ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวเตรียมฟื้นตำแหน่ง “ตาแสง” กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ลาวเตรียมฟื้นตำแหน่ง “ตาแสง” กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

9 กุมภาพันธ์ 2025


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ชุมชนท้องถิ่นในลาว ซึ่งรัฐบาลลาวมีแผนปรับโครงสร้างหน่วยงานปกครองทั่วประเทศ ด้วยการนำตำแหน่งตาแสงกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

รัฐบาล สปป.ลาว กำลังวางแผนปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยจะนำตำแหน่ง “ตาแสง” กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ตำแหน่งนี้เคยมีมาตั้งแต่สมัยที่ลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อกว่า 34 ปีก่อน

“ตาแสง” คือตำแหน่งอะไร?

ตามข้อมูลจากเพจ “ป่องเยี่ยมพาสาลาว” ซึ่งอ้างอิงจากพจนานุกรมภาษาลาว ฉบับปี 2012 ระบุว่า “ตาแสง” เป็นคำศัพท์ดั้งเดิมของลาว หมายถึงเขตการปกครองระดับท้องถิ่นของรัฐใด รัฐหนึ่ง ประกอบด้วยหลายๆ บ้าน หรือกลุ่มบ้าน แต่น้อยกว่าเมือง โดยจัดเรียงตามลำดับได้ คือ

  • หลายหลังคาเรือน รวมเข้ากันเป็น “บ้าน” ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด คือ “นายบ้าน”
  • หลายบ้าน รวมเข้ากันเป็น “ตาแสง” ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด คือ “นายตาแสง”
  • หลายตาแสง รวมเข้ากันเป็น “เมือง” ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด คือ “เจ้าเมือง”
  • หลายเมือง รวมเข้ากันเป็น “แขวง” ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด คือ “เจ้าแขวง”
  • หลายแขวง รวมเข้ากันเป็น “ประเทศ”
  • โพสต์ของเพจ “ป่องเยี่ยมพาสาลาว” อธิบายความหมายของคำว่าตาแสง

    ตำแหน่งนายตาแสงในประเทศลาว เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยที่ลาวยังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ตำแหน่งนี้ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1920 แต่ได้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1990 หรือ พ.ศ.2533

    ในอดีต ตำแหน่งนายตาแสง คือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากบรรดานายบ้านที่อยู่ในเขตตาแสงนั้นๆ โดยนายตาแสงมีหน้าที่ในการสำรวจพลเมือง รายงานการเกิด การตายของพลเมือง และดูแลชาวบ้านตามคำสั่งของเจ้าเมืองและเจ้าแขวง

    หลังจากลาวได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1991 (พ.ศ. 2534) มีเนื้อหาที่ระบุถึงการปกครองท้องถิ่นไว้ว่า แบ่งเป็น แขวง กำแพงนคร เมือง และบ้าน โดยไม่มีการปกครองในระดับตาแสงอีกต่อไป

    แต่ในปีนี้ (พ.ศ. 2568) รัฐบาลลาวกำลังศึกษา ค้นคว้า เพื่อจะฟื้น นำตำแหน่ง “ตาแสง” กลับมาใช้ใหม่ โดยจัดลำดับความสำคัญไว้ตามเดิม คือ ใหญ่กว่า “บ้าน” แต่เล็กกว่า “เมือง”

    เบื้องต้น คาดว่าทั่วประเทศจะมีตาแสงรวม 950 แห่ง กำหนดให้เขตการปกครองใดที่มีจำนวนบ้านน้อยกว่า 24 บ้านลงมา หรือมีพลเมืองน้อยกว่า 20,000 คน ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น 1 ตาแสง

    ตราประทับของตาแสงนาหลวง เมืองเชียงดง แขวงหลวงพระบาง สมัยที่ยังมีตำแหน่งตาแสง ที่มาภาพ : เพจ Art and Culture of Laos

    ……

    ตามที่รับรู้กันทั่วไปก่อนหน้านี้ โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นในลาวแบ่งเป็น 3 ลำดับ เรียงตามขนาดพื้นที่และประชากร คือ

    1. “บ้าน” เทียบกับในประเทศไทยแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับ “ตำบล” โดยในแต่ละบ้านประกอบไปด้วยกลุ่มหรือหน่วยผลิตหลายหน่วย หลายกลุ่ม รวมเข้าด้วยกัน

    2. “เมือง” ประกอบด้วยบ้านหลายบ้านรวมเข้าด้วยกัน เทียบกับในประเทศไทยแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับ “อำเภอ”

    3. “แขวง” ประกอบด้วยหลายเมืองรวมเข้าด้วยกัน เทียบกับในประเทศไทยแล้ว ก็คือ “จังหวัด”

    เมื่อนำหลายแขวง หลายจังหวัดมารวมเข้าด้วยกัน ก็จะเป็น “ประเทศ”

    หากมีการเพิ่มตำแหน่งตาแสงขึ้นมาอีก โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นภายในลาวก็จะกลายเป็น 4 ลำดับ เริ่มตั้งแต่ บ้าน ตาแสง เมือง แขวง เทียบกับในประเทศไทย คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด

    การเตรียมฟื้นตำแหน่งตาแสงกลับมาใช้ใหม่ ได้ถูกเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2566

    หนังสือพิมพ์ประชาชน ซึ่งเป็นสื่อของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีรายงานว่า คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ออกมติเลขที่ 05/คบสพ. ลงวันที่ 5 กันยายน 2566 ว่าด้วยการผลักดันแนวทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่แข็งแกร่ง ลึกซึ้ง รอบด้าน โดยจะมีการนำรูปแบบการปกครอง 3 ขั้น คือ แขวง เมือง และตาแสง มาใช้ โดยปรับบทบาทของบ้านให้เป็นการจัดตั้งของชุมชน และอาจมีการใช้ระบบการเลือกตั้ง

    ตามข่าวในขณะนั้นระบุว่า การนำตำแหน่งตาแสงกลับมาใช้ใหม่ ยังเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปรึกษาหารือกันอยู่ในหลายแขวง ยังไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าจะเริ่มนำตำแหน่งตาแสงกลับมาใช้อีกเมื่อใด…

    วันที่ 24 มกราคม 2568 สื่อหลายแห่งของลาวรายงานข่าวการเตรียมนำตำแหน่งตาแสงมาใช้ โดยอ้างเนื้อหาจากหนังสือแจ้งการของกระทรวงภายใน ฉบับที่ 08/พน. ลงวันที่ 4 มกราคม 2568 เรื่อง ทิศทางในการค้นคว้า ตระเตรียม จัดตั้งตาแสง ที่ถูกส่งไปถึงเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์และเจ้าแขวงทุกแขวงทั่วประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

    ในระยะที่ผ่านมา กระทรวงภายในได้สมทบกับองค์การปกครองท้องถิ่นในขอบเขตทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่การศึกษา ค้นคว้า ตระเตรียมการตั้งตำแหน่งตาแสง

    จากการรวบรวมข้อมูลและการค้นคว้าเบื้องต้น คาดว่าทั่วประเทศจะมีตำแหน่งตาแสงประมาณ 950 ตาแสง ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยเฉลี่ยใน 1 เมืองจะมีตาแสง 6-7 ตาแสง ภายใน 1 ตาแสงจะประกอบด้วยบ้านจำนวนตั้งแต่ 1-24 บ้าน

    เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงภายในได้รายงานผลการศึกษา ตระเตรียมจัดตั้งตาแสงต่อที่ประชุมกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค ร่วมกับคณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงให้นำผลการศึกษาที่ได้รับไปค้นคว้าเพิ่มเติม ตระเตรียมความพร้อมรอบด้าน เพื่อให้สามารถประกาศตั้งตำแหน่งนี้พร้อมกันในขอบเขตทั่วประเทศ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงใหม่ได้รับการรับรอง และประกาศใช้ภายในกลางปี 2568

    ดังนั้น กระทรวงภายในจึงมีหนังสือแจ้งการฉบับนี้ออกมา เพื่อวางแนวทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ตระเตรียมค้นคว้าความพร้อมในแต่ละด้าน ตามแนวทางการชี้นำที่ได้รับจากที่ประชุมกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค ดังนี้

    1. จำนวนตาแสง จะอยู่ระหว่าง 3-5 ตาแสงต่อ 1 เมือง การกำหนดดังกล่าว ให้คำนึงถึงความจำเป็น คุณลักษณะพิเศษ ธรณีสัณฐาน ความสะดวกในการเดินทาง การเข้าถึงบริการของรัฐ และคุณสมบัติอื่นๆ ของแต่ละพื้นที่

    2. โครงสร้างภายในของตาแสง แบ่งตามองค์ประกอบของลักษณะงานเป็น 4 กลุ่มงาน ดังนี้

      2.1 กลุ่มงานบริหารและปกครอง
      2.2 กลุ่มงานเศรษฐกิจและวางแผน
      2.3 กลุ่มงานวัฒนธรรมและสังคม
      2.4 กลุ่มงานป้องกันชาติและป้องกันความสงบ

    นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มงานของพรรค และองค์กรจัดตั้งมหาชน ที่มีระเบียบการเฉพาะเพิ่มเข้าไปอีก

    3. บุคลากรของตาแสงประกอบด้วยคณะบริหารงาน เรียกว่า “คณะกรรมการปกครองตาแสง” มีองค์ประกอบของบุคลากร ดังนี้

      3.1 ประธาน 1 คน
      3.2 รองประธาน ไม่เกิน 2 คน
      3.3 กรรมการ เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ไม่เกิน 5 คน

    นอกจากนี้ ยังมีพนักงาน-รัฐกร เป็นผู้ช่วยงานไม่เกิน 10 คน หรือเฉลี่ยแต่ละหน่วยงานมีผู้ช่วยไม่เกิน 2 คน ส่วนการเทียบตำแหน่ง จะมีการค้นคว้ารายละเอียดตามหลัง

    4. แหล่งที่มาของบุคลากร

      4.1 ประธาน รองประธาน และกรรมการ เป็นรัฐกร กำหนดให้ใช้พนักงานหรือรัฐกรที่มีอยู่แล้วจากพนักงานของเมือง เจ้าหน้าที่ป้องกันความสงบหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ป้องกันชาติหรือทหาร ที่ประจำอยู่ในกลุ่มบ้าน หรือพลเรือนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข
      4.2 สำหรับพนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยงาน สามารถเป็นได้ทั้งรัฐกร และพนักงานตามสัญญา ให้พิจารณาจากประชาชนที่อยู่ภายในบ้าน นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว หรือผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข

    5. เงินเดือนและเงินอุดหนุน

      5.1 กรณีที่นำพนักงาน-รัฐกร และกำลังพลจากเจ้าหน้าที่ป้องกันความสงบ หรือเจ้าหน้าที่ป้องกันชาติ มาเป็นคณะกรรมการปกครองตาแสง ในตำแหน่ง ประธาน รองประธาน และกรรมการ ให้ได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งเดิม
      5.2 กรณีนำพลเรือนมาเป็นคณะกรรมการปกครองตาแสง ในตำแหน่ง ประธาน รองประธาน และกรรมการ จะได้มีการค้นคว้าอัตราผลตอบแทนให้ภายหลัง

    6. ที่ตั้งสำนักงานปกครองตาแสง ให้พิจารณาค้นคว้าปรับปรุงนำสำนักงานกลุ่มบ้านที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้

    7. อุปกรณ์เครื่องใช้ของตาแสง : อุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ในสำนักงานต่างๆ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น ให้ใช้อุปกรณ์ของสำนักงานกลุ่มบ้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากมีความจำเป็นต้องหาอุปกรณ์เพิ่มเติม ให้องค์การปกครองระดับแขวง ร่วมมือกับองค์การปกครองระดับเมือง ศึกษา ค้นคว้า พิจารณาอนุมัติให้ตามความเหมาะสม

    8. สำหรับเมืองที่มีพลเมืองต่ำกว่า 20,000 คน ต้องถูกพิจารณาปรับเปลี่ยนมาเป็นตาแสง

    9. ภาระงานอย่างอื่นให้ดูรายละเอียดในแบบฟอร์มรวบรวมข้อมูล ที่แนบไปกับหนังสือแจ้งการฉบับนี้

    หลังจากได้มีการศึกษา ค้นคว้า ตระเตรียมความพร้อมรอบด้านแล้ว ให้รวบรวมข้อมูลที่แนบไปกับหนังสือแจ้งการ และให้รายงานต่อกระทรวงภายในก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อจะได้สังเคราะห์ข้อมูล จัดทำเป็นข้อเสนอส่งไปถึงผู้มีอำนาจระดับที่สูงขึ้นต่อไป


    ……

    หลังปรากฏข่าวเรื่องการที่รัฐบาลจะนำตำแหน่งตาแสงกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2568 สังคมลาวได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังออกมาอย่างกว้างขวาง

    ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นการเพิ่มขั้นตอนการบริหารงานให้ยุ่งยากมากขึ้น บางส่วนมองว่าเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริต เกิดระบบใช้เส้นใช้สายของผู้มีอำนาจ ขณะที่อีกบางส่วนเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันของลาว ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปกับการแก้ปัญหาเหล่านั้น ก่อนที่จะมาคิดเรื่องปรับระบบบริหารงานท้องถิ่น

    อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทย แม้เรื่องของตำแหน่งตาแสงอาจถูกมองว่าไกลตัว เพราะเป็นรายละเอียดในการปกครอง บริหารงานท้องถิ่นของลาว แต่ความจริงแล้ว การเพิ่มตำแหน่งตาแสงขึ้นมา เป็นประเด็นที่นักธุรกิจไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในลาว ควรต้องติดตาม

    อย่าลืมว่า 1 ใน 4 กลุ่มงานตามโครงสร้างของตาแสง ซึ่งที่ประชุมกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ให้แนวทางชี้นำเอาไว้ มีกลุ่มงานเศรษฐกิจและวางแผนรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ในบทบาทนี้ของตาแสง ต้องเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายการลงทุน ตลอดจนกำกับ ดูแลกิจการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตาแสงนั้น

    “นายตาแสง” จึงมีอำนาจในการพิจารณา หรืออนุมัติโครงการลงทุนของกิจการต่างๆ ด้วย ในฐานะเจ้าของพื้นที่…