ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ดินยุบ”ที่ท่าแขก ! … ร่องรอยหลังทรัพยากรใต้ดินของลาวถูกขุด ?

“ดินยุบ”ที่ท่าแขก ! … ร่องรอยหลังทรัพยากรใต้ดินของลาวถูกขุด ?

18 ธันวาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หลุมขนาดใหญ่ ที่เกิดจากดินยุบตัวในแขวงคำม่วน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่มาภาพ : Khammouane News

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้เกิดเหตุดินยุบตัวเป็นหลุมลึกขนาดใหญ่ในเขตบ้านปากเป่ง เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดนครพนมของไทย จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณกลางทุ่งนา ห่างจากจุดศูนย์กลางเมืองปากเป่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 860 เมตร

ชาวบ้านปากเป่งเล่าว่า ช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. หลายคนได้ยินเสียงดังครึกโครม ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเสียงอะไร กระทั่งถึงรุ่งเช้า จึงพบว่าเกิดผืนดินยุบตัวลงไปดังกล่าว ชาวบ้านได้ช่วยกันนำฟางมาวางล้อมบริเวณที่ดินยุบตัวเอาไว้เพื่อป้องกันอันตราย และรีบแจ้งไปยังฝ่ายปกครองในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ

ตรงจุดที่เกิดเหตุ พบว่าดินได้ยุบตัวลงไปกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ โดยช่วงเช้าวันที่ 3 ธันวาคม ชาวบ้านวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของปากหลุมได้ประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตร แต่การยุบตัวของดินก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม เส้นผ่าศูนย์กลางของปากหลุมได้เพิ่มเป็น 25 เมตร และความลึกเพิ่มเป็น 15 เมตร

ผืนดินบริเวณที่ดินยุบตัว อยู่ในเขตสัมปทานขุดค้นและทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทซิโน-อะกรี โปแตช จำกัด ซึ่งเป็นของนักลงทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่ตามข่าวที่ถูกนำเสนอโดยเพจ Khammouane News ระบุว่า ขณะที่เกิดเหตุดินยุบตัว พื้นที่ตรงนี้ยังไม่ได้มีการขุดค้น

วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน นำทีมงานเฉพาะกิจจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ตรวจจุดเกิดเหตุดินยุบตัว ที่มาภาพ : Khammouane News

วันที่ 4 ธันวาคม วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน นำทีมงานเฉพาะกิจจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ผู้บริหารเมืองปากเป่ง ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนของบริษัทซิโน-อะกรี โปแตช เดินทางไปตรวจสอบและเก็บข้อมูลในจุดที่เกิดเหตุดินยุบตัว

เจ้าแขวงคำม่วนได้ให้บริษัทซิโน-อะกรี โปแตช รีบนำรั้วมาล้อมกั้นบริเวณโดยรอบปากหลุมเอาไว้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ให้คนหรือสัตว์พลัดตกลงไปในหลุม โดยเบื้องยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุดินยุบตัวจนกลายเป็นหลุมกว้างขนาดใหญ่ครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร ทีมงานเฉพาะกิจจะร่วมมือกับทีมงานของบริษัทซิโน-อะกรี โปแตช เข้าตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุ และวางแนวทางป้องกันไม่ให้มีเหตุดินยุบตัวเกิดเพิ่มขึ้นอีก

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ภายในแขวงคำม่วนเคยเกิดเหตุดินยุบตัวมาแล้วครั้งหนึ่งในเขตบ้านหนองผือ เมืองท่าแขก ทำให้เกิดหลุมกว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 8 เมตร ลึก 3.7 เมตร

เว็บไซต์วิทยุเอเซียเสรี รายงานเหตุดินยุบตัวครั้งนี้ โดยสัมภาษณ์ชาวบ้านปากเป่ง ส่วนใหญ่เชื่อว่า การยุบตัวของดินอาจเป็นผลมาจากการขุดค้นและทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทซิโน-อะกรี โปแตช เพราะห่างจากจุดที่ดินยุบตัวไปประมาณ 500 เมตร มีอุโมงค์ใต้ดินที่บริษัทซิโน-อะกรี โปแตช ได้ขุดเชื่อมต่อไปยังหลุมขุดค้นแร่โปแตชของบริษัทเพื่อใช้เป็นช่องระบายอากาศ

……

แร่โปแตช(Potash) จัดอยู่ในกลุ่มเกลืออนินทรีย์ ประกอบด้วยสารเคมี 2 ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCL) และโซเดียมคลอไรด์(NaCL) หรือเกลือแกง

