ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ผ่าตัดด้วย พร้อมแจงศาล 13 มิ.ย.นี้ – มติ ครม.เพิ่มเงินชดเชยช่วยคนตกงานเป็น 60%

นายกฯยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ผ่าตัดด้วย พร้อมแจงศาล 13 มิ.ย.นี้ – มติ ครม.เพิ่มเงินชดเชยช่วยคนตกงานเป็น 60%

6 พฤษภาคม 2025


เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ยังไม่เลิกแจก ‘เงินหมื่น’ ชง ครม.ช้าเหตุ ‘ภาษีทรัมป์’ แทรก
  • ยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ผ่าตัดด้วย โอด “พูดไป-คนไม่เชื่อ”
  • เตรียมหลักฐานแจงศาลฎีกา 13 มิ.ย.นี้
  • มอบ ‘ภูมิธรรม-อนุทิน’ แก้ปัญหาไฟใต้
  • สั่งทุกกระทรวง- เรื่องงบฯให้เสนอ ครม.เป็นวาระปกติ
  • มติครม.เพิ่มเงินชดเชยช่วยคนตกงานเป็น 60% ของค่าจ้าง
  • จัดงบ 2,049 ล้าน ซ่อมถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 17 จว.
  • แก้กฎกระทรวงหนุนโรงงาน-ห้างร้าน ติดโซลาร์รูฟท็อป
  • กมธ.แนะ ป.ป.ช.เตรียมพร้อมรับกองทุนคุ้มครองพยาน – ฟ้องปิดปาก
  • เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

    จัดงบ 2,049 ล้าน ฟื้นฟูถนนที่เสียหายจากภัยพิบัติ 17 จว.

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 งบกลาง วงเงิน 2,049.69 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยพิบัติจำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เลย ภูเก็ต ยะลา พิษณุโลก อุดรธานี หนองคายและกาญจนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาถนนที่ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทาง

    กำหนด พ.ค.ทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ ‘Mind Month’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่องการขอความเห็นชอบกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งความสุขภาพใจ หรือ “Mind Month” ภายใต้แนวคิด “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” โดยกรมสุขภาพจิตจะดำเนินโครงการร่วมกับเครือข่ายใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ลดการตีตราทางสุขภาพจิต (2) การสร้างความตระหนักรู้ (3) การเข้าถึงบริการสุขภาพจิต และ (4) การสร้างพื้นที่ปลอดภัย

    เร่งทุกหน่วยกระตุ้นท่องเที่ยว ตามแคมเปญ ‘Amazing Thailand’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวเสนอแนวทางความร่วมมือการจัดทำแคมเปญ Amazing Thailand Tourism and Sport Year 2025 โดยขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่จะเพิ่มรายได้และพยุงเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ต่างประเทศมีความผันผวน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการพันธมิตรทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ ด้านสายการบิน ด้านโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ด้านห้างสรรพสินค้าและร้านค้า ด้านระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และด้านอีเวนต์

    ไม่สนับสนุนความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้-วอนสื่อช่วยแจง

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มีการสั่งการไปแล้วเรื่องของความรุนแรง รัฐบาลไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบ ทางทั้งตำรวจและทหารเอง กองทัพก็ได้คุยกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียบร้อย และได้สั่งการไปว่าให้ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้น นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้วก็ยังมีการทำความเข้าใจด้วยว่า มีอะไรที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ความร่วมมือได้อีกไหม”

    “สิ่งหนึ่งที่อยากให้เน้นย้ำ และรบกวนให้สื่อมวลชนช่วยกัน คือ เรื่องการ ‘แบ่ง’ แบ่งคำพูดที่ว่าศาสนาอะไร เชื้อชาติอะไร อย่างไรก็ตาม คนทุกๆ คนก็คือคน คนที่มีครอบครัว เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องมาแบ่งแยกกันตรงนี้ แต่ความรุนแรงไม่ควรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนเรื่องความรุนแรงแน่นอน ทุกชีวิตที่เสียไปเป็นชีวิตที่มีคุณค่า และมีความหมาย ก็ต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจเรื่องนี้ว่าเราไม่ไปแบ่งแยกกันแบบนั้น” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า ฝ่ายความมั่นคง วิเคราะห์สาเหตุความรุนแรงอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มีวิเคราะห์ในหลายรูปแบบ เรื่องความขัดแย้งหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเราก็พยายามดูเรื่องนี้ เรื่องความปลอดภัยก็เพิ่มเรื่องกำลัง และดูแล แต่ในทางเดียวกันเราต้องเพิ่มเรื่องความเข้าใจด้วยว่ามีความเข้าใจผิดอย่างไรบ้าง หรือมีความที่อยากจะเข้าใจในเรื่องอะไรเพิ่มเติม คือ การสื่อสาร ซึ่งจริงๆ แล้ว เราก็ทำเรื่องนี้ประกอบด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องกำลังอย่างเดียว”

