ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 พ.ย. 2561
ป.ป.ช. สรุป สมเด็จพระสังฆราชไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน สภามหา’ลัยยังต้องยื่น แต่ยืดเวลาให้ 60 วัน
จากประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๒ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 นั้น
ด้วยเนื้อหาสาระของประกาศดังกล่าว ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจะไม่ใช่แค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย และก็เช่นเคยที่หน้าที่ดังกล่าวย่อมแผ่ขยายไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้น แต่ที่ไปไกลกว่านั้นก็คือ ตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๖๑ แม้กระทั่งภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ต้องยื่นบัญชีฯ เช่นกัน (ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. บอกว่าติดตามได้ไม่ยาก)
ทว่า ด้วยความละเอียดซับซ้อนของการยื่นบัญชีฯ ที่แม้ไม่จงใจปกปิด แต่หากผิดพลาด ก็อาจติดคุกได้ ทำให้หลายๆ ฝ่ายที่อยู่ดีๆ กลับต้องมายื่นบัญชีฯ ตามประกาศนี้ไม่ค่อยสบายใจ ดังเช่นที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายๆ คน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งใหม่ที่ต่อไปนี้ต้องยื่นบัญชีฯ ประกาศว่าจะลาออก หรือบางคนก็ลาออกไปแล้ว
กระทั่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนัครินทร์ ซึง่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ชี้แจงว่า การลาออกของนายมีชัยนั้นอยู่ในกลุ่มคนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว
“คนที่จะลาออกส่วนหนึ่งเพราะจะครบวาระอยู่แล้ว อย่างเช่นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะครบวาระในเดือน ม.ค. 2562 อยู่แล้ว และกลับมาเป็นไม่ได้แล้ว ท่านเห็นว่าประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 2 ธ.ค. จึงบอกว่าจะอยู่ไปทำไมให้ครบวาระแล้วก็จะต้องยื่น จึงออกไปเสียแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับประกาศที่จะมีผลกระทบในวันที่ 2 ธ.ค. เพราะคนที่คิดอย่างนี้มีเยอะ” นายวิษณุกล่าว
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ประกาศนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วน และอาจส่งผลเสียต่อการบริหารงานองมหาวิทยาลัย ที่กรรมการสภาฯบอกว่าจะลาออกไม่ใช่การขู่แต่พร้อมทำจริง ผมเองที่สุดถ้าดูว่าการแก้ไขปัญหาไม่ลงตัวก็ลาออกแน่นอน เพราะการยื่นบัญชีมีกระบวนการที่ยุ่งยากมาก ตัวผมก็เคยยื่นมาก่อนก็ทราบดี เอกสาร ข้อมูลที่ต้องกรอกมีมาก เราไม่ได้กลัวการเปิดเผยแต่กลัวจะตกหล่นว่ายื่นไม่ครบ กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนมากอายุเยอะอาจจะมีหลงลืม บางคนอาจจะแยกกับครอบครัวการติดตามเอกสารข้อมูลก็ยาก หรือพบไม่ได้ยื่นก็เป็นเรื่องถึงคดีอาญา ทั้งที่แค่หลงลืมไม่มีเจตนาไม่ยื่น ตรงนี้ยังเป็นการเปิดช่องที่ทำให้เกิดการร้องเรียน เพราะไม่ว่าคนไหนจะยื่นครบ หรือหลงลืมยื่นไม่ครบแต่มีคนไปร้อง ป.ป.ช. ก็ต้องเรียกสอบหมด ป.ป.ช. จะมีเรื่องร้องเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนและดูให้รอบคอบ”
อนึ่ง เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีฯ ตามประกาศฉบับนี้ ก็ได้เกิดความห่วงกังวลว่า สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จะต้องทรงยื่นบัญชีฯ ด้วยหรือไม่
ล่าสุด เว็บไซต์สำนักข่าวอิสรารายงานว่า พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ตอบกรณีสมเด็จพระสังฆราชต้องยื่นบัญชีฯ หรือไม่ว่า ประเด็นนี้ ป.ป.ช. วินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว มีความชัดเจนว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากทรงเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ต่าง ๆ ดังนั้นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนในกรณีของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงในการแถลงผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ถึงกรณีประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ว่า ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยยังคงเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เนื่องจากเป็นตำแหน่งใหม่ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากจะให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับในทันทีกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอาจกระทบต่อการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัย
จึงมีมติให้ระยะขยายเวลา การบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเฉพาะในส่วนของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยไม่รวมถึงตำแหน่งอธิการบดีทั้งในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ
นอกจากนี้ การขยายระยะเวลาดังกล่าวรวมถึงตำแหน่งประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบัน และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า
โดยให้ขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไปอีก 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2561 ดังนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตามประกาศป.ป.ช. ยังมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 นี้เช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รวบรวมความคิดเห็นของบุคลากรทางการศึกษา ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเพื่อพิจารณาในรายละเอียด แล้วจะได้ชี้แจงให้ทราบ
พรรคเล็กจ่อยื่น กกต. เลื่อนเลือกตั้งเพื่อความเท่าเทียม
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 มีรายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งข้อความในกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวว่า “ด่วน กลุ่มพรรคการเมือง นัดแถลงข่าวและยื่นหนังสือถึง กกต. วันที่ 22 พ.ย.2561 ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ขอเลื่อนการเลือกตั้งเป็นวันที่ 5 พ.ค. 2562 พรรคการเมืองใดจะร่วมลงชื่อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งประสานงาน ดร.สาธุ อนุโมทามิ หน้าพรรคพลังไทยดี”
ต่อมาพรรคทางเลือกใหม่ได้ส่งหมายข่าวมายังสื่อมวลชน ว่าจะไปยื่นเอกสารต่อ กกต. อ้างว่า กำหนดการเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงขอยื่น กกต.เลื่อนเลือกตั้งเป็นวันที่ 28 เมษายน หรือ 5 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้พรรคเกิดใหม่เตรียมตัว สร้างความเท่าเทียมพรรคเก่า ใหม่
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความ “กลุ่มพรรคการเมือง นัดแถลงข่าวและยื่นหนังสือถึง กกต. วันที่ 22 พ.ย. 2561 ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ขอเลื่อนการเลือกตั้งเป็นวันที่ 5 พ.ค. 2562 โดยพรรคการเมืองใดจะร่วมลงชื่อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งประสานงาน ดร.สาธุ อนุโมทามิ หน้าพรรคพลังไทยดี” ว่าเนื่องจากเห็นว่าแม้ขณะนี้จะมีโรดแมปการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่เงื่อนไขในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมืองยังติดเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปัญหาต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง ทั้งการหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้รับจดจัดตั้งใหม่จะมีเวลาในการหาสมาชิกน้อย แม้ กกต. จะบอกว่าสามารถจดจัดตั้งพรรคที่ยื่นจดจัดตั้งก่อนวันที่ 26 พ.ย. ได้ทันการเลือกตั้งก็ตาม แต่พรรคการเมืองเหล่านั้นก็จะมีเวลาในการดำเนินที่กระชั้นชิด และสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองก็ยังไม่นิ่ง เพราะขณะนี้มีการเปิดให้พรรคการเมืองหาสมาชิก สมาชิกพรรคการเมืองบางคนอาจเปลี่ยนใจไปอยู่กับพรรคอื่น จนอาจทำให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่มีสมาชิกไม่ครบ 500 คน ดังนั้น ทางพรรคพลังไทยดีจึงได้หารือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นว่าเนื่องจากประเทศว่างเว้นการเลือกตั้งมานานแล้ว ดังนั้นการจัดเลือกตั้งในครั้งนี้ควรเป็นการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ พรรคการเมืองมีเวลาหาสมาชิกที่เพียงพอ และสามารถคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอุดมการณ์ตรงกับพรรค ประชาชนมีตัวเลือก
“การเสนอเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้เราไม่ได้ต้องการที่จะยื้อการเลือกตั้ง เพราะหากเลื่อนการเลือกตั้งก็จะเลื่อนออกไปอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น และในเวลา 2 เดือนนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้เตรียมตัวลงเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้มีพรรคการเมืองเห็นด้วยกับการเสนอเลื่อนการเลือกตั้งแล้วประมาณ 10 พรรค อาทิ พรรคแผ่นดินธรรม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ขณะที่พรรคพลังไทยดีซึ่งได้ยื่นจดจองชื่อพรรคไว้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ก็จะมีการไปยื่นจดจัดตั้งพรรคในวันที่ 19 พ.ย. นี้”
ล้อมคอกมวยเด็ก สนช. เร่งดัน พ.ร.บ.มวย ห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ขึ้นสังเวียน
