ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ขับเคลื่อนการเติบโต รับมือภาษีสหรัฐฯ

ASEAN Roundup เวียดนามเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ขับเคลื่อนการเติบโต รับมือภาษีสหรัฐฯ

27 เมษายน 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 เมษายน 2568

  • เวียดนามเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ขับเคลื่อนการเติบโต รับมือภาษีสหรัฐฯ
  • เวียดนามร่างกฎเกณฑ์ใหม่คุมเข้มการเช่าที่พักระยะสั้น Airbnb ในอพาร์ตเมนต์
  • กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์ดิจิทัลส่งเสริมบริการทางธุรกิจ
  • เศรษฐกิจลาวย่ำแย่กดดันแรงงานไหลไปต่างประเทศ
  • มาเลเซียครองผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทคใหญ่อันดับ 9 ของโลกปี 2566

    เวียดนามเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ขับเคลื่อนการเติบโต รับมือภาษีสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/ftas-facilitate-viet-nams-deeper-participation-in-global-supply-chain-111230803105008762.htm

    เวียดนามกำลังเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง 17 ฉบับที่ลงนามไปแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกของเวียดนามกำลังเตรียมรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ได้ออกคำสั่งเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร(23 เมษายน) ให้กระทรวงการค้าสรุปหรือเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี กับอินเดีย บราซิล ปากีสถาน อียิปต์ และตลาดอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก

    เวียดนามถูกรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์สั่งเก็บภาษีศุลกากรแบบที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocol tariffs)ถึง 46% ซึ่งปัจจุบันทรัมป์ได้ระงับไปจนถึงเดือนกรกฎาคม หากบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อรูปแบบการเติบโตที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดหลัก และการลงทุนครั้งใหญ่จากผู้ผลิตต่างชาติ

    เมื่อไม่นานนี้ เวียดนามได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามการฉ้อโกงการค้า การปลอมแปลงสินค้า และปัญหาอื่นๆ ที่น่าเป็นประเด็นความกังวลของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศเตรียมเริ่มเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ

    เวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีหรือพหุภาคีทั้งหมด 17 ฉบับ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า(Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership:CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมถึงข้อตกลงกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา

    ในคำสั่งที่ออกให้กับหน่วยงานของรัฐบาลและหน่วยงานระดับเมืองและระดับจังหวัด นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ย้ำว่าเวียดนามจะยึดเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)อย่างน้อย 8% สำหรับปีนี้ด้วยการใช้มาตรการอื่นๆ อีกมากมาย แม้จะถูกเก็บภาษีศุลกากรในอีกไม่นาน

    “ตั้งแต่ต้นปี 2568 สถานการณ์โลกมีพัฒนาใหม่ที่ซับซ้อนและไม่สามารถคาดเดาได้มากมาย โดยมีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นระหว่างประเทศใหญ่ๆ สงครามการค้าที่แพร่หลาย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ก่อให้เกิดความยากลำบากและความท้าทายมากมาย” คำสั่งดังกล่าวระบุ

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ยังสั่งการให้ธนาคารกลางจัดหาเงินทุนเพียงพอสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ดูแลเสถียรภาพตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและทองคำ และระบบธนาคาร นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ธนาคารกลางส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้กับประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปีเพื่อซื้อบ้าน และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ มากที่สุด

    มาตรการอื่นๆ ได้แก่ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และกระตุ้นการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยี

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง สั่งกระทรวงการค้าให้สนับสนุนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ดำเนินนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสินค้าแม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกล

    เวียดนามร่างกฎเกณฑ์ใหม่คุมเข้มการเช่าที่พักระยะสั้น Airbnb ในอพาร์ตเมนต์

    ที่มาภาพ: https://news.tuoitre.vn/in-ho-chi-minh-city-airbnb-investors-risk-losing-everything-10381672.htm
    เวียดนามกำลังร่างกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมการเช่าที่พักระยะสั้นในอพาร์ตเมนต์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มอย่าง Airbnb ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่มีข้อกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัย ความโปร่งใสทางภาษี และผลกระทบต่อชุมชน

    สำนักงานการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์กล่าวว่า เมืองมีส่วนสนับสนุนกรอบงานระดับชาติในการจัดการกับธุรกิจให้เช่าบ้านรายวันให้นักท่องเที่ยว(home-sharing economy)ที่กำลังเฟื่องฟู ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มอย่าง Airbnb

    แผนดังกล่าวประกอบด้วยกรอบงานกฎหมายเฉพาะ ระบบการลงทะเบียนภาคบังคับ เครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

    แม้ว่าการเช่าที่พักระยะสั้นจะให้ความยืดหยุ่นและช่วยบรรเทาความกดดันด้านที่พักในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุด แต่ทางการระบุว่าการขาดกฎระเบียบ โดยเฉพาะในอพาร์ตเมนต์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้อยู่อาศัยและทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรมกับโรงแรม

    บริการนี้เป็นที่นิยมในหมู่ครอบครัวและนักท่องเที่ยวรุ่นเยาว์ที่แสวงหาประสบการณ์ในท้องถิ่น แต่ยังทำให้เกิดเขตสีเทาทางกฎหมายอีกด้วย เล เจือง เฮียน ฮวารองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวของนครโฮจิมินห์กล่าว

    “เราไม่ได้ห้าม แต่เราต้องจัดการให้ดีขึ้น”เล เจือง เฮียน ฮวา กล่าว

    แพลตฟอร์มอย่าง Airbnb ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของภูมิทัศน์การท่องเที่ยวระดับโลก โดยนำเสนอทางเลือกอื่นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าโรงแรม

    ในเวียดนาม ครอบครัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติมักจองอพาร์ตเมนต์ในเมืองต่างๆ เช่น โฮจิมินห์ซิตี้ เพื่อเข้าพักระยะสั้น

    เจิ่น เฟือง เถา นักท่องเที่ยวจากเมืองเว้ในเวียดนามตอนกลาง กล่าวว่า การเช่าคอนโดในช่วงวันหยุดช่วยให้ครอบครัวของเธอทำอาหารและซักผ้าได้

    แอนน์ บลันท์ นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ครอบครัวของเธอชอบอพาร์ตเมนต์ระยะสั้นมากกว่าเพราะมีความยืดหยุ่นและราคาไม่แพง

    สำหรับเจ้าของที่พักแล้ว ความต้องการและอุปสรรคในการเข้าถึงที่พักค่อนข้างต่ำนั้นน่าดึงดูด

    “เจ้าของบางรายสามารถเสนอส่วนลดสูงได้โดยการจัดการที่พักด้วยตนเอง” โล แทงห์ เดียม ผู้ให้เช่าอพาร์ตเมนต์ออนไลน์กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมเตือนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่มีการควบคุมของภาคส่วนนี้กำลังสร้างความตึงเครียดให้กับอาคารที่พักอาศัยและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

    “เดิมที Airbnb มีไว้สำหรับห้องพักเดี่ยวๆ แต่ตอนนี้ขายทุกอย่างตั้งแต่คอนโดไปจนถึงโรงแรม” เหวีน เชา เอ ผู้ก่อตั้งบริษัททัวร์ Oxalis Group กล่าว

    “ในช่วงฤดูท่องเที่ยว Airbnb ช่วยดูดซับนักท่องเที่ยวได้ แต่ต้องดูแลให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้วย”

    เจ้าหน้าที่เวียดนามและผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า การควบคุมการเช่าระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษี และความเป็นธรรมในภาคส่วนการบริการ

    เดือง ดึ๊ก มินห์ รองหัวหน้าสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจ(Institute for Tourism and Economic Development Research) กล่าวว่าช่องว่างทางกฎหมายในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎหมาย การหลีกเลี่ยงภาษี คุณภาพบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน และความท้าทายในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแขกต่างชาติ

    “มันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเศรษฐกิจแบ่งปันในวงกว้าง ดังนั้น การห้ามจึงไม่ใช่คำตอบ” เดือง ดึ๊ก มินห์กล่าวและว่า “เราต้องมีกรอบกฎหมายที่ยืดหยุ่นและเชิงรุกที่ส่งเสริมการเติบโตในขณะเดียวกันก็จัดการความเสี่ยงไปด้วย”

    เดือง ดึ๊ก มินห์เสนอให้นำระบบการออกใบอนุญาตมาใช้ กำหนดรหัสการจัดการสำหรับแต่ละหน่วยเช่า และบูรณาการแพลตฟอร์มการจองกับฐานข้อมูลของรัฐบาล รวมถึงตำรวจ ภาษี และหน่วยงานการท่องเที่ยว และยังสนับสนุนการสร้างทางเลือกมาตรฐาน เช่น โฮมสเตย์ในชุมชนที่ได้รับการรับรองและอพาร์ตเมนต์พร้อมบริการที่ได้รับอนุญาต

