10 กว่าปีที่ผ่านมา มีกรณียักยอกเงินวัดจนกลายเป็นคดีดังอยู่หลายคดี เกิดเป็นวิกฤติความศรัทธา มีผลกระทบกับจิตใจคนไทยจำนวนมาก รวมถึงกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง คำถามก็คือ เราจะช่วยกันสร้างระบบให้วัดมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาลได้อย่างไร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) และ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย จัดเสวนาเรื่อง “ระบบธรรมาภิบาลวัด : จะสร้างได้อย่างไร?” ณ ห้องนิพพานชิมลอง ชั้น 2 สวนโมกข์กรุงเทพ โดยเน้นการระดมความคิด วิเคราะห์ปัญหา และช่วยกันหาแนวทางคำตอบอย่างเป็นรูปธรรม

การบริหารการเงินวัด ยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล
รศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ฉายภาพว่า จากการศึกษาเรื่อง “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย”เมื่อปี 2555 วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรประเภทองค์กรทางศาสนา และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ภายในวัด แต่ก็ยังมีโครงสร้างการบริหารที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
เมื่อเจาะลงไปถึงเรื่องการบริหารเงินวัด พบว่า กฎหมายมีการกำหนดให้วัดจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และให้เจ้าอาวาสตรวจตราให้เป็นที่เรียบร้อย แต่เจ้าอาวาสเป็นพระสงฆ์ มีข้อจำกัดในการทำกิจต่างๆ จึงมีการแต่งตั้งไวยาวัจกรมาช่วยดูแลในส่วนที่สงฆ์ดำเนินการเองไม่ได้
ส่วนเรื่องการจัดทำบัญชีวัด พบข้อมูลว่า แต่ละวัดทำบัญชีตามสมัครใจหรือตามแต่สะดวกจะทำ เมื่อทำแล้วก็จัดเก็บข้อมูลไว้เองที่วัด ไม่ได้เผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบ หลังจากนั้นปี 2558 มหาเถรสมาคมจึงมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกวัดต้องนำส่งบัญชีรายรับรายจ่ายให้กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการจัดทำบัญชีของวัด ไม่ได้เป็นไปตามหลักการบัญชีสากลทั่วไป เนื่องจากวัดมีความหลากหลาย ตั้งแต่วัดขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จึงมีข้อจำกัดในการทำ และไม่ได้กำหนดระเบียบการเบิกจ่ายที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถดูได้ว่าเกิดการโยกย้ายเงินตรงไหน
จนกระทั่งในปี 2564 ได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการดูแลและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น จะต้องมีการลงนามการเบิกจ่ายเงินในสมุดบัญชีวัดมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป หรือห้ามวัดถือครองเงินสดเกิน 1 แสนบาท เกินจากนั้นต้องนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น
แต่คำถามที่ตามมาคือ การจะทำให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว ต้องใช้กลไกอย่างไรในการกำกับ
ล่าสุด จากการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องบัญชีวัดโดยตรง พบว่า สำนักพระพุทธฯ มีความพยายามที่จะทำเรื่องบัญชีวัดให้มีมาตรฐาน โดยมีการออกคู่มือมาตรฐานบัญชีวัดมาใช้กับวัดนำร่องตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีวัดเริ่มใช้บัญชีนี้แล้วจำนวน 16 วัด แต่จากการติดตามหลังจากนั้น ยังไม่เห็นเรื่องของการประเมินผล หรือการขยายผลจากคู่มือดังกล่าว
