ThaiPublica > เกาะกระแส > ตั้ง คกก.สอบคนในสภาอุตฯ เปิด “มูลนิธิพลังงานสะอาด” อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุนหน่วยงานรัฐ

ตั้ง คกก.สอบคนในสภาอุตฯ เปิด “มูลนิธิพลังงานสะอาด” อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุนหน่วยงานรัฐ

16 มีนาคม 2024


ศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท.ร้อนระอุ โค้งสุดท้ายมีผลสอบเบื้องต้นเสนอที่ประชุมบอร์ดบริหาร ฯ พิจารณา กรณีคนในสภาฯตั้ง “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” อ้างชื่อสภาอุตฯ ของบประมาณหน่วยงานรัฐทำวิจัย โดยไม่ผ่านการอนุมัติ ถามการดำเนินการดังกล่าวนี้อาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?

ระหว่างที่คนในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความสนใจกับข่าวนายสมโภน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ “EA” ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธาน ส.อ.ท. 3 สมัย ลงชิงตำแหน่งกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบัน ขณะที่ประเพณีที่สืบทอดมานาน ประธาน ส.อ.ท จะนั่งในตำแหน่งต่อเนื่องกัน 2 วาระ หรือเป็นการต่ออายุอีก 1 สมัย (2 ปี) การชิงตำแหน่งครั้งนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมาก

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท.ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ปรากฏว่า มีเรื่องวุ่น ๆ เกิดขึ้นในสภาอุตฯ เมื่อหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ “บพข.” หน่วยงานให้ทุนวิจัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้มีจดหมายมาสอบถามประธาน ส.อ.ท.โดยสรุปรายงานตามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมมีทั้งหมด 11 โครงการ และขอให้ ส.อ.ท.ตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งผลการตรวจสอบเป็นหนังสือกลับมาที่ บพข.ด้วย ปรากฎว่าในจำนวนโครงการที่ บพข.สอบถามมานี้มีชื่อมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนได้รับทุนวิจัยรวมอยู่ด้วย 1 รายการ โดยที่ ส.อ.ท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ดังนั้น ประธาน ส.อ.ท.จึงทำหนังสือตอบกลับไปที่ บพข.ว่า ส.อ.ท.ไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่ได้มอบอำนาจใดๆให้กับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ไปดำเนินการขอรับทุนวิจัยจาก บพข.แต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ ประธาน ส.อ.ท.จึงแต่งตั้งนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบในเบื้องต้น กรณีกลุ่มบุคคลในสภาอุตฯ ตั้งมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน โดยนำชื่อ ส.อ.ท.และใช้ แพลตฟอร์ม FTIX ของ ส.อ.ท.เขียนข้อเสนอโครงการไปขอรับงบประมาณจาก บพข. โดยใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจสีเขียว ตามแนวทาง BCG ของประเทศไทย” อีกทั้งยังระบุว่ามีการใช้พื้นที่ของ ส.อ.ท. ชั้น 8 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ทำงานวิจัย โดยไม่ได้รับการอนุมัติจาก ส.อ.ท.แต่อย่างใด

โดยผลการสอบข้อเท็จจริงได้เสนอเข้าไปที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสภาอุต ฯ เนื่องจากมีบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องหลายคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัด ส.อ.ท. อาทิ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เดิมสถาบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต) , กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และบุคคลในกลุ่มนี้ยังมีชื่ออยู่ในหน่วยงานภายนอก ส.อ.ท.อีก อาทิ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100 Thailand Club)

แหล่งข่าวจากจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบขยายผลลงไปในเชิงลึกของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ หรือ FTIX พบว่า บริษัทสตาร์อัพที่เข้ามาเขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์ให้กับโครงการนี้มีผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง โดยไม่ได้แจ้งให้ ส.อ.ท.รับทราบ หรือ ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของ ส.อ.ท.แต่อย่างใด แต่ปัจจุบันได้เปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวกันไปแล้ว และเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของร่างสัญญาของบริษัทสตาร์อัพที่เข้ามารับงานเขียนโปรแกรมให้แพลตฟอร์ม FTIX พบว่า ส.อ.ท.เสียเปรียบเกือบทุกข้อเสนอ อาทิ ความเป็นเจ้าของในแพลตฟอร์ม FTIX และข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (ฺBig Data) ซึ่งในร่างสัญญาฯ ระบุว่า แพลตฟอร์ม FTIX เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทสตาร์ทอัพ และบริษัทแม่ของสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยินยอมให้สมาชิก ส.อ.ท.และประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา แต่ให้ ส.อ.ท.รับผิดชอบค่าเช่าระบบ Cloud เอง และที่สำคัญในเงื่อนไขของร่างสัญญาฯ ยังกำหนดให้ ส.อ.ท.ต้องใช้แพลตฟอร์ม FTIX ของบริษัทสตาร์ทอัพดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะไม่ย้ายแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสะอาด และคาร์บอนเครดิตไปให้ผู้ให้บริการรายอื่น

นอกจากนี้หาก ส.อ.ท.เป็นผู้บอกเลิกสัญญาก่อน 10 ปี ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทสตาร์ทอัพดังกล่าวไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ถ้าบริษัทสตาร์ทอัพเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา จะให้ ส.อ.ท.ใช้แพลตฟอร์มต่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจนครบระยะเวลา 10 ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาระหว่างกันแต่อย่างใด จึงมีคำถามตามมาว่า กลุ่มบุคลากรของ ส.อ.ท.ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกในเชิงธุรกิจดังกล่าวนี้ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยกรรมการบางคนเสนอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากมีการทุจริตก็ต้องดำเนินการลงโทษ แต่ถ้าเป็นประเด็นที่เข้าใจผิดพลาดไม่ได้ส่อการทุจริต ก็ให้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง รวมทั้งเสนอให้ตั้งทีมกฎหมายจากหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความชำนาญมาช่วยตรวจสอบ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของส.อ.ท.ยังไม่ชำนาญในเรื่องดังกล่าว และยังมีกรรมการหนึ่งคนเสนอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารการยื่นข้อเสนอโครงการของมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ อีกทั้งยังเป็นห่วงในประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม FTIX และประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันไปก่อนอนุมัติ หรือ เซ็นสัญญา ทาง ส.อ.ท.จึงเป็นห่วงในเรื่องขอบเขตความรับผิดชอบทางกฎหมายกรณีที่เกิดความเสียหาย หรือ ฟ้องร้องกันในอนาคต

จากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงมีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ดังนี้

    1) ให้ ส.อ.ท.ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานของรัฐ ทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการว่า ส.อ.ท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการดำเนินการของมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ซึ่งอาจพิจารณาแจ้งให้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ นอกเหนือจาก บพข. และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ที่อาจได้รับข้อเสนอโครงการของมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ โดยนำชื่อของ ส.อ.ท.ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการขอรับงบประมาณสนับสนุน และแต่งตั้งผู้แทนใดๆ

    2. แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เข้ามาดำเนินการติดตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เรียบร้อย เพื่อรักษาผลประโยชน์ และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับ ส.อ.ท.

    3. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ เพื่อพิจารณาทบทวนโครงการแพลตฟอร์ม FTIX และโครงการที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะระงับโครงการ หรือจะดำเนินการต่อไป โดยให้รักษาผลประโยชน์โดยรวมของ ส.อ.ท.และสมาชิก เป็นหลัก

หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้น และข้อเสนอแนะเสร็จเรียบร้อย ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ก็ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว และขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพิ่มเติม และเร่งสรุปข้อเท็จจริงโดยเร็ว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ขยายผลการตรวจสอบ พบว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ทำหนังสือเลขที่ พน 0608/541 ส่งถึงประธาน ส.อ.ท. ขอให้รับรองสถานะของมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ได้ยื่นข้อเสนอโครงการเข้าไปขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้ชื่อโครงการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมยกระดับการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยในวงเงินงบประมาณ 218.64 ล้านบาท โดยระบุในข้อเสนอโครงการ หน้าที่ 9 ว่า “มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (มพช.) เป็นหน่วยงานอิสระที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร ก่อตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และดำเนินการควบคู่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมามูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ได้ดำเนินการด้านพลังงานหมุนเวียนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทยมาอย่างต่อเนื่อง…”

จากนั้นใน ข้อเสนอโครงการ หน้าที่ 10 ระบุว่า “ดังนั้นมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100 Thailand Club) จัดทำโครงการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการยกระดับการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยขึ้น เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล…”

ปรากฏว่า ประธาน ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือเลขที่ 14/512/2566 ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 ตอบกลับไปยังผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ว่า “ส.อ.ท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของกับการยื่นข้อเสนอโครงการฯของมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และการดำเนินการดังกล่าวของมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ไม่ได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท.แต่อย่างใด จึงไม่สามารถรับรองสถานะของมูลนิธิพลังงานสะอาดได้” ต่อมาทราบภายหลังว่า ทางสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ถอนวาระการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวออกไปแล้ว

แหล่งข่าวจากสภาอุต ฯ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นเสร็จ ก็มีคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.บางคนให้ความเห็นว่า “การยื่นข้อเสนอโครงการโดยอ้างชื่อ ส.อ.ท.เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้แจ้งให้ ส.อ.ท. รับทราบ และไม่ได้รับการอนุมัติจาก ส.อ.ท.ให้ไปดำเนินการตามระเบียบของสภาอุตฯ หาก กทอ.ไม่ทำหนังสือมาขอความเห็น ส.อ.ท. และโครงการได้รับการอนุมัติไปแล้ว โดย ส.อ.ท.ไม่ทราบเรื่อง อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ ส.อ.ท.เสียหายได้ และเสียโอกาสในการใช้สิทธิยื่นข้อเสนอโครงการเช่นกัน”

อีกทั้งยังพบกลุ่มบุคคลที่ระบุในโครงการฯตามที่กล่าวข้างต้น กับผู้บริหารมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100 Thailand Club) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับผู้บริหารของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCI) และกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในสังกัดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีผลต่อเรื่องธรรมาภิบาล และจากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ทำให้กรรมการบริหารของ ส.อ.ท.หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตรงที่มีการใช้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯเข้าไปยื่นขอรับทุนวิจัยจากหน่วยงานของรัฐ โดยอ้างชื่อ ส.อ.ท. และมีกลุ่มกรรมการ หรือ ผู้บริหารของ ส.อ.ท.เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ในสังกัดของสถาบันใดใน ส.อ.ท.ที่ตนเองได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของ ส.อ.ท.ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “รายละเอียดของโครงการฯที่ไปยื่นขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายกับบริษัท จัดการพลังงาน (ESCO) ภายใต้สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีการดำเนินการลักษณะนี้อยู่แล้ว ถามว่าทำไมไม่ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสนอโครงการ และรับทุนเอง”

จากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงมีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ส.อ.ท. และเกิดความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐครั้งต่อไปนั้น หากประสงค์จะยื่นข้อเสนอโครงการในนามมูลนิธิพลังงานสะอาด ฯและต้องการความร่วมมือจาก ส.อ.ท. จะต้องเสนอให้ ส.อ.ท.พิจารณารับทราบและอนุมัติ ตามขั้นตอนและกฎระเบียบของสภาอุตฯให้ถูกต้องก่อนนำชื่อ ส.อ.ท.ไปอ้างอิงในเอกสารใดๆ และถ้าหากเป็นโครงการที่หน่วยงานภายใน ส.อ.ท.มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ควรนำเสนอและดำเนินการในนามของ ส.อ.ท. เพื่อประโยชน์ต่อสมาชิกและบริหารจัดการงบประมาณอย่างถูกต้อง

ทำไม ส.อ.ท.ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ที่มาของเรื่องสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ นำชื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอโครงการไปขอรับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น เนื่องจากผู้อำนวยการหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ “บพข.” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำหนังสือเลขที่ อว/362 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงประธาน ส.อ.ท. เรื่องสรุปรายงานความร่วมมือพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมมีทั้งหมด 11 โครงการ มาให้ ส.อ.ท.ตรวจสอบความถูกต้อง และขอให้แจ้งผลการตรวจสอบเป็นหนังสือต่อ บพข.ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏว่า มีโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวตามแนวทาง Bio – Circular – Green Economy (BCG) ประเทศไทยของมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนรวมอยู่ในรายการลำดับที่ 11

ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงทำหนังสือเลขที่ 58/591/2567 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง บพข. แจ้งผลการตรวจสอบความถูกต้องตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ทำกันไว้ระหว่าง ส.อ.ท. กับ บพข. โดยแจ้งว่า “ส.อ.ท.ไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่ได้มอบอำนาจใดให้กับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ไปดำเนินการขอรับทุนวิจัยจาก บพข. และไม่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวตามแนวทาง BCG ของประเทศไทย”

ต่อมา ผู้อำนวยการ บพข.ได้ทำหนังสือเลขที่ 6203/408 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงประธาน ส.อ.ท. แจ้งว่า บพข.ได้ตรวจสอบโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ ที่มีมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ เป็นผู้รับทุน พบว่า โครงการนี้ระบุถึงความเกี่ยวข้องกับ ส.อ.ท.ทั้งในส่วนของสถานที่วิจัย และแพลตฟอร์ม FTIX ซึ่งใช้เป็นผลงานวิจัยหลักในโครงการนี้ จึงขอให้ ส.อ.ท.ตรวจสอบการอนุญาตให้มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ใช้พื้นที่ของ ส.อ.ท.ชั้น 8 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ทำงานวิจัย และการอนุญาตให้มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนใช้สิทธิในผลงาน FTIX และขอให้ ส.อ.ท.แจ้งผลการตรวจสอบเป็นหนังสือต่อ บพข.ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือนี้

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ประธาน ส.อ.ท. ได้ลงนามในคำสั่งที่ 20/016/2567 แต่งตั้งนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณี บพข.ขอให้ ส.อ.ท.ตรวจสอบการอนุญาตให้ “มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน” ขอรับทุนจาก บพข. ในโครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ โดยใช้พื้นที่ของ ส.อ.ท.ชั้น 8 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีสร้างสรรค์ของ ส.อ.ท.ทำงานวิจัย และการอนุญาตให้มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ใช้สิทธิในผลงาน FTIX โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ ได้ขอให้คณะกรรมการฯตรวจสอบว่า เหตุใด ส.อ.ท.จึงมีความเกี่ยวข้องกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนในกรณีดังกล่าวอย่างละเอียด รวมทั้งขอให้สรุปข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา หรือ ดำเนินการใด ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของ ส.อ.ท. และนำเสนอต่อประธาน ส.อ.ท. เพื่อพิจารณา และสั่งการต่อไป

ปมขัดแย้งใน ส.อ.ท.ครั้งนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต แต่ก็มีคำถามตามว่ากรณีที่มีกรรมการ หรือ บุคลากรของ ส.อ.ท.เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเชิงธุรกิจตามที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักธรรมภิบาลที่ดี และความน่าเชื่อถือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือไม่ อย่างไร เป็นประเด็นที่จะต้องตรวจสอบกันต่อไป…

  • โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.-ส.อ.ท. ตรวจสอบ
  • ศึกภายในสภาอุตฯวุ่น “พยุงศักดิ์” งัดกฎหมายสู้ ชี้ปลดประธาน ส.อ.ท. ต้องผ่านครม. – ใช้เสียงที่ประชุมสามัญ 2 ใน 3
  • แกะเส้นทางเงิน 12 ล้านบาท ปมฉาวความขัดแย้งสภาอุตฯ
  • เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (1): ผู้ขออนุมัติเงิน – ผู้สอบข้อเท็จจริงคนเดียวกัน
  • เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (2): กองปราบ-สตง. ลุยสอบเส้นทางเดินเงิน
  • เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (3): สอบวินัย “รำพึง ธรรมเจริญ” ตรวจใบเสร็จ 12 ล้าน
  • เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (4): สภาอุตฯ แจ้งกองปราบ ดำเนินคดีอดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อมงบฯ น้ำท่วม
  • ป้ายคำ :