ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียตั้ง Danantara กองทุน SWF แห่งที่สองบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ

ASEAN Roundup อินโดนีเซียตั้ง Danantara กองทุน SWF แห่งที่สองบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ

9 กุมภาพันธ์ 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2568

  • อินโดนีเซียตั้ง Danantara กองทุน SWF แห่งที่สองบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ
  • เวียดนามอนุมัติแผนแม่บทพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์
  • ต้นทุนสร้าง Data Center ในเวียดนามต่ำสุดในเอเชียแปซิฟิก
  • เวียดนามเล็งใช้ภาษีใหม่คุมเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
  • มาเลเซียขยายแผนคุ้มครองอุบัติเหตุครอบคลุม Gig Workers

    อินโดนีเซียตั้ง Danantara กองทุน SWF แห่งที่สองบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.asiaasset.com/post/27777-inagdsjv-gte-1019
    อินโดนีเซียได้แก้ไขกฎหมายที่ควบคุมรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการวางรากฐานทางกฎหมายสำหรับหน่วยงานใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นคือ Daya Anagata Nusantara หรือ Danantara เพื่อจัดการทรัพย์สินของรัฐมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

    สมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มพันธมิตรรัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ได้อนุมัติการแก้ไขดังกล่าวในการประชุมเต็มคณะเมื่อวันอังคาร(4 กุมภาพันธ์ 2568) กรอบการทำงานใหม่ปูทางให้ Danantara รวมรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงาน การลงทุน และการจ่ายเงินปันผล นายเอริก ธอฮีร์ (Erick Thohir) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียชี้แจงในรัฐสภา

    Danantara ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่คล้ายกับ Temasek ของสิงคโปร์(Temasek Holdings เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์) เป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มที่สำคัญของประธานาธิบดีปราโบโว เพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของเขา รวมถึงโครงการเรือธงอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน การก่อสร้างอาคารสงเคราะห์สาธารณะเพิ่มเติม และความพยายามในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านอาหารและพลังงาน ประธานาธิบดีต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ทำให้งบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นมากเกินไป

    Danantara ซึ่งจะกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีและรายงานตรงต่อประธานาธิบดี จะช่วยให้ฝ่ายบริหารบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 8% ภายในวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีปราโบโว นายธอฮีร์กล่าว ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ปราเซตโย ฮาดี กล่าวว่า หน่วยงานใหม่นี้จะจัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านล้านรูเปียะฮ์(61 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยการเปิดตัวจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานาธิบดี

    นายธอฮีร์ไม่ได้เปิดเผยว่ารัฐวิสาหกิจใดบ้างที่จะถูกโอนไปยัง Danantara รายงานของสื่อท้องถิ่นก่อนหน้านี้ชี้ว่า หน่วยงานสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินหลักของรัฐ อย่างเช่น PT Bank Mandiri, Mining Industry Indonesia และ PT Pertamina บริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของรัฐ

    รองประธานสภา ซุฟมี ดาสโก อาหมัด กล่าวว่ารัฐบาลจะออกกฎระเบียบที่จะบังคับใช้เร็วๆ นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทางกฎหมายเพิ่มเติม

    รัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งมีบทบาทในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์มายาวนาน ได้จ่ายเงินปันผลให้กับรัฐบาลรวมกันมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 ตามข้อมูลของทางการ

    ลาวานญา เวนกาเตสวารัน(Lavanya Venkateswaran) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสอาเซียนที่ OCBC กล่าวว่ากรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานใหม่นั้นส่วนใหญ่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังต้องมีการชี้แจงอีกหลายประการ “เพื่อประเมินผลกระทบของ Danantara ต่อการเติบโตได้อย่างเต็มที่” รวมถึงคำถามที่ว่ารัฐวิสาหกิจรายใดจะอยู่ภายใต้การดำเนินการ และกองทุนจะดำเนินการอย่างไร

    “เราจะต้องมีความชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้ Danantara เมื่อเปรียบเทียบกับกระทรวงรัฐวิสาหกิจ” เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐที่ถูกโอน เธอกล่าว “บททดสอบที่แท้จริงก็คือว่า Danantara สามารถสร้างผลลัพธ์ ตามที่ตั้งใจไว้จากการลงทุนที่มากขึ้นและสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่”

    ลักษมนัน อาร์(Lakshmanan R) หัวหน้าฝ่ายวิจัยองค์กรในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของ CreditSights กล่าวว่าคำถามสำคัญก็คือประธานาธิบดีปราโบโวมีอำนาจควบคุมหน่วยงานโดยตรงมากเพียงใด

    “หากประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับ Danatara ก็อาจนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่น่ากังขาได้” “แต่หากเป็นรัฐบาลอินโดนีเซียที่ยังคงมีอำนาจในการตัดสินใจ เราก็ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลมากนักจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

    Danantara นับเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติแห่งที่สองของอินโดนีเซีย ที่จัดตั้งใน 5 ปีหลังจากที่มีการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติแห่งแรก แม้การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(sovereign wealth fund:SWF)จะเป็นเรื่องปกติของประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากร แต่การมี SWF ถึง 2 แห่ง ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก

    ในยุคการบริหารงานของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด อินโดนีเซียได้ก่อตั้ง Indonesia Investment Authority (INA) ในปี 2563 เพื่อจัดการเงินทุนและทรัพย์สินของรัฐมูลค่า 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินการได้ในปี 2564 ปัจจุบัน ภายใต้ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 8% ภายในสิ้นวาระของเขา ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้การลงทุนใหม่หลายล้านล้านและงานใหม่หลายล้านตำแหน่ง จึงนำไปสู่การตั้ง Danantara

    Danatara จะเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(sovereign wealth fund:SWF) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจและการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่วางไว้สูง ความไม่แน่นอนทางกฎหมาย และความทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับ INA ได้ทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงความจำเป็นและความเสี่ยง

    Danantara จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2546(2003 Law on State-Owned Enterprises) ครั้งที่ 3 ส่งผลให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ กฎหมายกำหนดให้ Danantara มีทุนประเดิมอย่างน้อย 1,000 ล้านล้านรูเปียะฮ์(61.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากการลงทุนของรัฐหรือแหล่งเงินทางกฎหมายอื่นๆ

    เจ้าหน้าที่ของรัฐระบุว่ารัฐวิสาหกิจหลัก 7 แห่งจากภาคการธนาคาร เหมืองแร่ พลังงาน และโทรคมนาคม จะเป็นแกนหลักของ Danantara ซึ่งรวมถึง Bank Mandiri, Bank BRI และ Bank BNI จากภาคการธนาคาร Pertamina ในภาคพลังงาน PLN ด้านไฟฟ้า Telkom Indonesia ในด้านโทรคมนาคม และ MIND ID เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านเหมืองแร่ องค์กรเหล่านี้เป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียในแง่ของสินทรัพย์และการเข้าถึงผู้บริโภค

    รายงานเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า INA ซึ่งเป็นหน่วยงานการลงทุนของอินโดนีเซียในที่สุดจะถูกรวมเข้ากับ Danantara อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงมีอยู่ว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติทั้งสองจะประสานบทบาทของแต่ละฝ่ายอย่างไร เนื่องจากอาจมีความรับผิดชอบที่ทับซ้อนกันในการจัดการการลงทุนของรัฐในภาคส่วนยุทธศาสตร์ ความแตกต่างที่สำคัญคือ INA ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ขณะที่ Danantara จะรายงานตรงต่อประธานาธิบดี

    Danantara ได้รับการออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่า INA อย่างมาก โดยจะจัดการสินทรัพย์รวมมูลค่าประมาณ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่งและ INA อีกทั้งคาดว่ามูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 982 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ Danantara กลายเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากกองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลของนอร์เวย์(Norway’s Government Pension Fund) หน่วยงานการลงทุนอาบูดาบี(Abu Dhabi Investment Authority) และบรรษัทการลงทุนของจีน(China Investment Corporation) รัฐวิสาหกิจบางแห่งภายใต้ Danantara สร้างรายได้มหาศาล ตัวอย่างเช่น Bank BRI ที่เพิ่งจ่ายเงินปันผล 20.4 ล้านล้านรูเปียะฮ์ (1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

    กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดว่า Danatara จะบริหารโดยคณะกรรมการกำกับดูแลและคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการกำกับดูแลซึ่งมีสมาชิก 3 คนจะมีรัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจเป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันคือ เอริก ธอฮีร์ และมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่คนที่สามที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเข้าร่วม

    คณะกรรมการบริหารของ Danantara นำโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Muliaman Darmansyah Hadad อดีตผู้บริหาร หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (Financial Services Authority) เขามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินและการเงินของอินโดนีเซีย และก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังเป็นเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2566 อีกด้วย นอกจากนี้จะมี Kaharuddin Djenod อดีตซีอีโอของบริษัทต่อเรือ PAL Indonesia ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ จะรับตำแหน่งรองซีอีโอ และจะมีกรรมการบริหารอีก 6 คน

    เหตุผลที่ประธานาธิบดีปราโบโวต้องการตั้ง Danantara คือปราโบโวมีโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากรออยู่ ซึ่งรวมถึงโครงการริเริ่มที่สำคัญของเขาในการให้อาหารฟรีแก่เด็กวัยเรียน ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 100 ล้านล้านรูเปียะฮ์ (6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2567 เพียงปีเดียว ภาระผูกพันของการใช้จ่ายที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการทำให้เมืองหลวงใหม่แห่งชาติอย่าง Nusantara เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยโจโกวีและปราโบโวให้คำมั่นว่าจะทำให้แล้วเสร็จ

    ความท้าทายอยู่ที่การเงินทุนสนับสนุนโครงการที่วาดหวังไว้สูงเหล่านี้ งบประมาณของอินโดนีเซียขาดดุลมานานหลายทศวรรษ โดยขาดดุล 507.8 ล้านล้านรูเปียะฮ์ (31.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 2.29% ของ GDP ในปี 2567 รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ศรี มุลยานี อินทราวตี ได้คาดการณ์ว่าจะมีการขาดดุลที่สูงขึ้นอีก 616 ล้านล้านรูเปียะฮ์ สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน ด้วยข้อจำกัดทางการเงินที่จำกัดพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาล ปราโบโวจึงต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากงบประมาณของรัฐเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับความคิดริเริ่มของเขา ซึ่งรวมถึงโครงการอาหารฟรีที่มีราคาแพง

    เวียดนามอนุมัติแผนแม่บทพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/govt-approves-master-plan-on-nuclear-energy-development-111250207110112736.htm
    รัฐบาลได้อนุมัติแผนแม่บทเกี่ยวกับการพัฒนาและการประยุกต์ใช้พลังงานนิวเคลียร์จนถึงปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์สู่ปี 2593

    แผนแม่บทมีเป้าหมายเพื่อทำให้กรอบทางกฎหมายและการจัดการพลังงานปรมาณูของรัฐมีความสมบูรณ์ โดยสอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ ปรับปรุงและยกระดับการวิจัย การประยุกต์ใช้ และสถาบันการฝึกอบรม และเพิ่มคุณภาพของแรงงานสำหรับภาคพลังงานปรมาณู

    รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิญถ่วน

    ภายในปี 2593 รังสี ไอโซโทปกัมมันตภาพรังสี และการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์จะมีส่วนสำคัญและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และการปกป้องความมั่นคง

    เวียดนามจะพัฒนาความเชี่ยวชาญและค่อยๆ พึ่งพาตนเองในเทคโนโลยีและเทคนิคขั้นสูง เพื่อให้มั่นใจว่าการประยุกต์ใช้พลังงานปรมาณูจะสร้างคุณประโยชน์ที่มีความหมายต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ

    แผนแม่บทดังกล่าวยังมุ่งหวังที่จะเติมเต็มและพัฒนาเครือข่ายสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และมะเร็งวิทยา รังสีบำบัด ภายในปี 2573 เพื่อรองรับการตรวจทางการแพทย์ การรักษา การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรม

    เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น โครงการหลักจะกำหนดการดำเนินการของแนวทาง 9 ด้าน เพื่อให้ระบบบริหารขององค์กรสมบูรณ์แบบ สร้างและปรับปรุงระบบกฎหมายและกลไกและนโยบายในการพัฒนาและการประยุกต์ใช้พลังงานปรมาณู กระตุ้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ สร้างความตระหนักรู้และการสนับสนุนจากชุมชน ส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการระหว่างประเทศ ระดมการลงทุน การเงิน และการระดมเงินทุนและการดำเนินการขององค์กร

    ส่วนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิญ ถ่วน นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงห์จิ๋ง สั่งให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าเวียดนาม(Viet Nam Electricity) และกลุ่มน้ำมันและก๊าซของเวียดนาม(Viet Nam Oil and Gas Group) สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2573

    นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าทบทวนและเสริมแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องดำเนินการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณู

    โครงการนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สองแห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ในจังหวัดนิญ ถ่วนทางตอนกลาง

