ThaiPublica > คอลัมน์ > Cobot Audit เมื่อหุ่นยนต์มาช่วยงานตรวจสอบ…โลกเหนือจินตนาการของงานตรวจเงินแผ่นดินในอนาคต

Cobot Audit เมื่อหุ่นยนต์มาช่วยงานตรวจสอบ…โลกเหนือจินตนาการของงานตรวจเงินแผ่นดินในอนาคต

10 พฤษภาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

โลกการตรวจเงินแผ่นดินหลังสิ้นสุดการระบาด COVID-19 มีหลายฉากทัศน์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงการตรวจสอบที่ต้องยึดโยง “พึ่งพา” เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2023 นับเป็นปีที่น่าจดจำ เนื่องจาก generative AI อย่าง ChatGPT และ Bard ของ Google ได้ปฏิวัติทุกวงการ จนเราเริ่มเห็นเค้าลางการถูกดิสรัปต์ในหลายอาชีพ

งานวิจัยของ INTOSAI WGISTA กล่าวถึงเรื่อง robotic อยู่บ้างว่าการมาของหุ่นยนต์นั้นจะเปลี่ยนโลกการตรวจสอบอย่างไร

เอาเข้าจริง ดูเหมือนเราอยู่ในภาพยนตร์ไซไฟที่มีฉาก “เหนือจินตนาการ” แต่เราอย่าลืมว่านี่คือฉากทัศน์หนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน… เพียงแต่ว่าจะมาถึงเมื่อใด และเรามีความพร้อมเพียงใด

การทำงานระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ เราเรียกว่า human robot interaction หรือ HRI ที่มนุษย์กับหุ่นยนต์ต่างต้องทำงานร่วมกัน โดยคำที่เราผ่านหูมาบ้างแล้ว คือ คำว่า Cobot

Cobot ย่อมาจาก collaborative robot หรือ การที่มนุษย์เราทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ เช่นเดียวกัน HRI ยังสร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่า augmented human หรือเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถเพิ่มขึ้น เพียงแค่สวมใส่มัน อย่าง wearable glass ที่เราเคยเห็นกันแล้ว หรือเทคโนโลยี VAR ที่นำมาช่วยกรรมการฟุตบอลตัดสินลูกเจ้าปัญหาต่าง ๆ

… เหมือนคน Gen X กำลังใช้การ์ตูน “โดราเอมอน” เป็นภาพจำลองสร้างโลกอนาคตแบบที่พวกเขาเคยเห็นมาในการ์ตูน

การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดทุกสาขาอาชีพ ต่างทำให้มนุษย์เราต้องปรับตัว

…นี่คือยุคของ digital revolution อย่างแท้จริง

เพราะ digital revolution ทำให้เกิด digital transformation ขององค์กร ทั้งหมดที่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผล คือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนการผลิตแต่ยังคงคุณภาพอยู่

Cobot ในงานตรวจสอบช่วยให้ผู้ตรวจสอบใช้หุ่นยนต์เก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลจากหน่วยรับตรวจ สามารถสังเกตการณ์ร่วมกับผู้ตรวจสอบในพื้นที่ สถานที่ที่ผู้ตรวจสอบไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเสี่ยงเกินไปที่จะเข้าสังเกตการณ์

robotic process automation (RPA) ยังช่วยลดภาระผู้ตรวจสอบในการทำงานประเภทซ้ำๆ เช่น อัปโหลดข้อมูล คีย์ข้อมูล สแกนเอกสารนับหมื่นหน้า พวกนี้ใช้ Cobot ทำแทนได้

Cobot ยังมี NLP Cobot หรือ natural language process ที่สามารถวิเคราะห์คำซ้ำๆ ที่ปรากฏในสัญญา เอกสารจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา รวมถึงชี้ให้เห็นว่ามีความผิดปกติในลักษณะของ red flag อย่างไร เพื่อให้ผู้ตรวจสอบสามารถประหยัดเวลา วิเคราะห์ได้ตรงจุด

Cobot ที่เป็น AR สามารถช่วยในเรื่อง real-time audit สามารถช่วยให้ผู้ตรวจสอบอ่านวิเคราะห์ข้อมูลที่ยุ่งยากซับซ้อนได้แบบ visualization

ตัวอย่างน่าสนใจในการใช้ Cobot คือ เรื่อง exoskeletons for physical ซึ่งสามารถทำให้มนุษย์มีศักยภาพทางร่างกาย มีกล้ามเนื้อ ร่างกายที่แข็งแรงเพียงแค่สวม exoskeletons และสามารถลดข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ตรวจสอบยากๆ ได้

นอกจากนี้ Cobot ยังช่วยประเมินความเสี่ยง หาจุดเปราะบางเสี่ยงสูงว่าหน่วยรับตรวจที่เรากำลังตรวจสอบนั้นมีความเสี่ยงในภาพรวมที่ระบบงานใด มีจุดใดที่ผู้ตรวจสอบควรดู

กล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว เหมือนเรากำลังเผชิญโลกใหม่ที่ยากจะเข้าใจ ไม่มีความคุ้นเคย จนดูเหนือจินตนาการไปแล้วจริงๆ

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าไหร่… การทำความเข้าใจและหยิบเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือ สิ่งจำเป็นต้องทำ

ในอนาคตองค์กรตรวจเงินแผ่นดินหลายประเทศได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า responsible AI หรือ การใช้ AI อย่างรับผิดชอบ เช่นเดียวกับ responsible Cobot การนำหุ่นยนต์มาร่วมทำงานตรวจสอบอย่างรับผิดชอบ

โลกเราก้าวมาถึงจุดที่เราควรทำความเข้าใจ มากกว่าปฏิเสธ ควรเรียนรู้มากกว่า ปิดกั้น

… การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ย่อมทำให้เราใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์กับงานของเรา