ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2567
สหรัฐฯเก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประกาศครั้งนี้เป็นการตัดสินใจครั้งที่สองในการพิจารณาเบื้องต้นสองครั้งในปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในคดีการค้าที่บริษัท Hanwha Qcells ของเกาหลี บริษัท First Solar Inc ในรัฐแอริโซนา และผู้ผลิตรายย่อยหลายรายร้องทุกข์ เพื่อต้องการปกป้องการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ
กลุ่มผู้ผลิต The American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee กล่าวหาผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ของจีนที่มีโรงงานในมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย ว่าทำให้ราคาโลกตกต่ำเนื่องจากการทุ่มผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด
จากการตัดสินเบื้องต้นที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันศุกร์ กระทรวงฯได้กำหนดภาษีการทุ่มตลาดไว้ที่ระหว่าง 21.31% ถึง 271.2% ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท จากเซลล์แสงอาทิตย์จากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม
Jinko Solar ถูกเรียกเก็บภาษี 21.31% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในมาเลเซีย และ 56.51% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนาม
Trina Solar ของจีนถูกเก็บภาษีทุ่มตลาด 77.85% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทย และ 54.46% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนาม
ในทางกลับกัน กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กำหนดภาษีการทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ Hanwha Qcells ที่ผลิตในมาเลเซีย ในเดือนตุลาคม กระทรวงฯ ได้กำหนดอัตราเงินอุดหนุนให้กับบริษัท 14.72%
การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของกระทรวงฯจะมีขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2568 โดยฝ่าย International Trade Administration กำหนดที่จะสรุปการตัดสินใจในวันที่ 2 มิถุนายน และคำสั่งสุดท้ายคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน
“ด้วยอัตราภาษีนำเข้าเบื้องต้นเหล่านี้ เรากำลังจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบมานานหลายปี และปกป้องการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ของอเมริกา” ทิม ไบรท์บิล หุ้นส่วนของ Wiley Rein และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของผู้ยื่นคำร้องกล่าว
ตัวแทนของ Jinko และ Trina ไม่แสดงความคิดเห็น
แผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ที่ติดตั้งในสหรัฐอเมริกา ผลิตในต่างประเทศ และการนำเข้าประมาณในสัดส่วนถึง 80% มาจาก 4 ประเทศที่เป็นเป้าหมายในการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์
ในปีนี้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดน ได้ตื่นตัวเกี่ยวกับการลงทุนมหาศาลของจีนในด้านกำลังการผลิตของโรงงานสำหรับสินค้าพลังงานสะอาด กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของไบเดน หรือ Inflation Reduction Act ได้รวมสิทธิประโยชน์สำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์พลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนที่ทำให้เกิดแผนสำหรับโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่อย่างมาก
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ระบุว่า เขาวางแผนที่จะเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงในภาคส่วนต่างๆ เพื่อปกป้องแรงงานอเมริกัน
การทุ่มตลาด คือ การที่บริษัทขายสินค้าในสหรัฐอเมริกาในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหรือต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศของตนเอง
มาเลเซียเล็งขึ้นศูนย์กลาง EV เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเลเซียที่พึ่งพาการค้ากำลังมองหานักลงทุนและตลาดใหม่ๆ ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นซึ่งเชื่อมโยงกับสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับภาคเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญ และความวิตกมีมากขึ้นจากการคว้าชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แบบครอบคลุม โดยเฉพาะในภาคส่วนยุทธศาสตร์ เช่น พลังงานหมุนเวียนและเซมิคอนดักเตอร์
ในเดือนตุลาคม มาเลเซีย เช่นเดียวกับ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมเป็นประเทศพันธมิตรใหม่ของกลุ่ม Brics ที่นำโดยจีน รัสเซีย และอินเดีย
รัฐบาลของอันวาร์ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ว่า ฮุนได มอเตอร์จะลงทุน 2.16 พันล้านริงกิต (500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโรงงานแห่งแรกในมาเลเซียในเมืองกูลิม ทางตอนเหนือของรัฐเคดาห์
ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งประกาศระหว่างการเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วันของอันวาร์ ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาว่าโรงงานแห่งนี้ ซึ่งจะประกอบรถยนต์ได้ถึง 7 รุ่น จะเริ่มสร้างเมื่อไร
นายกรัฐมนตรีตอบรับโครงการนี้ในโพสต์อินสตาแกรมว่า “จะดูแลให้บรรยากาศการลงทุนน่าดึงดูดสำหรับการประกอบยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ซึ่งจะทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สำหรับตลาดอาเซียน”
อันวาร์กล่าวว่าการลงทุนของฮุนได ซึ่งครอบคลุมรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์ไฟฟ้า จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ของมาเลเซีย
โรงงานในมาเลเซียจะเป็นโรงงานแห่งที่สองของฮุนไดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเปิดโรงงานในอินโดนีเซียในปี 2565 โดยมีกำลังการผลิตสูงถึง 250,000 คันต่อปี รวมถึงรถเอสยูวีรุ่น Kona Electric ด้วย
ในเดือนกรกฎาคมฮุนได และ LG Energy Solution เปิดตัวโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับ EV แห่งแรกของอินโดนีเซีย
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือแก๊สในเอเชีย ลดการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากผู้ซื้อที่กำลังมองหารถยนต์ใหม่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ค่ายนิสสัน ของญี่ปุ่น ระบุว่า จะเลิกจ้างหรือโยกตำแหน่งงานประมาณ 1,000 ตำแหน่งในไทย ตามรายงานของรอยเตอร์ เนื่องจากศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความต้องการที่ลดลงอย่างมาก
เมื่อเดือนที่แล้ว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าการผลิตรวมลดลงกว่า 25% ในเดือนกันยายน โดยการส่งมอบลดลงเกือบ 11%
อันวาร์ ซึ่งในระหว่างการเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2565 ได้ประกาศแผนการของกลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์ OCI Holdings ที่จะลงทุนในการผลิตโพลีซิลิคอนในมาเลเซียให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และพลังงานแสงอาทิตย์
ในโพสต์บน Instagram หลายโพสต์ที่แท็กด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์K-pop อันวาร์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเกาหลีใต้ในฐานะพันธมิตรระดับภูมิภาคในทุกอย่างตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงพลังงานหมุนเวียน การแปรรูปแร่หายาก และอุตสาหกรรมฮาลาล
“ความมุ่งมั่นของพวกเขาที่มีต่อมาเลเซียนั้นน่ายินดีและแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในเสถียรภาพของมาเลเซีย นอกเหนือจากนโยบายและในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนเชิงกลยุทธ์” อันวาร์กล่าวในโพสต์หนึ่ง
เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ถูกใช้อ้างอิงในนโยบาย “Look East” ของมาเลเซีย ซึ่งช่วยวางแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมจากเศรษฐกิจเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 1980
การค้าระหว่างมาเลเซียและเกาหลีใต้มีมูลค่ารวม 91.1 พันล้านริงกิตในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของรัฐบาล บริษัทเกาหลีใต้ลงทุน 61 พันล้านริงกิตใน 616 โครงการในช่วงเวลาเดียวกัน
VinFast วางแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนาม

โรงงานจะอยู่ภายใต้โครงสร้างการเช่าระยะยาวเพื่อการใช้จ่ายเริ่มแรกได้ประโยชน์สูงสุด โรงงานจะมีกำลังการผลิต EV สูงสุด 300,000 คัน ต่อปี ขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาวะตลาดทั่วไป โดยจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานจะเริ่มในช่วงต้นเดือนธันวาคม และคาดว่าโรงงานจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2568
VinFast เปิดเผยผลประกอบการทางการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบสำหรับไตรมาสที่สามเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 511.6 ล้านดอลลาร์ซึ่งเพิ่มขึ้น 49.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 42.2% จากไตรมาสก่อนหน้า
กำไรขั้นต้นสำหรับงวดนี้ติดลบ 24% ซึ่งดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับกำไรขั้นต้นที่ติดลบ 27%ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และจากติดลบ 62.7% ในไตรมาสที่สอง
ยอดขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 550 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สาม ซึ่งลดลง 14.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 29.4% จากไตรมาสก่อนหน้า
VinFast ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ 21,912 คันในไตรมาสที่แล้ว เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง และเพิ่มขึ้น 115% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การส่งมอบโดยตรงจากบริษัทถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมากรายไตรมาส 163% สะท้อนถึงความต้องการของตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ VinFast
