วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เทสโก้ โลตัส ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหอการค้าไทย ขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดงานประชุม 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste นำเสนอกรอบการทำงาน Target, Measure, Act เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 (UNSDG Target 12.3) ในการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ทั้งภาคการผลิต ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ร้านค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร ไปจนถึงระดับครัวเรือน ตลอดจนภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักวิชาการ ร่วมระดมสมองและแสดงเจตนารมย์แก้ปัญหาขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหาขยะอาหารเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของโลกและประเทศไทยที่ทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไข โดยข้อมูลปี 2561 พบว่าไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 27 ล้านตัน ในจำนวนนี้ยังพบว่า 64% เป็นขยะอินทรีย์ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งเป็นขยะที่มาจากอาหาร ทั้งนี้ หากจัดการกับขยะอาหารเหล่านี้อย่างไม่ดีพอ จะเกิดการย่อยสลายในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็น ก๊าซเรือนกระจก มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โลกร้อนขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้จะเวียนมาส่งผลกระทบกับเกษตรกร
ประเทศไทยประกาศเป้าหมายลดขยะอาหารร้อยละ 5 ต่อปี
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นการดําเนินงานเก็บข้อมูลและจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยบรรจุเรื่องปัญหาขยะอาหารไว้ในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 2560-2579 มีเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ 5% ต่อปี และร่างแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาการจัดการของเสียชุมชนปี 2564-2573 มีเป้าหมายลดขยะให้ได้ 25% ภายในปี 2568
นอกจากนี้ได้เริ่มมีการศึกษาวิจัยในด้านขยะอาหาร แต่ยังต้องเพิ่มการศึกษาวิจัยข้อมูลทั้งในภาครวมของประเทศและภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเดินหน้าปฏิบัติงานต่อไปในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงระดับเจ้าหน้าที่เพื่อผลักดันการลดขยะอาหารในประเทศไทย
“ท่านเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวไว้ว่า ปู่ย่าตาทวดของพวกเรา ไม่ได้ให้โลกใบนี้กับเราไว้ เราไม่ได้รับมรดกโลกใบนี้มาจากปู่ย่าตายายของพวกเรา เราขอยืมโลกใบนี้ เราขอยืมทรัพยากรธรรมชาติฯ เราขอยืมผืนป่า และท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์มาจากลูกหลานของพวกเรา เราขอยืมมาจากคนรุ่นหน้า จากเจเนอเรชั่นต่อๆไป ดังนั้นยืมของเขามาแล้ว เราต้องช่วยกันคืนของให้เขาในสภาพที่สมบูรณ์” นายวราวุธ กล่าว
เทสโก้ โลตัส เปิดสูตรสำเร็จ Target, Measure,Act
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารในปริมาณมาก เทสโก้ โลตัส ตระหนักถึงความรับผิดชอบของเราในการลดขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเอง แต่เหนือไปกว่านั้น เรายังสามารถมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เกิดขึ้นได้ในวงกว้างขึ้น เนื่องจากเราอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร และผู้บริโภค กลุ่มเทสโก้ ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเองลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และนอกจากนั้นยังมีเป้าหมายช่วยให้ประเทศที่เราประกอบธุรกิจอยู่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สามารถลดปริมาณขยะอาหารได้ลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี ค.ศ. 2030 เช่นกัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 จึงเป็นที่มาของความพยายามของเราในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติและขยายผลครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหารในประเทศไทย”
เมื่อปี 2560 เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นผู้นำการลดขยะอาหารในประเทศไทย โดยพยายามลดปริมาณขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ไปจนถึงการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด ล่าสุด เทสโก้ฯเป็นค้าปลีกเจ้าแรกในไทยที่มีการวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารภายในธุรกิจของตนเอง พร้อมกับตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ตามเป้าหมายข้อ 12.3 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
