เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า หรือ รีคอฟ (RECOFTC) ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จัดประชุมแนะนำโครงการ “พลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง” หรือ “Voices for Mekong Forests” เพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับภาคประชาสังคมให้สามารถติดตามและตรวจสอบธรรมาภิบาลป่าไม้ใน 3 พื้นที่รอยเชื่อมต่อพรมแดน 5 ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาป่าไม้อย่างยั่งยืน ผ่านการใช้กลไกการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ธรรมาภิบาลและการค้า หรือ “เฟล็กที” (FLEGT) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า หรือ “เรดด์พลัส” (REDD+)
“วรางคณา รัตนรัตน์” ผู้ประสานงานแผนงานรีคอฟประเทศไทย นำเสนอว่า โครงการ “พลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง” ในส่วนของประเทศไทยจะมีการทำงาน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ป่าไม้ ระดับชาติ และระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ จะมีกิจกรรมเกิดขึ้นใน 2 พื้นที่นำร่องหลัก คือพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติในแขวงบ่อแก้วและแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งคือพื้นที่ป่าตะวันตก ซึ่งจุดที่จะเน้นการทำงานลงไปในพื้นที่ คือป่ารอยต่อแนวกันชนบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
สำหรับกิจกรรมที่ต้องการจะเห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย 1. การติดตามตรวจสอบและการส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยจะเน้นเรื่องการประเมินและพัฒนาระบบที่เสริมสร้างศักยภาพของภาคประชาสังคมให้พัฒนา และจัดทำระบบข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รวมทั้งเน้นเรื่องการทำข้อมูลพื้นฐานบนเว็บ (web-based systems) และการใช้เทคโนโลยีผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีการทดลองระบบนี้ในพื้นที่ทั้ง 2 แห่งดังกล่าว
2. พัฒนาศักยภาพของภาคประชาสังคมให้สามารถทำการประเมินและติดตามธรรมาภิบาลป่าไม้ในพื้นที่ของโครงการได้ โดยใช้การสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมที่ทำให้ภาคประชาสังคมสามารถสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองให้สามารถใช้ระบบการติดตามด้านธรรมาภิบาลป่าไม้ในพื้นที่นำร่องโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เน้นการสร้างเสริมความสามารถของภาคประชาสังคมในการทำงานเชิงนโยบายและการเข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุยกันครั้งนี้จะไม่ได้อยู่เฉพาะในภาคประชาสังคม หลังจากนี้จะมีเวทีที่จะพูดคุยกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งการทำงานกับภาคสื่อมวลชน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายภาคพลเมืองมากขึ้น ทั้งยังจะมีเวทีระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบปะกับตัวแทนประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบนี้มาทำงานเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เสียงของภาคประชาสังคมและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้มีส่วนสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยกระบวนการต่างๆ จะถูกดำเนินการบนฐานของการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียจากทุกส่วนอย่างแท้จริง
และยังหวังว่าภาคประชาสังคมจะมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการจัดการตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งบันข้อมูล การสร้างจุดยืนอย่างเข้มแข็งในการเจรจาต่อรอง รวมถึงการเป็นตัวแทนในการไปแสดงความเห็น ข้อกังวล และข้อเสนอ ในการแก้ปัญหาต่อภาครัฐที่เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายได้ รวมทั้งเป็นการยกระดับและเสริมสร้างความร่วมมือของภาคประชาสังคมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในงานป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เจนนี่ ลุนมาร์ก” ตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปยินดีอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการพลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง เพราะเล็งเห็นว่าป่าชุมชนและการจัดการป่าไม้ที่มีธรรมาภิบาลจะสามารถนำไปสู่การขจัดความยากจนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“สหภาพยุโรปเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงนำไปสู่การลดความยากจนที่เป็นผลจากการปรับปรุงระบบจัดการป่าไม้ให้มีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น”
นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังมุ่งหวังให้การสนับสนุนนี้ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานด้านป่าชุมชนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”
“อรรถพล เจริญชันษา” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า โครงการพลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง ถือเป็นโครงการที่ตรงตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการสร้างเครือข่ายร่วมดูแลป่าไม้ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกรมป่าไม้มีเครือข่ายมากมายในการร่วมกันดูแลป่า แต่ก็อยากให้มีเครือข่ายภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น
เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนหลายกลุ่มมีความตั้งใจดี แต่อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ซึ่งไม่ว่ากลุ่มไหนก็แล้วแต่ อยากให้มีการเชื่อมต่อ มีการสร้างเครือข่ายถักทอข้อมูล ประสานข้อมูลร่วมกัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน
รองอธิบดีกรมป่าไม้ระบุว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าประเทศไทยถูกบุกรุกไปมาก แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2557 ได้มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลรักษาป่า โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องหลายคำสั่งที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ภายใต้การประสานงานหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เช่น มีการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามทวงคืนผืนป่าจำนวนมาก มีการตรวจสอบนายทุนบุกรุกป่า ตรวจสอบรีสอร์ทต่างๆ การปลูกสวนยางพาราในพื้นที่ป่า ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2557 สามารถยึดคืนดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 520,000 ไร่ โดยเป็นรายนายทุนทั้งหมด อาจจะมีผิดพลาดในบางประการที่ไปกระทบกับผู้ยากไร้บ้าง แต่ถือเป็นส่วนน้อยมาก ซึ่งได้มีมาตรการแก้ไขและเยียวยา แต่ที่เน้นจริงๆ คือเรื่องภารกิจการทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกโดยนายทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพยากร
สำหรับเป้าหมายสูงสุดตามยุทธศาสตร์ชาติก็คือ อยากให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ ภายใน 20 ปี ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งเป็นโรดแมปของรัฐบาลที่อยากจะไปให้ถึง
“อรรถพล” กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการใช้ดาวเทียมตรวจสอบพื้นที่ป่า โดยพบว่าพื้นที่ป่าปัจจุบันอยู่ที่ 102.4 ล้านไร่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่การบุกรุกป่าเริ่มจะหยุดนิ่ง อาจจะมีบุกรุกบ้างแต่ว่าน้อยมาก
และนับตั้งแต่ปี 2557 มีการบุกรุกป่าที่เป็นรายใหม่จริงๆ ประมาณไม่เกิน 2 หมื่นไร่ต่อปี ถือว่าน้อยมาก เพราะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะถึงปี 2557 พบว่ามีการเสียพื้นที่ป่าเฉลี่ยประมาณ 6 แสนไร่ต่อปี
“วันนี้มาถึงจุดที่ค่อนข้างจะนิ่งแล้ว ด้วยภารกิจที่ชัดเจนและภารกิจที่เข้มแข็ง ในการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังมีภารกิจที่สำคัญต่อไปคือ จะต้องมีป่าให้ได้ 40% เป็นความฝันของประเทศไทย ซึ่ง 40% นี้ ไม่ได้ช่วยเฉพาะคนไทยแต่จะช่วยภูมิภาคนี้ด้วย เพราะเป็นระบบนิเวศที่ต่อเนื่องกัน”
นอกจากนี้ จิสด้ายังได้ให้การสนับสนุนใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และสร้างระบบปฏิบัติการในการเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่ป่าในลักษณะที่ค่อนข้างเป็นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาระบบดังกล่าวให้แม่นยำมากขึ้น และจะพัฒนาเป็นระบบที่สามารถใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้ในสมาร์ทโฟน
และภายในเดือนกรกฎาคมนี้ กรมป่าไม้จะแจกสมาร์ทโฟนให้กับหน่วยป้องกันรักษาป่า เมื่อพบจุดบุกรุกป่าตั้งแต่ 1-2 ไร่ขึ้นไป ก็จะส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง หรือแม้แต่ฝ่ายปกครองที่อยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยกันดูแลรักษาป่า
“หากระบบนี้ใช้ได้ดี มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าพื้นที่ป่าจะไม่หายไปรวดเร็วเหมือนเมื่อก่อน ส่วนภารกิจการทวงพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก นอกจากป้องกันแล้วก็ต้องเอาคืนกลับมาด้วย จากกลุ่มนายทุน”
“ส่วนผู้ยากไร้ยังไม่เอาคืนในตอนนี้ แต่จะจัดระเบียบให้ผู้ยากไร้ไร้ที่ทำกินหรือผู้ที่ทำกินอยู่เดิมในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีเงื่อนไขที่เรากำหนด ไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม”
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะเป็นนโยบายหนึ่งของกระทรวงทรัพฯ และรัฐบาล เพราะในอดีตเราอาจจะแก้ไขด้วยการเอาคนออกจากป่า แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ทำอย่างไรให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ไม่บุกรุกป่าเพิ่ม และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยไม่เกิดผลกระทบ
“เราไม่ได้มองเรื่องมิติของป่าอย่างเดียว แต่ยังมองมิติเรื่องประชาชนด้วย เพราะตราบใดที่ประชาชนไม่สามารถอยู่กิน ทำกินได้อย่างยั่งยืน ความเสี่ยงก็จะเกิดกับพื้นที่ป่า และเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ให้ความสำคัญมากก็คือ การสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพราะความสำเร็จสูงสุดของการดูแลรักษาป่าก็คือ การที่ประชาชนในพื้นที่ป่าลุกขึ้นมาปกป้องดูแลรักษาป่า เป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด”
“อนันต์ ดวงแก้วเรือน” ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงแนวคิดการจัดการป่าชุมชนแม่ทาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการบริหารจัดการป่าแบบพี่น้องชาวบ้าน โดยคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น การตัดต้นไม้หนึ่งต้นยาว 30 เมตร แต่ใช้ประโยชน์แค่ไม่เกิน 10 เมตร นอกนั้นปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ คงไม่ได้ ฉะนั้น ก่อนจะใช้ไม้ ต้องมีการตกลงร่วมกัน ซึ่งการทำงานในชุมชนแม่ทา เป็นการทำงานแบบทีมฟุตบอล ทุกตำแหน่งช่วยกัน
“สถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแม่ทา มีคณะทำงานทุกองค์กร ฉะนั้น เราแยกกันเล่น แยกกันเป็นพระเอก เล่นแบบทีมฟุตบอล ทุกตำแหน่งช่วยเหลือกัน พ่อเชื่อมั่นว่าคนเราไม่รู้ทุกเรื่อง พ่ออายุ 60 รู้ด้านภูมิปัญญามากมาย แต่เรื่องเทคโนโลยีเราไม่รู้ ก็ต้องให้ลูกหลานมาร่วมทำงานกับเรา”
นี่คือการบูรณาการหรือจะเป็นธรรมาภิบาลหรือไม่ พ่อไม่รู้ แต่การทำงานต้องยึดหลักว่า ต้องเอาผู้เฒ่าผู้แก่มาทำงานกับเด็กรุ่นลูกหลาน ถามว่าพ่อจะทำตลอดไปหรือ หลายโครงการจบลงไปเพราะไม่มีใครทำต่อ ไม่มีความยั่งยืน
“พ่อเองเคยเป็นกำนัน แต่วันหนึ่งก็ต้องปลดเกษียณ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ระบบราชการ ระบบองค์กรต่างๆ มันไม่ยั่งยืนมั่นคง แต่ความยั่งยืนมั่นคงที่สุดคือชาวบ้าน ชาวบ้านไม่มีวันปลดเกษียณ ไม่มีวันหมดอายุ ตายเมื่อไหร่เลิกกันเมื่อนั้น”
“อนันต์” เชื่อว่า สังคมป่าไม้ประเทศไทยหมดไปเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่ามีสิทธิ์ชอบด้วยกฎหมายคอยบริหารจัดการป่าเอง แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านต่างหากที่มีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าเจ้าหน้าที่หลายเท่า
“ฉะนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาป่าไมวันนี้คือ ต้องช่วยกันดูแล ชาวบ้านอาศัยความรู้ งบประมาณ วิชาการต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนชาวบ้านไม่มีความรู้ แต่มีกำลัง มีแข้งขา มีตามีหูช่วยกันดูแลป่า เพราะเวลาป่าถูกทำลาย ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วก็ไป”
อย่างไรก็ตาม การทำงานของชุมชนแม่ทาที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้ แม้จะได้รับการยอมรับหลายเรื่อง แต่แม่ทาไม่ใช่มาม่า จะนำโมเดลไปใช้ได้ทุกทีคงไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะบางแห่งบางที่ ฉะนั้นอย่าบอกว่าแม่ทาดีตลอด คงไม่ใช่อย่างนั้น แต่การดูแลป่าไม้อยู่ที่สังคม ชุมชน ระบบนิเวศ คนในชุมชนนั้นๆ จะเข้าใจหรือไม่อยู่ที่การบริหารจัดการร่วมกันในชุมชนนั้นๆ มากกว่า
ด้าน “อนุสรณ์ รังสิพานิช” อธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA Academy ) กล่าวว่า ข้อมูลดาวเทียมเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถตรวจสอบและยืนยันธรรมาภิบาลป่าไม้ได้ เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดินก่อนหน้านี้ในปี 2541 รัฐออกนโยบายให้กรมป่าไม้ตรวจสอบว่าใครครอบครองพื้นที่ป่า ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การตรวจสอบจึงล่าช้าพอสมควร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกป่า
จนต่อมามีการใช้ภาพดาวเทียมเข้ามาช่วยตรวจสอบ เห็นเป็นซีรีย์สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยเฉพาะปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้เปิดดูในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งปัจจุบันจิสด้าได้ร่วมกับกรมป่าไม้ทำงานประสานกัน โดยเมื่อจิสด้าได้รับภาพก็สามารถส่งไปให้กรมป่าไม้ได้ทันที สามารถดูได้เลยว่าพื้นที่ไหนเป็นที่บุกรุกป่า สามารถคำนวณจุดพิกัดให้เรียบร้อยแล้วส่งไปทางเอสเอ็มเอสได้เลย
“ขณะนี้ระบบใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในปีหน้าจะได้ใช้แน่นอน มีทั้งเว็บแอปและ โมบายแอป สามารถบอกได้ด้วยว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่บุกรุกป่า ซึ่งคนรับผิดชอบต้องไปตรวจสอบ อย่างน้อยเป็นการกระตุ้นเตือนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่จะต้องทำการตรวจลาดตระเวนการบุกรุกป่า”
“หรือในบางพื้นที่ที่มีการบุกรุกมาก เป็นพื้นที่ล่อแหลม เป็นประเด็นข่าวทางสังคม การใช้ภาพดาวเทียมจะทำให้เห็นข้อมูลว่ามีการบุกรุกป่าจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่เจ้าหน้าที่ไปกลั่นแกล้ง ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีจะทำให้การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น”
ขณะที่ “ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์” อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ธรรมาภิบาลคือวิธีการที่จะจัดการร่วมกันของหลายฝ่าย โดยที่ไม่ยึดกฎหมายหรือตลาดเป็นหลัก แต่พยายามจะผสมผสานระหว่าง “กฎ” กับ “เศรษฐกิจ” มาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่แค่เฉพาะการกำกับควบคุม
ดังนั้น ธรรมาภิบาลเป็นการส่งเสริมไม่ใช่การกำกับควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ในอำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เมื่อก่อนมีการบอกว่าเป็นพื้นที่เขาหัวโล้น แต่เวลานี้ไม่ใช่แล้ว มีการนำต้นไม้ต่างๆ มาปลูกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือโดยเฉพาะไม้ผล เช่น มะขามหวาน กาแฟ มะม่วง กล้วย ฯลฯ ก็สงสัยว่าทำไมชาวบ้านถึงมีแรงจูงใจในการนำไม้ผลมาเปลี่ยนสภาพป่า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงจูงใจทางกลไกตลาด
แต่กลไกที่สำคัญที่สุดคือเรื่องธรรมาภิบาล หมายความว่าชาวบ้านมั่นใจว่าเขาจะลงทุน เพราะการปลูกต้องลงทุน แต่การลงทุนนี้ไม่มีความเสี่ยงเพราะชาวบ้านไปสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันกับองค์กรส่วนท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมั่นใจ
ดังนั้น การที่มีการรับรองสิทธิ์ร่วมกัน โดยไม่ต้องเอาสิทธิ์จากกฎหมายใหญ่มาเป็นตัวแปรสำคัญ แต่สร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันในการสถาปนาสิทธิ์ใหม่บนพื้นฐานของการรับรองสิทธิ์ร่วมกันของท้องถิ่น ทั้ง อบต. หมู่บ้าน อำเภอ ชาวบ้านก็มีความมั่นใจ
“ธรรมาภิบาลอาจไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบอย่างเดียว แต่ยังเป็นการส่งเสริม ผลักดันให้มีการขยายตัวสร้างป่าในรูปแบบใหม่ เพราะว่าป่าก็มีหลายคอนเซปต์ มีหลายความหมาย ไม่ใช่แปลว่าต้นไม้ดั้งเดิมอย่างเดียว ซึ่งผมพยายามชี้ให้เห็นว่าธรรมาภิบาลไม่ใช่การกำกับควบคุม มันเป็นเรื่องของการส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันด้วยในขณะเดียวกัน”
ยกตัวอย่างพื้นที่ทางภาคใต้ หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ป่าชายเลนพังพินาศเกือบทั้งหมด แต่วันนี้ป่าชายเลนฟื้นกลับมาเต็มที่ ซึ่งเป็นเพราะว่ามันมีธรรมาภิบาล ดังนั้นอย่าไปมองแต่ว่าป่ามันหายอย่างเดียว มันมีส่วนที่ขึ้นมาด้วย แต่เราไม่ไปดูส่วนที่มันขึ้นมาว่ามันขึ้นมาเพราะอะไร ซึ่งขึ้นมาได้เพราะธรรมาภิบาล ชาวบ้านเขาร่างกฎเกณฑ์ร่วมกัน แล้วรับรองด้วยองค์การปกครองท้องถิ่น ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นแค่จุดเริ่มต้น ขั้นต่อมาคือความสามารถในการบูรณาการ
อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวต่อถึงกรณีป่าชายเลนภาคใต้ว่า เมื่อชาวบ้านดูแลพื้นที่ป่าชายเลนมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ก็กลับคืนฟื้นขึ้นมา อาชีพประมงก็ลืมตาอ้าปาก เมื่ออาชีพประมงดีขึ้น ก็ทำให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน
นี่คือการแสดงให้เห็นว่าต้องเริ่มต้นที่ชุมชนในการแสดงความเข้มแข็งว่า สามารถป้องปกดูแลพื้นที่ตัวเองได้ หน่วยงานอื่นๆ ก็ไปส่งเสริม เวลานี้ชาวบ้านเองก็ทำข้อมูลแผนที่ทางจีไอเอสแล้ว เก็บข้อมูลทางจีไอเอส ซึ่งการทำจีไอเอส ไม่ใช่ทำเพื่อตรวจสอบ แต่ทำเพื่อต่อรองให้ได้สิทธิ์ด้วย
ดังนั้น คอนเซปต์เรื่องธรรมาภิบาลเอาไปปรับใช้ได้หลายลักษณะ ถ้าเป็นชาวบ้านใช้ เขาจะใช้ในแง่ที่ว่าเอาไปช่วยเขาในการต่อรองสิทธิ์ แล้วก็ทำให้เขามีแรงจูงใจเอาไปขยายตัวรักษาพื้นที่ของเขาเอง
แต่ธรรมาภิบาลไม่ใช่แค่เรื่องกฎเกณฑ์อย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของหลักการในการนำคอนเซปต์อื่นๆ มาใช้ได้อีก ซึ่งเรื่องนี้มักไม่ค่อยพูดถึงกัน แต่มักจะพูดในมิติการควบคุม เพราะจริงๆ แล้วหลักการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีอีกหลายหลัก โดยเฉพาะหลักเศรษฐศาสตร์ หลักเศรษฐกิจ ต้องเอามาใช้มากขึ้น ไม่ใช่ใช้เฉพาะหลักกฏหมายอย่างเดียว
หลักเศรษฐกิจที่สำคัญ เวลานี้ที่ใช้คือ หลัก “PES” (Payment for Environmental Services) หมายถึงว่า เวลานี้เราคิดว่าอยากจะได้ป่า อยากได้ป่าฟรีๆ อยากให้คนอยู่ในป่าทำป่าให้เรา แต่เราไม่อยากจ่ายอะไรเลย แต่จริงๆ แล้ว หลักการจ่ายเพื่อให้ได้ทรัพยากรกลับคืนมา เพื่อให้ได้ป่ากกลับคืนมา มันต้องมีการจ่าย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ของฟรี ไม่มีของฟรีในโลกนี้
“ฉะนั้น หลักการสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาล จริงๆ แล้วคือระบบการแลกเปลี่ยนระหว่างคนที่อยู่บนระบบนิเวศที่แตกต่างกันซึ่งอยู่ในท้องถิ่นมานานแล้ว ทำอย่างไรที่จะแลกเปลี่ยนกันเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน หลายฝ่ายมาร่วมกันจัดการดูแล ไม่ใช่ดูแลโดยฝ่ายใครฝ่ายเดียว”
ตั้งแต่อดีตมันมีวิธีการจัดการอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ได้มีการเอาบทเรียนที่มีมาใช้กับสังคมสมัยใหม่ ที่เวลานี้มีแต่ทุกคนอยากจะใช้ฟรี อยากได้ของฟรี ซึ่งไม่มีหรอก ดังนั้นต้องมีการแลกกัน ไม่ได้แลกเป็นเงินอย่างเดียว แต่ยังแลกเป็นของก็ได้ แลกเป็นบริการก็ได้ หรือแลกเป็นอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่มากำกับควบคุม จะเอากันถึงเป็นถึงตาย ไล่กันออก สังคมแบบนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ สังคมมันต้องแลกกัน หาวิธีแลกด้วยความเหมาะสม
“ดังนั้น เวลานี้มีความคิดเรื่องการใช้ธรรมาภิบาลในหลายลักษณะ อย่าเอาแบบเดียวมาใช้ ต้องดูลักษณะทางวัฒนธรรม ลักษณะท้องถิ่นที่เขามี ระบบนิเวศน์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่จะทำให้เรารู้ว่า ธรรมาภิบาลที่จะใช้เหมาะสมสำหรับประเทศไทย”
“และควรจะเอารูปแบบที่เรามีมาบ้างแล้วมาถอดบทเรียน แล้วนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ที่เป็นจริง และทุกอย่างต้องแลกกัน ไม่มีใครได้ของฟรี ถ้าจะเอาฟรีแล้วไปกำกับควบคุมก็จะไม่ได้อะไรสักอย่าง ป่าก็จะค่อยๆหมดไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”