ThaiPublica > คอลัมน์ > From Pitch to Profit : The Economic Evolution of Football (1950-2020) Episode 1- ฟุตบอลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุ่งอรุณของฟุตบอลสมัยใหม่

From Pitch to Profit : The Economic Evolution of Football (1950-2020) Episode 1- ฟุตบอลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุ่งอรุณของฟุตบอลสมัยใหม่

18 พฤษภาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ที่มาภาพ : https://fifpro.org/en/supporting-players/competitions-innovation-and-growth/sustainable-economic-growth-in-football/tackling-online-piracy-to-protect-player-employment-and-career-opportunities/

From Pitch to Profit: The Economic Evolution of Football (1950-2020) Episode 1- ฟุตบอลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุ่งอรุณของฟุตบอลสมัยใหม่

Docuseries ชุดนี้ เกิดจากความสนใจของผู้เขียนที่ชอบค้นคว้าประวัติศาสตร์เรื่องราวต่าง ๆ ในโลกฟุตบอล กีฬาที่ผู้เขียนคลั่งไคล้มาตั้งแต่วัยเด็ก

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยเรื่องราว สีสัน วัฒนธรรม Passion ปรัชญาชีวิต การเมือง การจัดการธุรกิจ การบริหารทีม การวางแทคติค ไปจนถึงเรื่องดราม่า อารมณ์แฟนฟุตบอล

…พูดง่าย ๆ ว่า เกมฟุตบอลนั้นมีเรื่องราวให้รังสรรค์และให้เขียนถึงได้หลายมุมมอง

ผู้เขียนตั้งชื่อ Docuseries เป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า From Pitch to Profit : The Economic Evolution of Football (1950-2020) ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนา (Development Economist) จึงขออนุญาตเล่าเรื่องพัฒนาการของฟุตบอลสมัยใหม่ตลอดช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปเมื่อกลางทศวรรษที่ 40 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างบาดแผลให้กับมนุษยชาตินับล้านชีวิต ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซี เยอรมนี กองทัพของพระเจ้าจักรพรรดิ ญี่ปุ่น และเหล่าประเทศฝ่ายอักษะ ทำให้เกิดการวางระเบียบโลกครั้งใหญ่ นำโดย “สหรัฐอเมริกา” ที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกใหม่แทนอังกฤษ

แต่สำหรับกีฬาฟุตบอลแล้ว ชาวอเมริกันไม่เคยสนใจ หนำซ้ำยังเรียก Football ต่างจากชาวบ้านว่า Soccer

ความคลั่งไคล้ของกีฬาฟุตบอลยังคงอยู่ในสายเลือดของชาวยุโรปมาตั้งแต่ก่อนสงครามแล้ว

บนแผ่นดินยุโรป “อังกฤษ” ถูกขนานนามว่าแผ่นดินแม่ของฟุตบอล นอกจากอังกฤษยังมีเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส ที่จัดเป็นหนึ่งในตองอูของโลกฟุตบอลยุโรป

ขณะที่บนแผ่นดินละตินอเมริกา กลุ่มประเทศ “มหาอำนาจลูกหนัง” ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบไปด้วย อุรุกวัย บราซิล และอาร์เจนติน่า ทั้งสามมหาอำนาจลูกหนังละตินนี้ได้รับอิทธิพลมาจากฟุตบอลภาคพื้นยุโรปใต้อย่างสเปนและโปรตุเกส

การสูญเสียผู้คนนับล้านจากสงคราม ทำให้การสร้างโลกใบใหม่ต้องการสร้างความหวัง มีความฝัน มีสันติสุข มิตรภาพ ด้วยเหตุนี้ผู้คนช่วงหลังสงครามจึงโหยหาการรวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลายปีตลอดห้วงสงคราม

“ฟุตบอล” เป็นหนึ่งในมหรสพความบันเทิงที่ดีที่สุดที่สามารถนำพาผู้คนเรือนหมื่นมาไว้ในสนามพร้อมส่งเสียงเชียร์นักฟุตบอล 22 ชีวิต ฟาดแข้งกันในสนามหญ้าสีเขียว

การฟื้นตัวและการรวมตัว (Recovery and Unity) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลในยุโรปเริ่มเติบโตขึ้น การฟื้นฟูสโมสรภายในท้องถิ่นของหลายประเทศในยุโรปทำให้คนในท้องถิ่นกลับเข้าสนามมาดูฟุตบอลมากขึ้น

