การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) summit ที่มีขึ้นในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-18 พฤศจิกายน มีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม ทั้งบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมในฐานะสมาชิกเอเปคด้วย
ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากได้พบปะหารือกับผู้นำประเทศอื่นๆ รวมทั้งผู้นำสหรัฐที่เป็นเจ้าภาพแล้ว ยังเป็นโอกาสในการแถลงข่าว หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ เพื่อแสดงมุมมองในเรื่องต่างๆ ตลอดจนได้พบปะกับหารือกับกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐฯ พร้อมนำเสนอโครงการต่างๆเพื่อชักชวนให้ขยายธุรกิจและการลงทุนมายังประเทศของตนเอง
มาเลเซียน่าจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากกว่าสมาชิกอาเซียนรายอื่น เพราะได้ลงนามในข้อตกลงกับ Google กับ Blackberry ขณะที่ฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงพลังงานนิวเคลียร์กับสหรัฐ และอินโดนีเซียผู้นำสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมกระชับความร่วมมือที่ครอบคลุม
สำหรับรายละเอียดดีลที่ผู้นำแต่ละประเทศนำกลับประเทศ มีอะไรบ้างมาดูกัน
รัฐบาลมาเลเซียและ Google ประกาศความร่วมมือเพื่อยกระดับทักษะ
รัฐบาลมาเลเซียและ Google ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในวันที่ 15 พ.ย. เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตแบบทั่วถึงให้กับชาวมาเลเซียและบริษัทในประเทศภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม ได้เป็นพยานในการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย(Malaysian Investment Development Authority) ดาโต๊ะ วิรา อารัม อับดุล ราห์มาน และประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน รูธ โพรัท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของอัลฟาเบท และกูเกิลในซานฟรานซิสโก
ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย จะช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลผ่านโปรแกรมทักษะ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ (AI) และนโยบายที่เน้นระบบคลาวด์เป็นหลัก กูเกิล ระบุในแถลงการณ์
“ความมุ่งมั่นครั้งนี้ของกูเกิล ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การเร่งสร้างนวัตกรรมในประเทศและการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในด้าน AI จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับกรอบเศรษฐกิจ Madani(Madani Economy Framework) และแผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030 (New Industrial Master Plan 2030-NIMP 2030)” นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าว
Madani Economy Framework ของมาเลเซียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย รวมทั้งดูแลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะ ประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมา นายกรัฐมนตรีอันวาร์กล่าว
กูเกิลกล่าวว่า โครงการริเริ่มล่าสุดพัฒนาขึ้นจากการลงทุนในมาเลเซียในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
เฉพาะในปี 2022 เพียงปีเดียว ผลิตภัณฑ์และโปรแกรมของบริษัทมีส่วนสนับสนุนงานมากกว่า 47,900 ตำแหน่ง และยังมีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจในมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (13.1 พันล้านริงกิตมาเลเซีย)
“ความร่วมมือที่เราประกาศในวันนี้กับรัฐบาลมาเลเซีย คือการทำให้ภารกิจในมาเลเซียของกูเกิล ในการผลักดันความก้าวหน้าของมาเลเซียสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนนวัตกรรมที่ครอบคลุมโอกาสในการทำงานที่มีประโยชน์และเท่าเทียมกันมากขึ้น” รูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของอัลฟาเบท(Alphabet บริษัทแม่กูเกิล) และกูเกิลกล่าว
ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรุล อาซิส ชื่นชมการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องของ กูเกิล ที่มีต่อประชาชนและธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะผ่านโครงการที่บ่มเพาะผู้มีความสามารถที่มีทักษะและช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กของมาเลเซียขยายขนาดในระดับภูมิภาค
“นอกเหนือจากการสนับสนุนภารกิจของ NIMP 2030 ให้สำเร็จแล้ว ความริเริ่มนี้ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกโดยรวมของมาเลเซียในสายตานักลงทุนต่างชาติ กระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรม และหน่วยงานของหน่วยงานอย่าง Malaysian Investment Development Authority (MIDA) จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแผนการลงทุนในมาเลเซียของ กูเกิล”
ความริเริ่มนี้หมายถึงโอกาสด้านทักษะแบบทั่วถึงสำหรับชาวมาเลเซีย 300,000 คนภายในปี 2569
เพื่อให้ชาวมาเลเซียจากทุกภูมิหลังได้รับโอกาสในการฝึกอบรมทางดิจิทัลมากขึ้น Google Cloud, CloudMile และ Trainocate จึงจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้ดิจิทัล 5 โปรแกรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“การเรียนรู้ทักษะนี้สามารถเข้าถึงได้ผ่านโปรแกรม Go Cloud ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะให้กับชาวมาเลเซีย 300,000 คนภายในปี 2569 โปรแกรมการเรียนรู้ประกอบด้วยหลักสูตรออนไลน์เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถนำ AI เชิงสร้างสรรค์ (gen AI) การวิเคราะห์ข้อมูล และเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบนคลาวด์มาใช้ได้ดียิ่งขึ้น”
ผู้เรียนที่สำเร็จโปรแกรมการเรียนรู้ทั้ง 5 โปรแกรมจะได้รับป้ายทักษะดิจิทัลสำหรับนำไปแชร์ในข้อมูลประวัติส่วนบุคคล(resumes )ของตัวเอง และได้รับการขยายเวลาการเข้าถึงโปรแกรมการเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นเวลา 30 วันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
กูเกิลกล่าวว่า โปรแกรมการเรียนรู้พัฒนาขึ้นจาก Gemilang ซึ่งเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมดิจิทัลที่มอบทุนการศึกษา Google Career Certificate จำนวน 31,000 ทุนแก่ผู้ด้อยโอกาสโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรไม่แสวงหากำไร
“โครงการนี้ช่วยให้ชาวมาเลเซียได้รับใบรับรองวิชาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับงานระดับเริ่มต้นในสาขาที่มีความต้องการสูง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การสนับสนุนด้านไอที ตลอดจนอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล”
นอกจากนี้ รัฐบาลและ Google Cloud จะเริ่มดำเนินการริเริ่ม AI Launchpad ร่วมกันเพื่อสร้างงานใหม่ ปรับปรุงการให้บริการสาธารณะ และช่วยให้บริษัทในท้องถิ่นเจาะตลาดโลก
Google จะสนับสนุนรัฐบาลในการปรับนโยบาย Cloud First First Policy ที่มีอยู่ของมาเลเซีย โดยสนับสนุนความเชี่ยวชาญด้านนโยบายและกรอบการทำงานของ AI ที่ปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าล่าสุดในระบบคลาวด์(cloud computing)และ AI
ซึ่งตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการใช้บริการคลาวด์ที่ยืดหยุ่น คุ้มค่า และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เหนือระบบภายในองค์กรที่ต้องใช้เงินทุนสูง ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลกในด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล
Blackberry-รัฐบาลมาเลเซียลงนามข้อตกลงความปลอดภัยทางไซเบอร์
บริษัทแบล็กเบอร์รี่ (BlackBerry Ltd) บริษัทซอฟต์แวร์ของแคนาดาซึ่งเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ลงนามข้อตกลงซอฟต์แวร์และบริการระยะยาวกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อเสริมสร้าง “สถานะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์”(cybersecurity posture) ของประเทศ ที่ซานฟรานซิสโกในวันที่ 17 พ.ย.
โดยฟาห์มี ฟอาดซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัล เป็นประธานในพิธีลงนามระหว่าง ตัน สรี โมฮาหมัด ซาลิม ฟาเตะห์ ดิน ประธานบริหาร คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) และจอห์น กีอาแมททีโอ ประธาน BlackBerry Cybersecurity
แบล็กเบอร์รี่กล่าวว่าข้อตกลงครั้งสำคัญนี้จะช่วยให้รัฐบาลมาเลเซียสามารถใช้ประโยชน์จากโซลูชั่นความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เชื่อถือได้อย่างครบถ้วน และสนับสนุนบูรณภาพของคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซีย (Malaysian Communications and Multimedia Commission-MCMC) ในขณะเดียวกันก็ยกระดับทักษะแรงงานของประเทศด้วยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงและการฝึกอบรม
“ภาครัฐของมาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงซอฟต์แวร์และบริการของแบล็กเบอร์รี่ แบบเรียลไทม์ที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ ที่อยู่ในระบบคลาวด์แบบ sovereign cloud ” บริษัทแบล็คเบอร์รีกล่าวในแถลงการณ์ในวันนี้
Sovereign cloud คือ บริการ Cloud ภายในประเทศที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพสูงอยู่ภายใต้ขอบเขตข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศหรือภูมิภาค นั้นๆ
นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า มาเลเซีย “ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่ามาเลเซียจะเติบโต เจริญรุ่งเรือง และรักษาข้อมูลของประเทศและพลเมืองให้ปลอดภัยต่อไป”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาเลเซียควรเชื้อเชิญการลงทุนจากต่างประเทศที่สามารถขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว และฝึกอบรมบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก
“เรายินดีที่จะร่วมมือกับแบล็กเบอร์รี เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของมาเลเซียในการเป็นตัวอย่างชั้นนำของความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ ด้วยคำมั่นด้าน data sovereignty สำหรับสารสนเทส ข้อมูล และการสื่อสารของรัฐบาลของเรา” นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วย กล่าวในแถลงการณ์เดียวกัน
(Data Sovereignty คือ สิทธิของการเป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง และต้องไม่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาต)
นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด กล่าวว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเสาหลักสำคัญของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของแคนาดา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสันติภาพ ความมั่นคง และความร่วมมือในภูมิภาค
“ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความท้าทายร่วมกันที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ เราสนับสนุน Cybersecurity Center of Excellence ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ของ BlackBerry ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทวิภาคีที่สำคัญของแคนาดา” นายทรูโดกล่าว
จากแถลงการณ์ ข้อตกลงระหว่างมาเลเซียกับแบล็กเบอร์รี ประกอบด้วยโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำของโลกของแบล็กเบอร์รี ที่ขับเคลื่อนโดย Cylance® AI เพื่อคาดการณ์และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์, BlackBerry® SecuSUITE® ที่ได้รับการรับรองจาก NATO สำหรับการสื่อสารที่ปลอดภัย, BlackBerry® UEM (Unified Endpoint Management) เพื่อปกป้องข้อมูลของรัฐบาลในกลุ่มพนักงานที่เคลื่อนที่ และ BlackBerry® AtHoc® ที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ในการจัดการเหตุการณ์สำคัญและการตอบสนองต่อเหตุการณ์
แบล็กเบอร์รีเตรียมจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในกัวลาลัมเปอร์
แบล็กเบอร์รี่ยังประกาศด้วยว่าจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (CCoE) ระดับโลกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในปี 2567 ซึ่งถือเป็น CCoE แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย “เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของมาเลเซียเป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับ CCoE แรกของแบล็กเบอร์รีในภูมิภาค” ในแถลงการณ์ระบุ
โดย CCoE จะให้การฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของมาเลเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ในประเทศที่ยังต้องการอีกถึง 12,000 คน
“รัฐบาลแคนาดายินดีต่อการจัดตั้ง CCoE และวางแผนที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับแบล็กเบอร์รี รัฐบาลมาเลเซีย และ CCoE เพื่อให้ความช่วยเหลือในการสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่ภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของแคนาดา”
CCoE จะส่งเสริมการให้ความรู้และการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เช่นเดียวกับการวิเคราะหเชิงลึก การตรวจจับ วิธีการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์(Cyber Threat Intelligence)และทีมตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ “ทำงานตลอดเวลา” เพื่อช่วยประเทศในการป้องกันกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย และมีเป้าหมายไปที่ธุรกิจ รัฐบาล และโครงสร้างพื้นฐาน
“CCoE ยังจะยกระดับ Threat Intelligence Sharing หรือการแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคามอัจฉริยะ ระหว่างประเทศต่างๆ และขยายเครือข่ายThreat Intelligence ทั่วโลกของแบล็กเบอร์รี”
จอห์น กีอาแมททีโอ ประธานฝ่ายรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของแบล็กเบอร์รีกล่าวว่า CCoE ในมาเลเซียได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของนายกรัฐมนตรีในการเพิ่มบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีทักษะ และวางตำแหน่งมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลาง threat intelligence ที่สำคัญระดับภูมิภาค
ฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงพลังงานนิวเคลียร์
เมื่อวันศุกร์(17 พ.ย.)ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯสามารถส่งออกเทคโนโลยีและวัสดุนิวเคลียร์ไปยังฟิลิปปินส์ได้นายราฟาเอล โลติลลา รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์ และนายแอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงเพื่อความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ(Cooperation Concerning Peaceful Uses of Nuclear Energy)หรือ “ข้อตกลง 123” นอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) 2023 ที่ซานฟรานซิสโก
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุม APEC ในสหรัฐอเมริกา เป็นพยานในการลงนามข้อตกลง ซึ่งฉายภาพว่าเป็น “อีกก้าวสำคัญสู่ฟิลิปปินส์ที่มีความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นสีเขียวมากขึ้น”
ประธานาธิบดีมองว่า การลงนามข้อตกลงดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยให้ประเทศสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น และมอบ “สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับนักลงทุนและผู้บริโภคมากขึ้น”
“เรามองว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงานของฟิลิปปินส์ภายในปี 2575 และเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่อยู่บนเส้นทางนี้โดยมีสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของเรา” ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าว
การลงนามข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ “ความร่วมมือของเราในการสร้างขีดความสามารถก้าวไกลขึ้น และเป็นการเปิดประตูให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนและมีส่วนร่วมในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ” นายมาร์กอสกล่าว
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นพื้นฐานทางกฎหมายในการอนุญาตให้บริษัทอเมริกันส่งออกเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เครื่องปฏิกรณ์ อุปกรณ์ และวัสดุนิวเคลียร์เฉพาะทาง อื่นๆ
ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรา 123 ของพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูของสหรัฐอเมริกา( US Atomic Energy Act) ซึ่ง “โดยทั่วไปจะต้องมีการสรุปข้อตกลงความร่วมมือทางนิวเคลียร์อย่างสันติสำหรับการถ่ายโอนวัสดุหรืออุปกรณ์นิวเคลียร์ที่สำคัญจากสหรัฐอเมริกา”
สหรัฐฯ มีข้อตกลงนิวเคลียร์พลเรือน 23 ฉบับกับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซีย จีน แคนาดา เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ไต้หวัน ตุรกี ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม
นอกเหนือจากข้อตกลง 123 แล้ว นายมาร์กอสยังกล่าวอีกว่า Meralco และ Ultra Safe Nuclear Corp. ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับเตาปฏิกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Micro-Modular Reactors-MMRs) เพื่อสำรวจทางเลือกพลังงานสะอาดและยั่งยืนในประเทศ
การศึกษาความเป็นไปได้จะติดตามการติดตั้ง MMR ไปยังไซต์งาน Meralco เพื่อผลักดันวาระด้านพลังงานที่ยั่งยืน และจัดให้มีการเข้าถึงพลังงานในราคาที่จ่ายได้และเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ด้อยโอกาสและนอกโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ
ภายใต้แผนพลังงานของฟิลิปปินส์ รัฐบาลกำลังมองหาที่จะเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์ 1,200 เมกะวัตต์ (MW) ไว้ในแหล่งพลังงานภายในปี 2575 เป็น 2,400 เมกะวัตต์ภายในปี 2583 และเพิ่มเป็น 4,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2593
นายโลติลลากล่าวว่า “นอกเหนือจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ข้อตกลงใหม่ยังอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือในการใช้พลังงานปรมาณูอย่างสันติอื่นๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตปศุสัตว์ การควบคุมแมลงศัตรูพืช การจัดการดินและพืชผล ประสิทธิภาพการใช้น้ำ การกำจัดขยะพลาสติก ความปลอดภัยของอาหาร สุขภาพ และยารักษาโรค”
นอกจากนี้ในระหว่างการบรรยายสรุปเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกรอบการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในซานฟรานซิสโก รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมนายไฆเม่ เบาติสตา ได้นำเสนอโครงการการขนส่งโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม แก่นักลงทุนชาวอเมริกัน โดยชี้ว่าโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ จะเขย่าภาคการขนส่ง และยกระดับการเชื่อมต่อและการเคลื่อนย้ายของฟิลิปปินส์
“โครงการขนส่งของเราเน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลของเราในการผลักดันวาระโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่ต้องการให้เรายกระดับการเคลื่อนย้ายและการเชื่อมต่อ” นายเบาติสตากล่าวและว่า โครงการขนส่ง 11 โครงการได้รับการอนุมัติเมื่อเร็วๆ นี้ มีมูลค่ารวมประมาณ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่ง 8 โครงการได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในขณะที่ส่วนที่เหลือใช้เงินผ่านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(public-private partnerships)
ส่วนแผนสำหรับแพ็คเกจสัญญาที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างน้อย 29 แพคเกจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กำลังอยู่ในขั้นตอนสรุป
นายเบาติสตายังกล่าวถึงการแปรรูปสนามบินนานาชาตินินอย อากีโน (NAIA) การก่อสร้างสนามบินนานาชาตินิวมะนิลา และการปรับปรุงสนามบินภูมิภาค อื่นๆ อีก 11 แห่งให้ทันสมัย ว่าเป็นการพัฒนาที่สำคัญในภาคการบินของประเทศ
นายเบาติสตายังพูดถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ MRT-4, MRT-10, MRT-11, LRT-6 และโครงการรถไฟมินดาเนาสองเฟส และให้ความมั่นใจว่าหน่วยงานกำลังปรับปรุงการขนส่งทางบกของประเทศผ่านโครงการปรับปรุงยานพาหนะสาธารณูปโภคให้ทันสมัย (Public Utility Vehicle Modernization Program-PUVMP) และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเซบูและดาเวา (BRTs) ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการขนส่งเชิงรุกด้วยการสร้างเลนจักรยานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้นำอินโดนีเซีย-สหรัฐแถลงการณ์ร่วมยกระดับความร่วมมือ
ด้านอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโกวีเชิญชวนนักธุรกิจเอเปคลงทุนในอินโดนีเซียประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือโจโกวี เชิญนักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้คว้าโอกาสการลงทุนในอินโดนีเซียในเชิงรุกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยบอกว่า “นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนในอินโดนีเซีย และผมหวังว่าพวกคุณจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในเชิงรุกและรวดเร็วยิ่งขึ้น” Jokowi กล่าวในการประชุมสุดยอดเมื่อวันพฤหัสบดี(16 พ.ย.)
ระธานาธิบดีโจโกวีระบุว่า อินโดนีเซียเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมและมีอนาคตสำหรับนักลงทุนในการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคาดว่าจะเติบโตได้ดีและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก
“IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโตสูงถึง 5% ในปี 2566 และในปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 5.1%”
นอกเหนือจากการมีศักยภาพมหาศาล ตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติไปจนถึงทรัพยากรมนุษย์แล้ว ประธานาธิบดีโจโกวี ยังกล่าวอีกว่าอินโดนีเซียยังมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยและมีการแข่งขัน อินโดนีเซียมีภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญหลายด้านที่สามารถเป็นโอกาสในการลงทุนได้ เช่น อุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยอินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังสร้างระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 600,000 คันในปี 2573
อีกภาคส่วนที่มีความสำคัญอันดับแรกสำหรับอินโดนีเซียคือการเปลี่ยนผ้่านด้านพลังงาน ประธานาธิบดีชี้ว่าปัจจุบัน อินโดนีเซียมีศักยภาพด้านพลังงานใหม่และหมุนเวียนได้ 3,600 กิกะวัตต์ และกำลังสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่ครอบคลุมพื้นที่ 30,000 เฮกตาร์
อีกด้านหนึ่งที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การพัฒนาเมืองหลวงใหม่นูซันทาราให้สอดคล้องกับแนวคิดเมืองอัจฉริยะที่อิงจากป่าและธรรมชาติและยังมีศักยภาพในการลงทุนที่เปิดกว้างในหลายภาคส่วน
“(นูซานตรามี) พื้นที่สีเขียว 70% การขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสีเขียว 80% ซึ่งเปิดในภาคส่วนต่างๆ โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง เทคโนโลยี การศึกษา พลังงาน การเงิน การท่องเที่ยว สุขภาพ และที่อยู่อาศัย”
ในการประชุมสุดยอดเมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีโจโควีเดินทางร่วมกับรัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ซุลกิฟลี ฮาซัน และหัวหน้าหน่วยงานเมืองหลวงนูซันตารา บัมบัง ซูซานโตโน
นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอินโดนีเซียได้เผยแพร่ แถลงการณ์ร่วมจากผู้นำสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เรื่องการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม(Comprehensive Strategic Partnership)
แถลงการณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์วันที่ 13 พฤศจิกายน ระบุถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐและอินโดนีเซียครอบคลุม 6 ด้านประกอบด้วย
ในวันเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ได้เผยแพร่ Media Note บนเว็บไซต์ เรื่อง New Partnership with Indonesia to Explore Semiconductor Supply Chain Opportunities หรือความร่วมมือครั้งใหม่กับอินโดนีเซียเพื่อสำรวจโอกาสในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการสำรวจโอกาสในการเติบโตและกระจายระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ภายใต้กองทุนความปลอดภัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ (International Technology Security and Innovation-ITSI) ซึ่งก่อตั้งโดย CHIPS Act of 2022 ความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกที่มีความยืดหยุ่น ที่ปลอดภัยและยั่งยืน
สหรัฐอเมริกามองว่าอินโดนีเซียเป็นพันธมิตรในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ยานพาหนะไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ความร่วมมือนี้ตอกย้ำถึงศักยภาพที่สำคัญในการขยายอุตสาหกรรมนี้ในอินโดนีเซียเพื่อประโยชน์ของทั้งสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย
ความร่วมมือนี้จะเริ่มต้นด้วยการทบทวนระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบันของอินโดนีเซีย กรอบการกำกับดูแล และความต้องการด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐาน ผลลัพธ์ของการทบทวนนี้จะเป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงความร่วมมือในอนาคตในการพัฒนาภาคส่วนที่สำคัญนี้
ในเดือนสิงหาคม 2022 ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามใน CHIPS Act of 2022 ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่จัดสรรเงินทุนใหม่เพื่อส่งเสริมการผลิตและการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา CHIPS Act of 2022 ได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุน ITSI ซึ่งมอบเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (100 ล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วง 5 ปี เริ่มในปีงบประมาณ 2023 แก่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2023) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการนำเครือข่ายโทรคมนาคมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้มาใช้ และดูแลความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ และการกระจายความเสี่ยงผ่านโครงการและความริเริ่มใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรและพันธมิตร
นายกรัฐมนตรี และผู้บริหาร AWS จับมือร่วมกันพัฒนา digital transformation
สำหรับประเทศไทย วันที่ 14 พ.ย. Amazon Web Services นำโดย นาย Michael Punke, Global Vice President, Public Policy ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกรัฐมนตรี และผู้บริหาร AWS จับมือร่วมกันพัฒนา digital transformation เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับโลก
AWS ชื่นชมนายกรัฐมนตรีในการผลักดันการเติบโตของประเทศไทยผ่านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม AWS เดินหน้าให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในทันที เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัล และ innovation hub ผ่านการมาลงทุนของเทคโนโลยีคลาวนด์ (AI, ML, data analytics, IoT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่สำคัญ และรากฐานในการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ของคนรุ่นต่อไป
นายกรัฐมนตรีขอบคุณและให้การสนับสนุน AWS ที่เป็น hyperscale data center ระดับโลกเจ้าแรกที่กำลังลงทุนก่อสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (US$5 พันล้านบาท) ในระยะเวลากว่า 15 ปี
นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าการลงทุนของ AWS จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะยาว เพิ่มความปลอดภัย และปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ และช่วยสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน
นายกรัฐมนตรีจะให้ความร่วมมือกับ AWS อย่างต่อเนื่องในการมาลงทุนครั้งนี้ ทั้งในการสนับสนุนให้เกิดการใช้คลาวน์ให้ครบทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพการพัฒนาบริการทางดิจิทัลให้แก่ประชาชนทั้งของรัฐและเอกชน อาทิ การเงิน อุตสาหกรรมการผลิต สาธารณสุข การค้าปลีก และ SMEs, การสร้างรัฐบาลดิจิทัลของทุกหน่วยงานให้เป็นรูปธรรมด้วยนโยบาย Cloud First Policy, การผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับความเป็นผู้นำระดับโลก ในการก่อตั้งคำปฏิญาณ Climate Pledge ของ AWS ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025 รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะเรื่องคลาวน์เทียบเท่ามาตรฐานโลกและได้รับการจ้างงานหลังจบหลักสูตรทันทีผ่านโครงการ AWS re/Start และอื่นๆ เป็นต้น
ต่อมา วันที่ 16 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กร U.S.-APEC Business Coalition ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรประกอบด้วย U.S.-ASEAN Business Council, U.S. Chamber of Commerce และ NC-APEC
ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้บริหารอาวุโสเกือบ 50 รายจากบริษัทในสหรัฐฯ อาทิ Boeing, Amazon, FedEx, Pfizer, Visa, Citi, Airbnb, Delta Airlines โดยได้ย้ำชัดเจนว่าประเทศไทยเปิดกว้างต่อภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมความโปร่งใสและความสะดวกในการทำธุรกิจ รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพร้อมอำนวยความสะดวกการลงทุนให้กับภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย