ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 มกราคม 2568
เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2568 โต 8-10%

หลังจากบรรลุการเติบโตในอัตรา 7.09% ในปีที่แล้ว ประเทศต้องมองว่าปี 2568 เป็นปีสำคัญในการสิ้นสุดช่วงปี 2563-2568 ด้วยความสำเร็จอย่างสูง และวางรากฐานสำหรับการเติบโตด้วยเลขสองหลักในปีต่อ ๆ ไป รองนายกรัฐมนตรี เหงียน ฮวา บินห์ กล่าวในระหว่างการประชุมของรัฐบาลเมื่อวันพุธ(8 มกราคม 2568)
เป้าหมายการเติบโต 8-10% ถือว่าสูง เนื่องจากรัฐสภามอบเป้าหมายอัตราการขยายตัวสูงสุดที่ 7% เท่านั้นให้กับรัฐบาล
องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งได้คาดการณ์ว่าเวียดนามในปีนี้จะเติบโตปานกลาง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund:IF) คงประมาณการไว้ที่ 6.1% ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชียคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.6%
นายโต เลิ่ม เลขาธิการพรรคกล่าวว่า ต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุการเติบโตขั้นต่ำ 8% และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน จัดลำดับความสำคัญของหลักการตลาดในการระดมและการจัดสรรทรัพยากร และขจัดกลไกของระบบราชการ
“ความเข้มแข็งของประชาชนและภาคเศรษฐกิจทั้งหมดจะต้องมาจากการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีพลวัตและต้นทุนต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” นายโต เลิ่ม กล่าว พร้อมเสริมว่า มาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและการสร้างความมั่งคั่ง
รัฐบาลต้องปกป้องสิทธิในทรัพย์สินตามกฎหมาย ส่งเสริมเสรีภาพทางธุรกิจ และส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุน เหงียน จิ ยวุง กล่าวว่าในปีต่อๆ ไป เวียดนามต้องบรรลุอัตราการเติบโตต่อปีมากกว่า 10% เพื่อให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 โดยช่วงปี 2568-2573 ถือเป็นช่วงสำคัญในการวางรากฐานสำหรับเป้าหมายนี้
เวียดนามยังไม่บรรลุการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10% เป็นเวลานานกว่าทศวรรษ และนักวิเคราะห์กล่าวว่า การรักษาอัตราการเติบโตที่ยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่เป้าหมายที่มีรายได้สูง
ในปีนี้ นครโฮจิมินห์ตั้งเป้าอัตราการเติบโตอย่างน้อย 10% ในขณะที่ฮานอยต้องการการเติบโตที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นาย ฟาน วัน มาย ประธานคณะกรรมการเมืองนครโฮจิมินห์ ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้มีนโยบายใหม่ในการระดมทรัพยากรจากเขตเศรษฐกิจหลัก 2 แห่ง ได้แก่ ภูมิภาคแม่น้ำแดงทางตอนเหนือ และภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ เนื่องจากภูมิภาคเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมมากกว่า 50% ของ GDP ของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายที่ดี
นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์จิ๋ง เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการกระจายอำนาจ การจัดสรรทรัพยากร และการลดความล่าช้าของระบบราชการ และย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการบรรลุแผนปี 2568 ภายใต้หลักการของวินัย ความรับผิดชอบ ประสิทธิภาพ และการดำเนินการที่ก้าวหน้า
ในปีนี้ รัฐบาลคาดการณ์เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.5% การเติบโตของสินเชื่อเกิน 15% และรายรับงบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% สูงกว่าปี 2567 ส่วนการใช้จ่ายจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายประจำให้เหลือน้อยที่สุด
รองนายกรัฐมนตรี บินห์ กล่าวว่า ความสำคัญหลักอันดับต้นๆคือการปฏิรูปสถาบัน ปรับปรุงธรรมาภิบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดการเงิน สตาร์ทอัพ อสังหาริมทรัพย์ และนวัตกรรม นโยบายพิเศษและโครงการนำร่องจะได้รับการประเมินเพื่อให้สามารถบูรณาการเข้ากับกฎหมายของประเทศได้
ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน รัฐบาลตั้งเป้าที่จะจัดการกับความท้าทายในตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และพันธบัตรองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการส่งเสริมการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่วางไว้สูงของเวียดนามขึ้นอยู่กับการปฏิรูปที่เข้มข้น การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ และความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น หากบรรลุผล มาตรการเหล่านี้อาจทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจได้ภายในกลางศตวรรษ
เวียดนาม-ลาว เปิดตัวบริการชำระเงินผ่าน QR ข้ามพรมแดน

เวียดนามและลาวเปิดตัว บริการชำระเงินผ่าน QR ข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ ในพิธีที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 โดยมีนายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงห์จิ๋ง เวียดนาม และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ซึ่งเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเวียดนาม-ลาว ครั้งที่ 47 เข้าร่วม
การเปิดตัวบริการดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ธุรกิจ และระบบธนาคารพาณิชย์ของเวียดนามและลาว
บริการนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและขยายแนวโน้มความร่วมมือทางการเงินและการธนาคารภายในอาเซียน
เวียดนามและลาวมีพรมแดนร่วมกันยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ผ่านเขตการปกครองของ 10 จังหวัดและเมืองแต่ละฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนี้มีด่านชายแดนระหว่างประเทศ 9 แห่ง เป็นด่านชายแดนหลัก 6 ด่าน ด่านชายแดนเสริม 18 ด่าน จุดผ่านแดน 27 จุด และเขตเศรษฐกิจชายแดน 9 แห่งตามแนวเขตแดน
มูลค่าการค้าทวิภาคีในปี 2567 คาดว่าจะสูงถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 34% เมื่อเทียบกับปี 2566
ณ เดือนธันวาคม 2567 มีโครงการของเวียดนามในลาวจำนวน 417 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการอนุมัติรวมกว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่เวียดนามลงทุนทั้งหมดมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สิงคโปร์ครองแชมป์นวัตกรรมโลก

สิงคโปร์แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นสู่อันดับสูงสุดใน Global Innovation Scorecardล่าสุด ซึ่งจัดอันดับ 74 ประเทศและสหภาพยุโรปในทุกๆ 2 ปี โดย Consumer Technology Association (CTA) หน่วยงานการค้าของสหรัฐฯ ที่จัดทำดัชนีชี้วัดมาตั้งแต่ปี 2562
สิงคโปร์ได้รับคะแนนรวมสูงสุดจาก 25 ประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นแชมป์นวัตกรรมระดับโลก(Global Innovation Champions)โดยเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 15 ในปี 2566
ประเทศที่มีนวัตกรรมติดอันดับ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์
สิงคโปร์ได้รับรางวัล Global Innovation Champion เมื่อวันที่ 9 มกราคม ในงาน Consumer Electronics Show(CES) ซึ่งเป็นงานเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีบริษัทต่างๆ จัดแสดงผลิตภัณฑ์และต้นแบบใหม่ล่าสุดในลาสเวกัส และจบไปแล้วในวันที่ 10 มกราคม
CTA กล่าวว่า การให้คะแนนจะวัดประเทศต่างๆ บนพื้นฐานของความเป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ และโครงสร้างประชากร เพื่อพิจารณาว่าประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ดีเพียงใดในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยฉบับล่าสุดประเมินประเทศต่างๆ ด้วยตัวชี้วัดที่หลากหลายมากกว่าเดิม
การให้คะแนนปี 2566 จะมีตัวชี้วัด 40 ตัว แต่ล่าสุดมี 56 ตัว ซึ่งประกอบด้วยแหล่งข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การการค้าโลก(World Trade Organisation) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(World Intellectual Property Organisation) และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(United Nations Conference on Trade and Development)

สิงคโปร์ได้รับคะแนนสูงสุดใน 4 ประเภทจาก 16 หมวดหมู่ ได้แก่ ความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความโปร่งใสของข้อมูล ลักษณะเชิงนวัตกรรมของสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย ความเป็นมิตรต่อสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดเล็ก และนโยบายภาษีสำหรับบริษัทต่างๆ
สิงคโปร์ยังทำคะแนนได้ดีในประเภทอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ การเปิดกว้างต่อการดูแลสุขภาพทางไกลและกระแสข้อมูลข้ามพรมแดน และความเร็วบรอดแบนด์
นายแกรี ชาปิโร ผู้บริหารระดับสูงของ CTA กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดประเมินว่าประเทศต่างๆ มีเงื่อนไขที่กระตุ้นให้นักสร้างสรรค์ของประเทศคิดค้นอนาคตที่ดีขึ้นหรือไม่
“นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่การประเมินการลงทุนในภาคส่วนที่ทันสมัยหรือกฎระเบียบที่หยุมหยิมสำหรับสตาร์ทอัพ แต่ยังยอมรับประเทศที่รับรองเสรีภาพในการพูด สร้างโอกาสในการมีความหลากหลายของแรงงานและเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คน” ชาปีโรกล่าว
สิงคโปร์-มาเลเซียลงนามตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (Johor-Singapore Special Economic Zone:JS-SEZ) แห่งใหม่ในมาเลเซีย คาดว่าจะสร้างงานให้กับแรงงานที่มีฝีมือของทั้งสองประเทศได้ถึง 20,000 ตำแหน่ง
เขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับธุรกิจและการลงทุน ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ และเปงเงรัง(Pengerang) ยังมีเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายโครงการ 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรก และมียอดรวม 100 โครงการใน 10 ปีแรก
ข้อตกลงดังกล่าวจะยกระดับการไหลเวียนของสินค้าและช่วยให้ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระระหว่างสิงคโปร์และยะโฮร์ นอกจากนี้ยังจะเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายในภูมิภาคอีกด้วย
ในปี 2566 มาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของสิงคโปร์ โดยมีการค้าทวิภาคีรวมมูลค่า 123.6 พันล้านดอลลาร์ ในทางกลับกัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของมาเลเซีย
สิงคโปร์ยังเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียในปี 2566 โดยมีมูลค่า 43.7 พันล้านริงกิต (13.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) หรือ 23.2% ของ FDI ทั้งหมดของมาเลเซีย
ยะโฮร์เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญสำหรับบริษัทในสิงคโปร์ โดยมียอด FDI ถึง 31 พันล้านริงกิตในปี 2566 โดยมีสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ลงทุนหลักของภาคการผลิต
สิงคโปร์และมาเลเซียจะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุนใน 11 ภาคเศรษฐกิจจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ได้แก่ การผลิต โลจิสติกส์ ความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว พลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว บริการทางการเงิน บริการทางธุรกิจ การศึกษา และสุขภาพ นอกจากนี้ยังจะมีความร่วมมือในโครงการเร่งการซื้อขายพลังงานทดแทนระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์
เพื่อให้คนและสินค้าเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก มาเลเซียจะปรับปรุงใบอนุญาตทำงานที่มีอยู่ เช่น DE Rantau Nomad Pass สำหรับคนทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ หรือ Digital Nomad จากต่างประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และจะมีการยกระดับการเชื่อมโยงการขนส่งในท้องถิ่นในสิงคโปร์และมาเลเซีย
เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถมาทำงานใน JS-SEZ จะปรับปรุงโปรแกรมการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาที่พร้อมสำหรับอุตสาหกรรม
มาเลเซียจะจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกการลงทุนมาเลเซีย – ยะโฮร์(Invest Malaysia Facilitation Centre – Johor) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางครบวงจรในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและธุรกิจใน JS-SEZ
ทั้งสองประเทศจะพิจารณาเพิ่มการเข้าถึงตลาดของสถาบันการเงินด้วย และะทำงานเพื่อฟื้นฟูคณะกรรมการร่วมสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาเลเซีย(Joint Ministerial Committee for Iskandar Malaysia) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายและการดำเนินการของ JS-SEZ นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมจะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านอื่นๆ เช่น การขนส่งและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ได้มีการดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆระยะเริ่มแรกแล้วโดยอิงจากการตอบสนองทางธุรกิจ รวมถึงการใช้ QR สำหรับการผ่านแดนโดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางที่จุดตรวจของสิงคโปร์กับมาเลเซียตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567
การจัดตั้ง JS-SEZ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2566 ระหว่างการเยือนสิงคโปร์ของนายอันวาร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำครั้งที่ 10 โดยสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อเดือนมกราคม 2567 โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปี
ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐมนตรีเศรษฐกิจมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี กล่าวว่า คาดว่าจะลงนามในสรุปข้อตกลงเดือนกันยายน แต่ไม่มีการลงนาม เนื่องจากยังมีการเจรจาในประเด็นที่ติดขัดหลายข้อ
นอกจากข้อตกลงเกี่ยวกับ JS-SEZ แล้ว ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับในการประชุมผู้นำเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การศึกษาระดับอุดมศึกษาและการพัฒนาเมือง
มาเลเซียเปิดมาตรการภาษีจูงใจบริษัทและพนักงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

ในแถลงการณ์ร่วม กระทรวงการคลังของมาเลเซียและรัฐบาลของรัฐยะโฮร์กล่าวว่า จะเก็บภาษีในอัตราพิเศษ 5% เป็นเวลา 15 ปีสำหรับบริษัทที่ลงทุนในกิจกรรมการผลิตและบริการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น บริษัทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานด้านปัญญาประดิษฐ์(AI) และคอมพิวเตอร์ควอนตัม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุตสากรรมการบินและอวกาศ
นอกจากนี้ แรงงานที่มีความรู้ซึ่งทำงานอยู่ใน JS-SEZ และมีคุณสมบัติเหมาะสมจะจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราภาษี 15% เป็นเวลา 10 ปี
มาตรการจูงใจทางภาษีเหล่านี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 และรัฐบาลของรัฐยะโฮร์ยังได้ลดหย่อนภาษีด้านความบันเทิงในวันที่ 1 มกราคมด้วย
JS-SEZ กินพื้นที่ 3,571 ตารางกิโลเมตรทั่วยะโฮร์ตอนใต้ จากชายฝั่งตะวันออกไปตะวันตก
พื้นที่นี้ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ประมาณ 4 เท่า จะประกอบด้วยโซนหลัก 9 โซนที่รองรับภาคเศรษฐกิจต่างๆ
“จากฐานความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ สิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับ JS-SEZ จะช่วยเร่งดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพในภาคส่วนสำคัญๆ และส่งเสริมการสร้างงานที่มีรายได้สูงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและการทำงานร่วมกันระหว่างยะโฮร์และสิงคโปร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเลเซีย อิล อีเมียร์ ฮัมซาห์ อาซิซานกล่าวในแถลงการณ์
มาตรการจูงใจทางภาษีจัดทำมาเพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของยะโฮร์ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะต้อนรับธุรกิจทั่วโลกให้สำรวจโอกาสมากมายที่มาเลเซียมีให้ กระทรวงฯระบุ
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การลดหย่อนภาษีสำหรับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นของจีน และเขตปลอดอากรเจเบล อาลีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือว่าดีกว่า เพราะมีอัตราภาษีนิติบุคคล 0%
อย่างไรก็ตาม ก็ตระหนักดีว่า การไม่ใช่อัตราภาษีนิติบุคคล 0% นั้นสอดคล้องกับพัฒนาการด้านภาษีระหว่างประเทศล่าสุด สิทธิประโยชน์จูงใจของ JS-SEZ จึงถือว่าแข่งขันได้ เนื่องจากเขตเศรษฐกิจบางแห่ง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนและรัฐคุชราตบนชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ไม่มีอัตราภาษีพิเศษสำหรับบุคคลทั่วไป
“อัตราภาษีส่วนบุคคลที่แข่งขันได้สามารถทำให้ JS-SEZ น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะซึ่งอาจพิจารณาย้ายไปยังศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกอื่น ๆ นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วประเทศอื่นๆ จะไม่กำหนดอัตราภาษีพิเศษสำหรับบุคคลธรรมดา” สตีฟ เจีย ผู้บริหารด้านภาษีของ PwC Malaysia กล่าว
ความท้าทายในการหาบุคลากรที่มีทักษะในภาคส่วนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และโลจิสติกส์ กำลังกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าว
และ JS-SEZ อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในภูมิภาคในการดึงดูดและรักษาแรงงานที่มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีมูลค่าสูงที่ต้องการดึงดูด ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าว
แต่มาตรการจูงใจทางภาษีเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ราบรื่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การมีพื้นที่สำนักงานรองรับ ที่ดิน ผู้มีความสามารถ และการอนุมัติจากรัฐบาลอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ดร. Veerinderjeet Singh ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายภาษีของ KPMG มาเลเซีย ให้ความเห็น
“ความท้าทายยังอยู่ที่การทำการตลาด JS-SEZ ไปยังกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องนั้นพร้อมสำหรับธุรกิจ ในการจัดตั้งการดำเนินการสำหรับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การผลิตด้านการบินและอวกาศ (หรือที่จะเป็น) ศูนย์กลางบริการระดับโลก”
อินโดนีเซียตั้งเป้าส่งออกแรงงานข้ามชาติ 425,000 คนในปี 2568

“เราตั้งเป้าส่งแรงงานไปต่างประเทศอย่างน้อย 425,000 คน โดยประธานาธิบดีจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” นายอับดุล กาดีร์ คาร์ดิง รัฐมนตรีกระทรวงคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ กล่าวเมื่อวันจันทร์
โครงการริเริ่มนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้ 0.52% และจะสร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศเกินกว่า 300 ล้านล้านรูเปียะฮ์
จากข้อมูลของกระทรวง แรงงานข้ามชาติ 297,000 คนในปี 2567 สร้างรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ 251 ล้านล้านรูเปียะฮ์ และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.36%
โครงการดังกล่าวยังช่วยลดอัตราการว่างงานลง 3.98% โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้ว่างงาน 7.47 ล้านคน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีชี้ว่าตัวเลขในปี 2567 ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงาน 1.35 ล้านคนในตลาดแรงงานทั่วโลก
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เพิ่มเป้าหมายสำหรับปี 2568 และมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มโอกาสในการทำงานในต่างประเทศให้สูงสุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จึงมีการเตรียมมาตรการเชิงยุทธศาสตร์หลายด้าน รวมถึงการพัฒนาทักษะทางภาษาของแรงงานข้ามชาติ ภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญเป็นภาษาที่สองที่สอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
“เราเสนอเรื่องภาษาอังกฤษด้วยความหวังว่าเมื่อนักเรียนเรียนจบมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย พวกเขาจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง ซึ่งจะทำให้แรงงานของเรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานจากฟิลิปปินส์” นายคาร์ดิงกล่าว
กัมพูชาเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ในสีหนุวิลล์

งานเปิดตัวครั้งใหญ่จัดขึ้นโดยมี นายไสย สมาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้างเป็นประธาน และมั เจีย วุฒธิ เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาแห่งสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา พร้อมด้วยตัวแทนจากธุรกิจระดับชาติและนานาชาติเข้าร่วม
เจีย วุฒธิ สนับสนุนโครงการใหม่ผ่านมุมมองเชิงบวกต่อ ISI SEZ ที่สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาในการพัฒนาสีหนุวิลล์และเศรษฐกิจของกัมพูชา และย้ำถึงความสำคัญของสีหนุวิลล์ในฐานะเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศที่เต็มไปด้วยศักยภาพ และรัฐบาลก็ถือว่าภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชา
“ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ISI GROUP มั่นใจในการผลักดันโครงการไปข้างหน้า การสนับสนุนนี้ไม่เพียงแต่สร้างกรอบการกำกับดูแลที่จำเป็นสำหรับความร่วมมือใหม่ๆ แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
ในระยะแรกของแผนธุรกิจ ISI SEZ จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 206 เฮกตาร์ โดยมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรวมกว่า 50 ล้านดอลลาร์
กัง เล่ง ประธาน ISI GROUP กล่าวว่า หลังจากความสำเร็จของ ISI PARK Veng Sreng และ ISI PARK National Road 2 นั้น ISI GROUP ได้ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับภูมิทัศน์อุตสาหกรรมของกัมพูชาด้วยการพัฒนา ISI SEZ
“ISI SEZ พยายามที่จะต่อยอดความสำเร็จเหล่านี้ด้วยการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงและแนวทางปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน เป้าหมายของเราคือการคิดค้นนวัตกรรมและเป็นผู้นำในภาคส่วนนี้ต่อไป โดยสร้างระบบนิเวศที่มีชีวิต ซึ่งธุรกิจสามารถเติบโตได้ และชุมชนสามารถเจริญรุ่งเรืองได้”
ปัจจุบัน มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 28 แห่งจากทั้งหมด 52 แห่งที่จดทะเบียนและยังดำเนินกิจการอยู่ โดยมีโรงงาน 835 แห่ง สร้างงานประมาณ 200,000 ตำแหน่ง
การส่งออกของกัมพูชาผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษมีมูลค่าถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 ตามรายงานจากกระทรวงพาณิชย์