ThaiPublica > สู่อาเซียน > ผลศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผย ระบบราชการพลเรือนสิงคโปร์ติดอันดับดีที่สุดในโลก

ผลศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผย ระบบราชการพลเรือนสิงคโปร์ติดอันดับดีที่สุดในโลก

5 ธันวาคม 2024


ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area/

ระบบราชการพลเรือนของสิงคโปร์ได้รับการประกาศให้เป็นระบบราชการที่ดีที่สุดในโลก จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด Blavatnik Index of Public Administration 2024 ฉบับใหม่ที่จัดอันดับการบริหารราชการใน 120 ประเทศ

ระบบราชการพลเรือนของสิงคโปร์นำหน้านอร์เวย์ แคนาดา และเดนมาร์กใน Blavatnik Index of Public Administration 2024 ที่เผยแพร่เป็นครั้งแรก

Blavatnik Index of Public Administration ซึ่งเผยแพร่โดย Blavatnik School of Government คณะนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ได้เปรียบเทียบการปฏิบัติงานของราชการและการบริหารภาครัฐทั่วโลก 120 ประเทศ

“สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น การบริการชายแดน การบริหารภาษี ตลอดจนยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมและแนวปฏิบัติ” มหาวิทยาลัยกล่าวในการเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (3 ธันวาคม)

Blavatnik Index พัฒนาจาก International Civil Service Effectiveness (InCiSE) Index ดัชนีประสิทธิผลการบริการพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ได้ใช้ก่อนหน้าของคณะ โดยกรอบการวัดผลของ Blavatnik Index มีด้วยกัน 4 มิติที่แสดงถึงกิจกรรมการบริหารภาครัฐในภาพกว้าง ได้แก่ ยุทธศาสตร์และความเป็นผู้นำ นโยบายสาธารณะ การขับเคลื่อนให้เกิดผลระดับประเทศ และบุคลากรและกระบวนการ

    ยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ(Strategy and Leadership) คือ การกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ การดูแลสถาบัน ค่านิยมหลักของงานสาธารณะและพฤติกรรม
    นโยบายสาธารณะ(Public Policy) คือ หน้าที่หลักการบริหารงานสาธารณะหลัก และกิจกรรมอันเป็นพื้นฐานของรัฐบาลแห่งชาติ
    การผลักดันให้เกิดผลระดับประเทศ(National Delivery) คือ การส่งมอบบริการสาธารณะโดยตรงในระดับชาติ และการกำกับดูแลงานสาธารณะในวงกว้างจากส่วนงานอื่นๆ
    บุคลากรและกระบวนการ(People and Processes) คือ ความเป็นจริงของการทำงาน ในหรือเพื่อการบริหารภาครัฐ

หัวหน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือนสิงคโปร์ ลีโอ ยิป กล่าวว่า “พวกเราในหน่วยงานราชการของสิงคโปร์ได้เรียนรู้มากมายจากแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของหน่วยงานและงานสาธารณะทั่วโลก”

“ดัชนีนี้มีความสำคัญที่ช่วยให้เราเรียนรู้จากกันและกัน และปรับปรุงประสิทธิภาพของเราเอง เพื่อให้บริการประชาชนของเราดีขึ้น” ยิปกล่าว

ประเทศที่อยู่ใน 5 อันดับแรกในดัชนี ได้แก่ สิงคโปร์ (ที่ 1) นอร์เวย์ (ที่ 2) แคนาดาและเดนมาร์ก (อันดับ 3 ร่วม); และฟินแลนด์ (อันดับที่ 5) ทั้ง 5 ประเทศนี้มีการดำเนินการอย่างแข็งแกร่งในทั้ง 4 มิติ โดยสิงคโปร์ติดอันดับหนึ่ง/และติดอันดับหนึ่งร่วมใน 2 ใน 4 มิติ (นโยบายสาธารณะและการส่งมอบระดับชาติ) เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ติดอันดับหนึ่ง/ติดอันดับหนึ่งร่วมในแต่ละ 1 มิติ (ยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ นโยบายสาธารณะ และบุคลากรและกระบวนการ ตามลำดับ) ในขณะที่แคนาดามาเป็นอันดับสี่/อันดับสี่ร่วมอย่างต่อเนื่องในแต่ละ 4 มิติ

นอกเหนือจาก 5 ประเทศนี้ มี 7 ประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 6-9 คือ สหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์ (อันดับที่ 6 ร่วม) ออสเตรเลีย (อันดับ 8) และเอสโตเนีย ฝรั่งเศส สเปน และสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 9 ร่วม)

ประเทศเอเชียที่มีอันดับสูงสุดรองลงมาคือเกาหลีใต้ อยู่ในอันดับที่ 15

ศาสตราจารย์ Ngaire Woods คณบดีแห่ง Blavatnik School of Government กล่าวว่า ผลการจัดอันดับเป็น “เสียงเรียกร้องที่ชัดเจน” สำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อเร่งให้เกิดการปรับปรุง และเป็น “โอกาสทอง” สำหรับหน่วยงานราชการในการมองข้ามขอบเขตของตนเพื่อเรียนรู้จากกันและกัน

“เราเห็นว่าดัชนีมีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ผลลัพธ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนทนา การเรียนรู้ และการปรับปรุงที่สามารถกระตุกและกระตุ้นได้ ช่วยให้เกิดแนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการด้วยการใช้ข้อมูลมากขึ้น”

สำหรับประเทศไทยอยู้ในอันดับที่ 42 ร่วมกับ แอลเบเนีย บุลกาเรีย จอร์เจีย ฮังการี เม็กซิโก มอลโดวา และยูเครน โดยไทยติดอันดับที่ 68 ในด้านยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ อันดับ 69 ในด้านนโยบายสาธารณะ อันดับ 30 ในด้านการส่งมอบระดับชาติ และอันดับ 24 ในด้านบุคลากรและกระบวนการ และความครอบคลุมของชุดข้อมูลอยู่ในระดับ B

อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 38 โดยติดอันดับที่ 36 ในด้านยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ อันดับ 36 ในด้านนโยบายสาธารณะ อันดับ 54 ในด้านการส่งมอบระดับชาติ และอันดับ 38 ในด้านบุคลากรและกระบวนการ ความครอบคลุมของชุดข้อมูลอยู่ในระดับ B

มาเลเซียติดอันดับที่ 40 โดยติดอันดับที่ 68 ในด้านยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ อันดับ 61 ในด้านนโยบายสาธารณะ อันดับ 40 ในด้านการส่งมอบระดับชาติ และอันดับ 7 ในด้านบุคลากรและกระบวนการ ความครอบคลุมของชุดข้อมูลอยู่ในระดับ B

ฟิลิปปินส์ติดอันดับที่ 62 โดยติดอันดับที่ 76 ในด้านยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ อันดับ 45 ในด้านนโยบายสาธารณะ อันดับ 74 ในด้านการส่งมอบระดับชาติ และอันดับ 48 ในด้านบุคลากรและกระบวนการ ความครอบคลุมของชุดข้อมูลอยู่ในระดับ A

เวียดนามคิดอันดับที่ 62 ร่วม โดยติดอันดับที่ 59 ในด้านยุทธศาสตร์และภาวะผู้นำ อันดับ 36 ในด้านนโยบายสาธารณะ อันดับ 36 ในด้านการส่งมอบระดับชาติ และอันดับ 88 ในด้านบุคลากรและกระบวนการ ความครอบคลุมของชุดข้อมูลอยู่ในระดับ B

สำหรับการศึกษานี้ใช้ข้อมูล 82 ชุดหรือตัวชี้วัดจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน 17 แห่ง และตัวชี้วัด 82 รายการกระจายอยู่ใน 4 มิติ ได้แก่ กลยุทธ์และภาวะผู้นำ นโยบายสาธารณะ การส่งมอบระดับชาติ ตลอดจนบุคลากรและกระบวนการ

แต่ละมิติเหล่านี้มาพร้อมแนวคิด ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกันระหว่างส่วนงานจะได้รับการประเมินภายใต้ขอบเขตกลยุทธ์และภาวะผู้นำ ขณะที่การใช้ข้อมูลจะตกอยู่ภายใต้มิตินโยบายสาธารณะ ความเป็นเลิศของสิงคโปร์ในด้านบริการชายแดนและการบริหารภาษีช่วยให้ประเทศอยู่ในอันดับต้นๆ ของมิติการผลักดันให้เกิดผลระดับประเทศ

ข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ มากมาย ได้แก่ รายงาน Doing Business report ของธนาคารโลก, มาตรวัดคอร์รัปชันโลก(Global Corruption Barometer) ของ Transparency International ซึ่งวัดความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการทุจริต และฐานข้อมูลสถิติความเท่าเทียมทางเพศของ European Institute for Gender Equality