เมื่อสนามเต็มไปด้วยคน แน่นอนว่าธุรกิจต่าง ๆ ย่อมตามมา นอกจากสโมสรสามารถขายตั๋วได้แล้ว ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผับบาร์ กลายเป็นแหล่งสังสรรค์ของเหล่าแฟนบอลที่มารวมตัวกันก่อนเข้าสนาม และกลับมารวมกันใหม่หลังบอลจบแล้ว

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์รายงานผลการแข่งขัน วิจารณ์ฟอร์มการเล่น ยิ่งทำให้การชมฟุตบอลมีอรรถรสเพิ่มมากขึ้น

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุตบอลลีกภายในประเทศกลับมาแข่งขันกันตามปกติเช่นเดียวกับมหกรรมฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นหลังจากหยุดยาวนานกว่าสิบปี

ฟุตบอลโลกปี 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นจุดเปลี่ยนของฟุตบอลสมัยใหม่ กล่าวคือ ไฮไลท์สำคัญ คือ ทีมชาติเยอรมนีตะวันตกได้แชมป์ฟุตบอลโลก

แชมป์ครั้งนั้นปลุกให้ชาวเยอรมันกลับมาภูมิใจในความเป็นเยอรมันอีกอีกครั้ง

ที่สำคัญเยอรมนีตะวันตกชุดนั้นเอาชนะโคตรทีมแห่งยุค 50 อย่าง “ฮังการี” ได้

ฮังการี นับเป็นยอดทีมฟุตบอลที่เล่นด้วยสไตล์สวยงาม เพลินตา และมีสตาร์อย่าง Ferenc Puskás หรือ ฉายาท่านผู้พัน

ทีมชาติฮังการีภายใต้โค้ชสมองเพชรนามว่า Gusztáv Sebes ได้สร้างทีมที่แข็งแกร่งและทรงพลังขึ้น ชนิดที่แพ้ไม่เป็น จนทีมชุดนี้ถูกขนานนามว่า “Mighty Magyars”

ด้วยสูตรการเล่นที่เรียกว่า 4-2-4 Formation สลับกับ 2-3-5 ลักษณะ W-M ทำให้ฮังการีเป็นชาติแรก ๆ ที่สร้างสูตรการเล่นที่แปลกใหม่โดยเน้นเรื่องความไหลลื่นในการครองบอลและเข้าทำเมื่อได้จังหวะโดยมีกัปตัน Puskas เป็นคีย์แมนของทีม

Mighty Magyars ทีมชาติฮังการียอดทีมแห่งยุค 50 นำโดย Ference Puskas ที่มาภาพ : https://hungarytoday.hu/hungarian-golden-team-best-ever-bbc-88006/

Puskas นับเป็นนักเตะพรสวรรค์ มีความฉลาด เร็ว แข็งแกร่ง จ่ายบอลแม่น ยิงประตูดี ครบเครื่องของการเป็นนักเตะซูเปอร์สตาร์…Puskas เล่นให้ทีมชาติฮังการี ขณะเดียวกัน เขาสวมเครื่องแบบชุดขาวให้กับทีมราชันชุดขาว “เรอัล มาดริด” (Real Madrid)

ก่อนฟุตบอลโลกปี 1954 จะเริ่มต้นขึ้น ทีมชาติฮังการีชุด Mighthy Magyars แข็งแกร่งแบบไม่เกรงใจใคร พวกเขาไม่แพ้ใครติดต่อกันมา 4 ปี

ทีมของ Sebes เคยสั่งสอนอังกฤษถึงสนามเวมบลีย์มาแล้วด้วยสกอร์ 6 ประตูต่อ 3 เคยยำใหญ่ใส่เยอรมนีตะวันตกมาแล้วถึง 8 ประตู ต่อ 2

ความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลฮังการีทำให้พวกเขาขึ้นเป็นเต็งหนึ่งที่จะคว้าถ้วยจูลิเมต์ จนกระทั่งนัดชิงชนะเลิศ พวกเขาแพ้ต่อเยอรมนีตะวันตกในสังเวียนแข้งที่ Wankdorf Stadium กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยสกอร์ 3 ประตูต่อ 2

เยอรมนีตะวันตกในฟุตบอลโลกครั้งนั้น คุมทีมโดย Sepp Herberger เล่นด้วยผัง 3-2-2-3 และขยับมาเล่น 3-2-5 จะว่าไปแล้ว เยอรมนีชุดนั้น บอบช้ำจากสงครามอย่างมาก ด้วยความที่แพ้สงคราม ถูกแบ่งแยกประเทศ ทำให้พวกเขาแทบไม่มีแต้มต่อ ความพร้อมใด ๆ เลย

ทีมชุดนั้นมีสตาร์อย่าง Helmuth Rahn และ Fritz Walter เป็นกัปตันทีม

เกมกับฮังการี พวกเขาถูกออกนำแต่ต้นเกม 2 ประตูต่อ 0 แต่ด้วยธาตุทรหด นักเตะเยอรมันฮึดไล่มาเป็น 2-1 และยิงประตูตีเสมอได้เป็น 2 ประตูต่อ 2

จนกระทั่งนาทีที่ 84 ทีมของ Herberger ได้สร้างปาฏิหารย์แห่งกรุงเบิร์นขึ้นจากลูกยิงของ Helmuth Rahn

จบเกมส์ทีมชาติเยอรมนีตะวันตกเอาชนะยอดทีมแห่งยุคไปได้ 3 ประตูต่อ 2 คว้าถ้วยจูลิเมลต์ ไปแบบม้ามืด

ชัยชนะของเยอรมนีตะวันตกในครั้งนั้นถูกขนานนามว่า Miracle of Bern และกลายเป็นรุ่งอรุณของฟุตบอลสมัยใหม่

Miracle of Bern ปาฏิหารย์แห่งกรุงเบิร์น รุ่งอรุณของฟุตบอลสมัยใหม่ ที่มาภาพ : https://www.dw.com/en/the-miracle-of-bern-west-germanys-run-to-1954-world-cup-win/a-52870532

ช่วงเวลาหลังจากนั้น ฟุตบอลยุโรป กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะเยอรมนีตะวันตกที่ได้สร้างระบบการพัฒนาฟุตบอลจนต่อยอดมาถึงทุกวันนี้

อย่างที่เราทราบดีว่า ฟุตบอลเยอรมัน เน้นที่ระบบ แทคติค และใจสู้มาโดยตลอด หากโดนนำก่อนและยังไม่หมดเวลา นักบอลเยอรมันจะไล่วิ่งบดขยี้คู่ต่อสู้จนไล่ตีเสมอ หรือแซงชนะไปได้

นอกจากฟุตบอลโลกเริ่มกลับมาฟาดแข้งตามปกติแล้ว ฟุตบอลยูโรเปียนคัพ (European Cup) ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกหลังฟุตบอลโลกปี 1954 โดยฤดูกาล 1955-1956 ฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ได้คัดเอาทีมชั้นนำจากลีกดังในยุโรปมาบรรเลงเพลงเตะกัน

ปัจจุบันยูโรเปียนคัพ เปลี่ยนชื่อมาเป็น ยูฟ่า แชมปเปี้ยส์ลีก (UCL) ถ้วย Big Ear ที่จัดว่าเป็นถ้วยใบใหญ่สุดของฟุตบอลสโมสรยุโรป

ฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ ทำให้ขยายฐานแฟนบอลจากในสนาม สู่นอกสนาม แฟนบอลในเมืองสู่แฟนบอลต่างเมือง

ยอดทีมอย่างเรอัล มาดริด ยุคนั้น นำทัพโดย Alfredo Di Stefano ตำนานดาวเตะชาวอาเจนไตน์ ช่วยพาเรอัล มาดริด ราชันชุดขาว ครองแชมป์เจ้ายุโรป เป็นสมัยแรกด้วยชัยชนะเหนือต่อ Stade de Reims อีกหนึ่งยอดทีมในอดีตของฝรั่งเศส

ฟุตบอล European Cup ครั้งแรก ฤดูกาล 1955-1956 ถ้วยแชมป์ตกเป็นของราชัน ชุดขาว Real Madird และเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลทางทีวี ที่มาภาพ : https://www.realmadrid.com/en/news/2018/06/on-this-day-the-first-european-cup-was-won

รุ่งอรุณฟุตบอลสมัยใหม่ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว… แม้ว่ากองทัพเยอรมนีแพ้ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 แต่ในกีฬาฟุตบอลแล้ว ทีมชาติเยอรมนีตะวันตกกลับมาครองแชมป์ฟุตบอลโลกได้

ขณะเดียวกัน ฟุตบอลยุโรป ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงผ่านพลังแฟนบอลในท้องถิ่น ผนวกกับความยอดเยี่ยมของราชันชุดขาว เรอัล มาดริด

Episode ถัดไป เราจะข้ามทวีปไปดูบอลบราซิล พร้อมกับการมาของหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ต่อมา เขาได้กลายเป็น “ราชาลูกหนังโลก”…เปเล่