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2561 นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ศึกษาและกีฬา ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ จะนำกรณีนักมวยเด็กเสียชีวิตจากการถูกน็อกในการแข่งขันชกมวยมาหารือในที่ประชุม กมธ. เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา ขณะนี้ สนช. กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. เพื่อส่งกลับมาให้ สนช. พิจารณา หลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้ห้ามเด็กชกมวย ยังให้เด็กชกมวยได้อยู่ เพียงแต่ต้องการปกป้องเด็กให้ได้รับความปลอดภัยจากการชกมวย เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป โดยกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีห้ามชกมวย ถ้าเป็นเด็กอายุ 12-15 ปี สามารถชกได้ แต่ต้องใส่เครื่องป้องกันตัว เช่น สวมเฮดการ์ด เพื่อป้องกันสมองเด็ก อยากให้ค่ายมวยเข้าใจจุดประสงค์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่อยากให้นำเหตุผลเรื่องความยากจนของเด็กที่ต้องช่วยครอบครัวหารายได้มาทำลายสิทธิของเด็กที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองให้หายไป เพราะการช่วยเหลือครอบครัวหารายได้ทำได้หลายวิธี ไม่ใช่การชกมวยอย่างเดียว สนช. พร้อมรับฟังความเห็นของค่ายมวย หาก ครม. ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาให้ สนช. ก็พร้อมที่จะให้ค่ายมวยมีตัวแทนอยู่ในกรรมาธิการฯ หรือจะมาชี้แจงให้ความเห็นก็ได้ เรายินดีรับฟัง
กพท. แจ้ง ไทยไลอ้อนแอร์ ปรับปรุงคู่มือใช้เครื่องบินตามคำเตือนเอฟพีเอ หลังพบมีรุ่นที่ตกบินในไทย 3 ลำ
วันที่ 15 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ถึงกรณีที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ได้ประกาศข้อบังคับฉุกเฉินใหม่สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แมกซ์ หลังเครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบินไลอ้อนแอร์ประสบอุบัติเหตุตกนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ว่า เอฟเอเอได้ออกคำเตือนและขอให้บริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 แมกซ์ ปรับปรุงคู่มือการใช้งานเครื่องบินเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้งาน ใหม่ทั้งหมด โดยให้เพิ่มขั้นตอนความปลอดภัยด้านการปฏิบัติงาน ด้านการบินเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก
ทั้งนี้ กพท. ในฐานะที่กำกับดูแลสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย จึงได้สำรวจสายการบินของไทยทั้งหมด ว่ามีการนำเครื่องรุ่นดังกล่าวมาใช้หรือไม่ ปรากฏว่า มีเพียงสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ที่นำเครื่องบินดังกล่าวมาให้บริการแก่ผู้โดยสาร กพท. จึงได้ทำหนังสือด่วน ไปยังสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ให้ทำการปรับปรุงคู่มือการใช้งานเครื่องบินเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้งานตามคำแนะนำของเอฟเอเอ และจากการตรวจสอบพบว่า ไทยไลอ้อนแอร์มีการนำเครื่องบินโบอิ้ง แม็กซ์ มาทำการบินในไทย 3 ลำ กพท. จึงได้แจ้งให้ไทยไลอ้อนแอร์ปรับปรุงคู่มือการใช้งานเครื่องบินให้เป็นไปตามคำเตือนของเอฟเอเอ และเมื่อปรับปรุงคู่มือแล้วเสร็จ ก็จะต้องส่งคู่มือภายหลังการปรับปรุงมาให้ กทพ. ตรวจสอบความถูกต้องต่อไป
กลาโหมเกาหลีใต้แถลงขอโทษกรณีทหารในกองทัพข่มขืนผู้ชุมนุมกวางจู
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 7 พ.ย. 2561 เอเอฟพีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลงขอโทษอย่างเป็นทางการต่อกรณีที่ทหารในกองทัพข่มขืนนักศึกษาและวัยรุ่นสาว รวมถึงพลเรือนหญิง ระหว่างการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ลุกฮือต่อต้านการรัฐประหารโดยนายพลชุน ดูฮวาน ในเมืองกวางจู (ควังจู) เมื่อปี พ.ศ. 2523 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู 1980
ปัญหาการคุกคามและการทำร้ายทางเพศต่อสตรีในเกาหลีใต้ถูกซุกใต้พรมและเก็บเงียบมา 38 ปี ล่าสุดรัฐบาลสายพิราบของเกาหลีใต้ มอบหมายให้นายชอง คยองดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แถลงลงโทษถึงพฤติกรรมของทหารในช่วงเวลาดังกล่าว ในนามกองทัพและรัฐบาล
“ผลการสอบสวนยืนยันว่า มีเหยื่อถูกข่มขืน ทำร้ายและทารุณโดยทหารภายใต้กฎอัยการศึก เหยื่อมีทั้งวัยรุ่น หญิงสาว นักศึกษา ไปจนถึงหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมการประท้วง …. ในนามของรัฐบาลและกองทัพ ข้าพเจ้าขอโค้งคำนับและเอ่ยคำว่า ขอโทษ ต่อสิ่งที่สร้างความเจ็บปวด แผลเป็นลึกจนเกินกว่าจะบรรยายได้ต่อเหยื่อผู้บริสุทธิ์” นายชองกล่าว
ตามตัวเลขทางการ มีผู้ถูกปราบปรามมากกว่า 200 คน เสียชีวิตหรือสูญหาย ขณะที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ยอดรวมจริงน่าจะสูงกว่าตัวเลขทางการถึงสามเท่า
การสอบสวนอย่างจริงจังเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.คิม ซุน อ๊ก เหยื่อรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางทีวีเมื่อเดือน พ.ค. ว่า ตนเองถูกเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนข่มขืน กรณีดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่เปิดการผลสอบสวนขยายผลและยืนยันได้ว่ามีผู้เสียหายอย่างน้อยอีก 17 ราย