“นับตั้งแต่ทำวิจัย 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระหว่างทางเกิดกรณีที่เป็นข่าวดังอยู่ประมาณ 7-8 กรณี ซึ่งเราตั้งคำถามทุกครั้งว่าทำไมเรื่องนี้ถึงยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสักที เป็นคำถามที่ผู้วิจัยและภาคสังคมตั้งคำถามมาตลอดว่ามันเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ไขได้อย่างไร”
รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ รองประธานกรรมการ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า จากข้อมูลของ ดร.ณดา สะท้อนว่า การบริหารจัดการวัด มีวิวัฒนาการพอสมควร แต่ก็ยังมีกรณียักยอกเงินวัดเป็นข่าวดัง 7-8 คดี ทำให้เห็นว่ายังมีช่องโหว่อยู่ ซึ่งช่องโหว่สำคัญคือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย มีการออกระเบียบ มีตัวอย่างบัญชีให้ทำ แต่ไม่มีการติดตามว่าได้ปฏิบัติตามนั้นหรือไม่
“วัดในประเทศไทยมีประมาณ 40,000 กว่าวัด แต่วัดที่ทำบัญชีมีหลักพันเท่านั้นเอง ไม่ได้มีการปฏิบัติตามแนวที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาเรื่องของธรรมาภิบาล มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ อำนาจการตัดสินใจ การทำบัญชี การตรวจสอบความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของสังคม”

ปัญหาและอุปสรรคในการสร้างธรรมภิบาลวัด
ทั้งนี้ ดร.ณดากล่าวเพิ่มเติมว่า จากงานศึกษาที่ทำ มุมหนึ่งมองว่าน่าจะต้องมีการพูดคุยและหาวิธีในการทบทวนบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างให้น้ำหนักกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าสำนักพระพุทธฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องการเผยแผ่พุทธศาสนา
แต่คำถามคือ ทำอย่างไรที่สำนักพระพุทธฯ จะสามารถทำบทบาทในประเด็นดังกล่าวได้มากขึ้น เนื่องจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องของการปกครองทางสงฆ์ โดยบทบาทหนึ่งของสำนักพุทธฯ คือเป็นเลขาของมหาเถรสมาคม และเป็นจุดที่ได้รับข้อมูลจากวัดมากในระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลรายงานทางการเงินของวัดเข้าไปที่สำนักงานพระพุทธฯ มากกว่า 20,000 แห่ง ตั้งแต่มีคำสั่งของมหาเถรสมาคม
“ดังนั้น ส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัดเกิดขึ้นได้ การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ แต่คำถามคือ ข้อมูลที่สำนักงานพระพุทธฯ มีอยู่ ถูกจัดเก็บไปอย่างไร เก็บไปแล้วนำไปทำประโยชน์อะไรบ้าง เพราะในการทำวิจัย เราต้องมานั่งขุดกันพอสมควร กว่าจะได้ข้อมูลหรือคำตอบว่ามีจำนวนวัดกี่แห่งที่ทำรายงานทางการเงิน เพราะเชื่อว่าข้อมูลที่ได้ น่าจะนำไปทำประโยชน์ได้มากกว่าที่เราคิด” ดร.ณดากล่าว
นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าหากจะเอาข้อมูลรายงานทางการเงินของวัดมาใช้ในการตรวจสอบ โดยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ดี ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจตราได้ หรือช่วยดูเป็นหูเป็นตาได้บ้าง จะทำให้เรามีโอกาสในการดึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเข้ามาได้มากขึ้น
ระบบธรรมาภิบาลวัด เป็นสิ่งที่ทำได้ หากมีระบบงานที่ดี