ถวี่ เล ประธานของ VinFast กล่าวว่า “ผลประกอบการไตรมาสที่สามของเราได้รับแรงหนุนจากเดือนกันยายนที่แข็งแกร่ง เนื่องจากการส่งมอบรายเดือนที่สูงที่สุดในเวียดนาม นี่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนาม ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เราก่อตั้งขึ้นเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ผู้ผลิตในประเทศรายหนึ่งมีผลงานเหนือกว่าคู่แข่งระดับนานาชาติ จนกลายเป็นผู้นำตลาดในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล”
“เราคาดว่าจะปิดปี 2567 ด้วยความแข็งแกร่งและบรรลุเป้าหมายการส่งมอบรถยนต์ 80,000 คันของเรา การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงเป็นงานที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเทและความอดทนอย่างแน่วแน่เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่กำลังดำเนินอยู่ เส้นทางสู่การคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นท้าทาย แต่ ความมุ่งมั่นของเราต่ออนาคตนี้คือความมุ่งมั่น เพราะอนาคตคือพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่ต้องสงสัย”
VinFast มีโชว์รูมรถ EV จำนวน 173 แห่งทั่วโลก และมีโชว์รูมกับศูนย์บริการ 160 แห่งสำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงโชว์รูมของแบรนด์และโชว์รูมตัวแทนจำหน่าย
เวียดนามขยายมาตรการภาษีให้ธุรกิจชิ้นส่วนรถถึงสิ้นปี 2570

กระทรวงการคลังเวียดนามเสนอให้ขยายมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 แทนสิ้นปีนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
เวียดนามระบุว่ารถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแถวหน้า ซึ่งการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ
เวียดนามได้ดำเนินโครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ทั้งโครงการสิทธิทางภาษีสำหรับรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ ทั้งสองโครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งโครงการหลังได้ขยายระยะเวลาออกไปแล้วจนถึงสิ้นปี 2570 โครงการแรกก็จำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไปเช่นกัน กระทรวงฯ ระบุ
ดังนั้น ภายใต้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2023 ว่าด้วยสิทธิทางภาษีนำเข้าและส่งออก สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จึงถูกเสนอให้ขยายไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยเฉพาะภาษีนำเข้าที่เป็นศูนย์ จะบังคับใช้กับวัตถุดิบและส่วนประกอบที่ไม่ได้ผลิตในประเทศและใช้ในการผลิตและประกอบรถยนต์
ในเดือนตุลาคม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามภายในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593
ร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งเป้าหมายว่ารถยนต์ที่ประกอบในประเทศจะมีสัดส่วนถึง 78% ของความต้องการในประเทศ
ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์โดยพื้นฐานจะได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนประมาณ 35% ในแง่ของมูลค่าของความต้องการส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศ และ 65% ภายในปี 2578
กัมพูชาตั้งเป้ารถยนต์ไฟฟ้า 800,000 คัน-เครือข่ายสถานีชาร์จครอบคลุมภายในปี 2573

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) และ EnergyLab นำเสนอแผนงานสำหรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาคการขนส่งของกัมพูชาด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีเป้าหมายจำนวน 800,000 คัน และเครือข่ายสถานีชาร์จที่ครอบคลุมภายในปี 2573
การคาดการณ์ที่มีเป้าหมายสูงประกาศในงานแสดงยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประจำปีครั้งที่ 5(Annual Electric Vehicle (EV) Showcase) ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 โดยย้ำถึงการตั้งความหวังไว้สูงของกัมพูชาสำหรับอนาคตบนเส้นทางพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับของรัฐบาล ภาคเอกชน และความพยายามระดับนานาชาติ
นายเปง โพเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของการนำรถยนต์ EV มาใช้ “การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของกัมพูชาภายในปี 2593 จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากกระทรวง สถาบัน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด” และย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และมาตรการกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย
รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและการคมนาคม กล่าวว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือเป็นศูนย์
“รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมในกัมพูชา และกัมพูชามีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 30,000 คันภายในปี 2573” เขากล่าว “การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน”
ปัจจุบันกัมพูชามีสถานีชาร์จ EV 21 แห่ง
รายงานที่เผยแพร่โดยกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ระบุว่ากัมพูชาได้จดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าหรือยานพาหนะไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,513 คัน ณ เดือนตุลาคม 2567 รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,329 คันและรถสามล้อไฟฟ้า 478 คัน จากรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด 7,618,669 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์และรถสามล้อ 6,470,917 คัน รถยนต์ขนาดเล็ก 847,189 คัน และรถยนต์หนัก 300,563 คัน
แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดสามแบรนด์ในกัมพูชา ได้แก่ BYD ของจีน, Toyota ของญี่ปุ่น และ Tesla ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ EV อยู่ที่ 18 แห่งทั่วประเทศ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารในเมืองให้ได้ 40% และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 70% ภายในปี 2593 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คง โสพาล รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก นำเสนอนโยบายการพัฒนา EV ของรัฐบาลกัมพูชา ( 2567-2573) ที่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตขั้นสูง
ความคิดริเริ่มด้านนโยบาย ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน EV ที่บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยี 5G การสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิต EV และการใช้นโยบายการลงทุนเพื่อดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ เป็นต้น ปัจจุบันมีมาตรการทางนโยบายทั้งหมด 53 มาตรการ ครอบคลุม 11 กระทรวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย และกรอบการทำงานดังกล่าวได้วางพื้นฐานที่ครอบคลุมสำหรับการเปลี่ยนผ่านรถยนต์ไฟฟ้าแบบครอบคลุม
ลาวเผยวิสัยทัศน์จัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

โครงการริเริ่มนี้มุ่งที่จะรักษาพื้นที่ทางการเกษตรไว้ 4.5 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งคิดเป็น 19% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลาว ขณะเดียวกันก็จัดทำกรอบยุทธศาสตร์สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวครอบคลุมองค์ประกอบหลัก 5 ประการที่มุ่งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร การผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก และการปรับปรุงแนวทางการจัดการที่ดินที่สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ
นายลินคำ ย้ำถึงที่มาของการจัดทำยุทธศาสตร์ ว่า ได้แก่ มติของคณะกรรมการกลางพรรคปี 2560 ซึ่งเน้นย้ำถึงการปรับปรุงการจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการรักษาพื้นที่ป่าที่ปกคลุมไว้ที่ 70% และการอนุมัติแผนแม่บทการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ประจำปี 2561 ของสมัชชาแห่งชาติ โดยแบ่งที่ดินของประเทศออกเป็น 8 ประเภท โดยจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังนี้ 1.นาข้าว 2 ล้านเฮกตาร์ (44% ของพื้นที่เกษตรกรรม) 2.พื้นที่สำหรับพืชผลประจำปี 1 ล้านเฮกตาร์ (22%) 3.พื้นที่สำหรับพืชยืนต้นและไม้ผล 0.8 ล้านเฮกตาร์ (18%) และ 4.ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ 0.7 ล้านเฮกตาร์ (16%)
ภาคเกษตรกรรมและป่าไม้มีการวางแผนการใช้ที่ดินแบบมีส่วนร่วมขั้นสูงในระดับหมู่บ้าน ดำเนินการสำรวจเขตชลประทาน ประเมินคุณภาพที่ดิน และจัดตั้งเขตสงวนสำหรับการผลิตทางการเกษตร โดยมีความคืบหน้าในการสร้างครอบครัวเกษตรกรรมต้นแบบ และการสรุปข้อตกลงและกฎระเบียบที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงมีอยู่ในการดำเนินการสำรวจระดับชาติอย่างละเอียด การแบ่งเขต และแผนการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การดำเนินการตามเครื่องหมายสำหรับเขตสงวนที่ดินที่กำหนดยังล่าช้ากว่ากำหนดอีกด้วย
หากได้รับการอนุมัติแล้ว วิสัยทัศน์ 2040 และยุทธศาสตร์ 2030 คาดว่าจะเปลี่ยนแผนแม่บทการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ให้เป็นกรอบยุทธศาสตร์สำหรับการจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ จัดแบ่งประเภทที่ชัดเจนและแผนการใช้ที่ดินสำหรับพื้นที่เกษตรกรรม 4.5 ล้านเฮกตาร์ เป็นแนวทางแก่ภาครัฐและท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ในการบูรณาการแนวทางการใช้ที่ดินเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และขยายการผลิตทางการเกษตรสำหรับตลาดภายในประเทศและการส่งออก
“ร่างยุทธศาสตร์นี้เป็นก้าวสำคัญสู่การจัดการที่ดินและการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยทำให้มั่นใจว่าภาคส่วนนี้ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของลาว” รัฐมนตรีลินคำกล่าว
วิสัยทัศน์ระยะยาววางตำแหน่งลาวให้จัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน สนับสนุนการดำรงชีวิตในชนบท และมีส่วนร่วมในความมั่นคงทางอาหารระดับชาติและระดับโลก
นายกฯ สิงคโปร์เยือนไทยเปิดศักราชความสัมพันธ์ 60 ปี ไทย-สิงคโปร์

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2657 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายลอเรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นสักขีพยานพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตรและ นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับ และรู้สึกประทับใจที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นผู้นำคนแรกที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่ทั้งนี้ได้เคยพบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ สปป.ลาว เมื่อเดือนตุลาคม และเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ กรุงลิมา ประเทศเปรู
ซึ่งขณะนี้ไทยและสิงคโปร์กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีหน้า โดยการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองได้ทบทวนความร่วมมือที่มีอยู่ และวางแผนสำหรับความร่วมมือในอนาคต โดยทั้งสองประเทศจะได้เห็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันมากขึ้นในปีหน้า โดยไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสิงคโปร์ที่ประเทศไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร กล่าวว่าตั้งใจที่จะเดินทางไปเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อเรื่องต่างๆ ที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันนี้
วันนี้ ทั้งสองประเทศได้หารืออย่างชื่นมื่น ครอบคลุมในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ การค้าและการลงทุน รวมถึงความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว และความยั่งยืน ทั้งนี้ประเทศไทยและสิงคโปร์หวังว่าจะได้เห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต และไทยพร้อมที่จะร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่สิงคโปร์ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวคุณภาพ (premium rice) และไข่ออร์แกนิกไปยังสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสีเขียวและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
ในการแถลงข่าว ยังกล่าวถึง มิตรภาพที่แน่นแฟ้นของทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และไทยขอขอบคุณสิงคโปร์ที่มอบทุนการศึกษาให้กับข้าราชการไทย โดยผู้นำทั้งสองยังได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา เพื่อยกระดับและสร้างทักษะใหม่ (upskilling – reskilling) ให้แรงงานในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศต่างหวังที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนมาในประเทศเมียนมา พร้อมหวังว่าการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน (The extended informal consultation) ในกรุงเทพฯ จะเป็นโอกาสสำคัญเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับอาเซียนในเรื่องนี้
นอกจากนี้มิตรภาพที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและสิงคโปร์จะทำให้ทั้งสองทำงานร่วมกันได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่ประเทศและประชาชนไทยของทั้งสองประเทศ และในปีหน้าจะเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิด ลึกซึ้ง และกว้างขวางยิ่งขึ้นในทุกมิติ
ด้านนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์กล่าวขอบคุณสำหรับการตอบรับ และยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้นำคนแรกที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหลังนายกรัฐมนตรีแพทองธารเข้ารับตำแหน่ง โดยยินดีที่ไทยและสิงคโปร์ต่างเห็นพ้องขยายความร่วมมือในด้านใหม่ๆ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเร่งกระชับความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือในด้านพลังงาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประชาชน ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ จะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างข้าราชการของไทยและสิงคโปร์ และในปีหน้าที่ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายครบรอบ 60 ปี จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้นในหลากหลายมิติ และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ย้ำความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันไปสู่ในอีกระดับ