คาดว่าจะมีผู้คนราว 5,000 คนบินเข้าฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ทุกสัปดาห์
ในแผนจะมีการบินสองครั้งต่อสัปดาห์ในเส้นทางโฮจิมินห์ซิตี้-กวางโจว ในจีน โดยที่เวียดนามแอร์ไลน์ หรือ แปซิฟิก แอร์ไลน์ จะทำการบินหนึ่งเที่ยวและเที่ยวเหลือสายการบินสัญชาติจีนจะทำการบิน
นอกจากนี้จะมีเที่ยวบินสองเที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเส้นทางฮานอย – โตเกียวและโฮจิมินห์ซิตี้ – โตเกียวอีกสองเที่ยวบิน โดยเวียดนามแอร์ไลน์และเวียตเจ็ทแอร์ได้รับการจัดสรรให้หนึ่งเที่ยวบินต่อเส้นทาง
ในเส้นทางเกาหลีใต้ เวียดนามแอร์ไลน์ จะบินไปโซลจากฮานอยและเวียตเจ็ทแอร์จจะบินจากโฮจิมินห์ซิตี้ ทั้งสองสายการบินจะทำการบินหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
เวียดนามแอร์ไลน์มีกำหนดบินในเส้นทาง โฮจิมินห์ซิตี้ – ไทเป (ไต้หวัน) และเวียตเจ็ทแอร์ในเส้นทางฮานอย – ไทเป
เส้นทางบินไปยังลาวและกัมพูชา CAAV ได้เสนอเที่ยวบินหนึ่งเที่ยวต่อสัปดาห์โดย เวียดนามแอร์ไลน์
ตามข้อเสนอของ CAAV ผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงเวียดนามจะต้องพำนักในจุดหมายปลายทางในเอเชียเหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันก่อนขึ้นเครื่องมาเวียดนาม และไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องเดินทางเข้า
ผู้โดยสารจะต้องส่งใบรับรองที่แสดงว่าได้รับการทดสอบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นลบภายในสามวันก่อนออกเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงพวกเขาจะได้รับการทดสอบโควิด-19 แบบรวดเร็ว โดยมีค่าใช้จ่ายที่สายการบินรับผิดชอบ แต่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการกักกันด้วยตัวเอง
CAAV ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศข้อกำหนดการกักกันผู้โดยสารเมื่อเดินทางเข้ามาและเผยแพร่รายการห้องปฏิบัติการ PCR แบบเรียลไทม์ในประเทศสำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติเนื่องจากอาจต้องมีใบรับรองการทดสอบ Covid-19 ก่อนเดินทางออกจากเวียดนาม
เวียดนามระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดในวันที่ 25 มีนาคม ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางเข้าเวียดนามเนื่องจากข้อจำกัด ในการเดินทาง ได้ขอให้รัฐบาลเปิดพรมแดนอีกครั้ง และเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง
จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามและส่งนักท่องเที่ยวไปยังเวียดนามมากที่สุด
มาเลเซียประกาศห้ามพลเมือง 12 ประเทศเข้า

รัฐมนตรีอาวุโสกล่าวว่า ประเทศที่อยู่ในรายชื่อ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี ซาอุดีอาระเบีย รัสเซียและบังกลาเทศ รวมถึงประเทศที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“เราจะเพิ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 150,000 ราย เข้ามาในรายชื่อ พลเมืองของพวกเขาจะถูกกันออกไปไม่ให้เข้ามาเลเซีย”
“อย่างไรก็ตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทวิภาคี เช่น หากบุคคลใดจำเป็นต้องมาประชุมระหว่างประเทศ เราจะอนุญาตให้เข้าได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” ดาโต๊ะ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิเศษ
ดาโต๊ะ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด -19 มากกว่า 150,000 รายในภายหลัง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ดาโต๊ะ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ได้ประกาศห้ามผู้ถือบัตรระยะยาวจากอินเดีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศเหล่านั้น