    ระดมสรรพกำลังตั้งด่าน – ดูแลความปลอดภัย ปชช.ชายแดนใต้

    ถามต่อว่า นายกฯ จะใช้ช่องทางของนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ด้วยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทางคุณทักษิณได้มีการติดต่อกับประธานอาเซียนอยู่แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และในการพูดคุยต่างๆ ที่คุยกันก็พร้อมในการสนับสนุนและพร้อมพูดคุยด้วย ก็มีหลายช่องทางที่เข้ามาในเรื่องนี้ว่าอยากจะได้รับการสนับสนุน หรือ การพูดคุย แต่ยังไม่ได้ move อะไร แต่พร้อมในการพูดคุย”

    ถามต่อว่า จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้อย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ที่คุยกันตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา ทหารเข้าไปตั้งด่านเรียบร้อยแล้ว เรื่องสรรพกำลังต่างๆ เราเตรียมเต็มที่เป็นเชิงรุกแล้วว่า ถ้าใครทำผิดกฎหมายต้องดำเนินการตามกระบวนการ และกำลังเราลงไปพร้อม แต่อย่างที่บอก ถ้ากำลังเรื่องหนึ่ง ความเข้าใจเรื่องหนึ่ง ต้องประกอบกัน”

    เมื่อถามว่า ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ แล้วรัฐบาลทำมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องความเข้าใจ และกำลังด้วย ยิ่งตอนนี้มีความรุนแรงมากขึ้น กำลังเต็มที่แล้ว เข้าไปอย่างเต็มที่ และโฟกัสในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเต็มที่แน่นอน เราคุยกันทั้งนอกรอบ และเมื่อเช้าก็เน้นย้ำกันอยู่ว่า บางพรรคร่วมรัฐบาลที่มี สส.ในพื้นที่ก็รายงาน ซึ่งเราก็จับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ได้ปล่อยไปไหนแน่นอน”

    ถามต่อว่า ทางการไทยมีข้อเรียกร้องไปถึงกลุ่ม BRN ว่าอยากเจรจากับใคร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทางผู้อำนวยความสะดวกรับเรื่องนี้ไปแล้วว่าจะติดต่อคนที่จะเข้ามาคุย”

    นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า “เรื่องการหาผู้กระทำความผิด เราเต็มที่อยู่แล้ว ได้สั่งการไปทางตำรวจแล้วด้วยเรียบร้อย ผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยเอง ถ้าเราไม่สามารถมาจับคนผิดได้เลย ประชาชนธรรมดาอยู่ในพื้นที่ก็จะลำบาก เรื่องนี้ไม่ปล่อยไปไหน จริง ๆ แล้วสั่งหน่วยงานโดยละเอียดด้วยซ้ำว่า ต้องทำอะไรบ้าง”

    ยังไม่เลิกแจก ‘เงินหมื่น’ ชง ครม.ช้าเหตุ ‘ภาษีทรัมป์’ แทรก

    ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “วันนี้ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้เข้า มันยังอยู่ในเรื่องของการออกหนังสือเวียนขอความเห็นหน่วยงานต่างๆ เพราะมีเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สภาพัฒน์ แบงก์ชาติ ก็เริ่มมีความคิดเห็นเข้ามา แน่นอนเราต้องรับฟังอยู่แล้ว”

    “อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต มันก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง เมื่อมีปัจจัยแทรกเข้ามา เราต้องดูว่าอะไรบ้างที่จะเป็นปัจจัยที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะฉะนั้นก็รับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ทุกหน่วยงาน” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    เมื่อถามถึงกระแสที่จะยกเลิกดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาภาษีของสหรัฐ หลังจบคำถาม นางสาวแพทองธาร อุทาน “โอ้” พร้อมกล่าวต่อว่า “เรายังไม่ได้มีมติว่าจะยกเลิกใดๆ แต่อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น ต้องรับฟังให้ครบก่อนว่าความจำเป็นมีมากน้อยแค่ไหนในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินก้อนนี้สามารถทำอะไรที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนทั้งประเทศ อันนี้คือ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด”

    “เราต้องมองไปที่เป้าหมายว่าทำเพื่ออะไร…ทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องดูว่าเวียนความเห็นทั้งหมดออกมาว่าอย่างไร มันไม่สามารถเป็นฝ่ายบริหารฝ่ายเดียวที่เราตัดสินใจและ Go ได้เลย มันต้องดูเรื่องนี้ประกอบด้วย” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ทำอยู่คือเรารับฟังความคิดเห็นอยู่”

    จากนั้นผู้สื่อข่าวสรุปว่า การจ่ายเงินเฟส 3 ต้องรอไปก่อน ทำให้ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรายังฟังความคิดเห็นไม่ครบเพราะมีปัจจัยแทรกเข้ามาในเรื่องภาษี ต้องรอก่อนว่าถ้าความเห็นครบและเป็นอย่างไรต่อ มันถึงจะบอกได้ว่าเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ยังเป็นวันเดิมอยู่ แต่ต้องเอาข้อมูลให้ครบก่อนถึงจะแจ้งได้ ถ้าจะให้พูดรับปากว่าอย่างนี้อย่างนั้นมันไม่ได้ เพราะเราก็บอกแล้วว่ากำลังรอความคิดเห็นอยู่”

    เมื่อถามว่า ถ้ายกเลิกโครงการจะกระทบกับรัฐบาลอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้ต้องปรับความเข้าใจ มันเป็นปัจจัยที่เข้ามาแบบที่เราไม่ได้คาดหวัง-คาดฝันเช่นกัน ทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศเรา เราต้องฟังกันด้วยเหตุและผลว่าอย่างไร ซึ่งแน่นอนไม่ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไร ต้องมีคำอธิบายจากรัฐบาลอยู่แล้ว”

    ปัดดีลลับสหรัฐ แค่มีบางเรื่องเปิดเผยได้-ไม่ได้

    เมื่อถามเรื่องความคืบหน้าและดีลลับในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรามีกำหนดของสหรัฐอยู่แล้ว 90 วัน ไม่หลุดกรอบนี้แน่นอน แต่ในการดีลลับต่างๆ…ทำไมคำว่าดีลลับมันดู…แต่ในการคุยดีเทล เราก็ทำกันอย่างต่อเนื่อง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ก็ดูเรื่องนี้อยู่ มีการอัพเดทกันเรื่อย ๆ อยู่แล้ว”

    ถามต่อว่า กังวลหรือไม่ที่เจรจาดีลลับ ซึ่งไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และอาจนำมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลได้ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มันต้องมีส่วนที่เปิดเผยได้ และยังไม่เปิดเผย มันไม่มีทั้งหมดที่จะเป็นความลับทั้งหมดอยู่แล้ว เราต้องดู timing ด้วยว่าเราควรปล่อยหัวข้อต่างๆ ช่วงไหน เราก็ต้องบอก หรือ อธิบายในช่วงที่เกิดประโยชน์สูงสุดให้ประเทศด้วย ไม่ใช่ถึงเวลาก็บอกเลย หรือ ปิดเลย ทำไม่ได้อยู่แล้ว”

    “ล่าสุดที่ได้คุยกับ working team ของทางสหรัฐแล้ว สิ่งที่เพิ่มเติมได้คุยกันไปแล้ว ก็น่าจะครอบคลุมแล้วในสิ่งที่ประเทศไทยจะคุยกับสหรัฐ และเขาก็มีกรอบ 90 วัน ถ้าเราดูสถานการณ์ หรือ ความเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ในแต่ละประเทศ หรือ ความคิดใหม่ๆ ออกมา เรารอดูและปรับกับแผนเราอยู่แล้ว” นางสาวแพทองธาร ขยายความ

    ยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ผ่าตัดด้วย โอดพูดไป คนไม่เชื่อ

    เมื่อถามถึงความคืบหน้าการขอข้อมูลจากแพทยสภาในการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่ได้รับรายงานเลยค่ะเรื่องนี้” จากนั้นถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “มีออกมาแล้วหรอคะ” ผู้สื่อข่าวตอบว่ายังไม่มี หากมีต้องส่งมาที่นายกฯ ด้วยใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร จึงบอกว่า “ใช่ ยังไม่ได้รับรายงานเลย”

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้อธิบายถึงการหยิบยกกรณีของนายทักษิณมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง หลังกล่าวจบ นางสาวแพทองธาร หัวเราะเบาๆ แล้วพูดว่า “แล้วคำถามคือ รู้สึกอย่างไร อย่างนี้หรอคะ” จากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามอธิบายซ้ำ และนางสาวแพทองธาร ยังบอกว่า “แล้วคำถามคืออะไรนะ เดี๋ยวๆ”

    ผู้สื่อข่าวจึงสรุปว่า ประเด็นนายทักษิณโยงถึงตัวนายกฯ ว่า ‘รู้เรื่องทุกอย่าง’ และ ‘ป่วยจริงหรือไม่’ รวมถึงหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อ๋อ คำถามคือ ทราบไม่ทราบ ต้องทราบสิคะ ทราบอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อย่างที่เคยบอกไปในการอภิปรายว่า ถ้าพูดแล้วจะเชื่อไหม ถ้าตัวดิฉันพูดเองแล้วจะเชื่อไหม”
    เมื่อถามย้ำว่า ป่วยจริงหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า “ป่วยจริงค่ะ มีการผ่าตัดด้วยค่ะ”

    เตรียมหลักฐานแจงศาลฎีกา 13 มิ.ย.นี้

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรวตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังไม่ทันถามจบ นางสาวแพทองธาร แทรกว่า “คดีวันที่อะไรนะ อ๋อ 13 มิถุนายน…โทษทีช่วงนี้หลายเรื่องอยู่ มันมีวันที่เยอะมาก โทษที เชิญต่อเลยค่ะ”