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล เล่าว่า มูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการ “การบริหารวัดในพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล” ร่วมกับ สวนโมกข์กรุงเทพ สนับสนุนโดยกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย เพื่อวางระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลให้กับวัด ซึ่งปัจจุบันมี 16 วัดนำร่องทั่วประเทศ สมัครใจเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีเป้าหมายหลักเรื่องนโยบายสาธารณะและ good governance โดยมุ่งไปที่องค์กรไม่แสวงหากำไร เพราะมองว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่ใหญ่ในสังคม และยังมีศักยภาพที่จะทำเรื่อง good governance ได้อีกมาก โดยเฉพาะวัด ที่เห็นปัญหาหลายเรื่อง คำถามก็คือเราจะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร
ดร.บัณฑิต เล่าถึงแนวคิดการทำโครงการดังกล่าวว่า คิดเหมือนบริษัท ก็คือทุกองค์กรจะต้องมีการบริหารจัดการ ซึ่งในกรณีของบริษัท เขาจะมีแนวปฏิบัติที่ดีให้บริษัททำ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่ยึดหลักธรรมาภิบาล อย่างกรณีบริษัทจดทะเบียนก็มีถึง 240 กว่าข้อ ที่จะต้องทำตามหลักขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ดังนั้นมูลนิธิฯ ก็คิดว่า แนวคิดที่คล้ายกันนี้ น่าจะใช้กับวัดได้ แต่จะต้องตรงกับหลักธรรมภิบาลของวัด และ simple พอที่วัดจะสามารถทำได้ เราจึงใช้วิธีนี้ในการ approach ปัญหา
สำหรับหลักธรรมาภิบาลของวัดที่มูลนิธิฯ ทำการศึกษา พบว่ามีอยู่ 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.พระธรรมวินัย 2.พ.ร.บ.สงฆ์ 3.การตัดสินใจเป็นหมู่คณะ ซึ่งเป็นคุณค่าของสังคมสงฆ์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ที่จะให้มี check and balance ในการตัดสินใจ จึงมีการโปรโมทไอเดียของการตัดสินใจเป็นหมู่คณะ
แต่นอกจากนั้น หากมาดูในยุคปัจจุบัน value ของ good governance ที่ทุกคนอยากจะเห็น ก็มีเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ ไม่ได้ยึดเรื่องที่เป็นของสงฆ์อย่างเดียว อันหนึ่งที่มูลนิธิฯ คิดว่าสำคัญมากๆ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่อง good governance คือ ความโปร่งใส อันที่สองคือ การทำงานอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน และอันที่สามก็คือ การตรวจสอบจากภายนอก

ดังนั้นจาก 6 ข้อที่กล่าวมา เราก็มาแปลงเป็นแนวปฏิบัติที่ดี 9 ข้อ ที่วัดควรจะต้องมี
หลักปฏิบัติ 9 ข้อ
1.วัดบริหารโดยคณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ฆราวาสที่ได้รับการคัดเลือก มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการวัดเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเจ้าอาวาส
2.กำหนดคุณสมบัติและวาระดำรงตำแหน่งฆราวาสที่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการและไวยาวัจกร กรรมการและไวยาวัจกรเสนอเชื่อโดยชุมชน มีการประเมินผลการทำหน้าที่ของกรรมการที่เป็นฆราวาสและไวยาวัจกร
3.เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ไวยาวัจกรและฆราวาส ที่ได้รับตำแหน่งกรรมการ ควรมีการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการบริหาร พระธรรมวินัย กฏหมายและธรรมาภิบาล
4.วัดควรกำหนดนโยบายและระเบียบที่สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นคำแถลงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวัด ข้อบังคับและระเบียบต่างๆที่วัดประกาศและนโยบายสำคัญที่วัดถือปฏิบัติ
