
คนส่วนหนึ่งอาจรู้จักแขวงเชียงขวางในฐานะที่ตั้งแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ “ทุ่งไหหิน” ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ของลาว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ต่อจากเมืองหลวงพระบางและวัดพูจำปาสัก ความจริงแล้ว จุดเด่นของเชียงขวางมีมากกว่านั้น
เชียงขวางเป็นแขวงที่ไม่ติดแม่น้ำโขง ไม่มีดินแดนติดกับประเทศไทย ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ไม่กี่ปีมานี้ โครงการพัฒนาหลายโครงการได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อยกระดับความสำคัญและขับบทบาทของเชียงขวางให้โดดเด่นกว่าแต่ก่อน จนดูเหมือนว่า เป้าหมายการพัฒนาแขวงเชียงขวาง อาจไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
…….
วันที่ 6 มิถุนายน 2568 ได้มีพิธีเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 เชื่อมระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ กับเมืองปากซัน แขวงบ่อลิคำไซ มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนฝ่ายไทย และ สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายลาว
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ยาว 1,350 เมตร อยู่ในฝั่งไทย 815 เมตร ฝั่งลาว 535 เมตร ตัวสะพานกว้าง 17.40 เมตร แบ่งเป็น 4 ช่องจราจร ขาไปและขากลับฝั่งละ 2 เลน สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(NEDA) ของไทย ให้การสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างสะพานแห่งนี้
การก่อสร้างเริ่มเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 98.4% คาดว่าจะเปิดใช้ได้ปลายปีนี้(2568) ซึ่งตรงกับวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลาว
หลังสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เริ่มเปิดใช้งาน ในปี 2569 กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ก็มีแผนจะสร้างสนามบินบึงกาฬ ขนาดรันเวย์ยาว 2,990 เมตร บนพื้นที่ 4,400 ไร่ ในเขตตำบลวิศิษฐ์ ตำบลโป่งเปือย อำเภอเมือง และอำเภอโซ่พิสัย ห่างจากสะพานมิตรภาพ 12 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ 25 กิโลเมตร
ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามแผนการ หากโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เริ่มก่อสร้าง จะใช้เวลาสร้าง 4 ปี(2569-2572) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2572
แม้โดยชื่อ ที่ตั้งสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างไทยกับลาว เพียง 2 ประเทศ แต่เป้าหมายที่ไกลออกไปของสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเชื่อมจากไทยขึ้นไปยังประเทศเวียดนาม โดยผ่านแขวงบ่อลิคำไซ แขวงไซสมบูน และแขวงเชียงขวาง
เมื่อสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 เปิดใช้งานแล้ว ผู้ที่ได้ข้ามสะพานมิตรภาพจากฝั่งบึงกาฬไปถึงเมืองปากซัน สามารถเดินทางต่อขึ้นไปยังแขวงเชียงขวาง และทุ่งไหหินได้ โดยใช้โครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้ว ในระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร
จากจุดเริ่มต้นที่เมืองปากซัน ถนนสายนี้จะผ่านขึ้นไปยังเมืองท่าโทม แขวงไซสมบูน ต่อขึ้นไปเมืองคูน อดีตเมืองหลวงเดิมของแขวงเชียงขวาง เมืองโพนสะหวัน(เดิมชื่อเมืองแปก) เมืองหลวงปัจจุบัน และทุ่งไหหิน