    ผู้สื่อข่าวพูดต่อว่า ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดให้นายทักษิณนำข้อมูลไปชี้แจง และสังคมมองว่าเป็นการล้มดีลการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นนางสาวแพทองธาร พูดทันทีว่า “ล้มดีลอะไร” และ กล่าวต่อว่า “ไม่ กำลังจะบอกว่าคิดเยอะมากเลยนะคะ วันที่ 13 มิ.ย.นี้ เขานัดอย่างไร เราก็ต้องไปตามกระบวนการนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็มีหลักฐาน หรือ อะไรที่ท่านทักษิณก็ต้องเอาไปยืนยัน ซึ่งมันก็อย่างนั้นแหละ”

    ถามต่อว่า จะจัดการข้อกล่าวหาได้หรือไม่ นางสาวแพทองธารตอบว่า “มันอยู่ในกระบวนการ ที่จริงแล้ว เราก็มั่นใจอยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่พอจะอยู่ในจุดที่สงสัยกันอย่างต่อเนื่อง มันก็สงสัยกันอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าตัวดิฉันเองออกมาพูดถึงความชัดเจนอย่างไร ก็ไม่มีใครเชื่ออยู่ดี คนเลือกที่จะไม่เชื่อก็จะไม่เชื่อ คนจะคิดว่ามันมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมก็อย่างนั้นแหละ”

    “ทุกวันนี้คุณพ่อก็อายุ 75 แล้ว เวลาเขาเจ็บป่วยอะไรก็เห็นได้ชัดว่าหายช้ากว่าปกติ แต่ไม่เป็นไร ตัวครอบครัวดิฉันเอง ส่วนตัวแล้วก็ผ่านเรื่องต่างๆ มามากมาย สิ่งที่ทำได้ก็ต้องเข้มแข็งไว้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    “เราจะมี Mind Month เดือนนี้แล้ว เป็นสิ่งสำคัญว่าเราต้องดูแลสุขภาพใจของเราด้วยทุกๆ คน ก็ทำใจให้เบิกบานสดใสไว้ จริงๆ เรามีความโกรธความเกลียดชังมากมายมันก็ไม่ดีกับตัวเราเอง” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    สั่งทุกหน่วยทบทวนแผนการใช้งบฯ – เร่งปรับโครงสร้าง ศก.

    ด้านนายจิรายุ รายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้ World bank และสถาบันต่างๆ คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกตกต่ำลง ขณะที่ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบดังกล่าวไปด้วย โดยคาดว่าจะต่ำกว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้

    “รายได้ของประชาชนในภาพรวมจะลดลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทยที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลในการจัดเก็บภาษีอันเป็นรายได้ของประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็คงจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ทุกหน่วยงานทบทวนแผนการดำเนินการโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสอดคล้องกับรายได้ของประเทศที่ลดลง

    ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องถือโอกาสนี้ เร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Economy) ให้มากขึ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงมาตรการดูแลประชาชนและการช่วยเหลือ ภาคธุรกิจ /ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

    สั่ง ‘พิชัย’ หารือบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ครม.

    จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับเรื่องนี้ไปหารือในคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจและนำมาเสนอต่อ ครม. โดยเร็ว

    “นายกฯ ขอเน้นย้ำกับคณะรัฐมนตรีว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส และขอให้พี่น้องประชาชนและพวกเราทุกคนมีกำลังใจที่จะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยอาศัยความสามัคคีของทุกคนในประเทศ โดยมีคณะรัฐมนตรี และข้าราชการทุกท่านเป็นแกนนำร่วมกันระดมความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐภาคเอกชน และประชาชน เพื่อช่วยกันฟันฝ่าและนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้” นายจิรายุ กล่าว

    มอบ ‘ภูมิธรรม-อนุทิน’ แก้ปัญหาไฟใต้

    นายจิรายุ รายงานข้อสั่งการเรื่องสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมที่มีแนวโน้มที่กำลังคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในช่วงหลังกลับมีการก่อเหตุร้ายรุนแรง และบ่อยขึ้น

    โดยนายกฯ มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกับทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง เร่งดำเนินการหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม และแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน

    นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ เร่งร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการดูแลทุกข์สุขและสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่

    กำชับทุกกระทรวง- เรื่องงบฯให้เสนอ ครม.เป็นวาระปกติ

    ต่อมา พบว่า ในช่วง 15 วันที่ผ่านมา มีวาระจรเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ จึงขอเน้นย้ำกับ ครม. ทุกท่าน ให้วางแผนเรื่องเวลาในการส่งเรื่องมา เพื่อจะได้นำเข้าในวาระปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นวาระจรโดยไม่จำเป็น เพราะจะเกิดความไม่รอบคอบ และขาดการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วนจากทุกหน่วยงาน จึงขอความร่วมมือให้มีการสอบถามความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ครม. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