5.วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติ ระบบบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน มีบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะเพียงพอจัดทำรายงานทางการเงินและดูแลการบัญชีของวัด
6.วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในที่มีความอิสระ ตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในของวัดและรายงานผลการตรวจสอบตรงต่อเจ้าอาวาส แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอก ทบทวนและยืนยันความถูกต้องทางบัญชี เพื่อให้รายการทางการเงินของวัดถูกต้องสมบูรณ์และได้มาตรฐาน
7.วัดจัดทำรายงานทางการเงินและรายงานต่างๆตามระเบียบและมาตรฐานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด
8.วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจลักษณะทั้งข้อมูลการเงิน ได้แก่ รายงานฐานะการเงินของวัดที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีว่าถูกต้องครบถ้วนเป็นรายไตรมาสและรายปี และไม่ใช่การเงิน ได้แก่นโยบายระเบียบ คำสั่งต่างๆที่ออกโดยเจ้าอาวาสและมีระบบตอบคำถามและสร้างความเข้าใจกรณีที่มีคำถามเกี่ยวกับข้อมูลที่เปิดเผย
9.คณะกรรมการยึดแนวปฏิบัติที่ดี ในการทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล หมายถึงวัดมีการประชุมคณะกรรมการตามตารางเวลาที่ประชุมแน่นอนเป็นที่ทราบล่วงหน้า มีวาระการประชุม มีการจดบันทึกและรายงานการประชุม กรรมการทำหน้าที่ในที่ประชุมตามหลักธรรมาภิบาล คือให้เวลาเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันและแสดงความเห็นในที่ประชุม ตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ด้วยความระมัดระวังและเคารพกฏหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มองประโยชน์ของวัดเป็นสำคัญและมีความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่
ดร.บัณฑิตกล่าวว่า “ประเด็นหลักคือ โปรโมทการตัดสินใจเป็นหมู่คณะ โดยมีคณะกรรมการ มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน มีกรรมการ มีพระสงฆ์ในวัด เพื่อให้การตัดสินใจเกิดขึ้นจากหลายฝ่ายร่วมกัน อันที่สองก็คือ การเข้ามาของกรรมการกับไวยาวัจกร จะต้องมีการคัดเลือก มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน อันที่สามคือ วัดควรมีการประกาศนโยบายต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงเรื่องของระบบบัญชี การตรวจสอบจากภายนอก เรื่องการรายงาน เรื่องระบบความโปร่งใส และการทำหน้าที่ของกรรมการ”
พร้อมเล่าต่อว่า ก่อนจะเริ่มทำโครงการ ไม่มั่นใจว่าจะเป็นของจริงหรือเปล่าสำหรับวัด จึงได้มีการปรึกษาหารือกับทางมูลนิธิสวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งได้กรุณาจัดระดมความคิดที่จะให้พระชั้นผู้ใหญ่เข้ามาคอมเมนต์ในหลักปฏิบัติ 9 ข้อนี้ ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องดี และหลายวัดทำอยู่แล้ว จึงมีกำลังใจมากขึ้นว่าคงจะทำได้
ต่อมาจึงคิดว่าจะพยายาม apply หลักปฏิบัติ 9 ข้อนี้ ให้กับวัดสักกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดนำร่อง เพื่อที่จะไปแสดงว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากพระชั้นผู้ใหญ่ วัดบวรนิเวศวิหาร ว่าหากเราจะทำวัดนำร่อง ต้องเลือกวัดที่มีศักยภาพที่จะทำได้ และต้องเลือกวัดทุกประเภท ทั้งวัดราษฎร์ วัดหลวง วัดใหญ่ วัดเล็ก วัดในเมือง วัดในชนบท วัดป่า เพื่อที่จะให้เราสามารถสรุปได้ว่า หลักปฏิบัติที่ดี สามารถใช้ได้กับวัดทุกประเภท จึงนำมาสู่การคัดเลือกวัดที่เราจะทำ