เส้นทางนี้จะสั้นกว่าถนนจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านเมืองวังเวียง พูคูน ไปยังเชียงขวาง และทุ่งไหหิน ซึ่งนอกจากมีระยะทางที่ยาวกว่าแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชันมากกว่า
จากเมืองโพนสะหวัน เมื่อเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 7 ไปทางทิศตะวันออก จะไปสิ้นสุดยังด่านสากลน้ำกั่น เมืองหนองแฮด ที่อยู่ติดกับอำเภอกี่เซิน จังหวัดแหงะอาน จังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดทางตอนเหนือของเวียดนาม และเป็นบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดี โฮจิมินห์
หากวัดระยะห่างเป็นเส้นตรงโดยใช้เครื่องมือใน Google Map จากจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 ขึ้นไปจรดพื้นที่เชียงขวาง จะยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ต่อขึ้นไปยังเมืองโพนสะหวัน ยาวประมาณ 120 กิโลเมตร และเมื่อเบนทิศไปยังด่านชายแดนน้ำกั่น ทางทิศตะวันออก จะยาวประมาณ 130 กิโลเมตร
วันที่ 8 เมษายน 2568 เพจ ລາວ ไทย (https://www.facebook.com/share/p/1SjV7Wr7Qz/) ได้เผยแพร่ภาพชุดถนนจากเมืองปากซัน ขึ้นไปยังแขวงเชียงขวาง รวม 12 ภาพ เขียนบรรยายสั้นๆว่า”เส้นทางปากซัน-เชียงขวาง ถนนดีจนถึงเมืองท่าโทม หลังจากนั้นค่อนข้างมีหลุมเยอะ ยังเดินทางได้เป็นปกติ”…
วันที่ 30 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลลาว โดยกระทรวงแผนการและการลงทุน ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) ให้กลุ่มบริษัทพงสะหวัน เป็นผู้ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง ทางด่วนเส้นใหม่จากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านแขวงไซสมบูน แขวงเชียงขวาง ไปสิ้นสุดที่ด่านน้ำโสย-นาแม้ว ชายแดนลาว-เวียดนาม เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
MOU ระหว่างรัฐบาลลาวกับกลุ่มบริษัทพงสะหวันฉบับนี้ มีอายุ 24 เดือน
ตามข่าวที่ถูกระบุในสื่อของลาว ทางด่วนที่กำลังจะมีการสำรวจโดยกลุ่มบริษัทพงสะหวันสายนี้ เป็นแนวเส้นทางใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน 2565 รัฐบาลลาวเคยเซ็น MOU ให้บริษัทนานาซินและบริษัทบิ๊ก บราเธอร์ 456เป็นผู้ศึกษา สำรวจ และออกแบบก่อสร้างทางด่วนจากเวียงจันทน์ไปยังชายแดนลาว-เวียดนามที่แขวงหัวพันมาแล้วครั้งหนึ่ง
รายละเอียดที่ถูกเผยแพร่ในพิธีเซ็น MOU ระหว่างกระทรวงแผนการและการลงทุน กับบริษัทนานาซินและบริษัทบิ๊ก บราเธอร์ 456 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 การสำรวจ ออกแบบ ทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปยังด่านชายแดนน้ำโสย-นาแม้ว แขวงหัวพัน ในตอนนั้น แบ่งเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 เริ่มจากหลักกิโลเมตรที่ 21 เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังเมืองอะนุวง แขวงไซสมบูน
ช่วงที่ 2 จากเมืองอะนุวง แขวงไซสมบูน ไปยังเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง
ช่วงที่ 3 จากเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ไปยังหัวเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
ทางด่วนเวียงจันทน์-หัวพัน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างโครงข่ายทางด่วน”เวียงจันทน์-ฮานอย” เพื่อเชื่อมเมืองหลวงของ 2 ประเทศ ลาวและเวียดนาม
แนวคิดที่จะสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-หัวพัน ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะครั้งแรก เมื่อคราวที่ประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม เดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2564
วันที่ 29 ตุลาคม 2564 อาดนาดา บูลม รองอธิบดีกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากแผนกโยธาธิการและขนส่ง แขวงหัวพัน เชียงขวาง ไซสมบูน บ่อลิคำไซ เวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อกำหนดจุดเชื่อมต่อตามแนวทางด่วนเวียงจันทน์-หัวพัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงปลายทาง รวม 13 จุด ประกอบด้วย
-จุดเริ่มต้น สามแยกทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ หลักกิโลเมตรที่ 21 เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์
-จุดเชื่อมต่อ 1 เทศบาลเมืองล่องซาน แขวงไซสมบูน
-จุดเชื่อมต่อ 2 บ้านเซียงมี เมืองล่องซาน แขวงไซสมบูน
-จุดเชื่อมต่อ 3 เทศบาลเมืองอานุวง ผ่านไปยังเขตเมืองล่องแจ้ง แขวงไซสมบูน
-จุดเชื่อมต่อ 4 บ้านเชียงเหนือ เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง
-จุดเชื่อมต่อ 5 บ้านนาหอย เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง
-จุดเชื่อมต่อ 6 บ้านคายยอดงึม เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง
-จุดเชื่อมต่อ 7 บ้านเมืองคำ แขวงเชียงขวาง
-จุดเชื่อมต่อ 8 บ้านน้ำบาด เมืองคำ แขวงเชียงขวาง
-จุดเชื่อมต่อ 9 เทศบาลเมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน
-จุดเชื่อมต่อ 10 บ้านนาสะลา เมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน
-จุดเชื่อมต่อ 11 เทศบาลเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน
-จุดเชื่อมต่อ 12 เทศบาลเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
-จุดเชื่อมต่อ 13 บ้านห้วยหึง เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
-ปลายทาง ด่านน้ำโสย-นาแม้ว เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
ด่านชายแดนน้ำโสย-นาแม้ว นอกจากเป็นปลายทางด่วนที่มาจากเวียงจันทน์แล้ว ยังเป็นจุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 6 ของลาวด้วย
จากด่านน้ำโสยข้ามไปยังเมืองนาแม้ว จังหวัดทัญฮว้า ของเวียดนาม จะเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 217 จากนั้นมีจุดตัดกับถนนที่วิ่งขึ้นไปถึงเมืองฮหว่าบิญ จังหวัดฮหว่าบิญ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยเพียง 76 กิโลเมตร…
วันที่ 2 มิถุนายน 2568 กองทัพอากาศลาวได้จัดพิธีรับมอบสนามบินทุ่งไหหิน หรือสนามบินเชียงขวาง ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการปรับปรุงใหม่ ระยะที่ 1 จากบริษัท AVIC-INTL Project Engineering จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้รับสัมปทานในการปรับปรุงสนามบินทุ่งไหหินจากกองทัพอากาศ
การปรับปรุงระยะที่ 1 เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยขยายความยาวรันเวย์จากเดิม 2,500 เมตร เป็น 3,000 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงสร้างแท็กซี่เวย์ หรือเส้นทางเข้า-ออกรันเวย์ของเครื่องบินเพิ่มเติม
สนามบินทุ่งไหหินตั้งอยู่ที่เมืองโพนสะหวัน เดิมเป็นสนามบินขนาดเล็กที่อดีตสหภาพโซเวียตมาช่วยสร้างไว้ให้เพื่อใช้ในภารกิจด้านการทหาร ต่อมาประมาณปี 2541 รัฐบาลลาวต้องการเพิ่มภารกิจด้านการบินพาณิชย์ จึงได้โอนให้กรมการบินพลเรือน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง รับผิดชอบ
วันที่ 12 มิถุนายน 2563 รัฐบาลลาวได้โอนความรับผิดชอบสนามบินทุ่งไหหินกลับมาอยู่กับกองทัพอากาศอีกครั้งหนึ่ง พร้อมวางโครงการปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้สนามบินทุ่งไหหินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งภารกิจด้านการบินพาณิชย์และด้านการทหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหพันธรัฐรัสเซีย มีบริษัทไซทานี ก่อสร้างขัวทาง จำกัด และ บริษัททีเค ก่อสร้างและติดตั้งไฟฟ้า จำกัด ได้รับสัมปทาน
วันที่ 5 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 บริษัท ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียได้เข้าเคลียร์พื้นที่ 3,000 ไร่ โดยรอบสนามบินทุ่งไหหิน เพื่อเริ่มต้นการปรับปรุง แต่การปรับปรุงคืบหน้าไปได้ไม่มากนัก เพราะต้องพบกับอุปสรรคจากการระบาดของโควิด-19
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 กองทัพอากาศจึงโอนภารกิจปรับปรุงสนามบินทุ่งไหหินมาให้กับบริษัท AVIC-INTL Project Engineering จากจีน เป็นผู้รับช่วงต่อ จนสามารถส่งมอบสนามบินที่เสร็จสิ้นการปรับปรุงระยะที่ 1 ให้แก่กองทัพอากาศได้ในวันที่ 2 มิถุนายน 2568
พันเอก หุมแพง ปันยาสะหวัด หัวหน้าห้องการ กองบัญชาการกองทัพอากาศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์กองทัพประชาชนลาว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2568 ว่า แผนการปรับปรุงสนามบินทุ่งไหหินระยะต่อไป คือการขยายขีดความสามารถของสนามบินให้ได้มาตรฐานระดับสากลในทุกด้าน เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินทุกประเภทที่จะบินมาลงยังสนามบินแห่งนี้ได้
หลังสนามบินทุ่งไหหินผ่านการปรับปรุงใหม่ระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว สายการบินลาวและลาวสกายเวย์ ก็ได้เปิดเที่ยวบินเวียงจันทน์-เชียงขวาง-เวียงจันทน์ กลับมาอีกครั้ง หลังระงับไปชั่วคราวในช่วงการปรับปรุง
…….
รัฐบาลลาววางแผนยกระดับบทบาทของแขวงเชียงขวางมานานแล้ว ตั้งแต่เริ่มยื่นเรื่องต่อยูเนสโกขอขึ้นบัญชีทุ่งไหหินเป็นแหล่งมรดกโลก โดยกำหนดให้แขวงเชียงขวางเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 11 ที่ใช้ชื่อว่า”เชียงขวางเกม” ในปลายปี 2561 แต่เนื่องจากความไม่พร้อมบางประการ ทำให้ต้องเลื่อนจัดไปเป็นช่วงวันที่ 21-30 ธันวาคม 2562
วันที่ 6 มีนาคม 2562 ห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งการ เลขที่ 388/หสนย. ให้เลื่อนจัด “เชียงขวางเกม” ไปเป็นระหว่างวันที่ 22 มีนาคม-1 เมษายน 2563 โดยให้เหตุผลว่า สภาพอากาศในเชียงขวางช่วงเดือนธันวาคมนั้น”หนาวเย็นเกินไป”
เดือนกรกฎาคม 2562 ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนทุ่งไหหินเป็นมรดกโลก แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เกิดโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงในลาว ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงศึกษาและกีฬา มีมติให้เลื่อนจัดเชียงขวางเกมออกไปแบบไม่มีกำหนด
เมื่อลาวกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2565 รัฐบาลลาวตกลงจัดเชียงขวางเกมในระหว่างวันที่ 13-22 ธันวาคม 2565 ซึ่งตรงกับช่วงวันคล้ายวันเกิดของอดีตประธานประเทศ”ไกสอน พมวิหาน” โดยใช้ไหหินเป็นสัญลักษณ์ และนกนางแอ่นเป็นมาสคอต หรือสัตว์นำโชค
พร้อมๆกับโครงการอันหลากหลายที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อยกระดับบทบาทของแขวงเชียงขวางให้โดดเด่นขึ้น…
อ่านเพิ่มเติม
“มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”
ลาวกับการเดินหน้าสร้าง Land Link ทางด่วนเส้นใหม่ “เวียงจันทน์-ไซสมบูน-เชียงขวาง-หัวพัน” สู่เวียดนาม