ข้อห้ามดังกล่าวครอบคลุมกับผู้ถือบัตร 6 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่มีสถานะผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร (PR) ผู้เข้าร่วมโครงการ Malaysia My Second Home Program (MM2H) พนักงานบริษัทต่างชาติ รวมถึง ผู้ถือบัตรผ่านแบบ professional visit pass (PVP) และผู้ถือบัตร resident pass
ทางการยังห้ามไม่ให้คู่สมรสของชาวมาเลเซียและลูก ๆ รวมทั้งนักเรียนจากสามประเทศที่ต้องการเดินทางกลับมาเลเซียเข้าประเทศ
ในขณะเดียวกันดาโต๊ะ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาที่จะอนุญาตให้ชาวมาเลเซียจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกลับบ้านได้ แต่พวกเขาจะต้องถูกกักบริเวณ 14 วันตามที่ระบุไว้ในขั้นตอนปฏิบัติการมาตรฐาน (SOP)
ดาโต๊ะ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบกล่าวว่า มาตรการนี้จะมีผลไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนยังคงยึดมั่นใน SOP เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด -19
อินโดนีเซียผ่อนปรนกฎปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า

อินโดนีเซียได้ ผ่อนปรนกฎการปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสินเชื่อธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการผลิตเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจนี้ สำนักงานบริการทางการเงิน (OJK) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบุ
ในแถลงการณ์ OJK ระบุว่า ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการประเมินสินเชื่อและการคำนวณความเสี่ยงสำหรับการกู้ยืมเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า เงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จอาจได้รับการยกเว้นจากการจำกัดวงเงินที่ OJK กำหนด
การดำเนินการของ OJK เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศปี 2019 ของรัฐบาลที่มุ่งเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
อินโดนีเซียมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานนิกเกิลเต็มรูปแบบ โดยเริ่มตั้งแต่การขุดแร่สกัดสารเคมีนิกเกิลที่ใช้ในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ในปีนี้อินโดนีเซียหยุดการส่งออกแร่นิกเกิลที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ เพื่อให้แน่ใจว่าอุปทานนิกเกิลจะผ่านกระบวนการภายในประเทศรวมถึงโรงงานผลิตสารเคมีสำหรับแบตเตอรี่ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ธนาคารกลางยังยกเลิกข้อกำหนดการวางเงินดาวน์ สำหรับการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ให้กู้ที่มีระดับอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ต่ำ ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดเพื่อกระตุ้นการบริโภค
อินโดนีเซียจะได้เห็นการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากเนื่องจาก คำสั่งประธานาธิบดีฉบับที่ 55/2019ซึ่งกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความปลอดภัย รวมทั้งคุณภาพอากาศที่สะอาด
ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายใหม่ อินโดนีเซียคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่ง 20% ของตลาดรถยนต์ภายในปี 2025
ในขณะที่คำสั่งให้การสนับสนุนผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลาที่จำกัด แต่สิ่งจูงใจจำนวนมากที่มีให้นั้น มุ่งเป้าไปที่รถยนต์ที่ผลิตจากส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ และที่ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการรีไซเคิลขยะแบตเตอรี่ ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จ และ บริษัทที่เร่งการพัฒนาคโรงสร้างพื้นฐานอื่นๆสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ในแง่ของส่วนประกอบในประเทศ รถยนต์ไฟฟ้าสองล้อต้องมีชิ้นส่วนที่ผลิตในอินโดนีเซียอย่างน้อย 40% จึงจะมีคุณสมบัติได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป และอย่างน้อย 80% จากปี 2026 รถยนต์สี่ล้อจะต้องผลิตในอินโดนีเซียอย่างน้อย 35% ภายในปี 2021 และ 80 % ภายในปี 2030