ประโยชน์สำคัญที่สุดของของแร่โปแตช คือ นำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี(NPK) โดยนำโปแตชไปสกัดเป็นโพแทสเซียม หรือแม่ปุ๋ยตัว K ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แม่ปุ๋ยหลักของปุ๋ยเคมี ที่ประกอบด้วย ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K)

นอกจากนั้น ยังสามารถนำโปแตชไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น สบู่ สารซักฟอก เซรามิก รวมถึงผลิตวัตถุระเบิด

ตามข้อมูล การศึกษาของศูนย์อนามัยที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า แม้แร่โปแตชจะเป็นสารที่ไม่มีพิษ ทั้งกับมนุษย์และสัตว์ แต่ผลกระทบที่อาจเกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตชมีหลายประการ

ผลกระทบประการสำคัญคือ อาจทำให้เกิดผืนดินถล่ม หรือแผ่นดินทรุดตัวจากการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ

ปัจจุบัน โปแตชเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังมีบทบาทสูงมากต่อเศรษฐกิจของลาวไม่น้อยไปกว่าทองคำ หรือแร่หายาก(Rare Earth) รัฐบาลลาวได้ส่งเสริมให้มีการขุดค้น ทำเหมืองแร่โปแตชกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในแขวงคำม่วน สะหวันนะเขต และแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดค้นและทำเหมืองแร่โปแตชในลาวเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทจากจีน ที่ได้เข้ามาขุดแร่โปแตชจากใต้ผืนดินของลาวขึ้นมา และส่งขายกลับไปยังประเทศจีน

  • ทรัพยากรใต้ดินของ “ลาว” … ในมือ “จีน”
  • บริษัทซิโน-อะกรี โปแตช ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชของลาว โดยได้รับสัมทานขุดค้นและทำเหมืองแร่โปแตชบนพื้นที่กว้างถึง 48.52 ตารางกิโลเมตร ในแขวงคำม่วน มาตั้งแต่ปี 2552

    นอกจากเหมืองโปแตชแล้ว บริษัทซิโน-อะกรี โปแตช ยังได้สร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ อาเซียน-โปแตช สากลขึ้น ที่บ้านดงใต้ เมืองท่าแขก บนพื้นที่ 2,000 เฮคตา หรือ 12,500 ไร่ ภายในประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากแร่โปแตช รวมถึงโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ทำให้ธุรกิจในกลุ่มของบริษัทซิโน-อะกรี โปแตช เรียกได้ว่าครบวงจร

    วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ไม่ถึง 3 สัปดาห์ ก่อนเกิดเหตุดินยุบตัวที่เมืองท่าแขก บริษัทซิโน-อะกรี โปแตช เพิ่งจัดพิธีเปิดสายการผลิตใหม่ และสายการผลิตส่วนขยายของโรงงาน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ อาเซียน-โปแตช สากล ประกอบด้วย สายการผลิตของโรงงานบริษัท ทียอนเทค อาเซียน-โปแตช จำกัด , บริษัท ยูนิบรอม เทคโนโลยี่ จำกัด , บริษัท วัสดุใหม่ อาเซียน จำกัด , บริษัท ลาวเหิงกวง เทคโนโลยี่ โซเดียม แมกนีเซียม จำกัด และ บริษัท ซิโน การพัฒนาแร่ธาตุ อุตสาหกรรม จำกัด

    ตามข่าวที่นำเสนอโดยเพจ Khammouane News สายการผลิตของโรงงานทั้ง 5 แห่งที่เพิ่งเปิดเดินเครื่อง สามารถสร้างมูลค่าทางด้าอุตสาหกรรมได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สอนไซ สีพันดอน(ที่ 2 จากขวา) นายกรัฐมนตรี และสมสะหวาด เล่งสะหวัด(ขวาสุด) อดีตรองนายกรัฐมนตรี เดินชมสายการผลิตของ 1 ใน 5 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ อาเซียน-โปแตช สากล ที่เพิ่งเปิดเดินเครื่อง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ที่มาภาพ : Khammouane News

    นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ได้ไปร่วมในพิธีเปิดสายการผลิตของ 5 โรงงานนี้ด้วยตนเอง พร้อมกับแกนนำและอดีตแกนนำคนสำคัญของประเทศ เช่น สมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน บัวคง นามมะวง รัฐมนตรี หัวหน้าห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรี มะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า โดยมีเจิ้ง โยเยี่ย รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อาเซียน-โปแตช สากล เป็นตัวแทนจากฝั่งนิคมอุตสาหกรรมฯ…

    วันที่ 3 พฤศจิกายน 1 เดือนพอดี ก่อนเกิดเหตุดินยุบตัวที่เมืองท่าแขก ในนครหลวงเวียงจันทน์ได้มีการจัดประชุมหัวข้อ “การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกลือโปแตชของจีนในต่างประเทศ” ขึ้น มีจันสะแหวง บุนยง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ร่วมเป็นวิทยากรในฐานะตัวแทนรัฐบาลลาว และเย่าปิ่น ประธานสภาการค้าชาวจีนต่างด้าว ประจำลาว เป็นตัวแทนวิทยากรจากฝั่งจีน

    เย่าปิ่น ประธานสภาการค้าชาวจีนต่างด้าว ประจำลาว ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

    เย่าปิ่นกล่าวว่า ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่ใช้ปุ๋ยโปแตชมากที่สุดในโลก ปี 2566 จีนใช้ปุ๋ยโปแตชในภาคการเกษตรมากถึง 1,878.66 ล้านตัน โดยมีการนำเข้าโพแทสเซียมคลอไรด์จำนวน 1,157 ล้านตัน ขณะที่ลาวเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่โปแตช มีปริมาณสำรองโพแทสเซียมคลอไรด์ในธรรมชาติมากถึง 133.62 พันล้านตัน

    เขาบอกว่า การเปิดเดินรถไฟลาว-จีน ได้สร้างจุดเด่นทางภูมิศาสตร์และการตลาดเฉพาะให้กับทรัพยากรแร่โปแตชของลาว ทำให้ไม่เพียงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดปุ๋ยโปแตชที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริม พัฒนาเศรษฐกิจของลาวให้เติบโตขึ้นอีกด้วย

    ประธานสภาการค้าชาวจีนต่างด้าว ประจำลาว กล่าวว่า ในอนาคต ลาวจะกลายเป็นศูนย์กลางตลาดปุ๋ยโปแตชในอาเซียน อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโปแตชของลาวจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและแคนาดา โดยปุ๋ยโปแตชที่ผลิตได้จากลาว สามารถส่งขายโดยตรงไปได้ยังหลายประเทศในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิกผ่านโครงข่ายเส้นทางรถไฟ

    จันสะแหวง บุนยง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

    ขณะที่จันสะแหวง บุนยง กล่าวว่า แหล่งแร่โปแตชของลาว มีอยู่ในแขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงเวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์ ตามวิสัยทัศน์ของลาวจนถึงปี 2583 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่ธาตุ จนถึงปี 2573 กำหนดว่าจะมีการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี(NPK) จำนวน 3 แห่ง โดยโรงงาน 2 แห่ง จะสร้างในแขวงคำม่วน และอีก 1 แห่ง สร้างในนครหลวงเวียงจันทน์

    รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ บอกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้อนุญาตการขุดค้นและทำเหมืองแร่โปแตชให้แก่บริษัท 18 แห่ง แยกเป็น 20 โครงการ ในนี้ แบ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในขั้นตอนสำรวจและขุดค้น 5 บริษัท 5 โครงการ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ-เทคนิค 4 บริษัท 4 โครงการ ได้เซ็นสัญญาขุดค้นและแปรรูปแร่โปแตชแล้ว 9 บริษัท 11 โครงการ คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 162,260 เฮคตา หรือ 1,014,125 ไร่ และจนถึงเดือนกันยายน 2567 ลาวสามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากแร่โปแตช คุณภาพ 95% ได้ 12.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่ธาตุลาว จนถึงปี 2573

    ……

    จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการสรุป หรือฟันธงออกมาอย่างเป็นทางการว่าหลุมขนาดใหญ่ ลึกกว่า 15 เมตร ที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เกิดจากการขุดค้น และทำเหมืองแร่โปแตช

    แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ กว่าจะถึงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่ธาตุถึงปี 2573 และวิสัยทัศน์ของลาวถึงปี 2583 และก่อนที่ลาวจะกลายเป็นศูนย์กลางตลาดปุ๋ยโปแตชในอาเซียน หรืออุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโปแตชของลาวจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกได้นั้น

    ใต้ผืนดินของลาว ในแขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงเวียงจันทน์ รวมถึงในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่เปิดให้มีการขุดค้น ทำเหมืองแร่โปแตชแล้วนั้น

    จะมีดินยุบตัวเกิดขึ้นมาอีกกี่หลุ่ม ?…