“ในฐานะของธุรกิจค้าปลีก เราอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร เราเป็นผู้เชื่อมโยงต้นน้ำก็คือผู้ผลิต จนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค เราเชื่อว่าเรามีบทบาทและความรับผิดชอบในการเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือที่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงเพื่อลดอาหารขยะในประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม เทสโก้ โลตัส เชื่อว่าการสร้างความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานในการลดปริมาณขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกรอบแนวคิด ( Framework) Target, Measure, และ Act ซึ่งเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของการลดขยะอาหารที่ใช้ในองค์กรชั้นนำทั่วโลก
“ขยะอาหารไม่ใช่ปัญหาของภาคส่วนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน” นายสมพงษ์ กล่าว
สร้างแนวร่วมลดขยะอาหารสู่ธุรกิจ 1.2 แสนรายทั่วประเทศ
ในงานดังกล่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทสโก้ โลตัสและหอการค้าไทย ยังร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้เครือข่ายสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศรวมกว่า 120,000 ราย มาร่วมกันลดขยะอาหาร และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการบริหารหอการค้าไทย เปิดเผยว่าหอการค้าไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดมลภาวะที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหาร โดยมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายหอการค้าไทย ภาครัฐ และภาควิชาการ ที่ได้ร่วมกันวางแผนและจัดกิจกรรมต่างๆในการขับเคลื่อนการลดขยะอาหาร เพื่อส่งเสริมการสร้างวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน
เราเชื่อว่าการลดขยะอาหารและการใช้ทรัพยากรอาหารอย่างคุ้มค่าตามแนวคิด Circular Economy จะช่วยให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับคนไทยในวันนี้และในอนาคตได้ แต่เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ถ้าขาดความร่วมมือจากเครือข่ายและภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งหอการค้าไทยขอเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงองค์กรภาคส่วนต่างๆที่จะร่วมกันแก้ปัญหาขยะอาหารและสร้างสรรค์ประเทศไทยให้น่าอยู่ไปด้วยกัน
UNEPชี้กลไกความร่วมมือรัฐเอกชนหัวใจการขับเคลื่อน
ระหว่างการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Global and Thailand’s Challenge Towards Achieving Target 12 of the UNSDG นางสาวเจเน็ต ซาเลม เจ้าหน้าที่โปรแกรม Resource Efficiency and Sustainable Consumption and Production โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ฉายภาพปัญหาขยะอาหารของโลกว่า แต่ละปี ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารราว 1.3 พันล้านตัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้น ขยะอาหารเหล่านี้มีมูลค่าประมาณ 9.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังสร้างก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดังนั้นหากสามารถลดขยะอาหารได้ก็จะส่งผลดีต่อสภาพภูมิอากาศโลกเช่นกัน และช่วยลดการสูญเสียเม็ดเงินดังกล่าวไปได้
ทั้งนี้ ทาง UN กำหนดเป้าหมาย SDG ข้อ 12.3 เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายใน 2573 ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีแนวทางแก้ปัญหาการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) ดังนี้ 1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ เป้าหมายและแผนการดำเนินงานเพื่อลดขยะอาหาร 2. กำหนดกลไกวัดผล 3. ลงมือปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ พร้อมให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะอาหารแก่คนในสังคม 4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และ 5. แต่ละประเทศจำเป็นต้องประเมินประสิทธิภาพของการรักษาอุณหภูมิและความต้องการ เพื่อกำหนดแผนความยั่งยืนจากการรักษาสภาพภูมิอากาศร่วมกับคณะทำงานเพื่อสร้างระบบที่จะช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสูญเสียอาหาร
“ขณะนี้ UN กำลังอยู่ระหว่างจัดทำ Food Waste Index หรือดัชนีขยะอาหาร ซึ่งจะได้ข้อสรุป methodology เพื่อการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ภายในสิ้นปี 2562 และคาดว่าจะเปิดตัวดัชนีฯ นี้ได้ในปี 2563 เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกๆ ที่มีส่วนร่วมในดัชนีนี้” นางสาวเจเน็ต กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา UN ได้ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย เช่น การร่วมมือกับโรงเรียนสอนทำอาหาร ให้ความรู้และกระตุ้นให้นักเรียนของโรงเรียนค้นหาขยะอาหารจากตลาด หรือรู้จักคัดเลือกและประยุกต์ใช้ชิ้นส่วนของวัตถุดิบที่เป็นขยะอาหารมาปรุงอาหาร เป็นต้น