เมียนมาเตรียมนำเข้าไก่เนื้อจากไทยกว่า 3 ล้านตัว

เมียนมาตั้งเป้าหมายที่จะนำเข้าไก่เนื้อจากไทยจำนวน 3.79 ล้านตัวในเดือนกันยายน เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ แต่การนำเข้านี้เป็นโครงการชั่วคราวแบบรายเดือน ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน จากการเปิดเผยของสมาพันธ์ปศุสัตว์ (Myanmar Livestock Federation:MLF)
การระบาดของไวรัสโคโรนาในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้ผู้เลี้ยงไก่เนื้อในประเทศได้ลดการเลี้ยงไก่ลงเนื่องจากความต้องการลดลง แต่การระบาดของโควิด -19 ไม่ได้เลวร้ายและธุรกิจไก่เนื้อกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
“ดังนั้นเราจึงมีความต้องการของตลาดและเรากำลังวางแผนที่จะนำเข้าไก่เนื้อจากประเทศไทย” ดร. เนย์ ทูริน รองประธาน MLF กล่าว
เมียนมาจะนำเข้าไก่เนื้อ 1.7 ล้านตัวเป็นครั้งที่สามจากไทยในเวลาหนึ่งเดือนครึ่งตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมถึง 30 กันยายน
“มีการนำเข้าไก่เนื้อทั่วประเทศ เมียนมานำเข้าไก่เนื้อ 920,000 ตัวระหว่างวันที่ 15 มิถุนายนถึง 15 กรกฎาคมเป็นครั้งแรกและไก่เนื้อ 1.8 ล้านตัวระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคมถึง 15 สิงหาคมเป็นครั้งที่สอง ขณะนี้ตั้งเป้าหมายที่จะนำเข้าลูกไก่ 1.7 ล้านตัวเป็นครั้งที่สามตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมถึง 30 กันยายน”
“จากนี้ไปจะมีปริมาณไก่เนื้อในประเทศเพียงพอ ก่อนหน้านั้นเราต้องนำเข้าจากประเทศอื่น”
ไก่เนื้อถูกนำเข้าจากประเทศไทยผ่านพื้นที่ชายแดนเนื่องจากสายการบินหยุดให้บริการชั่วคราว ในเดือนมิถุนายนราคาไก่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 จ๊าด ต่อ viss(1.65 กิโลกรัม)จาก 4,000 จ๊าดต่อ viss ปัจจบันไก่ขายได้เพียง 2,700 จ๊าดต่อviss ในตลาดย่างกุ้งและ 3,100 จ๊าดต่อviss viss ในตลาดมัณฑะเลย์ ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2,800 จ๊าดต่อ viss
การเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าไก่ในตลาดย่างกุ้งทำให้ราคาไก่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เมียนมาจะลดปริมาณการนำเข้าลูกไก่จากไทยหลังจากเพิ่มผลผลิตไก่ในประเทศแล้ว ลูกไก่เนื้อราคาประมาณ 700 จ๊าดต่อไก่หนึ่งตัว ปัจจุบันมีฟาร์มสัตว์ปีกในเขตย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ลูกไก่ยังกระจายไปยังฟาร์มสัตว์ปีกอื่น ๆ ในรัฐและภูมิภาคอื่น ๆ หลังจากนั้นาตู้ฟักไข่ในท้องถิ่นจะสามารถผลิตได้เกือบ 100% เพื่อตอบสนองความต้องการไก่ในท้องถิ่น
เมียนมาผลิตไก่ได้ 18 ล้านตัวต่อเดือนส่วนใหญ่มาจากย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
Facebook ร่วมกับ MRC สร้างระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม-ภัยแล้งในแม่นํ้าโขง

วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เฟซบุ๊กและ สํานักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (MRC) ในวันนี้ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มความร่วมมือเพื่อแจ้งเตือนภัยนํ้าท่วมล่วงหน้าและข้อมูลการติดตามภัยแล้งแก่ชุมชนและรัฐบาลในภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงตอนล่าง
ความร่วมมือครั้งแรกในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนทั่วไปใน 4 ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ได้แก่ กัมพูชา, สปป. ลาว, ไทยและเวียดนาม เกี่ยวกับระบบข้อมูลนํ้าท่วมและภัยแล้งของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงและเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการใช้ระบบดิจิทัลออนไลน์ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564
“ที่ Facebook เรามองหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการพัฒนาในภูมิภาคนี้อยู่เสมอ ด้วยชุดเครื่องมือที่สนับสนุนชุมชนในการเตรียมรับมือ, ตอบสนองและฟื้นฟูจากภัยพิบัติรวมถึงสร้างความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เหล่านี้เรายินดีที่จะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง เพื่อให้ผู้คนนับล้านในภูมิภาคนี้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัยและภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้พวกเขาเตรียมรับมือกับวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น” Shanti Alexander, Asia-Pacific Community Affairs Manager ของ Facebook กล่าว
ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจ, ความยากจนและภัยพิบัติในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้เห็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นถึง 250% ในภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงระหว่างปีพ.ศ. 2541-2560 ประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดโดยมีความสูญเสียอยู่ที่ประมาณ 52,400 ล้านดอลลาร์
คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงคาดการณ์ว่า แม้ว่านํ้าท่วมตามฤดูกาลจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายแก่ภูมิภาค แต่ค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อปี ของนํ้าท่วมในลุ่มนํ้าโขงตอนล่างนี้อยู่ที่ประมาณ 60-70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพียงแค่เฉพาะกัมพูชาและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึงโดยประมาณ 2 ใน 3 ของความเสียหายจากนํ้าท่วมทั้งปีของภูมิภาคแม่นํ้าโขง
การศึกษาล่าสุดของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ยังแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ภัยแล้งในลุ่มนํ้าโขงตอนล่างมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาและแนวโน้มนี้จะยังคงดําเนินต่อไป ลุ่มนํ้านี้ยังเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มเติมซึ่งรวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้จะสูงขึ้นประมาณ 0.8 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 2573
“เราเล็งเห็นความสําคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลระดับนํ้าที่รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือแก่ประเทศและชุมชนในลุ่มนํ้าโขงที่ประสบกับอุทกภัยและภัยแล้งรวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้พวกเขาดําเนินการได้ทันเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงและเตรียมการรับมือได้มีประสิทธิภาพ ” ดร. Anoulak Kittikhoun, MRCS Chief Strategy and Partnership Officer ของสํานักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงกล่าว
MRC ได้ติดตั้งสถานีอุทกวิทยา 22 แห่งตามร่องนํ้าหลักของแม่นํ้าโขงในส่วนของลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่าง เพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลระดับนํ้าในแม่นํ้าและปริมาณนํ้าฝน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกป้อนเข้าสู่ระบบพยากรณ์นํ้าท่วมและภัยแล้งในแม่นํ้าโขง ระบบนี้จะให้ข้อมูลระดับนํ้าในแม่นํ้าในแต่ละวันรวมถึงการแจ้งเตือนนํ้าท่วมและการพยากรณ์ภัยแล้งตลอดทั้งปีแก่สาธารณะและรัฐบาล ระบบนี้จะอธิบายผ่านวิดีโอภาพเคลื่อนไหว 3 มิติซึ่งจะแชร์บนแพลตฟอร์มของ Facebook เพื่อเข้าถึงชุมชนทั่วทั้งภูมิภาค
