ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” เอาเงินจากไหน กู้วิกฤติโควิด-19 (จบ) : คลังทุ่มสุดตัว ปลดล็อกวินัยการคลัง ฝ่าวิกฤติไวรัส

“ประยุทธ์” เอาเงินจากไหน กู้วิกฤติโควิด-19 (จบ) : คลังทุ่มสุดตัว ปลดล็อกวินัยการคลัง ฝ่าวิกฤติไวรัส

10 เมษายน 2020


ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รมต.คลังตอบทุกคำถามเอาเงินจากไหน กู้วิกฤติโควิด-19 เอาไปใช้จ่ายอะไร กระทบความยั่งยืนทางการคลังหรือไม่ อย่างไร

ท่ามกลางความยากลำบากของวิกฤติซ้อนวิกฤติของประเทศไทยทั้งปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ ภัยแล้งที่หนักหนาสาหัส และภัยโรคระบาดไวรัสโคโรน่า-19

ต้องใช้เงินเพื่อป้องกัน ต้องใช้เงินเพื่อเยียวยา ต้องใช้เงินเพื่อการฟื้นฟู

นับเป็นความยากลำบากยิ่ง

งบประมาณแผ่นดินไม่ได้จัดมารับมือโรคระบาดอย่างรุนแรงนี้ งบกลางสำหรับกรณีใช้จ่ายเพื่อฉุกเฉินและจำเป็นมีไม่เพียงพอ

รัฐบาลจึงต้องรื้องบใหม่เพื่อโยกเงินมาใช้เพื่อการนี้ แต่ก็ไม่เพียงพอ

การออกพ.ร.ก.กู้เงินจึงจำเป็น เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ที่ทั่วโลกล้วนเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

ต่อจากตอนที่แล้ว รัฐบาลเอาเงินจากไหน กู้วิกฤติโควิด-19 ก้อนแรกใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 96,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) อนุมัติงบกลาง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 และภัยแล้งเกือบ 88,672 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบอย่างกว้าง จึงมองหาเงินก้อนที่ 2 สำนักงบประมาณ เสนอมาตรการปรับลดงบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน หรือที่เรียกว่า “งบฯ ค้างท่อ” ให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติ โดยขอทุกหน่วยงานปรับลดงบฯ ค้างท่อที่ปราศจากภาระผูกพันใดลง 10% โอนมาใส่ไว้ในงบกลาง เพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิด-19 ฯ

วันที่ 3 เมษายน 2563 สำนักงบประมาณ ทำรายงานสรุปผลการดำเนินมาตรการด้านงบประมาณเสนอ ครม. ว่ามีหน่วยงานของรัฐ 419 แห่ง เหลืองบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันเป็นวงเงิน 644,181 ล้านบาท เสนอแผนปรับลดงบฯ ตามนโยบายของรัฐบาลมาให้สำนักงบฯ พิจารณา 158 หน่วยงาน เหลืองบฯ ค้างท่อ 8,456 ล้านบาท สำนักงบฯ พิจารณาแล้วเอาไปใช้แก้โควิด-19 และภัยแล้งได้แค่ 3,727 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.58% ของงบฯ ค้างท่อที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพันทั้งหมด

  • ตามหางบฯ ฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด-19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท
  • เงินภาษีเรา เขาเอาไปทำอะไร “งบกลาง” ค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาท
  • “ประยุทธ์” จะเอาเงินจากไหนกู้วิกฤติโควิด-19 -ภัยแล้ง (1): เปิดก๊อกโยกงบฯ ค้างท่อ 6.4 แสนล้าน
  • นายกฯ สั่งยกร่าง พ.ร.บ. โยกงบฯ ค้างท่อแสนล้าน โปะงบกลาง-มติ ครม. จัดเยียวยาโควิด-19 ฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน
  • ล่าสุด ที่ประชุม ครม. วันที่ 7 เมษายน 2563 ก็มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ เพื่อถ่ายโอนเงินงบประมาณปี 2563 ที่ยังเหลืออยู่มาใช้ในการกู้วิกฤติโควิด-19 และภัยแล้ง สรุปที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้มีมติอนุมัติหลักการ หรือ ผ่านร่างกฎหมายจัดหาแหล่งเงินมาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ทั้งหมด 4 ฉบับ คือ

    • ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. หรือ “ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน” วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท
    • ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา พ.ศ. …. หรือ “ร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน” วงเงิน 500,000 ล้านบาท
    • ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. หรือ “ร่าง พ.ร.ก. BSF” วงเงิน 400,000 ล้านบาท
    • ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. วงเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท

    พิษโควิด-19 ฯ คลังหวั่นเก็บภาษีหลุดเป้า

    ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายถึงเหตุที่ต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินว่า เนื่องจากวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เหลืออยู่กว่า 200,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังเก็บเอาไว้ดูแลในกรณีที่งบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมาก เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ก็มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่พอสมควร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาระดับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเอาไว้ ก่อนที่กระทรวงการคลังจะยกร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน ก็มีการพิจารณาแนวทางนี้เอาไว้แล้ว แต่เพราะความไม่แน่นอนในเรื่องการจัดเก็บรายได้ จึงต้องสำรองวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเอาไว้ก่อน

    “มาตรการเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ความจริงมันก็คือวงเงินงบประมาณรายจ่ายประเภทหนึ่ง ปกติจะมีแหล่งที่มาจากการจัดเก็บรายได้ ถ้ารายได้ไม่พอก็ใช้วิธีกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล แต่ครั้งนี้เกิดภาวะไม่ปกติ แหล่งที่มาของรายได้ จึงต้องใช้วิธีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 900,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ไม่ได้กู้เงิน” ดร.อุตตมกล่าว

    สำหรับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เริ่มจัดทำกันตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 อยู่ภายใต้สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัว 3-4% โดยมีภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมีการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยสนับสนุน ปรากฎว่าในช่วงปลายปี 2562 เริ่มเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยมียอดผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและคมนาคม ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง จนต้องปิดประเทศและสถานประกอบการ คนว่างงานเป็นจำนวนมาก ช่วงต้นปี 2563 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ลงเหลือ -5.3% ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลด GDP ลงมาเหลือ -5.6% และ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลด GDP เหลือ -6.8%

    จากการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจออกมาปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างรุนแรง เนื่องจากในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 กำหนดวงเงินไว้ที่ 3,200,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีรายได้ 2,731,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐาน GDP โต 3-4% แหล่งรายได้ที่เหลือใช้วิธีการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล 469,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ทำให้กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงกว่าที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ ซึ่งตามกฎหมายหนี้สาธารณะและกฎหมายงบประมาณ เฉพาะในปีนี้กำหนดเพดานการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงสุดไม่เกิน 711,336 ล้านบาท

    คาดปี’64 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี 57%

    คำถามถัดมา การที่รัฐบาลกู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี ตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร

    ดร.อุตตมกล่าวว่า ประเด็นนี้กระทรวงการคลังได้มีคำนวณไว้เหมือนกัน โดยใช้ประมาณการจีดีพีของ ธปท. ล่าสุด -5.3% คาดว่าในปี 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณต่อจีดีพีของไทยจะขึ้นไปสูงถึง 57%

    คำถามถัดมา หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นสูงเกือบชนเพดานตามกฎหมาย กระทรวงการคลังจะเหลือความยืดหยุ่นในการดำเนินโยบายการคลังได้น้อยแค่ไหน หากผลกระทบของโควิด-19 ยืดเยื้อออกไปอีก

    ดร.อุตตมกล่าวว่า เป็นประเด็นความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังนั้น เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปหารือร่วมกัน หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกรอบวินัยการเงินการคลัง ให้ทั้ง 2 หน่วยงานทำเรื่องเสนอคณะคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาปรับปรุงแก้ไขได้เป็นการชั่วคราว

