ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล???

รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล???

13 มิถุนายน 2017


บรรยง พงษ์พานิช

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ศูนย์ดำรงธรรมและศูนย์อื่นๆ ทั่วประเทศรวม 1,007 แห่ง จะเปิดรับคำตอบของประชาชนที่มีต่อคำถาม 4 ข้อ ที่นายกรัฐมนตรีถามไว้เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนที่จะไปตอบคำถาม ผมก็เลยพยายามมาเข้าใจคำถามของท่านนายกฯ เสียก่อน

คำถามข้อที่หนึ่ง ที่ถามว่า “ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?” นั้น ถ้ามาพิจารณากันถึงคีย์เวิร์ดที่จำเป็นจะต้องเข้าใจก่อน ก็คือคำว่า “ธรรมาภิบาล” นั้นหมายความว่าอย่างไร

คำว่า “ธรรมาภิบาล” นั้นเป็นคำใหม่ ไม่มีระบุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วยซำ้ไป (ผมค้นไม่เจอ ถ้าใครเจอช่วยบอกด้วยนะครับ) แต่ถ้าจะเอาความหมายจากที่ใช้อ้างอิงกัน ก็น่าจะหมายถึง “ระบบหรือวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” ซึ่งคำว่า “อภิบาล” ก็หมายถึง ระบบการจัดการ ระบบการปกครอง และระบบการควบคุม ซึ่งนอกจากจะใช้ในระบบใหญ่อย่างรัฐแล้ว ยังใช้ในระบบอื่นๆ เช่น ที่ใช้กับองค์กรธุรกิจก็เรียกว่า “บรรษัทภิบาล” เป็นต้น

จริงๆ แล้ว คำคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นคำแปลของคำว่า “Good Governance” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็เป็นคำที่ไม่ว่าจะหาความหมายจากแหล่งใด เช่น จาก United Nations หรือแม้จาก Wikipedia ก็ให้ความหมายเหมือนกันทั้งสิ้น คือ เป็นเรื่องของระบบ ของวิธีการ ของกลไกสถาบัน ของกระบวนการตัดสินใจ กระบวนการที่จะปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ ในเรื่องของการปกครองและบริหารประเทศ อย่าง UN ก็ให้ความหมายที่กระชับของคำว่า “Governance” ว่าคือ “the process of decision-making and the process by which decisions are implemented (or not implemented).”

ถึงตอนนี้ คงจะพอเข้าใจแล้วนะครับ ว่า “ธรรมาภิบาล” หรือ “Good Governance” นั้นไม่ใช่คน ไม่ใช่กลุ่มคน หรือหมู่คณะใดๆ ที่จะมีหรือไม่มี “ธรรมาภิบาล” แต่เป็นเรื่องของระบบ เป็นเรื่องของกลไกสถาบัน มันเป็นเรื่องของวิธีการ ตั้งแต่ว่า เราจะมีสถาบันกันอย่างไร มีกฎหมายที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร มีกลไกที่จะเลือกผู้ปกครองอย่างไร มีวิธีที่จะตัดสินใจอย่างไร วิธีเอาไปปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพอย่างไร วิธีตรวจสอบควบคุม คานอำนาจกันอย่างไร ถ้าไม่เป็นไปตามที่ควรจะแก้ไขอย่างไร

ว่ากันในระดับสากล “Good Governance” นั้นก็ยังไม่นิ่ง ยังไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว แต่ทุกๆ คนทุกๆ ชาติต่างก็ตระหนักรู้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะให้สังคมประเทศชาติพัฒนารุ่งเรืองได้ทั่วหน้าและมีความสงบสุข จึงยังมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

ขอกลับมาประเทศไทย คงต้องยอมรับความจริงว่า “Governance” ของเรา ระบบ กลไก ที่เรามี ยังห่างไกลคำว่า “Good” อยู่มากนัก ประเทศเรายังไม่รุ่งเรือง ยังติดกับดักอยู่ ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง มีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกมากมาย ความขั่วร้าย การฉ้อฉลยังมีอยู่ทุกระดับ แถมยังมีความแตกแยกรุนแรงในสังคม เราจึงต้องมุ่งพัฒนา “ระบบ” ให้มี “ธรรมาภิบาล” มากขึ้นๆ (แทนที่จะวิ่งหาคนดี ซึ่งจะว่าไป ระบบที่ดี ก็จะคัดสรรคนที่ดีให้เองแหละครับ)

ที่ผ่านมา เราก็ตระหนักรู้มาตลอดว่า Governance ของเรายังไม่ดี เราก็มีการปรับปรุงเรื่อยมา เช่น เปลี่ยนรัฐธรรมนูญเมื่อ 2540 หรือกระบวนการอื่นๆ ซึ่งการจะปรับปรุงก็มีสองวิธี คือ ค่อยๆ พัฒนาเรียนรู้ปรับปรุงกันไป หรือจะล้มโต๊ะปรับกันแบบแรงๆ เช่น ปฏิวัติรัฐประหาร ในอดีตก็สอนเราว่าไม่ได้ช่วยพัฒนาในเรื่อง “Governance” สักเท่าไหร่ เสร็จแล้วเราก็วนกลับมาวังวนเดิมๆ หรือค่อนข้างจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

แต่เอาเถอะครับ ไหนๆ ท่านก็ปฏิวัติล้มกระดานแล้ว คนบางคนอย่างเช่นผม ก็มีความหวังว่าจะได้มีการพัฒนา “ธรรมาภิบาล” ขึ้นมาให้ประเทศบ้าง ซึ่งตรงหัวยอดของ “ธรรมาภิบาล” ก็คือ รัฐธรรมนูญที่ได้รับประชามติล้นหลามไปแล้ว (แต่ผมดันไปโหวตโน) แต่แค่นั้นคงไม่พอ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องปฏิรูป ที่ต้องปรับปรุงกันอีกเยอะ ซึ่งก็ดูมีความพยายามอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็มีการประกาศมามากมาย เช่น การ “จะ” ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การ “จะ” วางกลไกต่อต้านคอร์รัปชัน การ “จะ” ปฏิรูปกฎหมาย การ “จะ” ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเรื่องพวกนี้ล้วนมีหัวใจอยู่ที่คำว่า “Governance” ทั้งนั้น แต่ผ่านมาสามปีเศษ ก็ดูเหมือนคำว่า “จะ” มันจะติดกับดักอยู่แค่ “จะ” ก็หวังว่าอีกปีเศษที่เหลือจะสามารถเปลี่ยนคำว่า “จะ” ให้เป็นคำว่า “ได้” ให้ได้บ้างนะครับ

ผมขอสรุปว่า ถ้าจะถามหา “ธรรมาภิบาล” ถามหา “Good Governance” อย่าไปถามหาจากรัฐบาลหน้าเลยครับ เราต้องถามหาจากรัฐบาลปัจจุบันนี่แหละครับ เพราะมันเป็นระบบ เป็นกลไก เป็นกรอบกติกา ที่ท่านฉีกของเดิมทิ้ง (บางส่วน) แล้วสัญญาว่าจะสร้างใหม่ ปรับปรุงใหม่ให้ดีกว่าเดิม จะดีไม่ดีก็อยู่ช่วงนี้แหละครับ ถ้าทำได้ดี วางรากฐานให้ดี ก็จะได้เดินต่อ ไม่ต้องวนมาฉีกทิ้งอีกในวันหน้า

พอท่านตั้งคำถามมาอย่างนี้ ผมก็เลยตอบไม่ได้ (เพราะตั้งคำถามผิด) พอคำถามแรกตอบไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่องชี้นำอีกสามข้อได้อย่างไร

ก็กลัวแต่ว่าท่านจะถามใหม่ว่า “ถ้าผมยังแก้ธรรมาภิบาลยังไม่เสร็จ แล้วปล่อยให้เลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร?” ซึ่งถ้าถามอย่างนั้น ก็คงต้องตัวใครตัวมันกันละครับ เพราะ “Good Governance” ก็เหมือนปฏิรูปนั่นแหละครับ คือทำยังไงก็ไม่เสร็จ ตราบใดที่โลกยังหมุนอยู่

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 12 มิ.ย. 2560