ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

สัปดาห์นี้ ผู้เขียนขออนุญาตพาท่านมาดูงานตรวจเงินแผ่นดินที่ “ศรีลังกา” ซึ่งเป็นประเทศที่มีหน่วยงานตรวจสอบสูงสุดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินศรีลังกา (National Audit Office หรือ NAO) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1799 ในยุคอาณานิคมอังกฤษ โดยเริ่มต้นจากบทบาทของการตรวจสอบและควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณในหน่วยงานรัฐ
ต่อมา สตง. ศรีลังกาพัฒนาและยกระดับการตรวจสอบจากการตรวจสอบด้านการเงิน (Financial Audit) ไปสู่การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) ที่มุ่งเน้นความโปร่งใส ประหยัด ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้ดีขึ้น
Performance Audit ของ สตง.ศรีลังกาจึงมักเลือกประเด็นที่มีผลกระทบสูงต่อชีวิตประชาชนมาเป็นหัวข้อการตรวจสอบ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และล่าสุด คือ ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงโคลอมโบ (Colombo) เมืองหลวงศรีลังกา
“กรุงโคลอมโบ” เมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของศรีลังกา ประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างรุนแรงมาหลายปี… สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนยานพาหนะอย่างรวดเร็ว ระบบขนส่งสาธารณะที่ล้าหลัง และการวางแผนเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนชาวลังกาต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางหลายชั่วโมงต่อวัน…เศรษฐกิจในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง สิ่งแวดล้อถูกทำลายจากการปล่อยมลพิษของรถยนต์ที่ติดบนท้องถนน
…คำถาม คือ แล้ว สตง.ศรีลังกา ตรวจสอบ Performance Audit พบอะไร ให้ข้อเสนอแนะอย่างไร และเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
สตง.ศรีลังกา ตรวจสอบ Performance Audit ภายใต้เรื่องที่ว่า “บทบาทของหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงโคลอมโบและพื้นที่ใกล้เคียง”
ผู้ตรวจสอบตั้งคำถามสำคัญไว้ว่า “มาตรการหน่วยงานรัฐสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?”
ผลการตรวจสอบที่ สตง.ศรีลังกา พบมีประเด็นสำคัญดังนี้
หนึ่ง…ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง สตง.ศรีลังกา พบว่า ถนนในเมืองไม่เพียงพอต่อปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น และไม่มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน
สอง.. ระบบขนส่งสาธารณะที่ล้มเหลว โดย สตง.ศรีลังกา พบว่า รถเมล์และรถไฟมีจำนวนจำกัด ไม่ทันสมัย และไม่ครอบคลุมพื้นที่
สาม…การประสานงานที่ขาดประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทำงานแยกส่วน ไม่มีการบูรณาการนโยบาย
จากผลการตรวจสอบ… สตง.ศรีลังกาได้ให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลศรีลังกา กล่าวคือ
หนึ่ง…ในระยะยาว การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะโดยต้องเพิ่มการลงทุนในรถไฟฟ้าและรถเมล์สมัยใหม่ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
สอง…รัฐต้องวางแผนเมืองที่ยั่งยืนโดยปรับปรุงการวางแผนเมืองให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรและยานพาหนะ
สาม… รัฐต้องสร้างระบบบริหารจัดการจราจรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะ และแอปพลิเคชันนำทาง
สี่…การประสานงานระหว่างหน่วยงานโดยตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อกำกับดูแลและดำเนินการแผนแก้ปัญหาการจราจร
หากจะว่ากันตามตรง…ข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรใหม่จากที่หลายคนเคยรีวิวหรือศึกษามา
…อย่างไรก็ดี รายงานการตรวจสอบฉบับนี้มีจุดเด่นที่ว่า สตง.ศรีลังกา เลือกเรื่องตรวจสอบที่ช่วยตอบปัญหาสังคมจริง ๆ แม้ว่าหลายฝ่ายจะศึกษาและให้ข้อเสนอแนะแบบ “แผ่นเสียงตกร่อง” มาหลายครั้งแล้ว
ทั้งนี้ สตง.ศรีลังกา มองว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจในหลายมิติ ทั้งในฐานะ “ปัญหาใกล้ตัว” และ “ตัวอย่างของการตรวจสอบที่ทรงพลัง” ซึ่งช่วยผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
การจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ในโคลอมโบ แต่ยังรวมถึงเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น กรุงเทพฯ มะนิลา และจาการ์ตา ผู้คนที่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางหลายชั่วโมงย่อมเกิดความเครียด ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น และคุณภาพชีวิตลดลง
ดังนั้น การตรวจสอบประเด็นนี้จึงเกี่ยวข้องกับความต้องการของประชาชนโดยตรง ซึ่งทำให้รายงานของ สตง. มีน้ำหนักและได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น
…เพราะขึ้นชื่อว่า “รายงานการตรวจสอบ” ใครก็อยากรู้ข้อเท็จจริง (Fact Finding)
รายงานการตรวจสอบ Performance Audit ของ สตง.ศรีลังกา ไม่ได้มองปัญหาผิวเผินเพียงแค่ “รถติด”… แต่เจาะลึกไปถึง”ต้นตอ” ของปัญหา เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ การขาดระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ การทำงานที่ไม่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน การวางผังเมืองที่ขาดความยั่งยืน
ข้อตรวจพบเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่ไม่เพียงช่วยให้รัฐบาลเข้าใจต้นตอ แต่ยังชี้ให้เห็นถึง “โอกาส” ปรับปรุงระบบที่มีผลกระทบในวงกว้าง
…อีกหนึ่งจุดแข็งของการตรวจสอบ Performance Audit คือ การนำเสนอ “ข้อมูลเชิงหลักฐาน” ที่ชัดเจน รายงานของ สตง.ศรีลังกา แสดงให้รัฐบาลเห็นว่าหากปล่อยปัญหาไว้โดยไม่แก้ไข จะเกิดผลเสียทั้งในแง่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ดังนั้น การลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะและการวางแผนที่ดีขึ้นสามารถลดปัญหานี้ได้ในระยะยาว
เมื่อรัฐบาลเห็นตัวเลข “ต้นทุน” และ “โอกาสที่สูญเสีย” จากการจราจรติดขัด รวมถึงแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมที่เสนอโดย สตง. รายงานนี้จึงกลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้รัฐบาลลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
อาจกล่าวได้ว่า บทบาทของ สตง. ศรีลังกาในเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่า หน่วยงานตรวจสอบไม่ได้แค่ตรวจสอบเพื่อค้นหาข้อผิดพลาดบกพร่อง จ้องจับผิด แต่ยังทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาอย่างสร้างสรรค์” ที่ช่วยชี้เป้าให้รัฐบาลเห็นว่า ควรลงทุนและบริหารจัดการทรัพยากรในจุดใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หมายเหตุ ผู้สนใจข่าวเรื่องรถติดสาหัสในโคลอมโบโปรดดู https://www.hirunews.lk/english/389540/traffic-congestion-blamed-on-outdated-information