    ในอาคารที่มีความหนาแน่นสูง เดือง ดึ๊ก มินห์และคนอื่นๆ กล่าวว่า เจ้าของห้องเช่าควรต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานท้องถิ่นและปฏิบัติตามกฎการจัดการอาคารเกี่ยวกับความปลอดภัยและการใช้เพื่อธุรกิจ

    ในขณะที่เวียดนามพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยว ผู้กำหนดนโยบายกล่าวว่าสิทธิของผู้อยู่อาศัยในอาคารที่ใช้ประโยชน์แบบผสมผสานต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน

    “ความต้องการด้านการท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดต่างๆ เช่น วันที่ 30 เมษายน [วันรวมชาติเวียดนาม] และที่พักแบบยืดหยุ่นช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว”เล เจือง เฮียน ฮวาจากสำนักงานการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์กล่าว

    “แต่ระบบจะต้องโปร่งใส ถูกกฎหมาย และปลอดภัย”

    ข้อเสนอของรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาและคาดว่าจะครอบคลุมเครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และข้อกำหนดการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

    เจ้าหน้าที่กล่าวว่าเป้าหมายคือการพัฒนาระบบนิเวศที่พักที่หลากหลายและปลอดภัยซึ่งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลโดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ

    กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์ดิจิทัลส่งเสริมบริการทางธุรกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.luxuo.com/properties/luxury-locations/promising-outlook-cambodian-real-estate-market.html
    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชาได้ประกาศการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจ 2568–2571 มาใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกัมพูชาและตอบสนองความต้องการ ความจำเป็น และความคาดหวังของทั้งประชาชนและธุรกิจได้ดีขึ้น

    ในพิธีเปิดตัว นายอูน พันธ์มุนีรัตน์ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจ (Digital Economy and Business Committee:DEBC)ด้วย ได้ย้ำว่าเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะความก้าวหน้าล่าสุดด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน การศึกษา ธุรกิจ และการให้บริการสาธารณะ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลแทรกซึมอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด และทำหน้าที่เป็นตัวเร่งที่สำคัญสำหรับการเติบโตและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

    ในภาคเอกชน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ถือเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับความเป็นเลิศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดต้นทุน เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของตลาด

    ในทำนองเดียวกัน ในภาครัฐ เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูป โดยเฉพาะการยกระดับการส่งมอบบริการสาธารณะสำหรับธุรกิจ ช่วยปรับปรุงกระบวนการราชการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร เสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจมากขึ้น

    เพื่อผลักดันความพยายามเหล่านี้ รัฐบาลภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 7 ได้นำ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจ 2568–2571″มาใช้

    “ยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นการปฏิรูปการให้บริการสาธารณะสำหรับธุรกิจอย่างรอบด้าน” นายอูนกล่าวและว่า “ยุทธศาสตร์นี้เน้นที่การทบทวนและปรับค่าบริการ และขจัดหรือรวมขั้นตอนที่มีมูลค่าต่ำหรือซ้ำซ้อนกัน”

    นอกจากนี้ นายอูนกล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเน้นที่การพัฒนาระบบการส่งมอบบริการบนพื้นฐานไอทีที่สร้างขึ้นบนมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดออกแบบมาเพื่อทำงานภายใน “ระบบนิเวศดิจิทัลสำหรับธุรกิจ” ที่เป็นหนึ่งเดียว

    “ผมขอเน้นย้ำด้วยว่ายุทธศาสตร์นี้ตอบสนองโดยตรงต่อคำสั่งระดับสูงของนายกรัฐมนตรีที่ออกในระหว่างการประชุม Royal Government-Private Sector Forum ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566” นายอูนกล่าว ยุทธศาตร์ดังกล่าวยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของรัฐบาลในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาภาคเอกชนด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการบริการธุรกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง มีพลวัต และบูรณาการ

    โครงการริเริ่มนี้สอดคล้องกับกรอบนโยบายระดับชาติที่สำคัญหลายประการ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยม ระยะที่ 1 กรอบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกัมพูชา 2564–2568 และนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของกัมพูชา 2565–2578

    การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นี้ได้มีการประสานงานโดยคณะทำงานระหว่างกระทรวงว่าด้วยบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิ (Inter-Ministerial Working Group on Electronic Services for Business) ซึ่งสอดคล้องกับแผนริเริ่มการปฏิรูประบบดิจิทัลและการบริหารสาธารณะในวงกว้าง โดยมีหน่วยงานหลักสามแห่งทำหน้าที่กำกับดูแล ได้แก่ คณะกรรมการเศรษฐกิจและธุรกิจดิจิทัล คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล และคณะกรรมการปฏิรูประบบบริหารสาธารณะ

    “ผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นี้สำเร็จจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ความไม่แน่นอนในตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกเพิ่มมากขึ้น” พรมณิโรจน์กล่าว

    “ผมมีความคาดหวังสูงว่าความสำเร็จของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ความไม่แน่นอนในตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกเพิ่มมากขึ้น” นายอูนกล่าว

    ยุทธศษสตร์นี้กำหนดเป้าหมายไว้สูงที่จะแปลงบริการสาธารณะที่มีความต้องการสูงและมีความซับซ้อนต่ำเป็นดิจิทัลสูงถึง 80% ภายในสิ้นปี 2571 การบรรลุเป้าหมายนี้จะต้องอาศัยความพยายามที่แข็งขันและประสานงานกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงกระทรวงและสถาบันต่างๆ ในฐานะผู้ให้บริการ และภาคเอกชนในฐานะผู้รับบริการ ความพยายามร่วมกันนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากความรับผิดชอบอันแข็งแกร่งและเจตจำนงทางการเมืองที่ไม่สั่นคลอน

    รองนายกรัฐมนตรีฮุน มานี ซึ่งร่วมฝนงานเปิดตัวยุทธศาสตร์ด้วยกล่าวว่า การเปิดตัวยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจ 2568–2571 ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การปรับปรุงระบบบริหารสาธารณะของกัมพูชาให้ทันสมัย ​​โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง อัจฉริยะ และโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน นักลงทุน ผู้ค้า และนักธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากวิธีการดั้งเดิมไปเป็นบริการอิเล็กทรอนิกส์

    รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงราชการและคณะกรรมการปฏิรูประบบบริหารสาธารณะจะร่วมมือ สนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิผลเพื่อปรับปรุงขั้นตอนและการให้บริการภายในระบบบริหารสาธารณะของกัมพูชา

    ณ เดือนธันวาคม 2567 มีบริษัท 42,000 แห่งที่จดทะเบียนธุรกิจภายใต้ระบบการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ (OBR) โดยมีเงินลงทุนรวม 15.6 พันล้านดอลลาร์

    เศรษฐกิจลาวย่ำแย่กดดันแรงงานไหลไปต่างประเทศ

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2023/02/09/laos-south-korea-sign-agreement-on-financing-lao-workers-overseas/
    สถานการณ์ทางการเงินที่ยากลำบากต่อเนื่องเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานลาวที่มีทักษะมองหางานในต่างประเทศ แม้รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปีที่แล้วเพื่อรักษาแรงงานไว้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและค่าจ้างที่ต่ำทำให้แรงงานต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพและหาเงินให้พอเพียง

    ในการประชุมประจำปีของภาคแรงงานและสวัสดิการสังคมที่เวียงจันทน์ นายพงไซสัก อินทลาวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวว่ากระทรวงได้พยายามยกระดับทักษะของแรงงานในลาวมาหลายปีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป

    แต่ถึงแม้จะผ่านการฝึกอบรมอาชีวศึกษาแล้ว แรงงานจำนวนมากก็ยังไม่ต้องการงานในลาว เนื่องจากค่าจ้างที่เสนอให้ต่ำมากและไม่ตรงกับความต้องการในชีวิตประจำวันของพวกเขา

    “เรากังวลว่าลาวอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการบางรายปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่แรงงานที่มีทักษะบางส่วนมองหางานในต่างประเทศ” นายพงไซสักกล่าว

