ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม” ชี้ศึกชิงเก้าอี้ ผว.กทม. พรรคใครพรรคมัน – ครม.อนุมัติ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 แจกฟรีอีก 3,000 ล้านบาท

“บิ๊กป้อม” ชี้ศึกชิงเก้าอี้ ผว.กทม. พรรคใครพรรคมัน – ครม.อนุมัติ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 แจกฟรีอีก 3,000 ล้านบาท

22 ตุลาคม 2019


พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดภาระกิจเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น

ชี้ศึกชิง ผู้ว่ากทม. พรรคใครพรรคมัน

พล.อ. ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.โดยระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ภายในประเทศมีความสงบเรียบร้อยดี ในส่วนของความมั่นคงนั้นไม่มีอะไร มีม็อบเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องถามทางกระทรวงมหาดไทยซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไร และในส่วนของพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้มีการพิจารณา รวมถึงผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ทางพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้มีการหารือและพิจารณาเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการเตรียมการใดๆ

เมื่อถามว่าในส่วนของผู้ว่า กทม.จะพิจารณาส่งในนามของพรรคร่วมรัฐบาลหรือเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคใครพรรคมัน

เมื่อถามว่าแสดงว่าหากพรรคร่วมเสนอชิงเก้าอี้ผู้ว่า กทม.ก็ไม่ติดขัดอะไรใช่หรือไม่ พล.อ. ประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าตนไม่ได้เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนความชัดเจนที่ระบุว่าพรรคจะส่งผู้สมัครหรือไม่ตอนนี้ตนยังไม่รู้

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครปฐม ว่า ตนไม่รู้ว่าคะแนนเสียงของรัฐบาลจะเพิ่มหรือไม่ เพราะยังไม่มีการเลือกตั้ง รอไว้ให้ได้มาก่อนค่อยพูดกัน ส่วนการแข่งขันกันระหว่างพรรคชาติไทยและพรรคประชาธิปัตย์ใครจะได้นั้น ตนไม่ทราบ ซึ่งคิดว่าคงไม่ส่งผลกระทบอะไร

ปัดตอบปม “กวินนาถ” เสียงแตก – ชี้อย่าคิดกันไปเอง

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงกระแสข่าว จะมีส.ส.พรรคอนาคตใหม่มาร่วมรัฐบาล โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่รู้ ไปถามเขาสิ เราไม่รู้ จะรู้ได้อย่างไร”

เมื่อถามว่ามีหลายพรรคไปให้กำลังใจ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคประชารัฐได้ร่วมให้กำลังใจหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่รู้ ไม่เห็นมีเลย

เมื่อถามว่าถ้า ส.ส.คนดังกล่าว ถูกพรรคอนาคตใหม่ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.ที่ยกมือโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 ถ้าเขาถูกขับและประสงค์จะมาร่วมพรรคพลังประชารัฐ พร้อมรับหรือไม่ พล.อ. ประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

เมื่อถามต่อไปว่า อยู่ระหว่างการเจรจาหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า จะเจรจากับใคร ส่วนที่มีการมองว่าจะเป็นเรื่องดีหากมีเสียงเพิ่ม ก็เป็นเรื่องที่สื่อคิด

ยัน “บางรัก” ไร้บ่อน

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีบ่อนพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยยืนยันว่า ไม่มี และตนเคยบอกไปแล้ว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าบ่อนวิ่งนั้น ทางผู้กำกับ สน.บางรัก มีการรายงานว่ามีการดำเนินการจับกุมอยู่ตลอด และเรื่องนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เขาตรวจสอบอยู่แล้ว

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

อนุมัติ “ชิม ช็อป ใช้” ระยะ 2 – แจกฟรีอีก 3,000 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ตามที่ ครม.เศรษฐกิจให้ความเห็นชอบ แบ่งเป็น 4 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (G-Wallet) โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน อีกจำนวน 3 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับมาตรการในระยะแรก

ได้แก่ วงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1,000 บาท ต่อคน (G-Wallet 1) และเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคนกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่าย (G-Wallet 2) นอกจากนี้ ยังขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่ได้สิทธิทั้งหมดสำหรับการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet ช่อง 2 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 20% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และขยายระยะเวลามาตรการฯ ทั้งหมดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวสำนักโฆษก สำนักงานเลขาธิการนยกรัฐมนตรี ระบุว่า การดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว จากที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์แล้ว 8,665,849 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,443 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย ผ่าน G-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,321 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 38,545 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 122 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายกระจายสู่ทุกภูมิภาคครบ 77 จังหวัด

การใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ โดยคิดเป็นร้อยละ 82 ส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 18 ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความคุ้มค่า เนื่องการก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (multiple effects) อันจะทำผลกระทบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าภายใต้เงื่อนไขประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ของวงเงินที่ได้รับ

  • มาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย

โดยให้ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงหาดไทยมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,652.20 ล้านบาท จากการปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. (มาตรการสินเชื่อฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย

โดย ธอส.จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยในกรอบสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยแบ่งเป็น 1-3 ปีแรก 2.5% ต่อปี, 4-6 ปีต่อมา 4.625% ต่อปี และตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี ทั้งนี้ การขอสินเชื่อและการให้สินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธอส. และคาดว่ารัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ ธอส.เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,182.18 ล้านบาท

  • มาตรการการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (front load) โดยให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นงบที่ค้างท่ออยู่ แต่ ครม.ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (เสื้อสีฟ้า) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง

มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวระยะสั้น กลาง ยาว – 17 มาตรการ

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในระยะสั้น และระยะกลาง-ยาว เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 โดยกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 39.8 ล้านคน และมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2.04 ล้านล้านบาท และในปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.8 ล้านคน รายได้รวม 2.22 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) มาตรการระยะสั้นภายในปี 2562 แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 12 กิจกรรม

  • มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย ได้แก่
  • การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเพิ่มร้านค้าที่สามารถทำรายการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่เมืองและคืนภาษีในรูปแบบเงินสด ณ จุดขาย (3 เดือน)
  • ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย (3 เดือน)
  • การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนาภายในประเทศ (3 เดือน)
  • ปรับปรุงระเบียบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในต่างประเทศ พ.ศ. …. เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุและกรณีมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศ สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามพันธกิจขององค์กรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (3 เดือน)
  • มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่
  • อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวโดยเร่งดำเนินมาตรการด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (เรื่อง มาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวไทยในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว) เช่น การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 6 เดือน (Double Entries Visa), การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยที่มีความประสงค์จะออกไปต่างประเทศชั่วคราวและระยะเวลาในการได้รับอนุญาตเดิมยังเหลืออยู่ สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก (re-entry permit) และการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางผ่านด่านทางบกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (3 เดือน)
  • ขยายระยะเวลาการเปิดด่านชายแดนจาก 08.30-16.30 น. เป็น 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย และด่านชายแดนไทย-ลาว เป็นระยะเวลา 3 เดือนและติดตามประเมินผล (3 เดือน)
  • ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศในการเร่งรัดการใช้ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วประเทศ
  • เร่งประชาสัมพันธ์ระบบคัดกรองและตรวจสอบเอกสารล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (e-Visa on arrival: e-VOA) ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น (3 เดือน)
  • ทบทวนบทบัญญัติของกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ตม.ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิตหรือการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) (มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้าราชอาณาจักร ที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องสำแดงเงินสด 20,000 บาท) (3 เดือน)
  • มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย ได้แก่
  • โครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges”โดยการเพิ่มสิทธิการได้รับส่วนลด/สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แสดงหนังสือเดินทาง และเพิ่มส่วนลดอีกร้อยละ 5 สำหรับนักท่องเที่ยวอาเซียนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากประเทศคู่ร่วมเจรจาที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียน รวมทั้งลดหย่อนค่าบริการในการส่งสินค้าผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กลับประเทศอาเซียน (3 เดือน โดยจะดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 31 มกราคม 2563)
  • โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ โดยให้Voucher 20,000 บาทต่องานหรือกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย ทั้งนี้ จะต้องจัดประชุมข้ามจังหวัดของพื้นที่ที่องค์กรนั้นๆ จัดตั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 40 คน และมีการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน (3-6 เดือน)
  • ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ (government meeting) โดยขอความร่วมมือให้จัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ (สถานที่ประชุมของเอกชน) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (3 เดือน)

2) มาตรการระยะกลางและยาว ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 5 กิจกรรม

  • มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย ได้แก่cส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสถานพักแรม และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสถานพักแรมในการปรับปรุงสถานประกอบการและบริการให้มีมาตรฐาน (6 เดือน)
  • มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่

    เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านความปลอดภัยและลดจำนวนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว (1 ปี)
    เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านวัฒนธรรมโดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกทั้งในส่วนที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและ/หรือมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (สิ่งที่เป็นความรู้ ประเพณี พิธีกรรม การแสดง ดนตรี งานช่าง ฯลฯ เช่น การแสดงโขน) (1 ปี)

  • มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย ได้แก่
    จัดกิจกรรมมหกรรมระดับโลกหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ (world event / mega event) เช่น การจัดงานวิ่ง (Trail/Ultra Trail, Amazing Thailand Marathon Series) การแข่งขันจักรยาน (Tour de France) มหกรรมด้านความงาม สุขภาพและสาธารณสุข (World Cannabis Expo, World Health & Wellness Expo) เป็นต้น (6 เดือน – 1 ปี)
    การดึงงานประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการจัดงานขนาดใหญ่หรืองานที่มีผลกระทบสูง รวมถึงกระจายพื้นที่จัดงานสู่ภูมิภาค (6 เดือน – 1 ปี)

ขยายเวลาฟรีค่าธรรมเนียม VOA 6 เดือน – สูญรายได้ 10,764 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. …. หรือมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on arrival โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการขยายระยะเวลาการยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท ออกไปอีก 6 เดือนหรือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปประมาณ 10,764 ล้านบาท จากมาตรการขยายการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่คาดว่าจะมีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 144,732 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติผู้โดยสารที่มาขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในช่วงก่อนมีการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและช่วงที่มีการยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมแล้ว พบว่า แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและขอรับการตรวจลงตรามีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบในช่วงที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 1,923,032 คน กับช่วงที่ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในช่วงตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 จำนวน 4,236,781 คน ปรากฏว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 120%

อนุมัติงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.4 แสนล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563 เฉพาะรัฐวิสาหกิจ จำนวน 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1.44 ล้านล้านบาท และวงเงินบิกจ่ายลงทุน จำนวน 3.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย

  • กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการจำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.96 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่งร้อยละ 47.8 และรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ร้อยละ 35.5 ของวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในภาพรวม โดยปรับลดวงเงินดำเนินการ จำนวน 9.96 หมื่นล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 4.25 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่สำคัญได้แก่ (1) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1) วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.81 หมื่นล้านบาท (2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.34 หมื่นล้านบาท และ (3) โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย (กฟผ.) ระยะที่ 1 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 1.35 หมื่นล้านบาท

  • กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการจำนวน 2 แสนล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คือ (1) ด้านความมั่นคง (2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.59 แสนล้านบาท (ร้อยละ 87.62) (3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.84 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 9.6) และ (6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนคาดว่าจะสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 0.12, เกิดการจ้างงานประมาณ 1.28 แสนคน, เกิดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และ 4. ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากท้องถิ่นสู่เมือง สำหรับประมาณการรายได้ของรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7.98 หมื่นล้านบาท แนวโน้มการลงทุนช่วงปี 2564-2566 ของรัฐวิสาหกิจเฉลี่ยประมาณปีละ 3.93 แสนล้านบาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 9.87 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติผูกพันสัญญาและการก่อหนี้ในรายการลงทุนที่มีความพร้อมตั้งแต่ในช่วงต้นปีงบประมาณ และให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

“หากรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ 11 แห่ง (รวมเป็นรัฐวิสาหกิจ จำนวน 55 แห่ง ภายใต้สังกัด 16 กระทรวง เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521) วงเงินดำเนินการ 2.80 แสนล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.04 แสนล้านบาท ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี2563 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ 1.52 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 5 แสนล้านบาท”

ประชุม รมต.อาเซียน จับคู่เจรจา 19 ปท.ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 51 เมื่อวันที่ 5-10 กันยายน 2562 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อสรุปในภาพรวม คือ การประชุมประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจารวม 19 ประเทศ ต่างให้การสนุบสนันไทยในฐานะประธานอาเซียนในการผลักดันประเด็นต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมาย และสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้ได้ในปีนี้

ส่วนผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 51 มีรายละเอียดดังนี้

  1. รัฐมนตรีอาเซียนได้ร่วมรับรอง/เห็นชอบเอกสาร 7 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนการดำเนินงานตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ปี 2562-2568 (2) แนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (3) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปรับเปลี่ยนอตุสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (4) แนวทางในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (5) การปรับปรุงข้อบทว่าด้วยระเบียบวิธีปฏิบัติด้านหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อรองรับระบบถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (6) การปรับปรุงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน และ (7) ขอบเขตการดำเนินงานของการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน
  2. การหารือกับคู่เจรจาของอาเซียน รวม 10 ประเทศ เช่น

2.1) อาเซียน-จีน ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าอาเซียน-จีน ครบแล้ว และเริ่มบังคับใช้กฎเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

2.2) อาเซียน-ญี่ปุ่น เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีเพียงไทยและสิงคโปร์ที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว

2.3) อาเซียน-เกาหลี รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี และคาดหวังให้สรุปการเจรจาภายในปี 2562 ซึ่งเป็นวาระครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี 30 ปี

2.4) อาเซียน-ฮ่องกง รับทราบผลการบังคับใช้ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง และเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกที่เหลือให้สัตยาบันความตกลงฯ ทั้ง 2 ฉบับภายในปี 2562

2.5) อาเซียน-อินเดีย รับทราบความตกลงการค้าบริการภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-อินเดีย มีการให้สัตยาบันครบแล้ว และเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้า เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

2.6) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เห็นชอบแผนการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และหารือวาระการปฏิรูป WTO โดยมีถ้อยแถลงร่วมกัน

2.7) อาเซียน-สหรัฐอเมริกา รับทราบข้อเสนอสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) เกี่ยวกับการจัดการเยือนสหรัฐฯ ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจและรัฐมตรีโทรคมนาคมของอาเซียนในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล วันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2562

นอกจากนี้ ยังมีผลการหารือทวิภาคีสรุปได้ดังนี้ โดยญี่ปุ่น เสนอให้มีการจัดตั้งเวทีหารือด้านการปฏิวัตอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเรียนรู้สิ่งที่อาเซียนต้องการผลักดันในการสร้างนวัตกรรมที่ดีต่อกัน ด้านฮ่องกง มีความสนใจในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก RCEP ส่วนรัสเซีย กระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย พร้อมยกระดับความร่วมมือ โดยการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจที่ได้ลงนามเมื่อปี 2559 และกำหนดเป้าหมายให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้

ครม.ไฟเขียว 3 กฎกระทรวงตั้งมาตรฐาน “ประเมินราคาที่ดิน-เก็บภาษี”

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน พ.ศ. …. 2) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมินห้องชุดและการจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด พ.ศ. …. และ 3) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สิน ในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด แตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน พ.ศ. ….

โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด และการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สินในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดแตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน ซึ่งการออกร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับนี้ เป็นการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562

“ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ  คือ การที่ประชาชนจะได้รับการประเมินทรัพย์สินที่มีมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม และได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งมีแนวทางปฏิบัติในการคัดค้านการกำหนดราคาประเมินทรัพย์สินที่ชัดเจน รวมถึงสามารถเข้าถึงราคาประเมินทรัพย์สินได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

30 ต.ค.นี้ “ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่เปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 2

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.อนุมัติเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยสะพานดังกล่าวเป็นไปเพื่อรองรับการขยายตัวและเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งจะส่งเสริมอำเภอแม่สอด-เมืองเมียวดี ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค และลดปัญหารการจราจรของสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1

ทั้งนี้กำหนดเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีเปิด

เพิ่มโควตา “Work and Holiday” ไทย-ออสเตรเลีย ถึง 2000 คน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.อนุมัติในหลักการการปรับเพิ่มโควตาผู้เข้าร่วมโครงการตรวจลงตราทำงานและท่องเที่ยวไทย-ออสเตรเลีย (Work and Holiday Visa: WHV) ของฝ่ายออสเตรเลียในลักษณะต่างตอบแทน จาก 500 คนต่อปี เป็น 2,000 คนต่อปี

“โครงการดังกล่าวเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในลักษณะการเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ โดยสามารถหางานทำชั่วคราวเพื่อเป็นรายได้ในช่วงที่อยู่ในประเทศนั้น ซึ่งในการเดินทางท่องเที่ยวและทำงาน แต่ละฝ่ายสามารถเดินทางได้หลายครั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน” นางสาวไตรศุลีกล่าว

สำหรบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้อง 1) เป็นบุคคลที่มีอายะระหว่าง 18-30 ปี 2) มีประกาศนียบัตรระดับอุดมศึกษา 3) มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่ประเมินได้ว่าอยู่ในขั้นอ่างน้อยใช้งานได้ 4) ต้องเดินทางคนเดียว โดยไม่มีผู้ติดตาม 5) ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ WHV นี้มาก่อน 6) มีความประพฤติและสุขภาดี และ7) มีเงินทุนเพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้

โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการรับสมัคร คัดกรอง และออกหนังสือรับรอง ถึงสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเพื่อขอรับตรวจลงตรา WHV ให้แก่เยาวชนไทยผู้เข้าร่วมโครงการฯ

“บิ๊กป้อม” สั่งการ เตรียมมาตรการรับมือน้ำแล้ง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ถึงสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง โดยเฉพาะปัญหาน้ำแล้ง ที่สำนักพยากรณ์น้ำแห่งชาติได้แจ้งมาว่ามีพื้นที่ประมาณ 22 จังหวัด 56 อำเภอ สุ่มเสี่ยงจะเกิดภัยแล้ง โดย พล.อ. ประวิตร ได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งดูแลประชาชน สื่อสารให้เข้าใจสถานการณ์น้ำแล้งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เตรียมวางแผนการเพาะปลูก ในหลายพื้นที่อยากให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงต่อ ครม.ว่าเตรียมขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว พื้นที่สุ่มเสี่ยงภัยน้ำท่วมนับจากนครศรีธรรมราชลงไป อาจจะมีปริมาณน้ำฝนมาก อาจทำให้น้ำท่วมได้  ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณณ์รายงานว่า ได้เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว

“เฉลิมชัย” ชี้ เจรจา “สมัชชาคนจน” ลุล่วงดี

นอกจากนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนที่มาร้องเรียน 3 เรื่อง คือ ค่าชดเชยเรื่องการสร้างเขื่อน โดยกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายกรมชลประทาน ไปเจรจาและได้ข้อยุติแล้ว ส่วนเรื่องที่ทำกิน ประชาชนพอใจการจัดสรรที่ทำกินให้ ส่วนความเดือดร้อนผู้ปลูกมะพร้าว ไม่อยากเปิดให้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศนั้นเพราะจะทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ อนุกรรมาธิการเกษตรฯ ของสภารับเรื่องพิจารณา ถือว่าคลี่คลายแล้ว

ตั้ง “ปริญญา-พชร” นั่ง ปธ.บอร์ด “ธอส.-ธสน.”

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแต่งตั้งตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ นายปริญญา พัฒนภักดี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นายพชร อนันตศิลป์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เพิ่มเติม