ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อผมสวมหมวก “นักประชาธิปไตย” ไปประชุม “WLFD” ที่ไต้หวัน (3)

เมื่อผมสวมหมวก “นักประชาธิปไตย” ไปประชุม “WLFD” ที่ไต้หวัน (3)

26 ธันวาคม 2024


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ต่อจากตอนที่2

3.โรงแรมที่พักและจัดการประชุม

โรงแรมที่ใช้ประชุม WLFD คือ โรงแรมแกรนด์ หรือ Grand Hotel เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองไทเปที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยมีมูลนิธิ Duen-Mou แห่งไต้หวันซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (ของรัฐ) เป็นเจ้าของ และได้ใช้เป็นสถานที่รับรองและจัดงานเลี้ยงให้แก่บุคคลสำคัญต่างชาติที่เป็นแขกของรัฐบาลที่เคยไปเยือนเมืองไทเป

โรงแรมนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2516 มีประวัติความเป็นมาจากความคิดของประธานาธิบดี “Chiang Kai-shek” ที่มีความคิดในเรื่องการรับรองและอำนวยความสะดวกแก่นักการทูตต่างชาติภายหลังจากที่ตนได้ถอยร่นจากแผ่นดินใหญ่ไปตั้งหลักยังไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากขาดโรงแรมระดับห้าดาวในเมืองไทเป ดังนั้น จึงต้องการสร้างโรงแรมที่หรูหราระดับห้าดาวเพื่อรองรับแขกต่างชาติ ซึ่งภรรยาของเขา “Soong Mei-ling (Madame Chiang)” ได้แนะนำให้สร้างบนพื้นที่ของโรงแรมเก่าที่ตั้งอยู่บนภูเขา Yuanshan และพื้นที่ศาลเจ้าเก่าที่ปรักหักพังแล้ว โดยประธานาธิบดี “Chiang Kai-shek” ได้เลือกสถาปัตยกรรมแบบจีนเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมจีนไปไปยังชาวตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงแรมมีการขยายอีกหลายครั้งก่อนที่จะกลายเป็นสถานที่สำคัญตามที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2511 โรงแรมได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบโรงแรมที่ติดอันดับโลกโดยนิตยสาร US Fortune โดยอาคารหลักของโรงแรมเป็นหนึ่งในอาคารคลาสสิคสไตล์จีนที่สูงที่สุดในโลก (87 เมตร) และเป็นอาคารที่สูงที่สุดในไต้หวันในช่วงปี พ.ศ. 2516-2524

เสาสีแดงและหลังคาทำให้โรงแรมเป็นเสมือนสถานที่จัดแสดงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจน โรงแรมแห่งนี้มีวัตถุทางศิลป (objets d’art) จำนวนมาก แผ่นผนังประกอบไปด้วยภาพวาด งานแกะสลัก และคำขวัญต่างๆ ลวดลายมังกรที่พันกันอยู่ตามโครงสร้างต่าง ๆ นับหมื่นตัวที่ประกอบขึ้นเป็นโรงแรม ทำให้ได้รับชื่อว่า “The Dragon Palace” นอกจากลายมังกรแล้ว ยังมีลวดลายของสิงโตและดอกพลับที่โดดเด่นประดับอยู่ภายในโรงแรมเช่นกัน

ในส่วนของห้องพักแขก มีอยู่ 8 ชั้น เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีน ซึ่งสะท้อนผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังและการตกแต่งทั่วไป มีห้องพักทั้งหมด 490 ห้อง ส่วนที่หันหน้าไปทางทิศใต้ จะมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมืองไทเป

ทางโรงแรมอ้างว่าในห้องชุด “ประธานาธิบดี (The presidential suite)” ในอดีต จะจัดให้สำหรับเป็นที่พักของแขกระดับผู้นำรัฐบาลหรือคนสำคัญของรัฐต่างประเทศเท่านั้น โดยในห้องพักมีโต๊ะทำงานของอดีตประธานาธิบดี “Chiang Kai-shek” และโต๊ะเครื่องแป้งของ “Soong Mei-ling (Madame Chiang)” ผู้เป็นภรรยาด้วย สำหรับค่าห้องพักในปัจจุบัน ห้องนี้เขาคิดค่าใช้จ่ายคืนละประมาณ 200,000 บาท ส่วนห้องอื่น ๆ ก็คิดราคาลดลนั่นกันลงไป และขึ้นอยู่กับเทศกาลด้วย โดยห้องที่เขาจัดให้ผมนอน ผมลองเข้าไปถาม agoda ดู เขาคิดคืนละประมาณ 8,000-9,000 บาท ครับ นอกจากนี้ ทางโรงแรมยังมีห้องประชุมและสัมมนาแบบ auditorium หลายห้อง ทำให้เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการจัดประชุมและสัมมนาในไต้หวันอีกด้วย ซึ่ง WLFD ได้ใช้ที่โรงแรมนี้เป็นที่ประชุมประจำมาโดยตลอดครับ

หลายครั้งที่พอมีเวลาว่าง ผมเดินไปดูรอบ ๆ ระหว่างรอประชุม เห็นรูปและรายชื่อแขกเกียรติยศที่เขาเอาไปติดไว้ในระเบียงชั้นลอย เพื่อให้แขกทั่วไปได้ชื่นชมว่ามีใครเคยมาพักที่นี่แล้วบ้าง พบว่ามีตั้งแต่กษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และบุคคลอื่นๆ เช่น Dwight D. Eisenhower, Richard Nixon, Ronald Reagan, Bill Clinton, Benigno “Ninoy” Aquino, Jr. Nelson Mandela, Margaret Thatcher, Shigeru Yoshida, Shah of Iran Mohammad Reza Pahlavi, King Hussein of Jordan, Lee Kuan Yew รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถของประเทศไทยเราด้วย ซึ่งพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2506

อุโมงค์ลับใต้โรงแรมแกรนด์
https://www.travel.taipei/en/fun/tour/details/1198 และ https://www.facebook.com/search/posts/?q =โรงแรมแกรนด์%20ไทเป

ผมได้ข่าวว่าที่โรงแรมแห่งนี้ ชั้นใต้ดินยังมีอุโมงค์หลบภัย 2 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นห้องหลบภัย อีกแห่งเป็นอุโมงค์หนีภัยที่แยกออกเป็นสองเส้นทาง เส้นทางแรกคืออุโมงค์ฝั่งตะวันออกทะลุสวนดอกไม้หน้าบ้านพักของผู้จัดการทั่วไปคนแรกของโรงแรมเดอะแกรนด์ อีกเส้นหนึ่งคืออุโมงค์ฝั่งตะวันตก ทะลุสวนสาธารณะเจี้ยนถันซึ่งอยู่ด้านหลังโรงแรม ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2516 (ส่วนที่เป็น slider สร้างขึ้นในภายหลัง นัยว่าสร้างไว้สำหรับท่านผู้นำที่อยู่ในวัย 80 เศษ ที่อาจต้องหลบภัยในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งไม่สามารถเดินลงบันไดได้ทัน) โดยปิดไว้เป็นความลับแม้แต่กับพนักงงานของโรงแรม จนกระทั่งเกิดไฟไหม้โรงแรมในปี พ.ศ. 2533 จึงเป็นที่รับทราบกัน ปัจจุบันอุโมงค์นี้เปิดให้เข้าชมได้แต่ต้องจองเวลาและซื้อตั๋วกับทางโรงแรมล่วงหน้า โดยผู้ใหญ่คิดราคาหัวละ 100 ดอลล่าร์ไต้หวัน ส่วนเด็กเก็บครึ่งราคาครับ ซึ่งหวังว่าในคราวหน้าที่ได้ไปพักอีก จะหาโอกาสลงไปเที่ยวชมและนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

อ่านต่อตอนที่4