สำนักงบฯ-สภาพัฒน์ ทำความเห็นแย้ง ครม.อนุมัติตั้งงบฯ ปี’69 – จี้ รฟท.เร่งแก้สัญญาร่วมทุนฯให้ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้เอกชนก่อสร้าง ‘ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน’ ก่อนเสนอรายละเอียดคำขอตั้งงบฯ
ต่อกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มกราคม 2568 ได้มีมติอนุมัติคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม 5 หน่วยงาน ทั้งหมด 35 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 286,791.84 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการปี 2569-2574) เฉพาะคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 มีวงเงินรวม 55,003.85 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2569 วงเงิน 21,014.92 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้จ่ายเป็นค่าร่วมลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทันทีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน “จากเดิมรัฐจะแบ่งจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง แก้ไขเป็น รัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจรับ” โดยในปีงบประมาณ 2569 ขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ รฟท.ไปจ่ายค่าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาวงเงิน 21,014.92 ล้านบาท , ปี 2570 ขอรับการจัดสรรงบฯให้ รฟท.ไปร่วมทุนกับเอกชน 37,557.68 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2571 วงเงิน 35,065.81 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2572-2573 อีก 31,594.04 ล้านบาท รวม 5 ปี มีวงเงินรวม 125,232.45 ล้านบาท
โดยสำนักงบประมาณได้ทำความเห็นเกี่ยวกับการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ของกระทรวงคมนาคม ส่งให้ที่ประชุม ครม.ในวันนั้น ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติ โดยสำนักงบประมาณ ได้ขอให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ประมาณการราคา รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า และประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน ศักยภาพในการดำเนินการ ตลอดจนสถานะการเงินของประเทศ และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามนัยของมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 และขอให้กระทรวงคมนาคมจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโครงการตามความจำเป็น และเหมาะสมตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
นอกจากนี้สำนักงบประมาณได้มีข้อสังเกตเพิ่ม 2 รายการ คือ
1. รายการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน ขอให้กรมทางหลวงเร่งรัดเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการในส่วนของงานโยธา เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
2. รายการเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สำหรับเป็นค่างานโยธาแก่เอกชน ตามสัญญาร่วมลงทุนที่รัฐบาลรับภาระ ตามรูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Net Cost) เนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน จึงเห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์ฯ” ได้ทำความเห็นเสนอที่ประชุม ครม.ว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 สำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมทั้งเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดังเนินการดังนี้
1. กระทรวงคมนาคมประสาน และบูรณาการกับหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมทางหลวง , กรมทางหลวงชนบท , การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย , การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 โดยเร็ว
ทั้งนี้ สำหรับความเหมาะสมของกรอบวงเงิน และแผนการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการจำนวน 34 โครงการของกระทรวงคมนาคมดังกล่าว เห็นควรให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
3. สำหรับโครงการพัฒนารถไฟต้นแบบตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก กรอบวงเงิน 1,897.35 ล้านบาท ของสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) สภาพัฒน์ฯให้ความเห็นว่า “การพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ตามข้อเสนอของ สทร.ข้างต้น ยังขาดความชัดเจนในแนวทางดำเนินกการทั้งในขั้นตอนการวิจัย และพัฒนาจนถึงการนำงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง โดยในเบื้องต้นอาจจะพิจารณากำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิจัย และนวัตกรรมด้านระบบรางในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset Policy) เช่น การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การกำหนดให้ใช้วัสดุ และอุปกรณ์ในประเทศ (Local Content) การตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน และประกอบภายในประเทศ เป็นต้น มาปรับใช้ โดยคำนึงถึงแนวโน้มการพัฒนาของระบบราง โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนเข้าร่วมให้บริการเดินรถ และศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
หลังจากที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปของกระทรวงคมนาคม และความเห็นของสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯแล้ว ที่ประชุม ครม.ก็มีมติอนุมัติให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ทั้งหมด 35 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 286,791.84 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการปี 2569-2574) โดยมีวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2569 จำนวน 55,003.85 ล้านบาท ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 26 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งบประมาณรายจ่ายต่อผู้อำนวยการ” และมติ ครม.วันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2569 โดยให้หน่วยงานที่มีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ สำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในวันที่ 28 มกราคม 2568 ก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ต่อไป โดยคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ของกระทรวงคมนาคมมีรายละเอียดดังนี้
1. กรมทางหลวง (ทล.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 จำนวน 30 โครงการ วงเงินรวม 60,630 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2572 เฉพาะในปีงบประมาณ 2569 กรมทางหลวงขอตั้งงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 12,126 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเพิ่มช่องจราจร รวมถึงบูรณะ และเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียกร้อยแล้วและพร้อมที่จะดำเนินการมี 10 โครงการ และอยู่ระหว่างการออกแบบ 20 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2569
2. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ตามแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 3,600 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2571 เฉพาะในปีงบประมาณ 2569 กรมทางหลวงชนบทขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยกรมทางหลวงชนบทได้ออกแบบรายละเอียดทุกโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะดำเนินการ
3. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ในแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 1 โครงการ คือ รายการเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2573 วงเงินรวม 125,232.45 ล้านบาท เฉพาะในปีงบประมาณ 2569 รฟท.ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 21,014.92 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับการแก้ไขเงื่อนไขของสัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในทันทีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้แก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน “จากเดิมรัฐจะแบ่งจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง เปลี่ยนมาเป็นรัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ”
4. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ตามแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ รายการเงินสนับสนุนค่างานโยธาตามสัมปทานฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรม ระยะเวลาดำเนินการปี 2569-2574 วงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท เฉพาะในปีงบประมาณ 2569 ขอตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 20,223.13 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ได้อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยกำหนดให้การก่อสร้างงานโยธาในช่วงตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) งานจัดหาระบบรถไฟฟ้า งานเดินรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งระบบ ภายใต้สัญญาเดียวกันในรูปแบบ “PPP Net Cost” โดยภาครัฐลงทุนค่างานก่อสร้าง งานโยธาในช่วงตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สถานีสุวินทวงศ์) และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก
ส่วนเอกชนลงทุนค่างานก่อสร้างงานโยธาในช่วงตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก เป็นต้นไป
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 มกราคม 2563 ยังมีมติเห็นชอบสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง โดยกำหนดวงเงินค่างานโยธาที่รัฐจะสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงภายในวงเงิน 91,983 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นวงเงินสำรองจ่าย (Provisional Sum) จำนวน 4,029 ล้านบาท หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายให้พิจารณาตามขั้นตอน เพื่อให้เอกชนดำเนินการเป็นงานเพิ่มเติม และให้ใช้อัตราส่วนลด หรือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี บวก 1 และให้ชำระคืนค่างานโยธาช่วงตะวันตกให้แก่เอกชนตามวงเงินที่ได้มีการจ่ายจริงจากการดำเนินงานก่อสร้างโดยทยอยชำระคืน ภายหลังเริ่มงานก่อสร้างงานในระยะที่ 1 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตกแล้ว 2 ปี โดยมีระยะเวลาแบ่งจ่ายรวมทั้งสิ้น 7 ปี
5) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนารถไฟต้นแบบ ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2571 วงเงินรวม 1,897.35 ล้านบาท เฉพาะในปีงบประมาณ 2569 สทร.ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 919.80 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการออกแบบ และผลิตรถไฟด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถไฟจากการนำเข้าที่มีมูลค่าสูง และเพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงสามารถออกแบบการผลิตให้ตรงกับความต้องการภายในประเทศที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และยังสามารถออกแบบ ผลิต เพื่อส่งออก หรือ เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้การก่อสร้างรถไฟยังช่วยส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการด้านการผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ภายในประเทศ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีศักยภาพพร้อมขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมราง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดเป็น Supply Chain ด้านอุตสาหกรรมรางของไทย พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย (Local Contents) มีขีดความสามารถในการผลิตรถไฟที่ทันสมัย และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเกิดเป็น New S-Curve ใหม่ให้กับประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการพัฒนารถไฟต้นแบบตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก