ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศมีการผลักดัน “การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถพลิกฟื้นตัวเองจากรัฐที่ตามหลัง สู่รัฐที่ล้ำหน้า อย่างจีน สิงค์โปร์ หรือ เกาหลีใต้ ผิดกับประเทศไทย ที่ปัจจุบันยังเป็นเพียงรัฐที่ตามหลัง และกำลังมีแนวโน้มถดถอยไปสู่รัฐที่กำลังล้มเหลว
ที่ผ่านมา ประเทศไทยนั้นมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพียงครั้งเดียว คือในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 แต่เงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงในสมัยนั้นกับในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ทั้งเงื่อนไขที่มาจากปัจจัยภายในและภายนอก
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชการที่ 5 น้ำหนักจะอยู่ที่การพัฒนาเพื่อไปสู่ความทันสมัย เพื่อที่จะแสดงให้ประชาคมโลกตระหนักว่าประเทศของเรานั้นไม่ได้ล้าหลัง เนื่องจากต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคม ประเด็นท้าทายในยุคปัจจุบัน คือจะมุ่งการพัฒนาเพื่อไปสู่ความยั่งยืน ความเท่าเทียมในสังคม และความเท่าทันเทคโนโลยี ได้อย่างไร
วนอยู่ในวงจรอุบาทว์ จมอยู่ในทศวรรษแห่งความสูญเปล่า
ประเทศไทยเผชิญกับวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน ทำให้พวกเราตกอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า“ (Thailand‘s Lost Decades) เป็นเวลายาวนาน จนไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้
เริ่มจากวงจรอุบาทว์แรก เรียกว่า “วงจร 3 ป.” คือการที่ประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยเทียม” (Pseudo-Democracy) การลุแก่อำนาจ การบิดเบือนและใช้อำนาจในทางที่มิชอบ คุณธรรมและจริยธรรมบกพร่อง และทุจริตคอร์รัปชัน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา “ประท้วงต่อต้าน” และนำไปสู่การ “ปฏิวัติรัฐประหาร” และเวียนกลับมาเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำซากวงที่ 1 วงจรนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2490 ต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเทียม ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยนโยบายประชานิยม ที่มุ่งหวังชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วก็วนกลับมาทำให้เกิดเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 2 เป็นวงจรที่เห็นเด่นชัดขึ้นในห้วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนโดยทั่วไป มีระดับการพึ่งพิงภาครัฐที่มากขึ้น ยิ่งพึ่งพิงมากเท่าไหร่ ระดับความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เมื่อเข้าถึงได้ยาก ก็ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนต่อไป เมื่อยิ่งยากจน ก็ยิ่งง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ยิ่งทำให้ต้องติดอยู่ในกับดับของนโยบายประชานิยมแบบโงหัวไม่ขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 3
เมื่อระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปเสริมระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยม ที่ยังฝังตัวหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลทำให้อำนาจการผูกขาดทั้งทางด้านการปกครองและด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนารูปแบบการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 4
ขณะที่อำนาจการผูกขาดทั้งการปกครองและเศรษฐกิจที่เข้มข้น ได้ไปครอบงำกลไกของระบบราชการ ทำให้ระบบราชการเกิดการผิดเพี้ยน จากระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเน้นระบบคุณธรรมอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นระบบราชการที่เอื้อระบอบทุนนิยมพวกพ้องเสริม ยิ่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมีความเข้มข้นมากขึ้นกลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 5
รูปแบบการกีดกันและการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ ยังต้องง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งแรงต้านและแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้ เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ยอมปรับ หรือหากจะมีการปรับบ้างก็ปรับในอัตราที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก
การที่โลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ปรับ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนและคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง มองประเทศไทยที่มีอนาคตที่มืดมน จนเกิด “แรงส่ง” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ผลคือแรงส่ง แรงต้าน และแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านและไปเสริมให้เกิดวงจรอุบาทว์ในวงที่ 1 ในที่สุด
วงจรอุบาทว์เชิงซ้อนนี้ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มีการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเป็นระบบ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ความมั่งคั่ง และโอกาส หรือ Extractive Politics and Economy
โดย Extractive Politics ที่เห็นได้ชัด เช่น การเมืองการปกครองที่ถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ไม่กี่กลุ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำรงอยู่ของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์และอภิสิทธิ์ชน มีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลดำเนินธุรกิจสีเทา ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย มีการครอบงำสื่อ ควบคุมสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ฯลฯ
ขณะที่ Extractive Economy สะท้อนผ่านการดำรงอยู่ของระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างกลุ่มนายทุนกับนักการเมือง มีการผูกขาดและต่อต้านขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นระบบ มีการเพิกเฉยละเลยต่อผลกระทบที่มีต่อสาธารณะจากการดำเนินงาน
ฉะนั้น การจะนำพาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้ โจทย์ใหญ่คือ จะปรับเปลี่ยนประเทศไทยจาก Extractive Politics and Economy ไปสู่ประเทศที่เป็น Inclusive Politics and Economy ได้อย่างไร
เปลี่ยนวงจรอุบาทว์ เป็นวงจรขับเคลื่อนประเทศไทย
วงจรอุบาทว์เซิงซ้อน ที่ทำให้พวกเราตกอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า” สามารถปลดล็อคได้ ด้วย “วงจรขับเคลื่อนประเทศไทย” เพื่อนำพาสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง”
วงจรขับเคลื่อนประเทศไทย ประกอบด้วย 4 Loops ย่อย ดังนี้
Loop ที่ I: การเปลี่ยนจาก People Disempowerment เป็น People Empowerment
Loop ที่ II: การเปลี่ยนจาก Extractive Politics เป็น Inclusive Politics
Loop ที่ III: การเปลี่ยนจาก Extractive Economy เป็น Inclusive Economy
Loop ที่ IV: การเปลี่ยนจาก Irresponsible Government เป็น Responsible Government
People Empowerment Loop
รากเหง้าของวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน มาจากระบบคุณค่าของคนไทย ที่ยังติดอยู่ในกับดักของอุปถัมภ์นิยม อำนาจนิยมและ อภิสิทธิ์นิยม x วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม
บริโภคนิยม วัตถุนิยม และสุขนิยม เป็นด้านลบของระบอบทุนนิยม แต่ในด้านบวกของระบอบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันอย่างเสรี การยึดธรรมาภิบาล กฎกติกา กลับไม่ได้ถูกสังคมไทยนำมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะถูกอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธินิยมเข้าบดบัง
ระบบคุณค่าทั้ง 2 ชุด ยังคงแทรกซึมลึกอยู่ในเกือบทุกอณูของสังคมไทย ระบบคุณค่าดังกล่าวได้หล่อหลอมคนไทยให้มีอุปนิสัยที่เน้นผลประโยชน์พวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม เรียกร้องสิทธิ์มากกว่าหน้าที่ เน้นความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง เน้นชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นสายสัมพันธ์มากกว่าเนื้องาน
มิเพียงเท่านั้น ระบบคุณค่าดังกล่าวได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อ “การพัฒนาทุนมนุษย์” ในวงกว้าง ในระบบการศึกษาของไทยนั้น จะยึดตัวผู้สอนมากกว่ายึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการสอนมากกว่าการเปิดโอกาสให้เรียนรู้ เน้นการปรุงสำเร็จมากกว่าการกระตุ้นต่อมคิด เน้นการลอกเลียนมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ เน้นท่องจำทฤษฎีมากกว่าการลงมือปฏิบัติ เน้นการพึ่งพาคนอื่นมากกว่าการพึ่งพาตนเอง และเน้นการสร้างความเป็นตนมากกว่าการสร้างความเป็นคน
ระบบคุณค่าทั้ง 2 ชุดเป็น Counter-Productive Value ที่นอกจากจะไม่สอดรับกับรูปแบบการพัฒนาและโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในโลกปัจจุบัน ยังเป็นอุปสรรคตัวสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ระบบคุณค่าทั้งสองชุดได้ทำให้ธรรมาภิบาล โครงสร้าง ตลอดจนพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เกิดการบิดเบี้ยวเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็น
ที่สำคัญ ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน ยังก่อให้เกิดความย้อนแย้งระหว่างอำนาจที่แท้จริงและอำนาจทางการ หรือที่เรียกว่า “Power Paradox” กล่าวคือ การที่เรายังมองประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง โดยมีผู้ปกครองคือรัฐ ทั้งที่จริง ๆ แล้วรัฐต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน เป็นความย้อนแย้งระหว่างพฤตินัยและนิตินัย
หากปราศจากการปรับเปลี่ยนระบบคุณค่า เพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องกับธรรมาภิบาลและโครงสร้างส่วนอื่นๆของสังคม วาระการปฎิรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ จะไม่มีทางตอบโจทย์ประเด็นปัญหาฐานรากที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าจะเป็นจุดคานงัดที่จะสร้างแรงกระเพื่อมที่เพียงพอที่จะทะลายวงจรอุบาทว์เชิงซ้อนได้ การเปลี่ยนระบบคุณค่าจะตามมาด้วยการเปลี่ยน “ระบบความคิด” เป้าหมายเพื่อสร้างให้คนไทยเป็น “เสรีชน” ที่
-
-มีความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้จักแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด รู้จักปรับตัว ล้มแล้วรู้จักลุก มีความคิดอ่านและการตัดสินใจที่เป็นอิสระ และมีความสามารถในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี
-สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีความใฝ่รู้ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ เพื่อเติมเต็มศักยภาพ และสร้างประโยชน์จากความรู้ที่เกิดขึ้น
-รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
-ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น มีจิตอาสา รู้จักรับผิดรับชอบ และสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและส่วนรวม
ดังนั้น จะต้องมีการปฎิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง ที่ไม่เพียงแต่จะเน้นเรื่องการสร้างสังคมที่สามารถ และสังคมแห่งโอกาสที่เท่าเทียม แต่ต้องเน้นการสร้างคนไทยให้เป็น “เสรีชน” เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็น ”พลเมืองผู้รับผิดรับชอบ“ นั่นคือ มีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง รู้จักสิทธิ์และหน้าที่ รู้จักเสรีภาพ ตระหนักในความเสมอภาค มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและประเทศเป็นสำคัญ
Inclusive Politics Loop
ระบบการศึกษาที่เน้นระบบคุณค่าและระบบความคิดที่สอดรับกับพลวัตการเปลี่ยนแปลง ผ่านแนวคิด “การสร้างคนไทยให้เป็นเสรีชน” จะค่อยๆปรับเปลี่ยน “พลเมืองผู้เฉื่อยชา” (Passive Citizen) ผู้ซึ่งยังติดอยู่ใน ”กับดักความยากจน” และ “กับดักความไม่รู้” ให้เป็น “พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ” (Engaged Citizen)
พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ จะเป็นเฟืองตัวสำคัญในการสร้าง “รัฐที่น่าเชื่อถือ” เพราะพลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบจะไม่ยอมปล่อยให้ “รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ” ปกครองประเทศ
รัฐที่น่าเชื่อถือ คือรัฐที่มาด้วยความชอบธรรม ขับเคลื่อนด้วยระบบคุณธรรมและจริยธรรม และมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับมือกับพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก ผู้นำของรัฐน่าเชื่อถือจึงต้องเป็นผู้นำที่ครบเครื่อง กล่าวคือ เป็นผู้นำที่นอกจากจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแล้ว ยังเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรม และเป็นผู้นำที่มุ่งผลสำฤทธิ์ในเวลาเดียวกัน
พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ x รัฐน่าเชื่อถือ เท่านั้นที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
Inclusive Economy Loop
นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนจาก Extractive Politics สู่ Inclusive Politics ผ่านการสร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ และการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบยังมีบทบาทสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จาก Extractive Economy เป็น Inclusive Economy ผ่าน “โมเดลเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยั่งยืน”
ประเทศไทยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ในขณะที่ประชาคมโลกมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” จะเป็นโซ่คล้องกลาง กล่าวคือ SDGs เป็น “เป้าหมายร่วม” SEP เป็น “คุณค่าร่วม” และ BCG เป็น “แพลทฟอร์มร่วม” ที่จะเชื่อมโยงเป้าหมายร่วมและคุณค่าร่วมเข้าด้วยกัน
BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยั่งยืน เพราะ
-
1.มองธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากร ที่ต้องใช้อย่างรู้คุณค่า การปกป้องทรัพยากรร่วม (Commons) รวมถึงการร่วมผลักดันวาระโลกเดือด
2.ตอบโจทย์ความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมได้ในเวลาเดียวกัน
3.เน้นคุณค่าของความหลากหลาย ยึดมั่นในแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการเติมเต็มพลังประชาชน
4.เน้นการพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ นวัตกรรมที่เข้าถึงได้
BCG จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ใหญ่ของการสร้าง “สุขภาวะทั้งระบบ” (Total System Wellbeing) ที่ครอบคลุม “สุขภาวะส่วนบุคคล” “สุขภาวะสังคม” และ“สุขภาวะโลก” ในเวลาเดียวกัน
-
-สุขภาวะส่วนบุคคล เป็นความสมดุลระหว่างสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ
-สุขภาวะสังคม เป็นความสมดุลของผู้คนในสังคมผ่านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส และสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน
-สุขภาวะโลก เป็นความสมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่านการเติบโตเชิงคุณภาพ การแบ่งปันความมั่งคั่ง การรักษ์โลก และการสร้างศานติภาพที่ถาวร
โมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นกลไกสำคัญของการสร้างสุขภาวะทั้งระบบ และนำพาไปสู่การสร้าง Inclusive Economy อย่างเป็นรูปธรรม
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสู่ Inclusive Political Economy เท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันของการสร้างความเป็นปกติสุข ประโยชน์สุข และสันติสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง
Responsible Government Loop
รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือก่อให้เกิด “ระบบราชการที่มีนักการเมืองเป็นศูนย์กลาง” ในกลไกการทำงานของภาครัฐจึงเต็มไปด้วยการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง การสร้างอาณาจักรขึ้นของหน่วยงานรัฐ ผ่านความเป็นนิติบุคคลของส่วนราชการ การสร้างกลไกให้เกิดการพึ่งพิงทรัพยากรจากส่วนกลางในรูปแบบของงบประมาณ การสร้างกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นข้อจำกัดมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยเอื้อให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชน
รัฐที่น่าเชื่อถือจะสร้าง “ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และยึด “ระบบคุณธรรม” อย่างที่ควรจะเป็น “ระบบการเมือง” และ “ระบบราชการ” จึงเป็นฐานรากสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่จะสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคง ในทางกลับกันถ้าระบบการเมืองและระบบราชการไม่ได้วางอยู่บนฐานรากที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การจมปรักอยู่กับประเด็นปัญหาเชิงฐานรากคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารบ้านเมืองและนำพาไปสู่รัฐที่ล้มเหลวในที่สุด
ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทะยานสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่งของหลายประเทศในเอเซีย มาจากการมีรัฐที่น่าเชื่อถือ ที่สร้างให้เกิด Responsible Government ผ่าน 4 เงื่อนไขสำคัญ
1) นักการเมืองมีคุณภาพภายใต้ระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ
2) มีผู้นำการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศพัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง
3) มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนสอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกอย่างเป็นรูปธรรม
4) มีระบบราชการ สถาบัน และกลไกขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ข้อคิดบางประการ เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่โลกที่หนึ่ง
การปลดล็อควงจรอุบาทว์ ด้วยวงจรขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่าน 4 Loops ของ People Empowerment, Inclusive Politics, Inclusive Economy และ Responsible Government นั้น
1) ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
2) ต้องมีภาพใหญ่ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง
3) ต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนไม่ได้
4) ต้องยอมรับว่าหลายอย่างที่จะต้องปรับเปลี่ยนนั้น No Pain, No Gain ต้องรู้จักอดทน อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
5) ต้องค้นหาจุดคานงัด ให้พบแล้วรีบดำเนินการ
6) ใช้แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงปฎิบัตินิยม (Strategic Pragmatism) ด้วยการผสมผสานอุดมคติ x โลกของความเป็นจริง และ ความมุ่งมั่น x ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และดำเนินการผ่าน Transition x Transformation
7) เน้นการลงมือปฎิบัติให้เกิดผล ผู้นำต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง และต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
8)หา Quick-win เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ แต่อย่าติดกับดัก Quick-win ต้องเดินหน้าต่อในเรื่องยากๆที่สร้างผลกระทบเชิงลึกและในวงกว้างไปพร้อมๆกัน
9) อย่าเบื่อหน่ายกับคำว่า “ปฎิรูป” ซึ่งแม้จะผลักดันได้เชื่องช้าและไม่ต่อเนื่องในห้วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเน้นการปฏิรูปเชิงวาระ/ประเด็นไม่ใช่การปฎิรูปเชิงระบบ และเป็นการปฎิรูปจากบนลงล่าง มากกว่า การปฎิรูปในแนวระนาบ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมในการออกแบบและขับเคลื่อน
10) เริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนแปลงครอบครัว ก่อนคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงประเทศ และเปลี่ยนแปลงโลก