    “นายกฯ กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงกลับไปพิจารณา ถ้าอันใดเกี่ยวข้องกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแผ่นดิน ก็ขอให้นำเข้ามาเป็นวาระปกติ เพราะถ้าวาระปกติก็จะมีการกลั่นกรองจากหน่วยงานต่างๆ จะให้ความเห็นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาเป็นระเบียบวาระของที่ประชุม ครม. แต่ถ้าเข้ามาเป็นวาระจร ที่ประชุมก็จะมีเวลาน้อยในการพิจารณา จึงขอให้ลดเรื่องวาระจรที่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแผ่นดิน” นายจิรายุ อธิบาย

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เพิ่มเงินชดเชยเป็น 60% ของค่าจ้าง รับคนตกงาน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณา ดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพราะถูกเลิกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระการดำรงชีพของผู้ประกันกันจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรปรับเพิ่มให้ผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2567 โดยปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพราะเหตุถูกเลิกจ้างจากอัตรา “ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างๆ” เป็น “ร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างฯ” ทั้งนี้ ให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 180 วันเช่นเดิม

    “การปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน เพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยประมาณการรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนดังกล่าว ประมาณ 1,035.40 ล้านบาทต่อปี (แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นตามร้อยละของเงินเดือน หรือ ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจ่ายเงินทดแทนคิดจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง) อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย การปรับเพิ่มเงินทดแทนดังกล่าวจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มจากร้อยละ 0.53 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 0.62 ของค่าจ้าง ซึ่งยังคงน้อยกว่าเงินสมทบที่จัดเก็บ รวมถึงกองทุนประกันสังคมยังสามารถรองรับวิกฤติสถานการณ์ว่างงานสูงกว่าปกติ 4 เท่า เป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกองทุนประกันสังคม” นายคารม กล่าว

    รับรองแถลงร่วมการประชุม รมต.แรงงาน เอเปค ครั้งที่ 7

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติพิจารณาตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้ .

      1. ให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) (7th APEC Human Resources Development Ministerial Meeting: HRDMM) (การประชุม HRDDMM) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทย (ไทย) ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย

      2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ (จะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 258 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี)

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) (7th APEC Human Resources Development Ministerial Meeting: HRDMM) (การประชุม HRDMMM) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ โดยการประชุม HRDMM ครั้งที่ 7 กำหนดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2568 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ในหัวข้อ “ตลาดแรงงานที่ยั่งยืนและงานแห่งอนาคต” เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการปรับ โครงสร้างตลาดแรงงาน การคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบาง และการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคตผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก

    ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และพร้อมรับมือ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปตลาดแรงงานที่สอดคล้องกับแรงงานยุคใหม่ โดยมีประเด็นการหารือ 2 ประเด็น ได้แก่

      (1) ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและมีพลวัต เช่น ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นแก้ไขความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน และ
      (2) การตอบสนองต่องานในอนาคตผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก เช่น ปรับระบบอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และนายจ้างจัดให้มีบริการจัดหางานที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงได้

    โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) เห็นว่า (1) ไม่ขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และ (2) ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายลักษณะเรื่องที่ให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

    “ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคในการพัฒนานโยบายแรงงานที่ยืดหยุ่น ครอบคลุมและทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และการลดความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมโอกาสให้กับกลุ่มแรงงานเปราะบาง ทั้งนี้ ยังสร้างแนวทางให้ภาครัฐสามารถออกแบบนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต” นายคารม กล่าว

    เก็บเงิน “กองทุนช่วยคนงานไทยใน ตปท.” เพิ่มเป็น 1,000 บาท

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 บัญญัติให้คนหางานที่จะไปทำงานในต่างประเทศ นายจ้างในต่างประเทศ หรือ ผู้รับอนุญาตจัดหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นสมาชิกกองทุนฯ ซึ่งเมื่อส่งเงินแล้วจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ เช่น การจัดให้สมาชิกกองทุนฯ (จ่ายครั้งเดียว) ได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศ การคัดเลือกและทดสอบฝีมือ และการฝึกอบรมสมาชิกกองทุนฯ ก่อนจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

    ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ กำหนดเวลา และอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ซึ่งได้กำหนดวิธีการส่งเงินเข้ากองทุน โดยให้ผู้ที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ต้องมายื่นคำขอส่งเงินเข้ากองทุนฯ พร้อมเอกสารหลักฐาน และส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็นเงินสด เช็ค ตั๋วแลกเงิน หรือ ธนาณัติ ณ สถานที่ที่กำหนด เพียงช่องทางเดียว และกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนในอัตรา 300 บาท 400 บาท หรือ 500 บาท ต่อคนหางาน 1 คน แล้วแต่ประเทศ หรือ ทวีปที่คนหางานจะไปทำงาน แต่โดยที่กฎกระทรวงดังกล่าวได้ใช้มานานซึ่งมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน อาทิ การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกกองทุนฯ การให้ความช่วยเหลือคนหางานซึ่งประสบปัญหาในต่างประเทศและต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ในปัจจุบันที่รุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองหากสมาชิกกองทุนฯ ยังอยู่หรือทำงานอยู่ในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป อีก 5 ปีนับแต่วันครบกำหนดหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ อีก ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายกองทุนฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนอาจกระทบกับเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนฯ ได้

    นายคารม กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ กำหนดเวลาและอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โดยกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้น และเป็นอัตราเดียวสำหรับคนหางานไปทำงานต่างประเทศไม่ว่าประเทศใด ในอัตรา 1,000 บาท ต่อคนหางาน 1 คน (เดิมกำหนดอัตรา 300 บาท 400 บาท หรือ 500 บาท ต่อคนหางาน 1 คน แล้วแต่ประเทศหรือทวีปที่คนหางานจะไปทำงาน) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและทำให้กองทุนฯ สามารถปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองแก่สมาชิกกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราใหม่ โดยไม่กระทบกับสถานะทางการเงินของกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และการออกบัตรสมาชิกกองทุนฯ โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (เดิมกำหนดให้ดำเนินการ ณ สถานที่ที่กำหนด) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสอดคล้องการดำเนินการรับเงินของกองทุนฯ ในปัจจุบันตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2549

    ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า กระทรวงแรงงานควรสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงแนวทางการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติ โดยบัตรสมาชิกกองทุนฯ ที่ออกให้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ และสมาชิกกองทุนฯ ยังคงได้รับสิทธิตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก่อนวันที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ แต่หากคนหางานผู้ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ อยู่ก่อน หรือ ในวันที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ต้องการจะได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ที่จะเพิ่มขึ้นตามระเบียบที่ออกตามมาตรา 52 และ มาตรา 53 หลังวันที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด (อัตราส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับคนหางานแต่ละคน 1,000 บาท) เช่น สมาชิกกองทุนฯ ที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 500 บาท จะต้องส่งเงินเพิ่มอีก 500 บาท ให้ครบตามอัตราที่กำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เพื่อให้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

    แก้กฎกระทรวงหนุนโรงงาน-ห้าง ติดโซลาร์รูฟท็อป

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมีสาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารที่มีน้ำหนักรวมในบริเวณหนึ่งบริเวณใดไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร (เดิมกำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำ และรับรองโดยวิศวกรโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ ก่อนดำเนินการ)

    เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยในปัจจุบันอาคารที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัย เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก ซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลให้อาคารที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัยสามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ และไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง หากแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีน้ำหนัก รวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เนื่องจากการแก้ไขให้สามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนัก หรือ ส่งผลกระทบกับโครงสร้างของหลังคา ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นให้แก่เจ้าของอาคาร อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน ตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1550 – 5/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 และครั้งที่ 1551 – 6/2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปได้

    ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบในหลักการโดยกระทรวงพลังงานเห็นว่า ควรมีการกำหนดแนวทางสำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการตีความ ที่คลาดเคลื่อน และควรมีมาตรการการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสร้างมลพิษ สู่สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อสังเกตว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการตัดข้อความ “โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ” ออก จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558)ฯ ซึ่งความปลอดภัยในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนอาคารเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงหรือต้องติดตั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้หรือผ่านการอบรมแล้ว รวมทั้งควรคำนึงถึงการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่อาจส่งผลกระทบกับอาคารข้างเคียง เช่น แสงอาทิตย์ ความร้อน เป็นต้น

    สนทช.รายงานสถานการณ์น้ำช่วง 25 เม.ย.- 1 พ.ค. 2568

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568)

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปรายงานสถานการณ์น้ำ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568 ดังนี้

    1) ด้านสภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน ช่วงวันที่ 2 – 7 พฤษภาคม 2568 ความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ยังคงมีลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก

    2) ด้านสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568)

      2.1 สถานการณ์แหล่งน้ำปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำทุกขนาดทั่วประเทศมีปรีมาณน้ำรวม 45,714 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุเก็บกัก มากกว่าปี 2567 จำนวน 1,982 ล้านลูกบาศก์เมตร
      2.2 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่เฝ้าระวังน้ำมาก ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกัก จำนวน 29 แห่ง (จากทั้งหมด 369 แห่ง) ดังนี้ ภาคเหนือ 6 แห่ง (จาก 79 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง (จาก 189 แห่ง) ภาคตะวันออก 1 แห่ง (จาก 44 แห่ง) ภาคใต้ 6 แห่ง (จาก 22 แห่ง)

    ทั้งนี้ สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

    ขณะที่สถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568) สถานการณ์ภาพรวมมีระดับน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง 10.07 ถึง 11.90 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว และยังไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชน สรุปได้ดังนี้

      • สถานีตรวจวัดที่อยู่ช่วงเหนือเชื่อนไซยะบุรี (สปป. ลาว) ได้แก่ สถานีจึ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 10.44 เมตร
      • สถานีตรวจวัดที่อยู่ช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี (สปป. ลาว) ได้แก่ สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับน้ำกว่าระดับตลิ่ง 11.05 เมตร อยู่ในเกณฑ์เผ้าระวังน้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 10.37 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานีบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 10.50 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 10.07 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มลดลง สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 10.20 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว สถานีอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 11.32 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าระทับตลิ่ง 11.90 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มทรงตัว

    โดย สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และในฐานะสมาชิกคณะทำงานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือล้านข้างแม่โขง ด้านสาขาทรัพยากรน้ำ (Lancang Mekong Cooperation Joint Working Group : LMC JWG) ได้ตรวจสอบสถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยยังไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางน้ำ และกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปาของชุมชนริมแม่น้ำโขง ทั้งนี้ หากเกิดผลกระทบ สทนช. จะเร่งประสานคณะกรรมการแม่น้ำโขง และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน พิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง เพื่อเพิ่มระดับน้ำแม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป

    ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 มติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/ 2568 ได้เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปี 2568/2569 โดย สทนช. ได้บูรณากาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการดังกล่าว ทั้งการตรวจสถานะความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยของทั้งประเทศ จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เปราะบางที่มีความเสี่ยง ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังการรับมือภัยด้านน้ำ

    นอกจากนี้ สทนช.ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พื้นที่ลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ โดย สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการลุ่มน้ำองค์กรผู้ใช้น้ำ และ สทนช. ภาค 3 เพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งติดตามการปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดลดความเสี่ยงอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีด้วย

    กมธ.แนะ ป.ป.ช.เตรียมพร้อมรับกองทุนคุ้มครองพยาน – ฟ้องปิดปาก

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ของรัฐสภา ตามที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมมนูญ ในเรื่องนี้ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรมนูญดังกล่าว

    ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญในการให้ความคุ้มครองบุคคล ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือ เบาะแส ส่งพยานหลักฐาน หรือ แสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องปิดปาก) ตามมาตรา 132 ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือ ทางวินัย เพิ่มเติมจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และอยู่ระหว่างดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้า ฯถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลประกอบบางประการ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องจัดเตรียมความพร้อม ในการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลผู้ได้รับความคุ้มครอง ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้โดยเร็ว

    โดยทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งฝึกบุคลากร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมให้ความคุ้มครองบุคคล ตามมาตรา 132 พร้อมทำหน้าที่กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกองทุนแก่บุคคลผู้ได้รับความคุ้มครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ โดยคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส รวมถึงตอบสนองภารกิจที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือบุคคลผู้ได้รับความคุ้มครองได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว และทันท่วงที เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตของประชาชนในทุกภาคส่วน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้

    ทั้งนี้ มอบหมายให้ สำนักงาน ป.ป.ช. รับข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ ของรัฐสภาดังกล่าว ไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป โดยให้นำเสนอ ครม. เพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วง หรือ ไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติ ครม. ตามที่เสนอ

    ไฟเขียวแผนขับเคลื่อนแคมเปญ ‘Amazing Thailand’ 11 ด้าน

    นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือการจัดทำแคมเปญ Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025 รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามแนวทางขับเคลื่อนบูรณาการการท่องเที่ยวภายใต้หัวข้อ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” และ แจ้งผลการดำเนินงานให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ทราบ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ

    นายอนุกูล กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือการจัดทำแคมเปญ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” มุ่งเน้นการบูรณาการพันธมิตรทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และเผยแพร่ภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยสู่ระดับสากล โดยได้จัดทำแนวทางขับเคลื่อนบูรณาการการท่องเที่ยวภายใต้หัวข้อ “Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025” แบ่งเป็นด้านต่าง ๆ จำนวน 11 ด้านโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1. ด้านสายการบิน จัดทำมาตรการสนับสนุนสายการบิน โดยควรมีมาตรการให้ incentive ผ่านค่าธรรมเนียมและค่าบริการเพื่อสนับสนุนสายการบินในประเทศ เพิ่มเที่ยวบินและกำหนดราคาบัตรโดยสารที่เหมาะสม เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงวันหยุดและเทศกาลให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละสายการบิน เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยใช้วิธีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ API (Application Programming Interface) ผลักดันสายการบินที่ได้รับโควตา (Slot) เที่ยวบินไว้แล้ว ให้เปิดให้บริการตามกำหนด และขยาย Slot ไปยังเมืองน่าเที่ยว เพื่อลดความแออัดในเมืองหลัก โดยมี กก. กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงการคลัง (กค.) และสายการบิน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      2. ด้านโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และบริษัททัวร์ บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อโปรโมท Hotel Chain Promotion และยกระดับมาตรฐานโรงแรมในประเทศ เพิ่มการเข้าถึงโรงแรมรายย่อย โดยการร่วมมือกับ Travel Agent และ Travel Platform ต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานโรงแรม รีสอร์ทและโฮมสเตย์ ได้แก่ มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เกณฑ์คุณภาพที่พักนักเดินทาง (Home Lodge) และมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยและประชาสัมพันธ์ให้เกิดการใช้บริการ โดยมี กก. และสมาคมโรงแรมไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      3. ด้านห้างสรรพสินค้า ร้านค้า มอบส่วนลด สิทธิพิเศษ และของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และเพื่อกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พัฒนาแพลตฟอร์มสังคมไร้เงินสด เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรมทางการเงิน และติดตั้งเครื่องคืนภาษีอัตโนมัติ และจัดทำระบบให้สามารถคืนภาษีได้หลายอัตราสกุลเงิน โดยมี กค. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และห้างสรรพสินค้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      4. ด้าน OTAs (Online Travel Agency) Agency Tour ประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นล่วงหน้าและจัดเตรียมสิทธิพิเศษที่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือจัดสรรให้ทั่วถึง จัดทำโปรโมชั่นผ่าน OTA ในรูปแบบแพ็คเกจให้ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว และส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมี กก. กค. OTA และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      5. ด้านระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ พัฒนา Mode of Transportation (รูปแบบการเดินทาง) และการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว โดยมีรูปแบบที่หลากหลายและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น การขนส่งทางบก ทางอากาศ ทางเรือ และทางราง จัดทำบัตร Amazing Pass 1 day Bangkok โดยมี คค. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      6. ด้านความปลอดภัย พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center: TAC) ในการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุม 77 จังหวัด และบูรณาการความร่วมมือในการให้บริการ 1155 Call center เป็น one – Stop service ให้บริการ 24 ชั่วโมง และจัดหาล่ามแปลภาษาต่างประเทศมาปฏิบัติงานเพิ่มเติม โดยมี กก. กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      7. ด้านการตรวจลงตรา (Visa) ขยายเวลา Visa Exemption ให้แก่นักท่องเที่ยว เปิดตัวโปรแกรม Visa พิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากต่างประเทศ เช่น Visa ท่องเที่ยวที่มีระยะเวลานานขึ้นหรือการลดค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่าหรือการยื่นขอ Visa ผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวกยิ่งขึ้น โดยมี กก. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      8. ด้าน Event จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ในพื้นที่เมืองน่าเที่ยว ผลักดันให้เกิด event ในระดับสากลที่มากขึ้น ส่งเสริมให้นักลงทุนเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทางองค์ประกอบในด้านต่าง ๆ ทั้งสถานที่จัดงาน ห้องประชุม สถานบันเทิงและโรงแรม และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมจัดงานขนาดใหญ่เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม รวมทั้งปรับปรุงการให้บริการขนส่งสาธารณะให้สะดวก และเพิ่มความถี่ของการให้บริการ และการใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่รวมถึงการบริการรถสาธารณะในราคาเป็นธรรม โดยมี กก. คค. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และ สสปน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      9. ด้านแหล่งท่องเที่ยว จัดกิจกรรมงาน Night at The Museum ในพิพิธภัณฑ์ วัดและโบราณสถานในยามค่ำคืน ขยายเวลาเปิด – ปิด แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสม โดยมี วธ. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      10. ด้านประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และช่องทาง ดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อกระจายข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ โดยมี กก. และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

      11. ด้านอื่น ๆ พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน รัสเซีย อารบิค จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพ และขอความร่วมมือค่ายโทรศัพท์มือถือ ในการให้บริการซิมการ์ดสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศไทย Tourism Sim เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการเดินทางตลอดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมี กก. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ กสทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

    “การจัดทำแคมเปญ Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025 จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านกิจกรรม และเทศกาลระดับโลกกว่า 39 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กีฬา การพัฒนาทักษะ และภาพลักษณ์ของประเทศในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตในหลายภาคส่วนของประเทศไทยด้วย” นายอนุกูล กล่าว

    จัดงบ 2,049 ล้าน ซ่อมถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 17 จว.

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,049.69 ล้านบาท ประกอบด้วยกรมทางหลวง จำนวน 1,619.90 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 429.79 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 17 จังหวัด)

    นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม (คค.) แจ้งว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงเดือนพฤษภาคม -ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ได้รับความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจึงขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่านายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ คค. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 2,049.69 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติในพื้นที่รวม 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เลย ภูเก็ต ยะลา พิษณุโลก อุดรธานี หนองคาย และกาญจนบุรี โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายละเอียดงบประมาณสรุปได้ดังนี้

      1.กรมทางหลวงขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ วงเงินงบประมาณ 1,619.90 ล้านบาท

      2. กรมทางหลวงชนบทขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ วงเงินงบประมาณ 429.79 ล้านบาท

    ตั้งบอร์ดองค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1.นางสาวสุมนี วัชรสินธุ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567
      2. นายสุรชัย อภินวถาวรกุล ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    2. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกรียงไกร เจริญผล
      2. พลโท จิรันตน์กฤษณ์ เหลืองจินดา
      3. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เพิ่มเติม