    ต้นทุนสร้าง Data Center ในเวียดนามต่ำสุดในเอเชียแปซิฟิก

    ดาต้า เซ็นเตอร์ใหม่ของ Viettel ในนิคมไฮเทค ฮวา ลัก ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnams-data-center-construction-costs-rank-among-asia-pacifics-lowest-329132.html
    เวียดนามมี ต้นทุนการก่อสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ต่ำที่สุดในเอเชีย โดยมีราคาตั้งแต่ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ จากข้อมูลของ Cushman & Wakefield

    รายงานต้นทุนการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2025 (Asia Pacific Data Center Construction Cost Guide 2025)ของ Cushman & Wakefield บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสำรวจคลัสเตอร์การพัฒนาดาต้า เซ็นเตอร์ 90 แห่งใน 26 เมือง พบว่า ต้นทุนการก่อสร้างเฉลี่ยในเวียดนามอยู่ที่ 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าคิดเป็น 26% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่ระบบเครื่องกลและโยธาคิดเป็น 13%

    ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ระบบทำความเย็น ความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัย ระบบรักษาความปลอดภัย ชั้นวาง ตู้ อุปกรณ์ และสายเคเบิล ต้นทุนที่ดินคิดเป็น 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 209 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร ในพื้นที่ชานเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างไว้ล่วงหน้าในโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย

    ต้นทุนนี้สูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของไต้หวันที่ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์เล็กน้อย แต่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก

    ญี่ปุ่นเป็นผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยต้นทุนการก่อสร้างสูงสุดที่มากกว่า 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (11.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) และออสเตรเลีย (9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ)

    จาง บุย(Trang Bui) ผู้ดูแลธุรกิจในประเทศเวียดนามของ Cushman & Wakefield กล่าวว่า เวียดนามมีศักยภาพที่สำคัญในการเป็นตลาดข้อมูลหลักในภูมิภาค เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างและราคาที่ดินแข่งขันได้ ตลอดจนมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเห็นได้จากความสนใจของผู้เล่นจากต่างประเทศ เช่น Apple, Intel, Canon, Samsung, LG, LEGO และ Airbus ซึ่งกำลังเริ่มร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่นด้านกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

    “การเพิ่มความโปร่งใส การเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และการปฏิรูปกฎระเบียบจะสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และเร่งการเติบโตของภาคส่วนนี้” จาง บุยกล่าว

    แม้จะมีศักยภาพ แต่ตลาดดาต้า เซ็นเตอร์ของเวียดนามก็เผชิญกับความท้าทายที่สำคัญซึ่งต้องได้รับการแก้ไข โดยอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งคือการดูแลให้มีแหล่งจ่ายไฟที่เสถียร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานของดาต้า เซ็นเตอร์ ไฟฟ้าดับเป็นเรื่องปกติเนื่องจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการในระดับสูงสุด รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6.6 กิกะวัตตฺ แต่กระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายปีจึงจะแล้วเสร็จ

    นอกจากนี้ กฎระเบียบทางกฎหมายที่ซับซ้อนและขั้นตอนของระบบราชการยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การขอใบอนุญาตที่จำเป็นในเวียดนามเป็นเรื่องยาก แรงงานที่มีทักษะในการสร้างและดำเนินการศูนย์ข้อมูลยังคงมีจำกัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถในการจัดการโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

    ในปี 2567 ดาต้า เซ็นเตอร์ที่ดำเนินงานในเวียดนามมีความจุ (capacity) 51 เมกะวัตต์ โดยอีก 11 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะมี 28 เมกะวัตต์ ในอนาคต ปัจจุบัน นครโฮจิมินห์คิดเป็น 50% ของความจุของการดำเนินงานของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมในท้องถิ่น

    รายงานระบุว่า ภูมิทัศน์นี้จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะรัฐบาลใช้กฎหมายโทรคมนาคม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการและยกเลิกข้อจำกัดการเป็นเจ้าของผู้ให้บริการข้อมูลของชาวต่างชาติ การยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้คาดว่าจะดึงดูดผู้ให้บริการระหว่างประเทศมากขึ้น

    เมื่อเร็วๆ นี้ ST Telemedia Global Data Centers ได้ประกาศร่วมทุนกับ VNG Corporation ขณะที่ Viettel กำลังทำงานร่วมกับ Singtel เพื่อพัฒนาสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมต่อเวียดนามกับสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ อาลีบาบาของจีนและบริษัท Hyosung Corporation ของเกาหลีใต้แสดงความสนใจในการพัฒนดาต้า เซ็นเตอร์ในโฮจิมินห์ซิตี้

    รัฐบาลเวียดนามได้เปิดตัวโครงการดาตา เซ็นเตอร์แห่งชาติเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในภาครัฐ ในระหว่างการเสวนาพิเศษเรื่องนโยบายที่ World Economic Forum ในเมืองดาวอส เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง กล่าวว่าเวียดนามมีเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568

    ความพยายามเหล่านี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนำร่องและขยายขีดความสามารถของดาต้า เซ็นเตอร์ทั่วประเทศ

    เวียดนามเล็งใช้ภาษีใหม่คุมเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/property/changes-to-law-to-simplify-home-buying-by-overseas-vietnamese-4706626.html
    เวียดนามกำลังพิจารณาใช้ ภาษีใหม่สำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดการกับราคาที่สูงขึ้นและลดการเก็งกำไร หลังจากที่ความคิดริเริ่มก่อนหน้านี้ถูกเลื่อนออกไปท่ามกลางการต่อต้านจากสาธารณะ

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังจัดทำนโยบายเพื่อจำกัดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และยกระดับการกำกับดูแลโครงการก่อสร้าง

    รายงานระบุว่า บางภูมิภาคพบว่าราคาสูงขึ้นเกินความสามารถทางการเงินของผู้อยู่อาศัย จากพฤติกรรมการเก็งกำไรที่บิดเบือนข้อมูลตลาด

    นักพัฒนาบางรายได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำกัด ทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างมาก

    นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงฯเตรียมมาตรการภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมถึงภาษีที่เรียกเก็บจากส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดินและราคาขาย และยังเรียกร้องให้ธนาคารกลางเวียดนาม คุมเข้มสินเชื่อสำหรับนักเก็งกำไรเพื่อป้องกันฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนให้ออกคำสั่งควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้ธนาคารต้องจัดทำรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการติดตามความเสี่ยงที่ดีขึ้น

    นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังระบุใหเจำกัดวงเงินกู้ยืมให้ต่ำกว่า อัตราส่วนการจัดหาเงินที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเพื่อลดการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไร

    ด้านกระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้รับมอบหมายให้บังคับใช้กฎเกณฑ์การประมูลที่ดินอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้นและฉ้อโกงประชาชน

    นายกรัฐมนตรีสั่งให้รายงานเกี่ยวกับโครงการริเริ่มนี้ภายในวันที่ 30 เมษายน

    ราคาประมูลที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในพื้นที่ชานเมืองส่งผลให้การประมูลที่ชนะสูงเกินราคาเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาที่ดีของตลาดอสังหาริมทรัพย์

    หลายภูมิภาคกำลังเผชิญกับความไม่สมดุล โดยมีอุปทานของอาคารพาณิชย์และวิลล่ามากเกินไป ควบคู่ไปกับการขาดแคลนที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง โดยเฉพาะในฮานอยและเมืองโฮจิมินห์

    ในช่วงปลายปี 2567 สมาชิกสมัชชาแห่งชาติของเวียดนามเสนอนโยบายภาษีที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งหรือปล่อยให้อสังหาริมทรัพย์ว่าง ท่ามกลางราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ

    เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการก่อสร้างได้เสนอเก็บภาษีสำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหลายแห่งเพื่อบรรเทาการเก็งกำไร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งมีแผนการศึกษาเพิ่มเติม

    กระทรวงการคลังยังได้เสนอให้เก็บภาษี 0.03% สำหรับบ้านที่มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านด่องเวียดนาม (19,607 เหรียญสหรัฐ) ในร่างกฎหมายภาษีบ้านและที่ดิน 2552 ล่าสุด มีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับกฎหมายภาษีทรัพย์สินฉบับใหม่ โดยเสนอเกณฑ์สองเกณฑ์ คือ บ้านที่มีมูลค่า 700 ล้านด่องหรือบ้านที่มีมูลค่า 1 พันล้านด่อง โดยมีอัตราภาษี 0.3% หรือ 0.4%

    อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้เผชิญกับปฏิกิริยาสาธารณะที่หลากหลาย ซึ่งนำไปสู่การเลื่อนออกไป

    การปฏิรูปภาษีเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบภาษีที่กว้างขึ้นของเวียดนามภายในปี 2573 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้ระมัดระวังเรื่องภาษีที่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการเข้มงวดสินเชื่อสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุปทานที่อยู่อาศัยมีจำกัด

    โดยชี้ว่า “หากอุปทานไม่เพิ่มขึ้น มาตรการดังกล่าวมีแต่จะผลักดันราคาให้สูงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ซื้อเต็มใจที่จะยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่ออุปทานต่ำ และเรียกร้องให้มีมาตรการทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยในระยะยาว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม เพื่อยกระดับภาคสังคมและภาคที่อยู่อาศัยราคาประหยัด ต้องมีกลไกแบบเปิดสำหรับการพัฒนาและนโยบายทางการเงินที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้ซื้อ

    ความพยายามก่อนหน้านี้ เช่น แพ็คเกจเงินกู้ 120 ล้านล้านด่อง ล้มเหลวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงและระยะสั้น

    ดร. กาน วาน ลัก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ BIDV เรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยทันที เพื่อเพิ่มอุปทานและแก้ไขปัญหาของตลาด เช่น การประเมินราคาที่ดินและหนี้เสีย เพื่อให้มั่นใจถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืน

    มาเลเซียขยายแผนคุ้มครองอุบัติเหตุครอบคลุม Gig Workers

    ที่มาภาพ: https://hrmasia.com/malaysia-approves-non-occupational-accident-scheme-expanding-coverage-to-gig-workers/
    มาเลเซียอนุมัติโครงการอุบัติเหตุที่ไม่ใช่จากการทำงาน ให้ขยายความคุ้มครองไปยัง ผู้ที่รับทำงานแบบอิสระทุกกลุ่มวัยทุกอาชีพ หรือ Gig Workers

    โครงการ Non-Occupational Accident Scheme (SKBBK) ที่ได้รับอนุมัติใหม่จะให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันสำหรับคนงาน รวมถึงพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่และนอกสถานที่ โดยครอบคลุมถึงอุบัติเหตุนอกที่ทำงาน

    คณะรัฐมนตรีมาเลเซียได้ให้ความเห็นชอบในหลักการสำหรับโครงการอุบัติเหตุที่ไม่ใช่จากการทำงาน (SKBBK) ของกระทรวงทรัพยากรบุคคล การดำเนินการครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การไม่แบ่งแยก จะขยายความครอบคลุมไปยังผู้ที่ทำงานแบบ Gig Workers และผู้ทำงานอิสระ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของการทำงานในเศรษฐกิจยุคใหม่

    ดาโต๊ะ สรี อับดุล ราะห์มาน โมฮัมหมัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรบุคคล ได้ประกาศโครงการดังกล่าว โดยย้ำถึงบทบาทของโครงการในฐานะกลไกการคุ้มครองทางสังคมที่สำคัญ SKBBK มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่คนงานต้องเผชิญทั้งในระหว่างและนอกเวลาทำงานแบบเดิม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานจากระยะไกล ตารางงานที่ยืดหยุ่น และ Gig Economy หรือการทำงานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ที่กำลังเติบโต

    โครงการนี้บริหารงานโดยสำนักงานประกันสังคม (Social Security Organisation:Socso) ให้ความคุ้มครองคนงานที่มีสิทธิตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันตลอดการจ้างงาน โดยครอบคลุมถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนอกเส้นทางการจ้างงานและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงาน ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุภายในประเทศมาเลเซียนอกเวลาทำงาน เช่น เหตุการณ์การเดินทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

    การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงาน ปีที่แล้วมีรายงานอุบัติเหตุในที่ทำงาน 85,529 ครั้ง ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการป้องกันที่ครอบคลุม

    กระทรวงได้มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักตลอดการจัดทำ SKBBK รวมถึงตัวแทนจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สหพันธ์นายจ้างแห่งมาเลเซีย (Malaysian Employers Federation) สภาผู้ผลิตแห่งมาเลเซีย (Federation of Malaysian Manufacturers) และสภาสหภาพแรงงานมาเลเซีย(Malaysian Trade Union Congress:MTUC) มีการหารือทั่วทุกภูมิภาค รวมถึง กลังวัลเลย์( Klang Valley) รัฐซาบาห์ และซาราวัก และมีเป้าหมายที่จะปรับแต่งกรอบของโครงการนี้ ก่อนที่จะนำเสนออย่างเป็นทางการในรัฐสภาในปลายปีนี้

    การเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองได้รับการตอบรับจากโมฮัมหมัด เอฟเฟนดี อับดุล กานี ประธาน MTUC เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ SKBBK เพื่อปกป้องสิทธิของคนงาน สนับสนุนโครงการที่ครอบคลุมค่าชดเชยการรักษาพยาบาล การทดแทนรายได้ และการสนับสนุนทางการเงิน