ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อผมสวมหมวก “นักประชาธิปไตย” ไปประชุม “WLFD” ที่ไต้หวัน (1)

เมื่อผมสวมหมวก “นักประชาธิปไตย” ไปประชุม “WLFD” ที่ไต้หวัน (1)

24 ธันวาคม 2024


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ต้นเดือนตุลาคม2567 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก “World League for Freedom and Democracy (WLFD)” หรือ “สันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย” ให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปเข้าร่วมประชุมประจำปี 2024 ที่จัดขึ้น ณ กรุงไทเป ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

แม้ว่าผมจะถูกคำสั่ง คสช.ให้สิ้นสุดวาระการเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2557 และห่างหายจากการแวดวง “การเมือง” มานาน แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมานานกว่า 10 ปี World League for Freedom and Democracy (WLFD) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไต้หวัน ก็ยังให้เกียรติเชิญผมไปเข้าร่วมประชุมประจำปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการติดต่อกันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2554 (สมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า องค์กร WLFD หรือ “สันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย” คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดจึงต้องเชิญตัวแทนจากประเทศไทยไปเข้าร่วมประชุม

ผมขอสารภาพเหมือนกันครับว่า ครั้งแรกที่ผมได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วมประชุม ในปี 2554 ผมก็ งง ครับ เพราะผมเองก็ไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่รู้จักหรือมีความรู้เกี่ยวกับองค์กรนี้มาก่อน ที่ทำให้ยิ่ง งง มากขึ้นไปอีก คือ ทำไม WLFD จึงเลือกเชิญผมไปเข้าร่วมประชุม เพราะผมเองก็เพิ่งก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังกังวลด้วยว่า ภายใต้นโยบายจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยจึงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต (อย่างเป็นทางการ) กับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) การที่สมาชิกรัฐสภาเดินทางไปร่วมประชุมที่ไต้หวันจะเป็นปัญหาหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจตอบรับคำเชิญ ผมจึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้ และพบว่าน่าสนใจครับ

ดังนั้น ก่อนที่จะไปติดตามการเดินทางของผมในครั้งนี้ ผมจึงอยากจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก WLFD กันก่อน ครับ

1.รู้จัก World League for Freedom and Democracy

World League for Freedom and Democracy : WLFD หรือ “สันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย” เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ณ ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ภายใต้การริเริ่มของประธานาธิบดี เจียง ไค เชค (Chiang Kai-shek) แห่งสาธารณรัฐจีน ประธานาธิบดีเอลปิดิโอ ริเวรา กีนิโน (Elpidio Rivera Quirino) แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และประธานาธิบดีอี ซึง มัน (Syngman Rhee) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ “นักการเมืองและกลุ่มบุคคล “ขวาจัด” ที่นิยมในเสรีประชาธิปไตย และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์” โดยใช้ชื่อว่า “The World Anti-Communist League : WACL” หรือ “สันนิบาตโลกเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์”

WACL เป็นองค์กรที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ (NGO/Non-Governmental Organization) ทุนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ลาตินอเมริกา รวมทั้งประเทศอื่น ๆ และรัฐอิสระในภูมิภาคเอเชียที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีทั้งประเทศไทย เวียดนาม ริกิว (เคยเป็นประเทศอิสระ ถูกญี่ปุ่นรุนราน ในปี พ.ศ. 2152 และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “โอกินาวา”) ฮ่องกง (อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พ.ศ.2484-2540) และมาเก๊า (อยู่ภายใต้การปกครองของโปตุเกส พ.ศ. 2430-2542) ฯลฯ โดยในช่วงสงครามเย็น “WACL” มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และมาร์กซีสม์ อย่างแข็งขัน

ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2537 WACL ได้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์และบทบาทขององค์กร รวมทั้งเปลี่ยนชื่อองค์กรใหม่เป็น “World League for Freedom and Democracy : WLFD หรือ องค์กรสันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย” ดำเนินกิจกรรมในลักษณะการเสริมสร้างความสงบสุขให้แก่โลก และให้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ในมิติของการ “ส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตย (Freedom and Democracy)” ให้เกิดขึ้น โดยมีประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก

องค์กร “สันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย” (World League for Freedom and Democracy : WLFD)” มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อประชาสัมพันธ์และสนับสนุนอย่างเป็นสากล ในประเด็นเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสันติสุขของโลก (To advocate and universally support the causes of Freedom, Democracy and world peace)

2) เพื่อส่งเสริมการเคารพ และการปฏิบัติตามซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนและการมีเสรีภาพของประชาชนทุกคน (To promote respect for, and observance of, human rights and the fundamental freedoms of all peoples)

3) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนรูปแบบทางการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อความก้าวหน้าของสังคม และการมีคุณภาพชีวิติที่ดีขึ้นของประชาชน (To be a coordinating center for international cooperation in economic development and educational and culture exchange designed to contribute to social progress and a better standard of life) และ

4) เพื่อการรวมพลังอย่างแข็งขันในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ความรุนแรง ระบอบจักรวรรดินิยม ระบอบเผด็จการ และระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม (To combine staunch efforts against international terrorism, aggression, imperialism, totalitarianism and authoritarianism in whatever form it should take)
องค์กรสันนิบาตโลกเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือ WLFD ได้รับการรับรองสถานะ การเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN DPI/NGO) ในฐานะองค์กรที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ และไม่แสวงหากำไร (Non-Governmental Organization) โดยการประชุมสามัญประจำปีของ WLFD จะมีการเชิญผู้แทน UN DPI/NGO เข้าร่วมการประชุมด้วย

ตามกฎบัตรของ WLFD องค์กรระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือองค์กรระหว่างประเทศ มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก WLFD โดยสมาชิกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) สมาชิกสามัญซึ่งจะมีสิทธิในการออกเสียง และ (2) สมาชิกสมทบซึ่งไม่มีสิทธิในการออกเสียง ปัจจุบัน WLFD มีองค์กรในประเทศต่าง ๆ (National chapter) เป็นสมาชิก รวม 57 ประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิก WLFD มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2509 โดยมีฐานะเป็นองค์กรสมาชิกก่อตั้ง ประเภทสามัญ
นอกจากนี้ WLFD ยังได้กำหนดให้ทุกวันที่ 23 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันเสรีภาพโลก (World Freedom Day)” ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและรำลึกถึงการกลับมาของอดีตเชลยศึกคอมมิวนิสต์ในสงครามเกาหลีราว 22,000 คน (พ.ศ. 2493-2496) ที่เดินทางด้วยเรือรบของสหรัฐฯ จากเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ กลับมาถึงท่าเรือจีหลง ของไต้หวัน พร้อมกับทหารจีน 14,000 นาย เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2497 (ส่วนที่เหลือเดินทางกลับไปยังแผ่นดินใหญ่) โดยทหารเหล่านี้ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษต่อต้านคอมมิวนิสต์” (ปัจจุบันในทางสากลกำหนดให้วันเสรีภาพโลก คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดยุคสงครามเย็นและลัทธิคอมมิวนิสต์ ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเสรีภาพและความสามัคคี)

บรรยากาศการประชุม WLFD 2014

WLFD จัดให้มีการประชุมองค์กรสมาชิกทุกปี ที่ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แต่บางปีก็ไปจัดการประชุมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกด้วย (ผมเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมที่ประเทศออสเตรเลีย และสาธารณรัฐเยอรมัน) โดยทุกครั้งที่จัดการประชุมในไต้หวัน ประธานาธิบดีไต้หวันจะให้เกียรติผู้เข้าร่วมประชุม โดยเดินทางมาเปิดการประชุมด้วยตนเอง ในบางปีก็จัดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่าง ๆ เข้าพบเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และดื่มน้ำชาร่วมกับประธานาธิบดี รวมทั้งถ่ายภาพร่วมกับผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นการเฉพาะแต่ละบุคคลด้วย

แต่หลังจาก ฯพณฯ หม่า อิงจิ่ว (馬英九) ประธานาธิบดีจากพรรคชาตินิยมจีน หรือที่มักเรียกกันว่า พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang : KMT) หมดวาระลงในปี พ.ศ. 2559 และตัวแทนพรรคฯ พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่ ฯพณฯ ไช่ อิงเหวิน (蔡英文) หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democrat Progressive Party : DPP) ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ กิจกรรมต่าง ๆ ของ WLFD ก็ลดบทบาทลง การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ยังคงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ หัวหน้าพรรค ฯพณฯ ไล่ ชิงเต๋อ (賴清德) ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แทน ฯพณฯ ไช่ อิงเหวิน ที่ไม่มีสิทธิได้รับการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัยติดต่อกัน

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเหตุผลที่ WLFD ลดบทบาทลง อาจเป็นเพราะประธานาธิบดีคนปัจจุบันอยู่คนละพรรคกับ “พรรคก๊กมินตั๋ง” ที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและสนับสนุน WLFD มาอย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งล่าสุดในปี 2567 จึงมีองค์กรสมาชิกและผู้ที่ได้รับเชิญจากต่างประเทศเข้าร่วมประชุมเพียง 28 ประเทศ จากองค์กรสมาชิกที่มีอยู่ 57 ประเทศ (ผมเข้าใจว่า เหตุผลน่าจะมาจากการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลน้อยลง) รวมทั้งไม่มีการจัดให้ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับประทานน้ำชา และถ่ายภาพร่วมกับประธานาธิบดี

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้นโยบายจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วประเทศไทยไปเป็นองค์กรสมาชิกก่อตั้งประเภทสามัญ WLFC ของสาธารณรัฐจีนได้อย่างไร องค์กรของไทยที่เป็นสมาชิก WLFC คือองค์กรใด และเหตุใดไต้หวันจึงเชิญผมไปเข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย (อ่านต่อตอนที่2)

หลายคนคงสงสัยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้นโยบายจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วประเทศไทยไปเป็นองค์กรสมาชิกก่อตั้งประเภทสามัญ WLFC ของสาธารณรัฐจีนได้อย่างไร องค์กรของไทยที่เป็นสมาชิก WLFC คือองค์กรใด และเหตุใดไต้หวันจึงเชิญผมไปเข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย

คงต้องย้อนประวัติศาสตร์กันสักหน่อย ครับ

สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน นั้น เดิมเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง โดยมีชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพมาอยู่อาศัยร่วมด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ยุคที่ชาวยุโรปออกสำรวจเส้นทางการค้า ชาววิลันดา (ฮอลันดา หรือเนเธอร์แลนด์) และสเปน ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนบนเกาะไต้หวันเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นนิคมของชาวตะวันตก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2205 เจิ้ง เฉิงกง (鄭成功) ขุนศึกราชวงศ์หมิง (ชาวฮั่น) รวบรวมกำลังไพร่พล หนีการปกครองของราชวงศ์ชิง (ชาวแมนจู) ที่เข้าปกครองประเทศแทนราชวงศ์หมิง มายังเกาะไต้หวัน ขับไล่ชาวยุโรปออกไป และตั้ง “อาณาจักรตงหนิง” ขึ้น เพื่อต่อสู้ “โค่นชิงฟื้นหมิง” แต่ในปี พ.ศ. 2226 อาณาจักรตงหนิง ก็พ่ายแพ้ต่อราชวงศ์ชิง และถูกรวมเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2438 จีนเสียเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2437-2438) หลังจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง จีนจึงได้ไต้หวันกลับคืนมาเป็นของจีนอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2488

การขัดแย้งทางความคิดระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดการสู้รบขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ระหว่างกองกำลังรัฐบาลชาตินิยม หรือพรรคก๊กมินตั๋ง กับพรรคคอมมิวนิสต์ จนในปี พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เข้ายึดกรุงปักกิ่ง เหมาเจ๋อตุง (Mao Tse-tung 毛泽东) ผู้นำพรรคฯ สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (People’s Republic of China : PRC) ขึ้น ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของ เจียง ไค เชค (Chiang Kai-shek) พาชาวจีนกลุ่มหนึ่งอพยพมายังเกาะไต้หวัน และสถาปนา “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China : ROC) ขึ้น ทั้งจีนและไต้หวันต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในเวทีการทูตว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 เสียงข้างมากในที่ประชุมสหประชาชาติ (UN) ได้ให้การรับรอง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็นผู้แทนชอบด้วยกฎหมายในสหประชาชาติเพียงหนึ่งเดียว (ก่อนที่จะแยกเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน (แผ่นดินใหญ่) กับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จีนอยู่ในฝ่ายพันธมิตรที่ได้รับชัยชนะในสงคราม และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของ UN และหนึ่งในห้าของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) ในส่วนของสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ปัจจุบันมีประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและรับรองสถานะรัฐบาลของไต้หวัน ลดลงเหลือเพียง 12 ประเทศเท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์-มาร์กซิสต์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ทั้งจีนและไต้หวันต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในเวทีการทูตว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง รัฐบาลไทยจึงคงความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันที่เป็นรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยมไว้ ซึ่งในช่วงนี้เองที่ประเทศไทย มีการก่อตั้งองค์กร “สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย” ขึ้น และเข้าร่วมเป็นองค์กรสมาชิก (National Chapter) ของ “The World Anti-Communist League : WACL” (หรือ “WLFC” ในปัจจุบัน) มาตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการก่อตั้ง ในปี พ.ศ. 2509 รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรม และการประชุมกับ WACL มาโดยตลอด โดยผู้แทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมจะเป็นนายทหารที่อยู่ในวงงานด้านความั่งคง เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ) ฯลฯ

หลังจากประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ภายใต้นโยบายจีนเดียว ประเทศไทยได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน บทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิก WACL จึงค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2537 WACL ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทและเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น WLFD ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ในขณะที่ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยก็ยุติลง ทำให้องค์กร “สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย” ลดบทบาทลงไป ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการที่ผู้แทนองค์กรสันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย ที่เป็นทหารจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ไต้หวัน จะกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมหรือร่วมกิจกรรมกับ WLFD

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐจีน แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการไว้ โดยให้สาธารณรัฐจีนจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Taipei Economic and Cultural office : TECRO) และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (Thailand Tread and Economic Office : TTEO) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับ “สถานกงสุลของสาธารณรัฐจีน” ประจำประเทศไทย ขึ้น

บรรยากาศการประชุม WLFD 2014
บรรยากาศการประชุม WLFD 2014

ผมสันนิษฐานว่าการที่ WLFD มีหนังสือเชิญผม (ในฐานะสมาชิกรัฐสภา) ไปร่วมการประชุมนั้น น่าจะเกิดจากการลดบทบาทลงของ “สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย” ทำให้ประเทศไทยขาดการติดต่อกับ WLFD และไม่มีการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมมาหลายปี สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (ด้วยการติดต่อจากองค์กร WLFD และการสั่งการของรัฐบาลไต้หวัน) จึงมีหนังสือเชิญสมาชิกรัฐสภาไทย (สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) โดยตรง ให้เข้าร่วมประชุม WLFD ในฐานะตัวแทนประเทศไทย แทนองค์กร “สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย” ที่เป็นองค์กรสมาชิก จนกระทั่งมาถึงปีที่ผมได้รับเชิญ เพราะในช่วงที่ผมเข้าร่วมประชุมครั้งแรก ๆ นั้น มีตัวแทนจากหลายประเทศถามถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยบางคนว่าหายไปไหน และเป็นอย่างไร

ส่วนเหตุใดไต้หวันจึงเลือกเชิญผมไปเข้าร่วมการประชุม WLFD ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ผมคงตอบได้เพียงว่า “ผมก็ไม่ทราบครับ” เพราะไม่มีใครบอกผม และผมก็ไม่เคยถาม เพราะไม่ทราบว่าจะไปถามใคร อยู่ ๆ วันหนึ่งก็มีจดหมายเชิญโดยตรงจาก ฯพณฯ เหยา เอ็งฉี (Hon. Yao Eng-Chi) ประธานของ WLFD (อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติของไต้หวัน) ส่งมาถึงผม แจ้งว่า WLFD จะจัดประชุมใหญ่ประจำปีที่กรุงไทเป จึงขอเชิญให้ผมเข้าร่วมประชุม โดยทาง WLFD จะออกค่าใช้จ่ายให้ตลอดการเดินทาง (ค่าเครื่องบินชั้นธุรกิจ/ค่าโรงแรม/รถรับส่งสนามบิน ฯลฯ) ซึ่งจนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไม WLFD จึงเลือกเชิญผมไปประชุม และยังคงเชิญอยู่เป็นประจำเกือบทุกปี (เว้นไปในช่วงการระบาดของโรค COVID-19) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 13 ปีแล้ว

ในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2566) ทาง WLFD ได้เชิญผมไปเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากผมประสบอุบัติเหตุล้ม ทำให้กระดูสันหลังยุบ ต้องรักษาตัวนานถึง 3 เดือน และแม้ว่าจะหายแล้ว แต่หมอก็ไม่แนะนำให้เดินทางไปร่วมประชุม เพราะต้องเดินทางโดยเครื่องบิน และต้องนั่งประชุมนานที่อาจกระทบต่อการเจ็บปวดจากกระดูกสันหลังได้ ผมจึงไม่ได้ไปร่วมประชุมครับ

บรรยากาศการประชุม WLFD 2011

ส่วนเหตุผลว่า “ทำไม WLFD จึงเชิญผม” เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม WLFD ในทุกปี ถ้าจะให้ผมเดา ผมว่าน่าจะมีเหตุผล 3-4 ประการ คือ (1) เป็นนักการเมือง (การเชิญผมครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง) เพราะผู้ที่เข้าร่วมประชุม WLFD จากประเทศต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองทั้งสิ้น (2) มีความเป็นนักประชาธิปไตยหรือสนใจในประชาธิปไตย (ผมคิดเอาเองนะครับ เพราะองค์กรนี้คือองค์กรที่ว่าด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย ถ้าผมไม่เป็นประชาธิปไตย เขาคงไม่เลือกผม) (3) มีความรู้และทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ (และหรือภาษาจีน) ซึ่งเป็นภาษาหลักในการประชุม (ภาษาจีน ผมลืมไปหมดแล้วครับ แม้เคยแอบเรียนสมัยเมื่อยังเป็นเด็กก็ตาม) และ (4) มีความเป็นเสรีนิยมที่ไม่ผูกติดอยู่กับ “นโยบายจีนเดียว” (ยอมรับไต้หวันได้ ที่จริงไม่เพียงยอมรับ แต่ชื่นชมด้วยซ้ำในความพยายามที่จะเป็นรัฐอิสระที่ถูกนานาชาติล้อมกรอบ) ซึ่งผมคิดว่า ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ WLFD คงได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย แล้วจึงเลือกเชิญผม (ส่วนจะทราบข้อมูลผมได้อย่างไร ผมก็ไม่เคยไปถามครับ)

บรรยากาศการประชุม WLFD 2017

การเข้าร่วมประชุมในช่วง 2-3 ครั้งหลัง ๆ ผมได้เรียน ฯพณฯ เหยา เอ็ง ฉี (Hon. Yao Eng-Chi) ไปว่า “ปัจจุบัน ผมพ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามานานแล้ว (ตั้งแต่ปี 2557) และก็อายุมากขึ้นแล้ว (กว่า 70 ปี) WLFD น่าจะเปลี่ยนไปเชิญคนรุ่นใหม่เข้าร่วมประชุมได้แล้ว” แต่ท่านประธานก็ยิ้มแล้วพูดว่า “ผมก็อายุมากแล้ว (ปัจจุบันอายุ 90 ปี) (แก่กว่าคุณอีก) และพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติมานานแล้วเช่นกัน ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ เรามาช่วยกันสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในโลก” ผมจึงยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม WLFD ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่องครับ และในทุกปีผมยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุม “คณะกรรมการบริหาร” รวมทั้งได้ให้กล่าว “สุนทรพจน์ (Speech)” สั้น ๆ ตาม “หัวข้อ (Theme)” ที่กำหนดไว้ในแต่ละปีด้วย

อ่านต่อตอนที่2