
ปัจจุบันโลกทิ้งอาหารราว 1.3 พันล้านตันต่อปี ขณะที่อาหารที่ถูกทิ้งในสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 4 ของอาหารที่ถูกทิ้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นำไปเลี้ยงชีวิตผู้คนที่หิวโหยในโลกนี้ได้ถึง 1 พันล้านคน

รายงานล่าสุดของ World Economic Forum ระบุว่า การลดอาหารที่จะทิ้งลง 20 ล้านตัน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 มาตรการจะช่วยพลิกโฉมระบบอาหารของโลกได้ภายในปี 2030
เกาหลีใต้รีไซเคิลขยะอาหาร 95%
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ปัจจุบันการรีไซเคิลขยะอาหารหรืออาหารที่ถูกทิ้งสูงถึง 95% ซึ่งไม่ใช่วิถีปกติของเกาหลีใต้
เครื่องเคียงหรือที่เรียกว่า Banchan เป็นอาหารจานเล็กๆ หลายประเภทที่มาพร้อมอาหารจานหลัก โดยส่วนใหญ่มักไม่แตะต้องกัน หรือกินไม่หมด จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มขยะอาหารในเกาหลีใต้จนติดอันดับสูงสุดประเทศหนึ่ง

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เปิดเผยข้อมูลว่า คนเกาหลีใต้แต่ละคนทิ้งขยะอาหารถึง 130 กิโลกรัมต่อปี สูงกว่าการทิ้งขยะอาหารต่อหัวในยุโรปที่อยู่ในระดับ 95 กิโลกรัมและสูงกว่า 115 กิโลกรัมในอเมริกาเหนือ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อให้มีการรีไซเคิลขยะอาหารกองมหึมา
ในปี 2005 รัฐบาลห้ามทิ้งขยะในพื้นที่ฝังกลบ ต่อมาปี 2013 ได้ห้ามไม่ให้ทิ้งน้ำขยะหลังจากแยกเศษขยะออกไปแล้วลงทะเล พร้อมกับบังคับให้มีการรีไซเคิลอาหารด้วยการใช้ถุงชนิดย่อยสลายได้ โดยครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 4 คนต้องจ่ายค่าถุงรายเดือนจำนวน 6 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนทำปุ๋ยหมัก และรัฐบาลอนุญาตให้นำขยะอาหารที่รีไซเคิลแล้วไปใช้เป็นปุ๋ย และส่วนหนึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์
การเก็บค่าถุงสามารถจัดเก็บได้ถึง 60% ของต้นทุนการทำโครงการ ส่งผลให้ปริมาณขยะอาหารที่รีไซเคิลเพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 1995 เป็น 90.2% ในปี 2016 และเพิ่มเป็น 95% ในปัจจุบัน เฉพาะในกรุงโซลสามารถลดปริมาณขยะลงได้ 400 ตันต่อวัน ส่งผลให้กรุงโซลจากเดิมที่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นขยะ กลายเป็นเมืองที่มีโครงการจัดการกับการรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก
เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโครงการ ในกรุงโซลที่เป็นเมืองหลวงได้มีการจัดวางถังขยะอัตโนมัติที่ติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักและ RFID เทคโนโลยีระบุและบันทึกข้อมูล เพื่อชั่งน้ำหนักขยะอาหารที่นำมาทิ้งและเก็บเงินจากผู้ที่นำขยะมาทิ้งจากบัตรประชาชน
ระบบการจ่ายเงินเท่ากับขยะอาหารที่รีไซเคิล (pay-as-you-recycle) ด้วยการใช้เครื่อง ส่งผลให้ขยะอาหารในกรุงโซลลดลง 47,000 ตันใน 6 ปี
การใช้ถังขยะที่ติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักและ RFID ในชุมชนเพื่อจัดการกับขยะอาหารกลายเป็นกระแสความนิยมของการพัฒนาแบบใหม่ของเมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ณ เดือนมกราคมปี 2019 ทั้งประเทศมีถังขยะ RFID จำนวน 75,425 ใบ ครอบคลุมพื้นที่ 38.2% ของประเทศและ 54% ของกรุงโซล
นอกจากนี้ได้มีการเรียกร้องให้ชาวเมืองลดน้ำหนักขยะที่จะนำไปทิ้งด้วยการลดความชื้นของขยะลง ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ชาวเมืองจ่ายเงินค่ารีไซเคิลขยะลดลงเพราะขยะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำผสมถึง 80% แต่ยังประหยัดงบให้กับภาครัฐถึง 8.4 ล้านดอลลาร์ในการใช้จ่ายเก็บขยะใน 6 ปีนั้นเช่นกัน
ก่อนหน้านี้แต่ละบ้านทิ้งขยะได้ไม่จำกัดปริมาณ แต่ต้องซื้อถุงขยะราคา 9 เซนต์ต่อใบแล้วต้องนำไปทิ้งในสถานที่ที่ทิ้งขยะที่กำหนดไว้ในแต่ละพื้นที่ ตามปริมาณขยะที่จะทิ้ง ซึ่งแต่ละบ้านจะประหยัดเงินค่าถุงได้เท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่ามีน้ำอยู่ในขยะมากน้อยแค่ไหน
ขยะที่เก็บภายใต้โครงการถุงย่อยสลายจะถูกบีบอัดในกระบวนการของโรงงาน เพื่อลดความชื้น ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพและน้ำมันชีวภาพ ขยะแห้งจะนำไปใช้เป็นปุ๋ย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในเมือง

จำนวนพื้นที่เกษตรหรือฟาร์มในเมือง หรือสวนของชุมชนในกรุงโซลเพิ่มขึ้น 6 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่รวม 170 เฮกตาร์ หรือเท่ากับสนามฟุตบอล 240 สนาม ที่ส่วนใหญ่ขนาบด้วยอพาร์ตเมนต์ บางแห่งอยู่บนหลังคาโรงเรียนหรือชั้นดาดฟ้าของอาคารสำนักงานเทศบาล และมีแห่งหนึ่งอยู่ในชั้นใต้ดินของอพาร์ตเมนต์เป็นฟาร์มเห็ด
รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในช่วงแรกถึง 80-100% รวมทั้งด้านอาหาร ผู้จัดทำโครงการให้ข้อมูลว่า ฟาร์มในเมืองเป็นสิ่งที่ดึงให้ผู้คนมาร่วมกันเป็นชุมชน จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ อีกทั้งหน่วยงานประจำจังหวัดมีแผนที่ติดตั้งเครื่องกำจัดขยะอาหารเพื่อสนับสนุนฟาร์มในเมือง
นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า ในระยะยาว ชาวเกาหลีใต้ต้องปรับนิสัยการกิน โดยเฉพาะเครื่องเคียง Bancha หากต้องการที่จะเปลี่ยนการทิ้งขยะอาหาร
คิม มิ ฮวา ประธานเครือข่ายนักเคลื่อนไหว Zero Waste กล่าวว่า ยังมีข้อจำกัดปริมาณการใช้ปุ๋ยจากขยะอาหาร ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนนิสัยการกิน เช่น เปลี่ยนไปกินอาหารจานเดียวเหมือนกับในประเทศอื่นๆ หรือลดจำนวนจานเครื่องเคียงลง
การสูญเสียอาหารกับอาหารที่ถูกทิ้ง
ได้มีการประเมินกันว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นในโลกสูญเสียไปหรือไม่ก็ถูกทิ้ง ในยุคที่ประชาชนจำนวนราว 1 พันล้านคนต้องหิวโหย การปล่อยให้มีการสูญเสียอาหารหรือทิ้งอาหารเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และยังแสดงให้เห็นถึงการใช้แรงงาน การใช้น้ำ การใช้พลังงาน การที่ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเปล่า อาหารมีคุณค่ามากกว่าที่เห็นอยู่บนจาน ดังนั้นจึงต้องตระหนักถึงรู้ถึงคุณค่าของอาหาร
การสูญเสียอาหาร หมายถึง การลดลงของอาหารที่จะบริโภคได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตไปจนถึงตลาด ซึ่งอาจจะเป็นผลจากปัญหาการเก็บเกี่ยวก่อนถึงฤดูกาล เช่น แมลง หรือจากการเก็บเกี่ยวโดยตรง ทั้งการเก็บ การจัดส่ง รวมไปถึงการขาดแคลนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบตลาดและกลไกราคา ตลอดจนกรอบกติกาทางกฎหมาย
ขยะอาหารหรืออาหารที่ถูกทิ้ง หมายถึง การทิ้งอาหารหรือสิ่งที่ใช้แทนอาหารซึ่งสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย การทิ้งอาหารมาจากหลายสาเหตุ เช่น อาหารที่ผลิตขึ้นมานั้นไม่ได้รูปทรง ขนาด หรือสีตามที่ต้องการ ที่คัดออกตามกระบวนการผลิต หรืออาหารที่ทิ้งเนื่องจากป้ายบอกใกล้วันหมดอายุ หรือ “best-before” ที่ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคโยนทิ้ง
อาหารที่กินได้จำนวนมากไม่ได้ใช้หรือถูกทิ้ง หรือขนออกจากครัวหรือสถานประกอบการ
การลดการสูญเสียและการลดขยะอาหารจะนำไปสู่การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น ซึ่งจะผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ชีวิต