นอกจากนี้ Facebook จะฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงทั้งสี่ประเทศเกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะรวมถึงการฝึ กอบรมเกี่ยวกับแผนที่แสดงความหนาแน่นประชากรของ Facebook ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เทคนิคแสดงภาพทางคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยในการรวมชุดข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและในเชิงพาณิชย์เข้ากับความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Facebook แผนที่นี้มีรายละเอียดมากกว่าแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ถึงสามเท่า
คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล สําหรับการเจรจาและความร่วมมือระดับภูมิภาคในลุ่มนํ้าโขงตอนล่าง โดยก่อตั้งในปี พ.ศ. 2538 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่นํ้าโขงอย่างยังยืนระหว่างประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม องค์การทําหน้าที่เป็นช่องทางการทูตเรื่องนํ้าและเป็นศูนย์กลางความรู้ทางการบริหารจัดการนํ้า เพื่อการพัฒนาที่ยังยืนในภูมิภาค
Facebook ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 พันธกิจของ Facebook คือการให้พลังแก่ผู้คนในการสร้างชุมชนและทําให้โลกมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ผู้คนใช้แอปและเทคโนโลยีของ Facebook เพื่อเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัวค้นหาชุมชนและขยายธุรกิจ
7-Eleven รุกตลาดลาว

ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ 7-Eleven แห่งแรกในลาวคาดว่าจะเปิดให้บริการในเมืองหลวงเวียงจันทน์
นอกจากในประเทศลาวแล้ว ซีพีออลล์ยังถือสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการร้าน 7-Eleven ในสองประเทศเอเชียที่อยู่ติดกัน ซีพีออลล์มีข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปีและได้ลงนามในสัญญามาสเตอร์แฟรนไชส์สำหรับกัมพูชาเมื่อต้นปีนี้
“ ด้วยความสำเร็จที่น่าทึ่งในประเทศไทยผมคิดว่าไม่มีใครดีไปกว่า ซีพีออลล์ ที่จะนำแบรนด์ 7-Eleven ไปสู่ผู้บริโภคในลาว” โจ เดอปินโตประธานและซีอีโอของ 7-Eleven กล่าว “ ความสัมพันธ์นี้จะนำมาซึ่งงานและโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค”
ภายใต้มาสเตอร์แฟรนไชส์มีแผนที่จะสร้างร้านค้า ปรับสภาพแวดล้อมการค้าปลีกขนาดเล็กให้ทันสมัย และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ค้าปลีกสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มขนมขบเคี้ยวและอาหารสดที่ได้รับความนิยมในระดับสากล พร้อมสูตรอาหารที่พัฒนาขึ้นเพื่อรสนิยมในภูมิภาคจะเป็นส่วนหนึ่งของความสะดวกสบายสำหรับนักช้อปชาวลาว
ในปี 1988 ซีพีออลล์ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยภายใต้สัญญาอนุญาตเฉพาะกับ 7-Eleven Inc. ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยแห่งแรกเปิดให้บริการในกรุงเทพฯในปี 1989 และปัจจุบันซีพีออลล์มีสาขามากกว่า 12,000 แห่งในประเทศ สูงมากเป็นอนดับสองในโลกรองจากญี่ปุ่น
ซีพีออลล์ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยมากว่า 30 ปีและแบรนด์ดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นจุดหมายปลายทางแบบครบวงจร สำหรับเครื่องดื่มของว่างอาหารพร้อมรับประทาน บริการทางการเงิน เช่น การชำระเงินทางธนาคารและการจ่ายบิล เทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดส่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ บริษัทมีแผนที่จะนำมาบริกรารแก่ลูกค้าชาวลาว
ลาวจะเป็นประเทศที่ 20 ที่ร้าน 7-Eleven เปิดดำเนินการหรือจะเปิดดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับประเทศและหรือภูมิภาคอื่นๆที่ 7-11 เข้าไปดำเนินการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน (รวมถึงฮ่องกง) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก อินเดีย และกัมพูชา
เซเว่นอีเลฟเว่นตั้งอยู่ในเออร์วิง รัฐเท็กซัส ปัจจุบันดำเนินธุรกิจผ่านแฟรนไชส์และ/หรือใบอนุญาตมากกว่า 71,100 ร้านใน 17 ประเทศรวมถึง 11,800 แห่งในอเมริกาเหนือ