    “กระทรวงของเรามีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานและการสร้างงาน และดูแลให้แน่ใจว่าแรงงานมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานที่เป็นที่ต้องการทั้งในลาวและประเทศ อื่นๆ” นายพงไซสักกล่าวและว่า “น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการบางรายยังคงเชื่อว่าแรงงานลาวไม่มีทักษะและไม่มีความสามารถ แม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในสาธารณรัฐเกาหลีและไทยก็ตาม”

    แต่แรงงานส่วนใหญ่มีทักษะและสามารถหารายได้ได้มากกว่าในประเทศไทยและเกาหลี ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำนั้นสูงกว่าในลาว

    ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังดำเนินการยกระดับทักษะและสวัสดิการสังคมทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพของแรงงานลาวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการเปิดโอกาสให้แรงงานอิสระกลายเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง และดูแลให้แน่ใจว่าแรงงานมีงานที่มีคุณค่าและเป็นธรรม

    นายพงศ์ไซสัก กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานและนายจ้างผ่านมาตรฐานแรงงานระดับชาติและระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างระบบประกันสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น

    ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแรงงาน 369,345 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำงานในประเทศลาวและประเทศอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าอัตราการว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเกิน 2% ในแต่ละปี

    มาเลเซียครองผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทคใหญ่อันดับ 9 ของโลกปี 2566

    ที่มาภาพ: https://www.businesstoday.com.my/2023/06/16/dosm-malaysias-fdi-recorded-rm74-6-billion-while-dia-registered-rm58-6billion-the-highest-since-2021/
    มาเลเซียประสบความสำเร็จในการรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่เป็นอันดับ 9 จาก 143 ประเทศทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งถือเป็นการยอมรับสูงสุดที่มาเลเซียได้รับในทศวรรษที่ผ่านมา

    ดาโต๊ะ สรี ฮัสนอล ซัม ซัม อาหมัด ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กล่าวว่าการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของมาเลเซียเพิ่มขึ้น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (8.75 พันล้านริงกิต) สู่ระดับ 127 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566

    การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงคิดเป็น 58.69% ของการส่งออกสินค้าการผลิตทั้งหมดในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 52.48% ในปี 2565
    “การวัดมูลค่าการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของมาเลเซียไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรกและสำคัญที่สุด คำจำกัดความของ ‘เทคโนโลยีขั้นสูง’ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และธนาคารโลก

    “กลุ่มอุตสาหกรรมและรัฐบาลมาเลเซียด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ( Malaysia Industry-Government Group for High Technology:MIGHT) รับผิดชอบในการคำนวณและติดตามประสิทธิภาพการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของมาเลเซียมานานแล้ว และจะยังคงดำเนินบทบาทสำคัญนี้ต่อไป” ดาโต๊ะฮัสนอล ซัม ซัม กล่าว ระหว่างการเปิดตัวรายงานประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของมาเลเซียประจำปี 2566 เมื่อวันพฤหัสบดี(24 เมษายน)

    ดาโต๊ะฮัสนอล ซัม ซัม ย้ำถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงฯ ในการขยายและเสริมสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้แน่ใจว่ามีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

    นอกจาก MIGHT แล้ว ดาโต๊ะฮัสนอล ซัม ซัม ยังกล่าวอีกว่า สถาบันระหว่างประเทศหลายแห่งยังใช้ตัวชี้วัดการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นมาตรวัดสำคัญในการประเมินความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ

    ขณะเดียวกันกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MIGHT นายรุชดี อับดุล ราฮิมกล่าวว่า แม้กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคมจะยังคงเป็นกลุ่มที่มีส่วนสนับสนุนใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 80.58% ของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมดใน 9 กลุ่มย่อย แต่หมวดหมู่อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องจักรสำนักงาน เครื่องจักรไฟฟ้า และด้านอวกาศ ก็มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

    อย่างไรก็ตาม นายรุชดีย้ำว่า หมวดหมู่เหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่งและกลยุทธ์การเจาะตลาดที่มีประสิทธิภาพ

    “นอกเหนือจากการมีส่วนสนับสนุนโดยตรงต่อความปรารถนาของประเทศในการเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแล้ว ระบบนิเวศนวัตกรรมอันพลวัตนี้ยังเสริมสร้างตำแหน่งของมาเลเซียในการบรรลุอธิปไตยทางเทคโนโลยี ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไม่เพียงแต่สามารถใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเชี่ยวชาญและควบคุมเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ได้อีกด้วย” นายรุชดีกล่าว