ThaiPublica > สู่อาเซียน > ผล CGGI 2025 สิงคโปร์อันดับ 1 รัฐบาลดีมีประสิทธิภาพ เวียดนามโดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผล CGGI 2025 สิงคโปร์อันดับ 1 รัฐบาลดีมีประสิทธิภาพ เวียดนามโดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

15 พฤษภาคม 2025


ที่มา:https://chandlergovernmentindex.com/countries/vietnam/

สิงคโปร์ครองที่หนึ่งในการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลทั่วโลก ใน 2025 Chandler Good Government Index (CGGI) ขณะที่เวียดนามเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 Chandler Institute of Governance เผยผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลทั่วโลกประจำปี 2568(2025 Chandler Good Government Index(CGGI)) ดัชนีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพประจำปี 2025 (CGGI) ที่ชี้ถึงความท้าทายและความสำเร็จของธรรมาภิบาลท่ามกลางในแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ

ผลการสำรวจ CGGI ประจำปี 2025 ตอกย้ำถึงความโดดเด่นอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ในด้านประสิทธิผลของรัฐบาลเทียบกับทั่วโลกและภายในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นดาวรุ่งของภูมิภาค ด้วยความก้าวหน้าในเสาหลักด้านความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกลและการบริหารจัดการทางการเงิน และเป็น 1 ใน 5 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่มีคะแนนดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2564

ผล CGGI ประจำปี 2025 สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดังนี้

สิงคโปร์ยังคงครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่สามติดต่อกัน (2566-2568) นอกจากนี้ ยังครองอันดับหนึ่งในปีนี้ในสาขาความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล(leadership and foresight) สถาบันที่เข้มแข็ง(strong institutions) ตลาดที่น่าสนใจ(attractive marketplace) และการช่วยให้คนมีสถานะที่ดีขึ้น(helping people rise)

เวียดนามโดดเด่นในฐานะประเทศที่มีพัฒนาการมากที่สุดในภูมิภาค โดยอันดับขยับขึ้น 12 อันดับจากปี 2564-2568 และมีผลงานที่ดีขึ้นใน 6 จาก 7 เสาหลักในการประเมินของ CGGI ยกเว้นเสาหลักอิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก(global influence and reputation) นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลกเท่านั้นที่มีคะแนนดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ความก้าวหน้าอันน่าทึ่งของประเทศนี้ขับเคลื่อนโดยส่วนใหญ่จากผลงานในสาขาความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล (เพิ่มขึ้น 31 อันดับตั้งแต่ปี 2564) และการบริหารจัดการทางการเงิน(financial stewardship) ที่เพิ่มขึ้น 20 อันดับตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบัน เสียดนามได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในสาขาการบริหารจัดการทางการเงิน โดยอยู่ในอันดับที่ 16

ที่มา:https://chandlergovernmentindex.com/country-rankings/

อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 47 ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากอันดับที่ 41 ในปี 2564 การลดลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าคะแนนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการปรับปรุงที่เห็นได้ชัดในเสาหลักด้านความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล (เพิ่มขึ้น 9 อันดับตั้งแต่ปี 2564) และสถาบันที่เข้มแข็ง (เพิ่มขึ้น 10 อันดับตั้งแต่ปี 2564)

ภายในกลุ่มอาเซียน ฟิลิปปินส์ได้พลิกกลับอย่างน่าประทับใจในปีที่แล้ว โดยอยู่ที่อันดับที่ 57 เพิ่มขึ้น 4 อันดับจากปี 2567 ก่อนปี 2567 อันดับของฟิลิปปินส์ลดลงทุกปี มาเลเซียร่วงลง 12 อันดับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 32 ลงมาอยู่ที่ 44 เป็นผลจากผลงานที่อ่อนแอในเสาหลักด้านความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล (ลดลง 26 อันดับ) และสถาบันที่เข้มแข็ง (ลดลง 29 อันดับ) จากปี 2564

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2568 สถาบันที่เข้มแข็งของไทยมีอันดับดีขึ้น 9 อันดับ จากอันดับที่ 72 มาเป็นอันดับที่ 63 โดยด้านที่ส่งผลกระทบมากที่สุดมาจากตัวชี้วัดคุณภาพของระบบราชการของเสาหลัก ซึ่งดีขึ้นจากอันดับที่ 57 เป็นอันดับที่ 47 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยรวมประเทศไทยติดอันดับที่ 54 ใน CGGI 2568 ตกลง 2 อันดับจากปีก่อน

ที่มา:https://chandlergovernmentindex.com/countries/thailand/

โดยเฉลี่ยแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลงานค่อนข้างดี เป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคในโลกที่มีคะแนนดีขึ้นระหว่างปี 2564 ถึง 2568 แต่ชี้ถึงการลดลงอย่างน่ากังวลของการบริหารจัดการทางการเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

CGGI จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั้งหมด 120 ประเทศ โดยในปีนี้มีการเพิ่มประเทศใหม่ 7 ประเทศ โดยพิจารณาจากความสามารถและประสิทธิผลของรัฐบาลในตัวชี้วัด 35 ตัว ซึ่งจัดกลุ่มตาม 7 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล(leadership and foresight) กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง(Robust Laws & Policies) สถาบันที่เข้มแข็ง(strong institutions) การบริหารจัดการทางการเงิน(financial stewardship) ตลาดที่น่าสนใจ(attractive marketplace) อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก(global influence and reputation) และการช่วยให้คนมีสถานะที่ดีขึ้น(helping people rise)

ดัชนีดังกล่าวซึ่งเผยแพร่โดย Chandler Institute of Governance (CIG) เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุน และประชาชนในการสร้างชาติที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป

“ศักยภาพของรัฐบาลมีความสำคัญ ผลลัพธ์ในปีนี้ยังคงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างศักยภาพของรัฐบาลและการบรรลุผลลัพธ์ที่สำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของแต่ละคน เช่น การศึกษา การจ้างงาน และสุขภาพ” เคนเนธ ซิม กรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายกลยุทธ์และการวิจัย) ของ CIG กล่าว “ข้อมูลของเรายังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างศักยภาพ 3 ด้าน ได้แก่ หลักนิติธรรม การกำกับดูแลตามกฎระเบียบ และความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรม กับประสิทธิภาพโดยรวมของประเทศใน CGGI การคำนึงถึงหลักการพื้นฐานของการกำกับดูแลเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งขึ้นในปัจจุบัน จากการที่รัฐบาลจากทั่วโลกกำลังดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นที่สังเกตได้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐบาลและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น”

การกำกับดูแลระดับโลกยังมีความแตกต่าง
ผลการสำรวจยังชี้ว่าการกำกับดูแลระดับโลกยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ โดยประเทศที่มีดีขึ้นมักจะเป็นประเทศที่มีผลงานที่ดีอยู่แล้ว ในขณะที่ประเทศที่มีผลงานที่ลดลงมากที่สุดมักจะเป็นประเทศที่กำลังดิ้นรน โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศครึ่งบนสุดที่ได้รับการจัดอันดับใน CGGI 2564 มีคะแนนดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของประเทศจากครึ่งล่างสุดลดลง พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่ดีที่สุดกำลังดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่อ่อนแอจะยิ่งตามหลังมากขึ้น

ความแตกต่างด้านการกำกับดูแลยังเห็นได้ชัดเจนในทุกพื้นที่ เอเชียตะวันออกโดดเด่นในฐานะภูมิภาคที่มีการปรับปรุงโดยรวมสูงสุด โดยมีการเพิ่มขึ้นในทุกเสาหลัก ยกเว้นเสาหลักที่หนึ่ง ประเทศในเอเชียตะวันออกทั้งหมด ยกเว้นมองโกเลีย ยังอยู่ในอันดับครึ่งบนของดัชนี ในทางตรงกันข้าม Sub-Saharan Africa(ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผลงานอ่อนแอที่สุดตั้งแต่ปี 2564 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เอเชียใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อ่อนแอที่สุดเช่นกัน พบว่ามีผลงานลดลงมากที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกือบทุกประเทศจากทั้งสองภูมิภาคยังอยู่ในอันดับครึ่งล่างของดัชนี ซึ่งเน้นย้ำถึง “ความแตกต่างการกำกับดูแล” ที่ขยายตัวทั่วโลก

การบริหารจัดการทางการเงินเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลก
การบริหารจัดการทางการเงินลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายด้านการกำกับดูแลที่สำคัญ โดยคะแนนเฉลี่ยในเสาหลักนี้ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องและอย่างมีนัยสำคัญทุกปีนับตั้งแต่มีการเปิดตัว CGGI ในปี 2564 จาก 104 ประเทศที่รวมอยู่ใน CGGI ปี 2564 มีเพียง 26 ประเทศเท่านั้นที่มีผลงานดีขึ้นในเสาหลักนี้ระหว่างปี 2564 ถึง 2568

ที่น่าสังเกตคือ การเกินดุลงบประมาณของประเทศมีคะแนนลดลงอย่างเลวร้ายที่สุดในการบริหารจัดการทางการเงินระหว่างปี 2564 ถึง 2568 ซึ่งสอดคล้องกับการฝ่าฟันของรัฐบาลทั่วโลกเพื่อฟื้นตัวจากภาวะช็อกทางการคลังที่เกิดจากการระบาดใหญ่ทั่วโลก นอกจากนี้ ผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคที่สำคัญ เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากหนี้สาธารณะที่สูง ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระทางการคลังมากขึ้น

ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสองประเทศในกลุ่ม G7 ที่ไม่ติดอันดับ 20 อันดับแรก คะแนนรวมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากเนื่องจากผลงานที่ย่ำแย่ในเสาหลักการบริหารจัดการทางการเงิน โดยเฉพาะในตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้จ่าย ซึ่งสหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 115 จากทั้งหมด 120 ประเทศ เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่มีความเสี่ยงสูงและเห็นได้ชัด เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐบาลและลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในประเทศ

อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลกลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด
คะแนนเฉลี่ยของประเทศในเสาหลักด้านอิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลกลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเสาหลักอื่นๆ ของ CGGI โดยยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นสัญญาณเริ่มต้นของความสามารถที่ถดถอยของรัฐบาลในการรักษาเครือข่ายทางการทูตและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งไม่ใช่ลางดีสำหรับอนาคต เมื่อพิจารณาจากความพยายามล่าสุดในการกำหนดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานใหม่สำหรับการมีส่วนร่วมระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้ภาษีศุลกากรและอุปสรรคอื่นๆ รัฐบาลจะต้องมีศักยภาพที่แข็งแกร่งกว่าที่เคย เพื่อสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเพื่อกำหนดบริบทภายนอกเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของตนเอง

สัญญาณของมุมมองทางบวก: จำนวนประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่คะแนนลดลง
อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลที่จะมีมุมมองทางบวก ระหว่าง CGGI ปี 2567 และ CGGI ปี 2568 มีจำนวนประเทศมากกว่าสองเท่าที่มีคะแนน CGGI ดีขึ้น (73) เมื่อเทียบกับประเทศที่มีคะแนนลดลง (33) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่จำนวนประเทศที่มีคะแนนลดลงแซงหน้าประเทศที่มีคะแนนดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการปรับปรุงเสาหลักสถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งประเมินศักกยภาพของรัฐบาลในด้านต่างๆ เช่น การประสานงานและการดำเนินการ และคุณภาพของระบบราชการ

นอกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งติดอันดับใน 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรกในปี 2568 แล้ว ประเทศที่มีการพัฒนา CGGI มากที่สุดอีกหลายประเทศ คือ ประเทศที่สื่อระดับโลกไม่ค่อยให้ความสำคัญในฐานะผู้นำด้านการปกครอง ที่น่าสังเกต ประเทศที่มีพัฒนาการเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศที่ร่ำรวยกว่าซึ่งมีทรัพยากรมากกว่าในการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพของรัฐบาลเท่านั้น ประเทศอื่นๆ เช่น มองโกเลีย เวียดนาม และจอร์แดน ก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมนั้นเป็นไปได้ไม่ว่ารายได้ของประเทศจะอยู่ที่เท่าใด

รัฐบาลที่ดีไม่ได้สร้างได้ในวันเดียว
CGGI ย้ำว่าศักยภาพของรัฐบาลยังคงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินการของรัฐบาล ประเทศที่มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพที่สำคัญกำลังวางรากฐานสำหรับความสำเร็จของประเทศที่ยั่งยืน การเสริมสร้างศักยภาพของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นสูตรสำหรับความสำเร็จในอนาคต