หลังจากนั้น ทางทีมของสวนโมกข์กรุงเทพ ก็ช่วยแนะนำรายชื่อวัด จำได้ว่าเมื่อ 3 ปีก่อน เดินทางทั่วประเทศไทยไปพบวัดเหล่านี้ เพื่อที่จะดูว่าวัดไหนมีศักยภาพ ทั้งทางภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ แล้วคัดเลือกมาทั้งหมด 16 วัด ที่ครอบคลุมลักษณะของวัดที่เราต้องการ และเริ่มทำโครงการนี้ ประเด็นหลักก็คือ เอาแนวปฏิบัติที่ดี ให้วัดลองนำไปปฏิบัติดูว่าได้หรือไม่
แต่ความสวยงามของโครงการ อาจมีความแตกต่างจากงานอื่นๆ ก็คือ เราไม่ได้เอาแนวปฏิบัติ 9 ข้อนี้ไปเลคเชอร์ให้เจ้าอาวาสฟัง แต่เรามีทีมในพื้นที่ที่จะช่วยในการแนะนำวัด และช่วยนำหลักปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ได้จริงๆ ซึ่งทีมเหล่านี้มาจากจิตอาสา ปัจจุบันมีจิตอาสาอยู่ในโครงการนี้ราว 50 คน
ยกตัวอย่างภาคใต้ มีจิตอาสามาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาคอีสานมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนกรุงเทพฯ ก็มาจากนิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภาวิชาชีพบัญชี อดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยที่เห็นคุณค่าของงานนี้ เราจึงมีพลังของคนหลายฝ่ายที่สละเวลาเข้ามาช่วยกัน
ดร.บัณฑิตกล่าวว่า หลังจากทำโครงการนี้มาตั้งแต่ 18 เดือนที่แล้ว จึงอยากจะฝากข้อคิดสัก 3 ข้อ คือ
1.good governance ในวัด เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ เพราะเป็นเรื่องของการวางระบบงาน และการทำตามระบบงาน ในส่วนของวัดเองก็มีความประสงค์ที่จะมีระบบนี้ เพราะหน้านี้ของท่านเจ้าอาวาส ท่านต้องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านไม่ต้องการมายุ่งกับการบริหารวัด เพราะฉะนั้นหากเรามีระบบงานที่ดี จะช่วยปลดภาระของท่านเจ้าอาวาสในการบริหารจัดการได้ แต่เนื่องจากวัดมีขนาดที่แตกต่างกัน มีประเภทที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในแต่ละข้อของแนวปฏิบัติ ความเข้มข้นก็จะแตกต่างกันตามลักษณะของวัด ระบบบัญชีของวัดใหญ่กับวัดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติเหล่านี้ สำหรับวัดที่ยังไม่ได้ทำอะไร เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่ให้ตรงกับแนวปฏิบัติ ซึ่งจะกระทบคนหลายฝ่าย ทั้งคนในวัด ทั้งฆราวาสที่ศรัทธา ดังนั้นเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากส่วนนี้ผ่านไปได้ คิดว่างานต่างๆ ที่เราต้องการจะผลักดัน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะต้องทำเป็นระบบอย่างจริงจัง และให้เวลา เพราะมันเหมือนกับการเดินทาง
2. เรื่องเงินหรือระบบบัญชี ถือเป็น pain point ของทุกวัด ว่าอยากจะวางระบบนี้ให้ดี แต่อาจจะไม่สามารถทำได้ ทุกวัดจะมีการทำบัญชีและรายงานไปยังสำนักพระพุทธฯ แต่ก็ขาดความมั่นใจว่า สิ่งที่ทำไปนั้นดีพอหรือยัง ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้คิดว่าวัดต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นภาคประชาสังคมสามารถมีบทบาทในการที่จะให้คำแนะนำ เพื่อให้วัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
3. ช่องว่างสำคัญในการกำกับดูแลวัดในประเทศไทย ยังเน้นสไตล์แบบราชการ ก็คือสั่งให้ทำ สั่งให้รายงาน ซึ่งวิธีการสั่งประเด็นต่างๆ นั้นถูกต้อง แต่ต้องตระหนักว่าวัดอาจจะไม่มีศักยภาพในแง่บุคลากรที่จะตอบสนองในการตอบคำถามต่างๆ หรือทำอะไรให้ตรงกับที่ฝ่ายทางการต้องการ
“เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นช่องว่างใหญ่ที่ภาคประชาสังคม สามารถจะเข้าไปช่วยเหลือวัดได้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ ซึ่งจากที่เราทำโครงการนี้ คิดว่าเรื่องของการมีระบบงานที่ดีในวัด เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ฝ่ายประชาชนก็ต้องมีบทบาทยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างมาก”

หัวใจการบริหารจัดการวัด ที่เงินซื้อไม่ได้
นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ สวนโมกข์กรุงเทพ กล่าวว่าจำนวนวัดทั่วประเทศไทยกว่า 40,000 วัด มีวัดอย่างน้อยราว 1,000 วัด พร้อมที่จะทำเรื่องระบบธรรมาภิบาล แต่โจทย์ที่หนึ่งถามว่าจะมีใครไปช่วย หัวใจอีกอันหนึ่งก็คือ การมีระบบที่ดี ซึ่งยังมีความต้องการอีกหลายโมเดลที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน แต่หัวใจสำคัญก็คือ คนที่พระท่านไว้ใจ ว่าเข้าไปแล้วจะไม่สร้างความปั่นป่วน หรือเจอวัดทำผิดพลาด ก็ช่วยกันแก้ไขได้ ซึ่งคณะบุคคลที่ต้องการมี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ คนที่วัดและพระไว้ใจ สองคือ ชุมชนที่อยู่ในละแวกวัด สามคือ มือวิชาชีพที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการวัด
“ตอนที่เกิดสวนโมกข์กรุงเทพ เงินก็เป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่หัวใจจริงๆ ณ วันนี้ไม่ใช่เงิน มันมีอะไรบางอย่างที่มากกว่าเงิน คือความเชี่ยวชาญหรือความถนัดที่ท่านมี ซึ่งเงินซื้อไม่ได้ ผมคิดว่าวัดตอนนี้ต้องการสิ่งนั้นมากกว่า”

บทบาทภาคธุรกิจกับสังคมและสถาบันศาสนา
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อคนไทยและประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนว่า ได้มีความพยายามที่จะชักจูงเพื่อนฝูงในบริษัทต่างๆ มาร่วมมือกันในการที่จะทำให้ระบบธรรมาภิบาลในวัดเกิดขึ้น คล้ายกับระบบธรรมาภิบาลในภาคเอกชน
โดยมองว่าปัจจุบัน สถาบันศาสนากำลังเป็นผู้ถูกกระทำจากผู้ไม่หวังดีบางส่วนที่อยู่ในสภาพต่างๆ เช่น นักบวช พระภิกษุ รวมถึงคนรอบข้าง ที่ต้องการจะมาตักตวงผลประโยชน์จากวัด ทำให้บั่นทอนความศรัทธาของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ส่วนตัวจึงรู้สึกโกรธ และเห็นใจวัดต่างๆ หรือนักบวช พระภิกษุ ที่เข้ามาด้วยความประสงค์ดี ดังนั้นต้องมาช่วยกันคิดหาทางจัดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าระบบอาสาสมัครที่ทางมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กำลังนำมาใช้อยู่นั้น น่าจะเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปแก้ปัญหาตามวัดต่างๆ ที่อยากจะยกระดับตัวเองให้มีระบบธรรมาภิบาลต่อไป ซึ่งถือเป็นพันธกิจร่วมกันของคนจำนวนมาก ต้องอาศัยองคาพยพขนาดใหญ่ในการเข้าไปจัดการ เพื่อช่วยให้วัดต่างๆ มีสถานภาพที่ดีขึ้น
“วันนี้เรากำลังเผชิญกับสังคมที่มีความท้าทายหลากหลาย ผมทำงานทางด้านการต่อต้านทุจรติคอร์รัปชันมาหลายปี ผลงานแย่มาก ถ้าเป็นมวยต้องยอมรับว่าเราแพ้คะแนนเกือบทุกยก การขาดซึ่งหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม เป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามไปหลายสถาบัน ไม่ว่าทางด้านนิติบัญญัติ ด้านการบริหาร ที่ท่านทราบและกังวลอยู่ และลุกลามมาถึงสถาบันศาสนา ที่อยากจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ”