ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 พฤษภาคม 2568
เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียติด 20 ประเทศ สหรัฐฯให้ความสำคัญเจรจาภาษี

ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ขณะที่สิงคโปร์ไม่เรียกร้องให้ลดอัตราภาษีศุลกากรแบบที่เก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariff)ต่ำกว่า 10% แต่กำลังเจรจาเพื่อให้ยอมส่งออกยาและการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ระดับไฮเอนด์
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเจรจาการค้าครั้งแรกของรัฐบาลทรัมป์ครอบคลุมทั้งผู้ส่งออกรายใหญ่และเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยทำเนียบขาวกำลังมองหาข้อตกลงที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาครั้งอื่นๆ
รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กำหนดรายชื่อคู่ค้าประมาณ 20 รายให้เป็นประเทศหลักในการเจรจาในช่วงแรก ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลแก่สมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ว
กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้า นอกจากนี้ยังรวมถึงคู่ค้ารายย่อย เช่น ฟิจิ เลโซโท และมอริเชียส แหล่งข่าวกล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสก็อตต์ เบสเซนต์ กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจากับ 18 ประเทศ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อทั้งหมดอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงจีน ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มการเจรจาในสุดสัปดาห์นี้ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แผนการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงอื่นๆ อย่างรวดเร็ว
รายงาน Maybank ระบุว่า ประเทศอาเซียนได้เสนอข้อตกลงการจัดซื้อ ลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร และปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย การระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากร reciprocal tariffs เป็นเวลา 90 วันจะครบกำหนดในวันที่ 8 กรกฎาคม แต่มีแนวโน้มว่าจะขยายเวลาออกไป ภายใต้ระงับครั้งนี้ อินโดนีเซีย (15.8%) และเวียดนาม (14.7%) เผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate) ของสหรัฐฯ สูงขึ้นเนื่องจากมีข้อยกเว้นและภาษีศุลกากรเฉพาะภาคส่วน ขณะที่สิงคโปร์ (4.6%) และมาเลเซีย (9.2%) ถูกเก็บอัตราภาษีที่ต่ำกว่า
การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เจนีวาเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม ส่งผลให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงอย่างมาก สหรัฐฯ ตกลงที่จะลดภาษีสินค้าจีนส่วนใหญ่จาก 145% เหลือ 30% และจีนตกลงที่จะลดภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือในรายละเอียด จีนยังยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีต่อสหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงข้อจำกัดในการส่งออกแร่ธาตุหายากด้วย
สงครามการค้าโลกที่คลี่คลายลงและแนวทางที่ผ่อนปรนมากขึ้นของสหรัฐฯ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจสดใสขึ้นและมีความหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เชิงบวกจากการเจรจาเกี่ยวกับภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน
ข้อตกลงภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ขจัดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ผ่อนคลายทำให้คาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% (จากการคาดการณ์ปัจจุบันที่ 4.2%) และจำกัดความเสี่ยงด้านลบต่อ GDP ของอาเซียนที่การคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.2% ในปี 2568
ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯที่เก็บจากจีน (30%) น่าจะเป็นกรอบบนสูงสุดใหม่ นักวิเคราะห์ของ Maybank คาดว่าประเทศอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่า 30% ทั้งกัมพูชา (49%) เวียดนาม (46%) ไทย (36%) และอินโดนีเซีย (32%) จะบรรลุข้อตกลงด้วยภาษีนำเข้า reciprocal tariffs ที่ต่ำกว่า 30% และใกล้เคียงกับกรณีฐานที่ 10%
ภาษีนำเข้าแบบครอบคลุมทั้งภาคส่วนน่าจะเป็นการเก็บแบบถาวรมากกว่า ขณะที่ภาษีนำเข้า reciprocal tariffs นั้นสามารถต่อรองได้และใช้เป็นแรงผลักดันในการเรียกร้องให้ยอม รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศภาษีนำเข้าภาคส่วน 25% สำหรับรถยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียมไปแล้ว
รายงานคาดว่าภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ ยา และอิเล็กทรอนิกส์ในระดับอุตสาหกรรมจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การสอบสวนด้านความมั่นคงแห่งชาติภายใต้มาตรา 232 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม การยกเว้นภาษีศุลกากรแบบreciprocal tariffsสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอาเซียน เนื่องจากคิดเป็น 26% ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากอาเซียน อาจมีการปฏิบัติพิเศษต่อพันธมิตรหรือประเทศที่ให้ความร่วมมือ ดังที่เห็นจากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่ยกเว้นภาษีเหล็กกล้าของสหราชอาณาจักร และกําหนดโควตาภาษี (Tariff Quota)กับรถยนต์และเนื้อวัวของสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ด้าน AI ฉบับใหม่ของทรัมป์จะเข้มงวดการควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงไปยังจีนมากขึ้น แต่กับอาเซียนอาจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากกรอบการทำงาน AI แบบแบ่งระดับถูกยกเลิกไปแล้ว การเข้าถึงแบบพิเศษจะมอบให้กับประเทศที่สามารถปกป้องห่วงโซ่อุปทานไม่ให้หันเหไป ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ยังคงรักษาตลาดขนาดใหญ่และครองตลาด AI ทั่วโลกได้
มาตรการกําหนดโควตาภาษีอาจนำไปใช้กับประเทศที่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนทิศของห่วงโซ่อุปทานได้ กําหนดโควตาภาษีมีข้อจำกัดน้อยกว่าการห้ามส่งออกโดยสิ้นเชิง (ระดับ 3) หรือโควตา (ระดับ 2) ความยืดหยุ่นนี้เห็นได้จากข้อตกลงการค้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย (ระดับ 2 ทั้งคู่) ในการนำเข้าชิป AI ขั้นสูง
เวียดนามจ่อขึ้นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

เวียดนามคาดว่าจะเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปี 2568-69 รองจากฟิลิปปินส์ เนื่องจากประเทศต้องเพิ่มปริมาณการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการส่งออกท่ามกลางการลดลงของการผลิตภายในประเทศ ตามการประมาณการอุปสงค์และอุปทานทางการเกษตรโลกล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA)
USDA ประมาณการว่าเวียดนามจะนำเข้าข้าว 4 ล้านตันในปี 2567-2568 และ 4.1 ล้านตันในปี 2568-2569 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวดั้งเดิมของเวียดนาม คาดว่าจะยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี
USDA คาดการณ์ว่าเวียดนามจะนำเข้าข้าว 4 ล้านตันในปี 2567-68 และ 4.1 ล้านตันในปี 2068-2569 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คาดว่าจะยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีความต้องการอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี
ในขณะเดียวกัน คาดว่าเวียดนามจะแซงหน้าไทยและกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยคาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าว 7.9 ล้านตันในปี 2567-68 และ 2568-69 ซึ่งแซงหน้าการส่งออกข้าวของไทยที่ 7 ล้านตันและ 7.2 ล้านตันตามลำดับ
อินเดียคาดว่าจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกต่อปีที่ประมาณ 24 ล้านตัน
ตามรายงานประจำปีของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เกี่ยวกับธัญพืชและอาหารสัตว์ของเวียดนามที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน คาดว่าพื้นที่และผลผลิตข้าวของเวียดนามจะลดลง เนื่องจากชาวนาหันไปปลูกพืชผลอื่นที่ให้ผลกำไรมากกว่า
เพื่อตอบสนองความต้องการส่งออก ผู้ส่งออกและโรงสีข้าวของเวียดนามได้เสริมอุปทานในประเทศด้วยการซื้อข้าวเปลือกจากกัมพูชา ข้าวเปลือกคิดเป็น 77% ของการนำเข้าของเวียดนามและส่วนใหญ่จัดหามจากกัมพูชา นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่สีแล้วรายใหญ่ของเวียดนามอีกด้วย
การนำเข้าข้าวของเวียดนามไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนภายในประเทศ โด ฮา นัม ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) กล่าว และว่าประเทศนำเข้าข้าวเป็นหลักเพื่อตอบสนองความต้องการในการส่งออกอีกทอดหนึ่งและสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และแผ่นปอเปี๊ยเวียตนาม ( rice paper)
นาม อ้างอิงสถิติที่แสดงให้เห็นว่าเวียดนามนำเข้าข้าวเปลือกประมาณ 1.1 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับข้าว 600,000 ตัน จากกัมพูชาในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้
วู วินห์ ฟู Vinh Phu อดีตรองผู้อำนวยการสำนักการค้าฮานอย กล่าวว่าคาดว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามจะยังคงแข็งแกร่งอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้จะมีความท้าทายใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันทางการค้า และความต้องการภายในประเทศที่เปลี่ยนไป
กัมพูชาลงสนามเริ่มจำหน่ายทุเรียนไปจีน

กัมพูชาเห็นถึงโอกาสอันดีในตลาดทุเรียนของจีนที่กว้างใหญ่ แต่จะต้องชนะใจผู้บริโภคที่พิถีพิถันเสียก่อน
สำนักงานศุลกากรจีนเริ่มอนุญาตให้มีการส่งออกทุเรียนสดจากกัมพูชาเมื่อปลายเดือนเมษายน โดยทุเรียนจะต้องเข้าเกณฑ์กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหาร หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ลงนามในข้อตกลงครอบคลุมวงกว้างกับทางการกัมพูชาในกรุงพนมเปญเมื่อต้นเดือน
แต่กัมพูชาจะต้องพยายามเอาชนะใจผู้บริโภคในจีน ซึ่งเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผู้ชื่นชอบผลไม้สามารถซื้อทุเรียนที่มีกลิ่นฉุนและมีหนามแหลมจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทุเรียนที่ปลูกเองในประเทศซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า
“กัมพูชายังอยู่ระหว่างการสร้างชื่อในตลาดต่างประเทศ” ลิม ชิน คี ที่ปรึกษาของ Durian Academy ซึ่งเป็นสถาบันในมาเลเซียที่ฝึกอบรมผู้ปลูกในท้องถิ่น กล่าว “กัมพูชาขาดการรับรู้แบรนด์เหมือนทุเรียนหมอนทองของไทยที่มีมานานหรือทุเรียนพันธุ์มูซังคิงระดับพรีเมียมของมาเลเซีย
จ้าว อวี่ วัย 38 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้และเป็นผู้รับประทานทุเรียนเป็นประจำ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า เธอจะใช้เวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาเสียก่อนจึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวจีนบางส่วนก็อยากลองทุเรียนพันธุ์ Au Khak ของกัมพูชาเช่นกัน ตามที่ราจีฟ บิสวาส ซีอีโอของบริษัทวิจัย Asia-Pacific Economics ในสิงคโปร์กล่าว
บิสวาสกล่าวว่า “ด้วยจำนวนประเทศ (ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยพืชของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคชาวจีนจึงมีตัวเลือกทุเรียนพันธุ์คุณภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ”
ลิมกล่าวว่า เกษตรกรชาวกัมพูชาสามารถผลิตทุเรียนได้เทียบเท่ากับที่ปลูกในมาเลเซีย และชี้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศและความช่วยเหลือทางเทคนิคในภาคส่วนทุเรียนของกัมพูชา โดยเฉพาะจากจีน มีส่วนช่วยปรับปรุงการปลูก
ขณะเดียวกันสื่อกัมพูชา Khmer Times รายงานว่า นายหวัง เหวินปิน เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพในการส่งออกทุเรียนพันธุ์อูคักไปยังตลาดจีนในปริมาณมากขึ้น ในระหว่างการเยี่ยมชมสวนที่จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่แห่งกัมพูชา (YEAC) เมื่อวันเสาร์(10 พฤษภาคม)ที่ผ่านมา
ทุเรียนพันธุ์ Au Khak หมายถึงทุเรียนพันธุ์หนึ่งที่ปลูกในกัมพูชา โดยเฉพาะในพื้นที่อย่างจังหวัดกำปอตและกำปงจาม
“ผมรู้สึกยินดีที่ได้ไปเยี่ยมชมสวนมทุเรียนในกำปงจามและได้ลิ้มรสทุเรียนพันธุ์ Au Khak ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก” เอกอัครราชทูตจีนกล่าว พร้อมขอบคุณ YEAC ที่จัดทริปนี้ขึ้น
“ผมหวังว่าทุเรียนกัมพูชาที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้จะถูกส่งออกไปยังจีนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” เอกอัครราชทูตจีนกล่าว
ไทยครองตลาดจีนมายาวนาน โดยส่งออกทุเรียนไปยังจีนคิดเป็น 57% ของทุเรียนที่จีนนำเข้ามาในปีที่แล้ว รวมมูลค่า 6,990 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่เป็นอันดับสองคิดเป็น 38% ในขณะที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียขายทุเรียนรวมกันได้ 38.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลศุลกากรจีน
อินโดนีเซียกำลังเตรียมส่งออกทุเรียนไปยังจีน และลาวกำลัง “สำรวจโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจีน” สำนักข่าวลาวรายงานเมื่อปีที่แล้ว
ทุเรียนสดขายในจีนได้ในราคาสูงถึง 200 หยวน (27.75 เหรียญสหรัฐ) ต่อทุเรียนน้ำหนัก 6 กิโลกรัม (13 ปอนด์) โดยผู้บริโภคบางรายให้คุณค่ากับทุเรียนสูงจนมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ
ทุเรียนกัมพูชาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงอยู่แล้ว เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการปลูกทุเรียน และมีพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเพียงจำกัด ตามผลการวิจัยที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว Adventures Cambodia
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การตัดสินใจของจีนในการอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนจากกัมพูชา ทำให้จีนสามารถกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นมิตรกับจีนแต่มีรายได้ค่อนข้างต่ำได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการค้าของประเทศกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาท่ามกลางสงครามการค้า
บิสวาสกล่าวว่าการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่สินค้าจีนด้วยภาษีศุลกากรหลายรอบตั้งแต่ปี 2561 นั้น “ทำให้ความพยายามของจีนในการกระจายการค้าไปสู่อาเซียนเร่งตัวขึ้น”
บิสวาสกล่าวว่าอาเซียนเป็นพันธมิตรการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน แซงหน้าสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2569 โดยคิดเป็น 16.6% ของการค้าทั้งหมดของประเทศ
เมื่อเดือนที่แล้ว จีนและกัมพูชาตกลงที่จะเร่งรัด การเจรจาและลงนามในพิธีสารกักกันโรคเพื่อให้เกษตรกรชาวกัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้นไปยังจีน ตามแถลงการณ์ร่วมที่ออกเมื่อวันที่ 18 เมษายน
คาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าการขนส่งทุเรียนจะช่วยลดการเกินดุลการค้าของจีนที่มีกับกัมพูชาที่มีมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ “มันเป็นวิธีหนึ่ง เป็นวิธีเล็กๆ น้อยๆ ในการแก้ไขดุลการค้า”
สื่อเวียดนาม:ทำไมจีนยอมรับทุเรียนไทย

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกของเวียดนามต้องดิ้นรนเพื่อส่งออกทุเรียนข้ามชายแดนในปีนี้ หลังจากที่จีนเริ่มตรวจสอบการนำเข้าทุเรียน 100% เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้สารเคมีต้องห้าม
การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของไทยทำให้ผู้ส่งออกของไทยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรของจีนเกี่ยวกับคุณภาพของทุเรียน ส่งผลให้ไทยสามารถรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ไปยังตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้
ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนมูลค่า 287 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรก ในขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้ประกาศใช้มาตรการ “4 ไม่” สำหรับทุเรียนในเดือนมกราคม ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ 4.ไม่สีไม่มีสารเคมีต้องห้าม
มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานใหม่ของจีนเกี่ยวกับสารต้องห้าม รวมถึง Basic Yellow 2 (สารเคมีในกลุ่มสีย้อมที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท) ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
หลังจากนั้น โรงงานบรรจุภัณฑ์ของไทยได้ผ่านการตรวจสอบและฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการ Basic Yellow 2 ที่เข้มงวด โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที
ห้องปฏิบัติการทดสอบเกือบ 300 แห่งได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบความปลอดภัย และผลไม้จะถูกตรวจสอบอีกครั้งที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากศุลกากรจีนก่อนส่งออก
ภายในวันที่ 10 เมษายน ศูนย์ทดสอบในประเทศไทยได้รับการอนุมัติให้ทดสอบ Basic Yellow 2 จากศุลกากรจีน ซึ่งช่วยเร่งกระบวนการตรวจในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของไทย
เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับทุเรียนซึ่งยังคงมีราคาแพง รัฐบาลไทยจึงริเริ่มการเจรจากับจีน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมเดินทางเยือนจีนกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตร รวมถึงทุเรียน
การเดินทางครั้งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการได้รับการอนุมัติและการสนับสนุนจากศุลกากรจีน
นอกจากนี้ ไทยยังได้เพิ่มการส่งออกไปยังจีนผ่านด่านชายแดนของเวียดนามอีกด้วย โดยเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน มีตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้บรรจุทุเรียนไทย 96 ตัน ถูกส่งไปยังเขตกว่างซีของจีนผ่านจังหวัดกาวบั่ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับสินค้าไทยที่จะเข้าสู่จีน และช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง
ศุลกากรจีนยังได้จัดช่องทางสีเขียวเฉพาะที่ด่าน ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งของไทย ปัจจุบันมีด่านชายแดน 6 แห่งในกวางสีสำหรับตรวจผลไม้ไทย
“ไทยส่งทุเรียนประมาณ 500 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน (10,000 ตัน) ผ่านด่านชายแดนของจีน โดยแทบจะไม่มีการตีกลับเลย” ดัง ฟุก เหวียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนามกล่าว
เวียดนามประสบปัญหาสารเคมีตกค้าง ส่งผลให้มีการออกคำเตือนทางเทคนิคบ่อยครั้งและเกิดความล่าช้าในการอนุมัติ เหวียนกล่าวอีกว่า ความพยายามในการเพิ่มการตรวจสอบย้อนกลับนั้นไม่เพียงพอ
“ไทยควบคุมคุณภาพทุเรียนอย่างเข้มงวดตั้งแต่สวนจนถึงกระบวนการโรงงาน ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากจีนและส่งผลให้เปิดช่องทางสีเขียว” เหวียน ยังชื่นชมการประสานงานระหว่างกระทรวงของไทยด้วย
โดยหลังจากกระทรวงเกษตรบรรลุข้อตกลงทางวิชาการแล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานนิทรรศการและการขายออนไลน์โดยมีคนดังของจีนเข้าร่วมเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค เหวียนกล่าว
“ฤดูกาลทุเรียนของเวียดนามใกล้เข้ามาแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับไทยมากขึ้น” เหวียนกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม โด ดึ๊ก ดุย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทำงานร่วมกับศุลกากรจีนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านวิชาการ และเรียกร้องให้ความสำคัญในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสวน การอนุมัติสถานที่บรรจุ และการรับรองห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบคุณภาพทุเรียนเป็นลำดับต้นๆ
ในเร็วๆ นี้ จะมีการออกพิธีสารสุขอนามัยพืชเฉพาะทุเรียนเพื่อประเมินศักยภาพในการส่งออกและปรับยุทธศาสตร์
ในระยะยาวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม เรียกร้องให้มีกฎหมายการส่งออกสินค้าเกษตรที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับฟาร์ม สถานที่บรรจุ การทดสอบ และการตรวจสอบ
กระทรวงฯมีเป้าหมายที่จะทำให้กระบวนการทางเฃวิชาการเป็นมาตรฐาน ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทุเรียน และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ทุเรียนแช่แข็ง เพื่อลดการพึ่งพาตลาดทุเรียนสด
กระทรวงฯกำลังร่างแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับสวนและสถานที่บรรจุ รวมถึงจัดทำโปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับการส่งออกทุเรียน
อินโดนีเซียขึ้นภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มเป็น 10%

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้ยังปรับขึ้นภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มอื่นๆ ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม
อินโดนีเซียให้เงินอุดหนุนไบโอดีเซลจำนวนมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายไบโอดีเซล 40% (B40) ที่กำหนดไว้ โดยใช้การเก็บภาษีการส่งออกเพื่อชดเชยต้นทุนสูงในการเปลี่ยนน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของราคาระหว่างน้ำมันปาล์มและน้ำมันดิบที่
เอ็ดดี้ มาร์โตโน ประธานสมาคมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย คาดว่าการขึ้นภาษีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจะทำให้น้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียในระดับโลกแข่งขันได้น้อยลง
“ราคาน้ำมันปาล์มของเราตอนนี้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน” เอ็ดดี้กล่าวและอธิบายว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับภาระหนักอยู่แล้ว รวมถึง เงื่อนไข domestic market obligation (DMO) ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจขายผลผลิตบางส่วนในประเทศเพื่อแลกกับใบอนุญาตส่งออก สำหรับน้ำมันปรุงอาหาร ตลอดจนภาษีส่งออกและอากรขาออก ต้นทุนรวมของทั้งสามส่วนอยู่ที่ 221 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
“ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ 14,000 รูเปียะฮ์ [84 เซ็นต์สหรัฐ] ต่อกิโลกรัม เรายังต้องคำนวณภาระเพิ่มเติมที่เกิดจากการเก็บภาษีใหม่ 10%” มาร์โตโนกล่าว
อินโดนีเซียเริ่มใช้ B40 ในเดือนมกราคมปีนี้
เกณฑ์ B40 ซึ่งกำหนดให้ต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบประมาณ 15.62 ล้านกิโลลิตร มีขึ้นเมื่อการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของประเทศลดลงจาก 50.1 ล้านตันในปี 2566 เหลือ 47.8 ล้านตันในปี 2567 ตามข้อมูลของสมาคมฯ
กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มคาดการณ์ว่าการนำ B40 มาใช้จะช่วยลดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 2 ล้านตัน
มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซียลดลง 16.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนมกราคม แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นจาก 835 ดอลลาร์เป็น 1,134 ดอลลาร์ต่อตันก็ตาม การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่อ่อนตัวลงส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณที่ลดลง เนื่องจากอินโดนีเซียส่งออกเพียง 1.27 ล้านตันในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับ 2 ล้านตันในปีก่อน
กระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่คาดการณ์ว่า โครงการ B40 จะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ซึ่งรวมถึงการลดการนำเข้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะดีเซล มูลค่า 147.5 ล้านล้านรูเปียะฮ์ในปี 2568
กระทรวงฯยังคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของน้ำมันปาล์มดิบได้ 20.9 ล้านล้านรูเปียะฮ์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 41.46 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) รวมถึงสร้างงานในภาคเกษตรได้ 1.95 ล้านตำแหน่งและงานนอกภาคเกษตรได้ 14,730 ตำแหน่ง
สำนักงานจัดการกองทุนสวนปาล์มน้ำมัน (Oil Palm Plantation Fund Management Agency) คาดว่าเงินอุดหนุนสำหรับโครงการ B40 จะมีมูลค่า 46-47 ล้านล้านรูเปียะฮ์ในปี 2568 และคาดว่าจะจัดหาเงินทุนอุดหนุนเหล่านี้จากกองทุน ซึ่งรวมถึงภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 24 ล้านล้านรูเปียะฮ์ ทำให้มีงบประมาณทั้งหมด 53.5 ล้านล้านรูเปียะฮ์
เงินอุดหนุนจำกัดเฉพาะไบโอดีเซลที่ผลิตภายใต้โครงการภาระผูกพันบริการสาธารณะเท่านั้น
ลาวอนุมัติโครงการท่าเรือบกแห่งใหม่ในบอลิคำไซ

ลาวได้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าระดับภูมิภาคด้วยการเช่าที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือบกแห่งใหม่ข้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐบาลลาวได้ลงนามในข้อตกลงให้เช่าที่ดินขนาด 383,311 ลูกบาศก์เมตรกับบริษัทเอกชนในพื้นที่เพื่อสร้างพื้นที่จัดเก็บสินค้าแห่งใหม่
พื้นที่จัดเก็บสินค้าแห่งนี้จะสร้างขึ้นในเขตปากซัน โดยจะอยู่ติดกับสะพานใหม่ระหว่างแขวงบอลิคำไซของลาวและแขวงบึงกาฬของไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
โกดัง พื้นที่สำหรับขนถ่ายสินค้า สำนักงาน และร้านค้า ได้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นมาก โดยมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บและขนย้ายสินค้ามากขึ้น
ท่าเรือยังตั้งอยู่ติดกับถนนหมายเลข 13 ซึ่งมีโครงการทางหลวงในอนาคตและเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมต่อลาว ไทยและเวียดนาม ไปยังท่าเรือบกที่วางแผนไว้ในเขตหลักซาว เขตคำเกิด รวมทั้งโครงการทางหลวงเวียงจันทน์–เวียดนามที่เสนอไว้ด้วย
ไทย-เวียดนามยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

วัน ศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2568 เวลา 11.15 น. ณ ห้องโห่ย เจื่อง (Hoi Truong) ทำเนียบรัฐบาลเวียดนาม กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงและเอกสาร ระหว่างไทยกับเวียดนาม จำนวน 8 ฉบับ ในโอกาสการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้แก่
1.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า
2.กิจกรรมส่งมอบงบประมาณสนับสนุน โครงการเสริมสร้าง และยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการสกัดกั้น ยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
3.บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กับธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam: BIDV) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
4.เอกสารแสดงเจตจำนงระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับ มหาวิทยาลัย FPT เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมเซมิคอนดักเตอร์
5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และการค้าเวียดนามกับ Central Group ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2026 – 2028
6.บันทึกความเข้าใจระหว่าง WHA กับจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen)
7.การประกาศการอนุมัติใบอนุญาตการลงทุนของ WHA โดยจังหวัดทั้ญฮว้า (Thanh Hoa)
8.บันทึกความเข้าใจระหว่าง AMATA Vietnam กับจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลเวียดนามในการต้อนรับที่อบอุ่น สำหรับการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้ร่วมเป็นประธานการประชุม JCR ( Joint Cabinet Retreat การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-เวียดนาม)ซึ่งถือเป็นกลไกเฉพาะระหว่างสองประเทศ โดยในการเยือนครั้งนี้ ไทยและเวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน
ในการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในหลายประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้นำเวียดนามเข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง–ล้านช้างที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ รวมถึงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปีในปีหน้า
ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกัน ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการต่อต้านยาเสพติด ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ online scams การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการสกัดกั้นสารเคมีตั้งต้น การปราบปรามขบวนการค้ายา และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองเพื่อสกัดอาชญากรรมข้ามพรมแดน
ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ด้วยการจัดทำแผน “Three Connects” ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว พร้อมผลักดันการประชุม Joint Trade Committee และอำนวยความสะดวกด้านสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามสู่ตลาดจีน โดยนายกรัฐมนตรีไทยยังได้ขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ให้การสนับสนุนเอกชนไทยในเวียดนาม และยินดีต้อนรับนักลงทุนเวียดนามที่สนใจขยายธุรกิจในไทย
นายกรัฐมนตรียินดีที่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะได้มีโอกาสหารือในเวที Business Forum ไทย–เวียดนาม ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันนี้ ขณะที่ในด้านโลจิสติกส์และคมนาคม นายกรัฐมนตรีประกาศการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเวียดนามกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศแรกของภาคตะวันออกเฉียงหนือกับเวียดนาม พร้อมส่งเสริมการเดินทางทางบกผ่าน สปป.ลาว และทางน้ำระหว่างไทย–กัมพูชา–เวียดนาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการชำระเงินข้ามแดน หรือคิวอาร์โค้ด พร้อมร่วมกันผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนาม และส่งเสริมเส้นทางเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม
อีกทั้งยังจะเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในสาขา STEM, AI และเซมิคอนดักเตอร์ โดยนายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย FPT ของเวียดนาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นของไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเจตจำนงในการผลักดันความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค และสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในประเด็นเมียนมา พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเวียดนามอีกครั้ง และหวังว่าจะได้ต้อนรับการเยือนประเทศไทยของผู้นำเวียดนามในโอกาสอันใกล้