    “ขอย้ำว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เหตุผลก็คือ การรักษาสัดส่วนต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ถูกกำหนดขึ้นมาในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจปกติ แต่ตอนนี้ไม่ปกติ มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณพิเศษมาดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและประชาชน การดำเนินนโยบายการคลังในช่วงวิกฤติต้องมีความยืดหยุ่น จึงควรมีการทบทวนตัวเลข หรือ สัดส่วนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกรอบวินัยการเงินการคลังให้สอดรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ปรับเท่าไหร่อย่างไร ก็ต้องไปทำการศึกษา” ดร.อุตตมกล่าว

    นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

    สบน. เตรียมจัดคิวกู้เงินลอตใหญ่กว่า 1 ล้านล้าน

    ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวเสริมว่า สำหรับประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 57% นั้น ทาง สบน. ใช้ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศ ปี 2563 คาดว่าจะติดลบ 5.3% ต่อปี ส่วนปี 2564 ขยายตัว 3% ต่อปี หากสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อไหร่ ทาง สบน. จะมีการทบทวนตัวเลขใหม่ทั้งหมด ส่วนตัวเลขที่กำหนดไว้ในกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมาย เฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้ นอกจากเรื่องการกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณต่อจีดีพีไม่เกิน 60% แล้ว ก็ยังมีการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ในแต่ละปี ต้องไม่เกิน 35% ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 21.20% ส่วนสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ กำหนดไว้ไม่เกิน 10% หากมีการเบิกจ่ายเงินกู้จนครบ 1,000,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 คาดการณ์ว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณจะอยู่ที่ 7.4% เท่านั้น

    ถามต่อว่า การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอีก 465,000 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินจนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “crowding-out effects” หรือไม่ อย่างไร

    นางแพตริเซียกล่าวว่า ในส่วนของแบงก์ชาติไม่ได้มีการออกพันธบัตรมากู้เงินแต่อย่างใด แต่จะมีเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังเท่านั้นที่ต้องออกพันธบัตรมากู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท ตอนนี้ สบน. ก็มีเครื่องมือที่จะใช้กู้เงินอยู่หลายประเภท แต่การกู้เงินแต่ละครั้งต้องดูที่จังหวะเวลาประกอบด้วย เช่น ช่วงเวลานี้ควรออกพันธบัตรรัฐบาลมากกว่าที่จะไปกู้เงินในระยะสั้น หรือบางช่วงอาจจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ลอตใหญ่มาขายให้กับประชาชน

    ADB เสนอแพจเกจแก้โควิด-19 ดอกเบี้ยพิเศษ

    นางแพตริเซียกล่าวต่อว่าการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินครั้งนี้ เปิดกว้างให้ สบน. สามารถกู้เงินเป็นสกุลเงินบาท หรือ สกุลเงินต่างประเทศก็ได้ ตอนนี้ตลาดการเงินภายในประเทศมีความผันผวนมาก ทาง สบน. จึงต้องทำการศึกษาไว้ทุกแนวทาง แต่นโยบายของรัฐบาลให้กู้เงินภายในประเทศก่อน ยกเว้นกรณีที่มีองค์กรการเงินระหว่างประเทศเสนอแพกเกจการให้กู้ยืมเงิน เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมาก และที่ สบน. กำลังเจรจาอยู่ในตอนนี้ก็มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

    ส่วนที่ถามว่าการกู้ยืมเงิน 1,000,000 ล้านบาทจะกู้วิธีไหน อย่างไรนั้น นางแพตริเซียกล่าวว่า คงต้องขอดูจังหวะเวลา แต่ละโครงการมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินกู้มาน้อยแค่ไหน และต้องดูสภาพตลาดการเงินด้วย ถ้าถามตอนนี้ยังบอกชัดเจนไม่ได้ว่าจะออกพันธบัตร หรือ ใช้เครื่องมืออะไรมากู้เงิน ระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งทาง สบน. กำลังจัดทำแผนการกู้เงินกันอยู่ ต้องวางแผนให้ดีไม่ทับซ้อนกัน เช่น ช่วงระยะเวลาไหนควรออกพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ช่วงไหนควรกู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท และยังต้องวางแผนออกพันธบัตรมาทดแทนพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน หรือ rollover ด้วย มันต้องไม่ทับซ้อนกัน หากจำเป็นต้องใช้เครื่องมือระยะสั้นแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า เราก็ใช้เครื่องมือระยะสั้นได้

    ถามว่า พ.ร.ก.กู้เงินฯ ได้กำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายเงินเอาไว้หรือไม่ อย่างไร ดร.อุตตมกล่าวว่า กำหนดเอาไว้เฉพาะในส่วนของเงินกู้ โดยรัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2564 พ้นจากนี้ไปก็กู้ไม่ได้แล้ว ส่วนการใช้จ่ายเงิน ก็ทยอยเบิกจ่ายได้ตามความเหมาะสม แต่ถ้าโครงการไหนได้รับการจัดสรรวงเงินกู้และผ่านการอนุมัติจาก ครม. เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้วงเงินกู้ต่อไปได้ แต่การกู้เงินทำได้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2564

    ชง พ.ร.บ.โยกงบฯ แสนล้านเข้าสภาอนุมัติเดือน มิ.ย. นี้

    ส่วนเรื่องการปรับลดงบประมาณปี 2563 เพื่อนำเงินมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 และภัยแล้งนั้น ดร.อุตตมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอไปแล้ว โดยให้หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ พิจารณาปรับลดวงเงินงบประมาณที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน เพื่อที่จะโอนมาใช้ในการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 คาดว่าจะได้เงินประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงบฯ จะนำเสนอที่ประชุม ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2563

    “นี่ก็คืออีกเหตุผลที่ว่า ทำไมกระทรวงการคลัง ต้องเร่งออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพราะถ้ารอ พ.ร.บ.โยกงบฯ กว่าจะมีผลบังคับต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งที่ผ่านมาทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบฯ พยายามเกลี่ยงบประมาณปี 2563 มาใช้อย่างเต็มที่แล้ว แต่มันไม่ทันกาล เพราะต้องแข่งกับเวลา ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ก็ต้องทบทวนกันใหม่ เพราะในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณนั้น ไม่มีผลกระทบเรื่องโควิด-19 เข้ามา แต่ตอนนี้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจริง งบฯ ปี 2564 กว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ก็วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และนี่ก็คือเหตุผลความเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท ทาง สบน. และกระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว รวมถึงรัฐธรรมนูญ ก็อนุญาตให้ทำได้เฉพาะที่เกิดภาวะวิกฤติ” ดร.อุตตมกล่าว

    “แรงงานนอกระบบ-อาชีพอิสระ” เฮ! รับเยียวยาคนละ 30,000 บาท

    ถามว่าจะเอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ดร.อุตตมกล่าวว่า การกู้เงิน 1,000,000 ล้านบาทครั้งนี้ จะนำไปใช้ตามแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวงเงินรวม 600,000 ล้านบาท และใช้จ่ายเงินตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาท ในส่วนของการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก็จะขยายเป็น 6 เดือน รวมคนละ 30,000 บาท ส่วนนี้จะดูแลกลุ่มแรงงานนอกระบบและกลุ่มอาชีพอิสระ ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีประมาณ 8-9 ล้านครัวเรือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ความช่วยเหลือเป็นวงเงินเท่าไหร่ อย่างไร

    ส่วนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาทนั่น ดร.อุตตมกล่าวว่า จะเน้นให้การสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า เศรษฐกิจหยุดชะงักมีคนตกงานจำนวนมาก ได้เดินทางกลับบ้าน เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว โอกาสที่จะกลับเข้ามาทำงานใหม่ คาดว่าไม่ถึง 100% แน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว วันนี้รัฐบาลจึงต้องพยายามคิดโครงการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เอาไว้รองรับ โครงการที่จะนำเสนอมีหลายระดับ ทั้งเสนอจากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง เช่น คนในพื้นที่เสนอผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งให้กระทรวงที่กำกับดูแลโครงการ เสนอมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาก่อนที่จะส่งต่อให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ ทุกโครงการจะมีการกำหนดเป้าหมาย และประเมินผลชัดเจน การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้

    สุดท้าย พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ จะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ดร.อุตตมกล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปแล้ว และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำ และนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้งก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่ากระบวนการของกฎหมายจะเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563 และเริ่มกู้เงินได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป