เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรกของปี และเป็นการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการประชุมในว่า “วันนี้เป็นการประชุม ครม.อีกครั้งหนึ่ง เป็นการประชุมที่วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อระมัดระวังระวังป้องกันในเรื่องของโควิดฯ เพื่อให้ทุกคนนั้นตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากหรือการที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดกันในคนหมู่มาก ทางนี้ได้ขอให้หน่วยราชการและหน่วยงานต่างๆพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวด้วย”
ขอ ปชช. เปิดเผยไทม์ไลน์ ยันไม่เอาผิดหากไปบ่อน-เล็งถอนรากผู้อยู่เบื้องหลัง
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถึงการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนถึงการติดเชื้อจากบ่อนพนันว่า ประเด็นแรกที่ตนต้องการจะชี้แจงแก่ประชาชน คือ เรื่องของการขจัดขบวนการผิดกฎหมาย บ่อนการพนันต่างๆ ซึ่งทราบกันดีว่าบ่อนการพนันมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งบ่อนขนาดใหญ่ บ่อนวิ่ง ฯลฯ วันนี้จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดมากที่สุด
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีการเล่นการพนันอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่อยากจะโทษประชาชน เนื่องจากเป็นเรื่องของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องร่วมมือกัน สถานที่ใดก็ตามที่เป็นบ่อเกิดในการแพร่เชื้อของโรคระบาดจะต้องกำจัดให้มากที่สุด ซึ่งในขณะนี้ผมได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงได้สืบสวนสอบสวนอยู่ และรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมเรื่องนี้อยู่แล้ว มันต้องใช้กฎหมายอยู่หลายตัวไม่เช่นนั้นก็จะตามผู้ที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้เสียทีแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องถูกลงโทษตอนนี้เข้มงวดทุกอย่าง”
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าว ประกอบไปด้วย หน่วยงานตรวจสอบ อาทิ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และมีทั้งการดำเนินคดีจากการตรวจสอบจับกุมในความผิดเฉพาะหน้าขบวนการเหล่านี้ ส่วนที่ยังจับกุมไม่ได้จะเป็นการดำเนินการตรวจสอบติดตามผู้ที่เป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง ผู้อำนวยความสะดวกผู้ละเว้นในการปล่อยปละละเลยพวกนี้ต้องถูกลงโทษ และใช้มาตรการทางกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ทางนี้ขอย้ำเตือนไว้ด้วยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้
“ที่สำคัญที่สุดคือการออกไปเล่นการพนันประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีบ่อนอยู่รอบบ้านเราเป็นจำนวนมาก ในกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้จุดตรวจต่างๆ ตามแนวชายแดน ช่องทางเข้าออก ได้มีการกวดขันห้ามไม่ให้ไปเล่นการพนันนอกประเทศโดยเด็ดขาด”
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำและขอความร่วมมือจากประชาชนว่า ทุกคนรู้ตัวอยู่แล้วว่าใครไปเล่นในบ่อน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ไปติดตามลงโทษ ฉะนั้นทุกคนก็ต้องเข้าไปพบแพทย์ต้อง ไปยังจุดตรวจคัดกรอง เพราะได้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ต้องรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคมไปด้วย
แจงมาตรการ ศบค.ต้องดูทั้ง โควิด-เศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อวานนี้ (4 มกราคม 2564) ว่า มาตรการออกไปนั้นได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานหลายหน่วยงานและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันได้รับฟังทางฝ่ายเศรษฐกิจ คือ สมาคมหอการค้า อุตสาหกรรม สมาคมภัตตาคารและโรงแรมต่างๆ เพื่อจะหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบัน
“เนื่องจากเราต้องบริหารคนหมู่มาก บริหารความเข้าใจ บริหารความตื่นตระหนกของสังคม ของประชาชน หลายอย่างนั้นไม่ใช่คิดง่ายๆ ต้องนำทุกอย่างมาประมวลและหาหนทางที่ดีที่สุด”
ทั้งนี้ ตนอยากย้ำเตือนให้ทุกพื้นที่จะต้องปฏิบัติคือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ และตรวจอุณหภูมิร่างกายพร้อมใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ใช้สำหรับสถานประกอบการต่างๆ ที่จะต้องมีคนหมู่มากเข้าไปใช้บริการ โดยจะต้องมีการดาวน์โหลดเพื่อใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ส่วน “หมอชนะ” เป็นเรื่องของการควบคุมดูแลในเรื่องของการเดินทางเพื่อให้ติดตามตัวได้ แต่หากระมัดระวังตัวเองได้โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“วันนี้จะเห็นว่ามีด่านตรวจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านตรวจระหว่างทาง บางด่านเป็นการเตรียมความพร้อมเพราะๆและจะมีการเข้มงวดในปลายทาง ซึ่งเป็นเรื่องของท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราจะต้องระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด ต้องป้องกันตัวเองหากเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด และในการเดินทางต่างๆ ต้องโหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวและต้องให้ความร่วมมือกับมาตรการของพื้นที่ด้วย”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงสูงสุดขณะนี้มี 28 จังหวัด เรื่องของโรงเรียน สถาบันศึกษามีการงดใช้อาคารเรียน โดยให้เรียนออนไลน์ ซึ่งตนได้สั่งการไปกับกระทรวงกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ให้ไปดูว่ามีโรงเรียนใดที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ให้ไปหาวิธีอื่น ซึ่งขอฝากให้ทุกคนช่วยคิดหาวิธีด้วย
สำหรับการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การประชุม สัมมนา การจัดเลี้ยง เป็นต้น เว้นแต่ได้รับอนุญาต โดยการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่ดีอย่างที่ได้เคยทำอะไรแล้วในระยะแรก และได้มีมาตรการปิดสถานบริการที่มีลักษณะคล้ายผับ บาร์ คาราโอเกะ ทั้งหมด ส่วนร้านอาหารนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องปรับมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจนั้นเดินไปได้ และทางสมาคมภัตตาคารได้รับรองว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด ดังนั้นจึงมีการปลดล็อคให้สามารถนั่งทานที่ร้านอาหารได้จนถึงเวลา 21:00 น การที่ยังต้องควบคุมเวลานั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะการดื่มสุราที่จะมีผลกระทบทั้งทำให้เกิดความประมาท และผลกระทบในเรื่องการบาดเจ็บสูญเสียจากการขับขี่ยานพาหนะ
“จะเห็นได้ว่าในช่วงหยุดยาวนี้มีสถิติอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่น่าจะลดลงจากการลดการเดินทางแต่กลับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป แสดงว่าคนจะต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น รัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่กว่า 6 หมื่นคน ในการตั้งด่านตรวจต่างๆซึ่งการสูญเสียอยู่ในพื้นที่ที่เป็นถนนสายรอง ใน 28 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงนั้น ให้มีการงดเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดเว้นแต่มีเหตุจำเป็น โดยต้องมีการแสดงหลักฐานกับด่านตรวจต่างๆทางระหว่างทางและในพื้นที่ที่จะเข้าไป โดยจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ซึ่งผมได้กำชับในเรื่องนี้ไปแล้ว ขอย้ำนะครับ ให้มีการอนุญาตจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีมาตรการที่ดีรองรับกิจกรรมต่างๆที่ว่า รวมถึงการปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหารถึง 21.00 น ที่เหลือต้องเป็นการสั่งกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น”
ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและศูนย์แสดงสินค้านั้นสามารถเปิดได้ แต่ต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัดอย่างที่เคยทำมาแล้วในระยะที่ 1 ส่วนสถานที่อื่นๆ นั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจสั่งปิดได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ซึ่งได้ให้ ศบค.ติดตามเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากยิ่งขึ้นทั้งโควิดและเศรษฐกิจ
ชี้ยังไม่มีล็อคดาวน์ 5 จังหวัดเสี่ยงสูง
ต่อกรณี 5 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สมุทรสาคร-ชลบุรี -ระยอง -จันทบุรี -ตราด นั้นยังมีความสับสนกันอยู่ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า “ไม่ใช่การล็อคดาวน์ เพราะการล็อคดาวน์อย่างที่เคยทำมาก่อนนั้นคือการห้ามออกจากบ้าน บ้านเมืองก็เหมือนเมืองร้าง เราไม่ได้ไปถึงตรงนั้น เพราะเรามีมาตรการระหว่างทางการควบคุมการเข้าพื้นที่อยู่แล้วยืนยันว่าไม่ใช่การล็อคดาวน์ แต่ถ้าวันหน้ายังแก้ไม่ได้อีก ก็คงต้องมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ขอพูดให้ชัดเจนก็แล้วกัน”
เตรียมฉีดเข็มแรกอนุมัติเพิ่มอีกล้านโดสยันเข้าถึงปชช.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโควิดฯ ว่า วันนี้มีการอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในเรื่องของการเตรียมเงินเพื่อรองรับวัคซีนที่จะเข้ามาจำนวน 2 ล้านโดส แบ่งเป็น ช่วงปลายเดือนมีนาคมอีกประมาณ 800,000 โดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน ในเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชนจำนวน 5 แสนคน และในปลายเดือนพฤษภาคมอีกจำนวน 26 ล้านโดส สำหรับประชาชนจำนวน 13 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านมาตรฐานอย.ของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศด้วย
“วันนี้เราได้มีการสั่งจองเพิ่มของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AsTrazeneca) ไปอีกจำนวน 35 ล้านโดส ดังนั้นรวมประเทศไทยจะมีวัคซีนรวมทั้งสิ้น 63 ล้านโดส จะมีประชาชนประมาณ 60 ล้านคนที่จะได้รับวัคซีนตามระยะเวลาที่วัคซีนจะเข้ามา ซึ่งผมคิดว่าเพียงพอจากข้อมูลทางด้านสาธารณสุข จะต้องมีการฉีดคนละ 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยทยอยฉีดไป”
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดลำดับให้ประชาชนได้รับวัคซีนว่า การที่จะให้แก่บุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดนั้นเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ที่อยู่หน้างาน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ตรวจสอบคัดกรองหรือผู้ที่ป่วยเจ็บในเรื่องของโควิดฯ ก็จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก่อน รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง ประชาชนผู้สูงอายุผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง และอื่นๆ ที่มีความจำเป็น
“วัคซีนในล็อตที่ 2 นี้จำนวน 26 ล้านโดสจะทยอยส่งมอบในเดือนช่วงปลายเดือนพฤศภาคมถึงมิถุนายน สำหรับวัคซีนในล็อตต่อๆ ไปเราจะมีการแสวงหาติดต่อจากประเทศอื่นๆ อีกด้วยเพื่อให้มีความรวดเร็วตามความต้องการของเรา”
ด้านนายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้เตรียมการจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท โดยร่วมมือกับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนระหว่างรอรับการอนุญาตทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศจีน และเมื่อได้รับการอนุมัติจากระเทศจีนแล้วจะต้องได้รับรองมาตรฐานวัคซีนจากอย.ประเทศไทย ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้า และกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนชุดแรกจำนวน 2 แสนโดส เพื่อนำมาฉีดให้ผู้ทำงานภาคสนามให้พื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จำนวนประมาณ 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออีกประมาณ 180,000 คน ส่วนเดือนมีนาคม 2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนอีก 800,000 โดส และจะนำมาฉีดเข็มที่สองให้กับกลุ่มที่ 1 อีก 200,000 โดส ขณะที่อีก 600,000 โดสจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และอสม. และกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดควบคุมสูงสุดและชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้
ส่วนเดือนเมษายน 2564 จะได้รับเพิ่มอีก 1,000,000 ล้านโดส รวมเป็น 2,000,000 โดส จะฉีดให้กับกลุ่ม 600,000 คน และฉีดอีก 400,000 โดสให้กับกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม และจากการที่จะมีการสั่งจองวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดสนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
คาด “สยามไบโอไซเอนซ์” ผลิตได้ 200 ล้านโดส/ปี-ไม่ห้ามเอกชนสั่งซื้อเอง
พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า วันนี้เราได้เตรียมความพร้อมของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตั้งไว้ในสถานการณ์ที่ผ่านมา จนถึงครั้งนี้ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ผลิตวัคซีนได้ คาดว่าจะผลิตได้ปีละประมาณ 200 ล้านโดสในระยะต่อไป ฉะนั้นเราก็น่าจะเพียงพอในเรื่องของการกระจายวัคซีนทั่วทั้งประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วก็เปิดโอกาสให้สามาจัดหาเองได้ แต่ต้องผ่ารับรองของอย.อยู่ในการควบคุมการใช้ ไม่ว่าจะโรงพยาบาลเอกชนหรือธุรกิจใดๆ ก็ตาม
สำหรับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนนั้น จากที่ได้มีการติดตามวัคซีนที่เราจะเอามาใช้ผลข้างเคียงนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนต่อไป วันนี้ก็มีการฉีดในหลายประเทศด้วยกันในหลายยี่ห้อ ก็ต้องติดตามทุกประเทศ ซึ่งตนต้องการให้คนไทยปลอดภัยมากที่สุด
“สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในตอนนี้คือต้องจำกัดการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว ต้องนำคนที่ติดเชื้อเข้ามาควบคุมมารักษาพยาบาลให้ได้โดยเร็ว และในส่วนของวัคซีนนั้นเป็นการป้องกันการติดเชื้อใหม่ ส่วนผู้ที่เป็นแล้วนั้นมีเพียงแค่การใช้ยารักษาซึ่งเป็นยาอีกตัวหนึ่งซึ่งวันนี้ได้มีการจัดหาไว้เพียงพออยู่แล้วในขณะนี้”
สั่งคลังหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในช่วง 2 เดือนนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯ ว่า ตนได้มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ไปหามาตรการว่าจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไรในช่วง 2 เดือนนี้
โดยมาตรการต่างๆ ก็จะออกมาเพิ่มเติมจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว บางอย่างที่มีอยู่แล้วเดิมก็จะต้องยืดระยะเวลาออกไปให้ เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน ที่มีการจองโรงแรมและจ่ายค่ามัดจำไปแล้ว ซึ่งตนได้มีการปรึกษาหารือกับสมาคมผู้ประกอบการต่างๆ ไปแล้ว ก็ขอความร่วมมือให้มีการขยายเวลา อย่าเพิ่งเก็บเงินผู้ใช้บริการตอนนี้ ในทุกมาตรการที่ได้ออกไปแล้วก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ได้
ในส่วนของการดูแลในช่วง 2 เดือนกำลังพิจารณาอยู่เพื่อดูแลคนเกือบ 40 ล้านคนว่าจะทำอย่างไร คงไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะบางพื้นที่ มันต้องใช้เงินอีกจำนวนมากเหมือนกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันว่ายังมีเงินเพียงพอ
ด้านนายอนุชา กล่าาเพิ่มเติมว่า ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้กระทรวงการคลังได้เจรจาและขอร้องกับสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมไทยให้ขอความกรุณาคืนเงินให้ประชาชนที่ต้องการยกเลิกวันเข้าพักโรงแรมจากโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้ต้องการยกเลิกหรือขอเลื่อนวันเข้าพัก
“ขอให้สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมไทยได้ดำเนินการพิจารณาให้การยกเลิกหรือเลื่อนการเข้าพัก หรือให้ขอเงินคืนให้สามารถดำเนินการโดยง่าย และได้ให้ธนาคารกรุงไทยปรับปรุงระบบให้ดำเนินการได้”
แจง “คนละครึ่ง” ไม่เสียภาษี
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความชัดเจนภายหลังมีกระแสข่าวผู้ร่วมโครงการคนละครึ่งต้องเสียภาษีจากเงินที่ได้จากมาตรการดังกล่าว ว่า อันนี้มาจากไหนตนไม่ทราบ โดยปฏิเสธชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวนี้เป็นมาตรการช่วยเหลือของรัฐเพื่อผ่อนภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไม่เกี่ยวกับภาษีแต่อย่างใด
“จะไปเก็บได้อย่างไรผมไม่เข้าใจ ก็ขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำความเข้าใจให้ดี เราต้องร่วมมือกันให้ได้ วันนี้เราต้องเข้าใจตรงกันว่า เรากำลังรวมไทยสร้างชาติร่วมต้านโควิดฯ ขอให้ทุกคนได้ระลึกถึงคำนี้เสมอว่ามีความสำคัญอย่างไร เราต้องสร้างชาติของเราให้เข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน เราจะต้องอยู่กับมันให้ได้อย่างไร เราทุกคนต้องระวังตัวเองและซื่อสัตย์ต่อตัวเองในการเข้าตรวจสอบคัดกรอง รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะลงโทษใครทั้งสิ้น เว้นแต่ในเรื่องของการทำผิดกฎหมาย”
ด้านนายอนุชา กล่าวยืนยันเพิ่มเติมว่า ตามที่มีข่าวว่าประชาชนที่ได้รับสิทธิจากมาตรการคนละครึ่งจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะเป็นการได้มาซึ่งรายได้ส่วนหนึ่ง ปัจจุบันได้รับการยืนยันจากกระทรวงการคลังแล้วว่าจะไม่นำมาเสียภาษีหรือคิดเป็นภาษีรายได้ ขอให้ทุกท่านได้คลายความกังวลเกี่ยวกับภาษีที่รัฐบาลได้ออกมา
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลการเดินทาง ขอให้ไปหาเจ้าหน้าที่ไม่อย่างนั้นก็จะแพร่ระบาดไปยังสถานที่รักษาพยาบาลสถานที่คัดกรองอีก ท่านต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นด้วย
“สงสารเจ้าหน้าที่หน้างานที่ไม่ได้หลับนอน บางทีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ ต้องนอนในห้องทำงานไม่ได้กลับบ้าน 24 ชั่วโมง ก็อ่อนเพลีย เขาก็อ่อนแออยู่แล้ว นั่นแหละที่ผมเป็นห่วง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันสำเร็จได้ด้วยน้ำมือของพวกเรา ถ้าเราทำดีช่วยกันมันก็แก้ได้ทุกเรื่อง ถ้าไม่ร่วมมือกันปกปิดอำพรางอยู่อย่างนี้ก็แก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าเรากำลังบริหารคน 66 ล้านคนตามยอดจำนวนประชากรล้าน คนเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันก็คือจะต้องฟังมาตรการของรัฐและซื่อสัตย์ต่อตนเองต่อครอบครัวบุคคลที่รักสังคม เราต้องการสิ่งนี้ให้มากยิ่งขึ้นในเวลานี้รวมไทยสร้างชาติร่วมต้านโควิดฯ”
ขอมั่นใจ รพ.สนาม มีมาตรการป้องกันรัดกุม
ต่อคำถามเรื่องการคัดค้านการตั้งโรงพยาบาลตาม พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนได้บอกไปแล้วว่ามีความจำเป็นก็ต้องตั้ง แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่นให้ดี เราต้องคิดถึงส่วนรวมด้วย ซึ่งมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรงพยาบาลสนามต่างๆ เหล่านี้นั้นมีมาตรการที่ชัดเจนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป ไม่เช่นนั้นวันนี้โรงพยาบาลอื่นๆก็อันตรายหมด
“โรงพยาบาลสนามนั้นเพียงแต่เป็นการกระจายไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมากๆ โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมนั้นอาจไม่เพียงพอและเป็นผลต่อการให้บริการผู้ป่วยเจ็บโรคภัยอื่นๆ อีกด้วย ยืนยันว่า เขามีการตรวจสอบคัดกรองกันอย่างดีเพราะไม่ได้ให้ไปเกี่ยวข้องกันอยู่แล้วฝากไปยังท้องถิ่นด้วย”
ต่อคำถามถึงเพดานตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดที่จะใช้มาตรการล็อคดาวน์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องนี้จะต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งสุขภาพ และเศรษฐกิจจะต้องไปด้วยกัน เราต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับโควิดฯ ให้ได้อย่างไรในช่วงนี้ทุกคนต้องช่วยกันรัฐบาลก็ดูแลถ้าไม่ช่วยกันมันก็ไปไม่ได้หมด เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตามรัฐบาลรับผิดชอบอยู่แล้วในเรื่องเหล่านี้
มติ ครม.มีดังนี้
เสนอยูเนสโกประกาศพระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 และเสนอพระนามให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูเนสโก) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2566 โดยให้มีแผนการดำเนินงานและกิจกรรมการเฉลิมฉลอง 3 ระยะ ได้แก่ แผนการดำเนินงานระยะสั้น กลาง และยาว โดยแบ่งกิจกรรมการเฉลิมฉลองออกเป็นระดับกระทรวงต่างๆ และระดับภาคประชาชน ภาคเอกชน และมูลนิธิต่างๆในพระอุปถัมภ์ โดยไม่ขอผูกพันงบประมาณ
ทั้งนี้ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 จะเป็นวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯซึ่งพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทำอะไรให้เมืองไทย ทรงยึดมั่นในคุณค่าของมนุษย์และศักยภาพของการพัฒนา จึงทรงงานและทรงอุปถัมภ์กิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ การแพทย์และการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสัมพันธไมตรี การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและพสกนิกรชาวไทย และทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์แรกที่ทรงงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 13 ปี 10 เดือน ในฐานะสมเด็จพระอาจารย์
สำหรับกิจกรรมสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ในด้านภาษาฝรั่งเศสศึกษาในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม, การประชุมวิชาการระดับนานาชาติเรื่อง กัลยาณิวัฒนาวิวิธ , การผลิตสื่อและวีดิทัศน์เผยแพร่พระกรณียกิจสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ กับงานด้านพัฒนาสังคมและสังคมสงเคราะห์ , นิทรรศการเผยแพร่พระกรณียกิจด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก เป็นต้น
ต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 16 ม.ค.- 28 ก.พ. 64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2564 (ครั้งที่ 9) ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยเป็นการใช้อำนาจตาม “พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการปฏิบัติงานเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคม และบริหารจัดการตามมาตรการด้านสาธารณสุข
นายอนุชา กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากการกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีการเดินทางของผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการของโรค นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทางทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้า และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่
เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านบาท
นายอนุชา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวนเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้มีการปรับลดจากปีงบประมาณ 2564 ที่ประมาณร้อยละ 5.66 หรือประมาณ 185,900 ล้านบาท
โดยโครงสร้างงบประมาณปี 2565 แบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ ประมาณ 75.95% เป็นรายจ่ายลงทุนประมาณ 20% เป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ประมาณ 3.22% เป็นรายจ่ายเพื่อชดเชยเงินทุนสำรองจ่ายประมาณ 0.81% และรายจ่ายเชื่อชดใช้เงินคงคลังอยู่ที่ประมาณ 0.02%
ส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้อง คาดว่ารายได้ที่จะจัดเก็บได้ในปี 2565 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลง 10.35% งบประมาณที่จัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2565 เป็นงบประมาณที่จะต้องใช้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลประมาณ 700,000 ล้านบาท
ลงนามความร่วมมือระดับไทย-อินเดีย เสริมการลงทุนเอสเอ็มอี
ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอินเดีย ผ่านการลงนามในรูปแบบออนไลน์ช่วงเดือนมกราคม 2564
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs และวิสาหกิจเริ่มต้น Start Up โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาด ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างกัน อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางธุรกิจประเภทต่างๆ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มดิจิตอล thaitrade.com ของไทย กับ Telangana State Global Linker ของรัฐเตลังคานา แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้าน Start Up ผ่านศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของรัฐเตลังคานาที่มีชื่อว่า T-Hub ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างๆ อาทิ เงินอุดหนุนลงทุน เงินอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น และให้สิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนที่ใช้ไม้ยางพาราจากไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไม้
ขยายเวลาผู้ประกอบการแสดง QR Code บนผลิตภัณฑ์
ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการทำ วิธีแสดง และการใช้เครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดลักษณะการทำ วิธีแสดงฯ พ.ศ.2563 เฉพาะการแสดงรายละเอียดใบอนุญาตและข้อมูลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) ออกไปอีก 180 วัน
ผศ.ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 (จากเดิมที่มีผลวันที่ 21 มกราคม 2564) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าโดยผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตฯ จะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องหมายมาตรฐาน ใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในรูปแบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) ให้เห็นได้ง่ายและชัดเจน บนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ
มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จำนองอสังหาฯ ช่วยผู้มีรายได้น้อยกว่า 1.1 แสนราย
ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.ได้ออกมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมากนักและมีความสามารถในการผ่อนชำระได้
สาระสำคัญคือลดภาระให้กับผู้ซื้อที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 2 มาตรการคือ 1) ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด จากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 2) ลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง เหลือร้อยละ 0.01 โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2562 จนถึง 23 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ มาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมฯ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย จำนวน 111,635 ราย สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 91.35 จากที่กำหนดไว้จำนวน 58,340 ราย
เห็นชอบเวนคืนที่ดินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ บ้านไผ่-นครพนม
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน ซึ่งสำนักงบประมาณแจ้งว่า จะจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว โดยโครงการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับอนุมัติจากครม.ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์วงเงิน 10,080.33 ล้านบาท โดยรฟท.มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและแผนการเบิกจ่ายค่าทดแทนในปีงบประมาณ 2564-2566
อนึ่ง เป็นการเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป หลังคลายมาตรการโควิดฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.รับทราบ รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ของกระทรวงการคลัง โดยรายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำตามรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 กระทรวงการคลังมองว่า มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 7.8 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.2 โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงาน และเสมือนผู้ว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง
ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตามมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการณ์ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งนี้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง
รับทราบผลขาดทุน ครึ่งปี”63 รฟท.-ขสมก.
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.รับทราบ รายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 และประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2563 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ดังนี้คือ ปีงบประมาณ 2562 รฟท.มีผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะจำนวน 2,893.642 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีงบประมาณ 2563 รฟท.ขาดทุน 1,494.62 ล้านบาท ขณะที่ขสมก.ในปีงบประมาณ 2562 มีผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะจำนวน 2,255.717 ล้านบาท และครึ่งปีงบประมาณ 2563 มีผลขาดทุนจำนวน 996.499 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อรวมผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะของทั้ง2 หน่วยงานในปี 2562 รวมจำนวน 5,149.359 ล้านบาท และครึ่งปีงบประมาณ 2563 มีผลขาดทุนรวมกันจำนวน 2,491.119 ล้านบาท
อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 5 มกราคม 2564 เพิ่มเติม